‘กรมศุลกากร’ ทบทวนหลักเกณฑ์จ่าย ‘เงินสินบน-รางวัล’ เจ้าหน้าที่ ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการ ‘จับกุม’ 3 กลุ่ม มีสิทธิได้รับเงินรางวัลฯ พร้อมพัฒนาระบบ HRIS บันทึกข้อมูลเบิกจ่ายฯเงินสินบน เดินหน้าศึกษานำ ‘เงินรางวัล’ ไปรวมคำนวณเสีย ‘ภาษีเงินได้ฯ’
......................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ เมื่อวันที่ 17 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุม ครม. มีมติรับทราบสรุปผลการพิจารณา เรื่อง ข้อเสนอแนะหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจ่ายเงินสินบนและรางวัลให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามระเบียบกรมศุลกากรว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนและรางวัล ตามที่กระทรวงการคลัง เสนอ
ทั้งนี้ ครม.ได้มอบหมายให้กรมศุลกากรเร่งรัดดำเนินการตามข้อเสนอของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อให้การจ่ายเงินสินบนและรางวัลให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่มีความเหมาะสม เป็นธรรม โปร่งใส และสอดคล้องกับสถานการณ์การปฏิบัติงาน
รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้เสนอข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการป้องกันมิให้จ่ายเงินรางวัลแก่บุคคลที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจับกุมการกระทำความผิดให้ได้รับเงินรางวัล และความเหมาะสมของอัตราส่วนแบ่งเงินรางวัล และมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการปรับปรุงระบบงานของกรมศุลกากร เพื่อเป็นมาตรการป้องกันปัญหาการจ่ายเงินสินบนฯ (อ่านประกอบ : ครม.รับทราบข้อเสนอแนะ‘ป.ป.ช.’รื้อหลักเกณฑ์-เงื่อนไขจ่าย‘เงินสินบน-รางวัล’จนท.กรมศุลฯ)
ต่อมากรมศุลกากรได้ร่วมหารือกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ในประเด็นตามข้อเสนอแนะหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจ่ายเงินสินบนและรางวัลให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามระเบียบกรมศุลกากรว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนและรางวัลของคณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้วมีความเห็นร่วมกัน ดังนี้
1.การทบทวนหลักเกณฑ์การจ่ายเงินรางวัลเพื่อการป้องกันมิให้จ่ายเงินรางวัลแก่บุคคลที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจับกุม และความเหมาะสมของอัตราส่วนแบ่งเงินรางวัล พิจารณาแล้วเห็นควรแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบกรมศุลกากรว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนและรางวัล พ.ศ.2560 โดยการกำหนดนิยามผู้มีสิทธิได้รับเงินรางวัลให้ชัดเจน และกำหนดอัตราส่วนแบ่งเงินรางวัล ออกเป็น 3 กลุ่ม โดยให้แบ่งอัตราส่วนคนละเท่าๆกัน ดังนี้
(1) กลุ่มเจ้าหน้าที่ผู้จับกุม/ผู้ตรวจพบความผิด หมายถึง เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจค้นจับกุมผู้กระทำความผิด หรือตรวจสอบบัญชีและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการนำของเข้าหรือส่งของออก หรือที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้ปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจค้นจับกุมผู้กระทำความผิด หรือตรวจสอบบัญชีและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการนำของเข้าหรือส่งของออก และลงลายมือชื่อในรายงานการจับกุม หรือตรวจพบความผิด โดยให้จ่ายเงินรางวัลร้อยละ 60
(2) กลุ่มเจ้าหน้าที่ผู้ร่วมจับกุม หมายถึง เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจหน้าที่ร่วมดำเนินการก่อนการจับกุมหรือตรวจพบความผิด และเจ้าพนักงานผู้ร่วมดำเนินการภายหลังการจับกุมหรือตรวจพบความผิด ในการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อทราบข้อเท็จจจริง หรือพิสูจน์ความผิดในการเอาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ รวมถึงเจ้าพนักงานผู้ทำหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีจนถึงที่สุด โดยให้จ่ายเงินรางวัล ร้อยละ 30
