เปิดรายงาน ป.ป.ช. เผยสถิติในช่วงปี 2554-2563 พบ ‘กรมศุลกากร’ จ่าย ‘เงินสินบน-รางวัล’ เจ้าหน้าที่ฯ รวมกว่า 8.6 พันล้าน กางระเบียบฯชี้ระดับ ‘อธิบดี’ ได้รับส่วนแบ่งรางวัลมากสุด
........................................
จากกรณีที่เมื่อวันที่ 28 พ.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติเห็นชอบข้อเสนอแนะหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจ่ายเงินสินบนและรางวัลให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ ตามระเบียบกรมศุลกากรว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนและรางวัล และต่อมาสำนักงาน ป.ป.ช. ได้ทำหนังสือถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เพื่อให้นำเสนอข้อเสนอแนะฯดังกล่าว ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ นั้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า จากรายงานข้อเสนอแนะหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจ่ายเงินสินบนและรางวัลให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ ตามระเบียบกรมศุลกากรว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนและรางวัล ซึ่ง สำนักงาน ป.ป.ช. นำเสนอต่อ ครม. เพื่อประกอบการพิจารณาในดังกล่าว ได้ระบุว่า กรมศุลกากรได้มีการจัดส่งข้อมูลเกี่ยวกับสถิติการจับกุมการกระทำผิดและสถิติการจ่ายเงินสินบนและรางวัลของกรมบัญชีกลางให้กับ สำนักงาน ป.ป.ช.
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการจัดเก็บข้อมูลฯมีข้อจำกัดในเรื่องปริมาณข้อมูลของหน่วยงานภายในสังกัดของกรมศุลกากรแต่ละแห่งในแต่ละปีที่มีปริมาณเป็นจำนวนมาก อีกทั้งกรมศุลกากรยังไม่ได้จัดเก็บข้อมูลการจับกุมการกระทำความผิดและสถิติการจ่ายเงินสินบนและเงินรางวัลของกรมศุลกากรในคอมพิวเตอร์อย่างเป็นระบบ กรมศุลกากรจึงรวบรวมข้อมูลย้อนหลังได้เพียง 10 ปี หรือตั้งแต่ 2554-2563 และจัดส่งให้สำนักงาน ป.ป.ช.
ขณะที่ข้อมูลในส่วนสถิติการจ่ายเงินสินบนและรางวัลของกรมศุลกากร นั้น ปรากฏว่าในปีในช่วงปี 2554-2563 รวมทั้งสิ้น 8,679.05 ล้านบาท โดยมีการจ่ายเงินสินบนและรางวัลอยู่ที่ 846-1,226 ล้านบาท ในช่วงปี 2554-2561 ก่อนปรับลดลงมาเหลือ 266-375 ล้านบาท ในช่วงปี 2562-2563 ประกอบด้วย
ปี 2554 มีการจ่ายเงินสินบนและรางวัล 1,000.90 ล้านบาท ,ปี 2555 มีการจ่ายเงินสินบนและรางวัล 846.29 ล้านบาท ,ปี 2556 มีการจ่ายเงินสินบนและรางวัล 992.26 ล้านบาท ,ปี 2557 มีการจ่ายเงินสินบนและรางวัล 1,143.43 ล้านบาท ,ปี 2558 มีการจ่ายเงินสินบนและรางวัล 1,107.86 ล้านบาท ,ปี 2559 มีการจ่ายเงินสินบนและรางวัล 1,226.12 ล้านบาท ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดในรอบ 10 ปี ,ปี 2560 มีการจ่ายเงินสินบนและรางวัล 914.54 ล้านบาท
ปี 2561 มีการจ่ายเงินสินบนและรางวัล 905.94 ล้านบาท ,ปี 2562 มีการจ่ายเงินสินบนและรางวัล 266.29 ล้านบาท และปี 2563 มีการจ่ายเงินสินบนและรางวัล 375.37 ล้านบาท
รายงานฯฉบับนี้ยังระบุด้วยว่า ในการจัดสรรการจ่ายเงินสินบนและรางวัลให้กับเจ้าหน้าที่กรมศุลกากร จะเป็นไปตามระเบียบกรมศุลกากรว่าด้วยการจ่ายเงินสินบน และรางวัล พ.ศ.2560 โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรก คือ 1 ใน 3 ของเงินรางวัลจ่ายแก่ผู้ตรวจพบการกระทำความผิดในกรณีที่มีหลายคนให้ได้รับคนละเท่ากัน โดยเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรที่สิทธิ์ได้รับการจัดสรรเงินในส่วนนี้ ให้รวมถึงเจ้าหน้าที่ระดับอธิบดีด้วย
ส่วนที่สอง คือ 2 ใน 3 ของเงินรางวัลจ่ายให้แก่ ผู้ตรวจพบการกระทำความผิด หรือผู้ร่วมจับกุมหรือร่วมดำเนินการภายหลังการจับกุมอันเป็นประโยชน์ช่วยให้การจับกุมเป็นผลสำเร็จและบุคคลอื่นที่ได้ช่วยเหลือให้การจับกุมหรือการตรวจพบการกระทำความผิดเป็นผลสำเร็จ อย่างไรก็ดี มีการกำหนดให้ระดับอธิบดี มีสิทธิ์ได้รับการจัดสรรฯส่วนแบ่งมากที่สุด 13 ส่วน รองลงมาเป็นระดับรองอธิบดีมีสิทธิ์ได้รับจัดสรรฯ คนละ 11 ส่วน
ระดับผู้อำนวยการสำนัก มีสิทธิ์ได้รับจัดสรรฯ คนละ 10 ส่วน ,ระดับนายด่านศุลกากร มีสิทธิ์ได้รับจัดสรร คนละ 10 ส่วน ,ระดับผู้ทรงคุณวุฒิ มีสิทธิ์ได้รับจัดสรร คนละ 12 ส่วน ,ระดับผู้เชี่ยวชาญ มีสิทธิ์ได้รับจัดสรร คนละ 10 ส่วน เป็นต้น ในขณะที่ระดับปฏิบัติการ มีสิทธิ์ได้รับจัดสรร คนละ 7 ส่วน ยกเว้นระดับปฏิบัติการที่รับราชการแรกบรรจุ-4 ปี สิทธิ์ได้รับจัดสรร คนละ 6 ส่วน
อย่างไรก็ตาม เงินรางวัลนี้จะไม่จ่ายให้ในกรณีที่อธิบดีกรมศุลกากรพิจารณาเห็นว่าความผิดที่เกิดขึ้นนั้น เป็นความผิดที่ย่อมจะตรวจพบได้เป็นปกติวิสัยอยู่แล้ว เช่น ความผิดเกี่ยวกับการตรวจปล่อยสินค้า การตรวจ ของผู้โดยสาร เป็นต้น
นอกจากนี้ เงินรางวัลที่กรมศุลกากรจ่ายให้แก่เจ้าพนักงานผู้มีสิทธิได้รับนั้น ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 42 (11) แห่งประมวลรัษฎากร ที่บัญญัติให้เงินได้พึ่งประเมินประเภทสินบนรางวัลที่ทางราชการจ่ายให้เพื่อประโยชน์ในการปราบปรามการกระทำความผิด ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้
อ่านประกอบ :
เปิดรายงาน‘ป.ป.ช.’ชี้ช่องโหว่ 'เงินสินบน’กรมศุลฯ-ชง 5 ข้อเสนอแนะล้อมคอกทุจริต
‘ป.ป.ช.’ชง‘ครม.’รับทราบเกณฑ์‘จ่ายสินบน-รางวัล’แก่‘จนท.กรมศุลฯ’-รื้อระบบงานป้องกันทุจริต