(3) กลุ่มเจ้าหน้าที่ผู้ช่วยเหลือ หมายถึง เจ้าหน้าที่หรือบุคคลอื่นๆ ซึ่งได้ช่วยเหลือหรือดำเนินการสนับสนุนใดๆ อันจำเป็นและเป็นประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับการจับกุมหรือตรวจพบความผิดจนเป็นผลสำเร็จ โดยให้จ่ายเงินรางวัลร้อยละ 10
2.การนำเงินที่ได้จากการจับกุมการกระทำความผิดตามกฎหมายศุลกากรนำส่งเข้าคลังโดยตรง เมื่อคดีเป็นที่สุดแล้วจึงเบิกจ่ายเงินรางวัลให้แก่ผู้รับต่อไป กรมศุลกากร ขอเรียนว่า ปัจจุบันการเบิกจ่ายเงินรางวัลที่ได้จากการจับกุม ปฏิบัติตามข้อบังคับกระทรวงการคลังว่าด้วย การอนุญาตให้กรมศุลกากรหักเงินรายรับเป็นเงินสินบน เงินรางวัล ค่าภาระติดพัน และค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บรายได้ พ.ศ.2560
3.การจัดทำฐานข้อมูลกลางและการลงบัญชีเกี่ยวกับการจ่ายเงินสินบนและรางวัลในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ กรมศุลกากร ขอเรียนว่า ปัจจุบันการเบิกจ่ายเงินสินบนรางวัลของส่วนกลาง มาจากการตรวจพบความผิดของกองสืบสวนและปราบปราม และกองตรวจสอบอากร โดยเบิกจ่ายจากระบบ HRS (ระบบบริหารทรัพยากรบุคคลและจ่ายเงินค่าจ้างสวัสดิการ กรมศุลกากร)
ส่วนหน่วยเบิกจ่ายอื่นๆยังไม่สามารถใช้งานในระบบ HRIS ได้ การเบิกจ่ายจะใช้โปรแกรม Excel Access หรือด้วย Manual แตกต่างกันไป ดังนั้น ขณะนี้กรมศุลกากรกำลังดำเนินการพัฒนาระบบ HRIS ซึ่งจะแล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ได้กำหนดให้ระบบสามารถดำเนินการ ดังนี้ (1) ให้ทุกหน่วยเบิกจ่ายของกรมศุลกากรสามารถใช้ระบบในการเบิกจ่ายเงินสินบนรางวัลได้
(2) การจ่ายเงินสินบนและรางวัล จ่ายผ่านระบบ KTB Corporate Online หรือสั่งจ่ายเป็นเช็คเท่านั้น (3) เจ้าหน้าที่ผู้รับเงินรางวัล สามารถพิมพ์รายงานการรับเงินรางวัลได้ด้วยตนเอง และสามารถรวบรวมข้อมูลเพื่อรองรับการเสียภาษีเงินรางวัลที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ (4) กรมศุลกากรสามารถพิมพ์ข้อมูลการรับเงินรางวัลของผู้มีสิทธิที่รับเงินรางวัลจากทุกหน่วยเบิกจ่ายทั้งหมดในภาพรวมได้
4.การพัฒนาระบบการตรวจสอบและเฝ้าระวังความผิดปกติในการดำเนินการจับกุมการกระทำความผิดตามกฎหมายศุลกากร ขอเรียนว่า ปัจจุบันกรมศุลกากรมีระบบป้องกันและปราบปราม ซึ่งเป็นระบบที่ใช้ในการบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับการจับกุมการกระทำความผิด โดยมีรายละเอียดการจับกุมและข้อมูลสรุปผลการจับกุมที่นำมาใช้เป็นข้อมูลในการตรวจสอบการจับกุมการกระทำความผิดตามกฎหมายศุลกากร
สำหรับข้อเสนอแนะเกี่ยวกับระบบการร้องเรียนและแจ้งเบาะแสในการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการจับกุมการกระทำความผิดนั้น กรมศุลกากรมีช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนสำหรับผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน โดยสามารถร้องเรียนได้หลากหลายช่องทางตามประกาศกรมศุลกากร ที่ 14/2565 ลงวันที่ 25 ม.ค.2565 เรื่อง วิธีการรับคำร้องและการพิจารณาเรื่องร้องเรียนของกรมศุลกากร เช่น ช่องทางสายด่วนกรมศุลกากรการร้องเรียนทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือการร้องเรียนไปยังผู้ประสานงานโครงการระฆังศุลกากร เป็นต้น
อนึ่ง สำหรับข้อเสนอแนะในการนำเงินรางวัลไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ในปัจจุบันเป็นเงินได้ที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 42 (11) แห่งประมวลรัษฎากร ปัจจุบันอยู่ระหว่างกระทรวงการคลังดำเนินการศึกษา ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป
อ่านประกอบ :
‘กรมศุลฯ’รับลูก‘ป.ป.ช.’จ่อรื้อระเบียบฯจ่าย‘เงินสินบน-รางวัล’จนท.-จัดทำ‘ฐานข้อมูลกลาง’
ครม.รับทราบข้อเสนอแนะ‘ป.ป.ช.’รื้อหลักเกณฑ์-เงื่อนไขจ่าย‘เงินสินบน-รางวัล’จนท.กรมศุลฯ
เปิดสถิติ 10 ปี 'กรมศุลฯ'จ่าย'เงินสินบน-รางวัล'จนท. 8.6 พันล.-'อธิบดี'ได้ส่วนแบ่งมากสุด
เปิดรายงาน‘ป.ป.ช.’ชี้ช่องโหว่ 'เงินสินบน’กรมศุลฯ-ชง 5 ข้อเสนอแนะล้อมคอกทุจริต
‘ป.ป.ช.’ชง‘ครม.’รับทราบเกณฑ์‘จ่ายสินบน-รางวัล’แก่‘จนท.กรมศุลฯ’-รื้อระบบงานป้องกันทุจริต