“…การกำหนดให้อธิบดีในฐานะหัวหน้าหน่วยงาน ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจชี้ขาดในการกำหนดบุคคลผู้มีสิทธิได้รับเงินรางวัล ปรากฏเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินรางวัลในฐานะ “ผู้สั่งการจับกุม” และมีสิทธิได้รับเงินรางวัลด้วย โดยได้รับเงินรางวัลในอัตราที่สูงกว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ อาจเข้าข่ายการมีผลประโยชน์ทับซ้อนจากการปฏิบัติหน้าที่ได้ และยังปรากฏว่าสัดส่วนเงินรางวัลของผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานมีสิทธิรับเงินรางวัลในสัดส่วนที่สูงกว่าเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานโดยตรง…”
...................................
สืบเนื่องจากกรณีที่เมื่อวันที่ 28 พ.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติเห็นชอบ 'ข้อเสนอแนะหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจ่ายเงินสินบนและรางวัลให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ ตามระเบียบกรมศุลกากรว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนและรางวัล'
ต่อมาสำนักงาน ป.ป.ช. ได้ทำหนังสือถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เพื่อให้นำเสนอข้อเสนอแนะในเรื่องดังกล่าว เสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบและมีข้อสั่งการต่อไป นั้น (อ่านประกอบ : ‘ป.ป.ช.’ชง‘ครม.’รับทราบเกณฑ์‘จ่ายสินบน-รางวัล’แก่‘จนท.กรมศุลฯ’-รื้อระบบงานป้องกันทุจริต)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอ ‘ที่มา’ ของการจัดทำข้อเสนอแนะหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจ่ายเงินสินบนและรางวัลให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามระเบียบกรมศุลกากรฯ ซึ่งเป็นข้อเสนอแนะเพิ่มเติมจากที่ ป.ป.ช.เคยเสนอ ครม.รับทราบ เมื่อปี 2555 รวมถึงรายละเอียดของข้อเสนอแนะฯ สรุปได้ดังนี้
@ชี้ปัญหาทุจริตใน‘กรมศุลกากร’กระทบดัชนี CPI
ความเป็นมาและความสำคัญ
สำนักงาน ป.ป.ช. ได้รับเรื่องกล่าวหาเลขดำที่ 6140083648 กรณีกล่าวหาอดีตอธิบดีกรมศุลกากรรายหนึ่ง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศุลกากรว่า รับเงินรางวัลในการจับกุมการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
อย่างไรก็ดี คณะอนุกรรมการกลั่นกรองเรื่องกล่าวหาประจำสำนักไต่สวนการทุจริตภาครัฐ 2 มีมติเมื่อวันที่ 27 ก.พ.2563 มีมติไม่รับเรื่องกล่าวหาไว้พิจารณา เพราะจากการสอบปากคำพยานบุคคลและขอทราบข้อเท็จจริงและขอเอกสารหลักฐานจากกรมศุลกากร พบว่าเรื่องกล่าวหามีข้อมูลหรือรายละเอียดไม่เพียงพอที่จะดำเนินการต่อไป
แต่เนื่องจากผู้ถูกร้องเป็นผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง จึงต้องเสนอเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณา และต่อมาวันที่ 5 พ.ค.2563 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาเรื่องดังกล่าว และมีมติไม่รับไว้พิจารณา เนื่องจากพบว่าเรื่องกล่าวหามีข้อมูล หรือรายละเอียดไม่เพียงพอที่จะดำเนินการต่อไป
ทั้งนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้ส่งเรื่องให้สำนักมาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม ศึกษา วิเคราะห์เกี่ยวกับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจ่ายเงินสินบนและรางวัลให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามระเบียบกรมศุลกากร ว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนและรางวัล พ.ศ.2517 ต่อไป
โดยในเรื่องนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อปี พ.ศ.2555 ได้เคยมีการเสนอข้อเสนอแนะการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการจ่ายเงินสินบนและรางวัลของกรมศุลกากร กระทรวงการคลัง ต่อ ครม.แล้ว โดยเสนอให้พิจารณาปรับปรุงแก้ไขระบบการจ่ายเงินสินบนและรางวัล และระบบงานของกรมศุลกากรในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการผ่านพิธีศุลกากร
เนื่องจากพบว่าการจ่ายเงินสินบนและรางวัลเป็นเหตุให้เกิดปัญหาในหลายประการ กล่าวคือ การเกิดพฤติกรรมบิดเบือนจากสิ่งที่ควรกระทำ (Moral Hazard) โดยมุ่งเน้นปฏิบัติงานเฉพาะงานที่มีเงินรางวัล หรือผลตอบแทนสูงๆ หรือละเลยการปฏิบัติงานที่มีรางวัล หรือผลตอบแทนต่ำหรือไม่มีผลตอบแทน ซึ่งเป็นต้นเหตุของปัญหาการทุจริต
ขณะเดียวกัน การได้รับเงินรางวัลในอัตราที่สูงมากของเจ้าหน้าที่ศุลกากร ทำให้เกิดความไม่เสมอภาคและความไม่เป็นธรรมในระบบการทำงานของข้าราชการ ที่กลุ่มหนึ่งได้รับผลตอบแทนจากการปฏิบัติหน้าที่สูงกว่าข้าราชการอื่น ทั้งๆที่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ
การมีผลประโยชน์ทับซ้อนของผู้มีอำนาจในการกำหนดผู้มีสิทธิ์รับเงินรางวัลและกำหนดสัดส่วนของเงินรางวัลโดยกำหนดให้ตนเองมีสิทธิ์รับเงินรางวัลด้วยในฐานะผู้สั่งการให้มีการจับกุม เป็นการออกระเบียบที่ให้ประโยชน์แก่ตนเอง ซึ่งไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการกำหนดให้มีเงินรางวัลที่ต้องการส่งเสริมการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพ
การสร้างพยานหลักฐานเท็จในการเบิกจ่ายเงินสินบน การจ่ายเงินสินบนและเงินรางวัลโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐที่มีพฤติการณ์เรียกรับเงินหรือผลประโยชน์จากผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออก การสร้างพยานหลักฐานเท็จในการเบิกจ่ายเงินสินบนและเงินรางวัล เป็นต้น
ทั้งนี้ ปัญหาการทุจริตดังกล่าว ส่งผลกระทบทำให้ประเทศสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ และสูญเสียรายได้จำนวนมาก รวมทั้ง ทำให้ภาพลักษณ์ด้านการทุจริตคอร์รัปชัน (CPI) ในเวทีนานาชาติตกต่ำด้วย
อย่างไรก็ตาม ในแง่ของกรมศุลกากร แม้ว่าจะได้มีการออกระเบียบกรมศุลกากรว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนและรางวัล พ.ศ.2560 เพื่อการปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจ่ายเงินสินบนและรางวัลให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ จากระเบียบกรมศุลกากรว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนและรางวัล พ.ศ.2517 เดิม
แต่ยังมีหลายประเด็นที่ควรศึกษา วิเคราะห์ เพื่อให้การกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจ่ายเงินสินบนและรางวัลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสม และเป็นธรรม ซึ่งจะช่วยยกระดับการดำเนินงานของภาครัฐในการป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์จากตำแหน่งหน้าที่
การบังคับใช้กลไกทางกฎหมายด้วยความซื่อสัตย์สุจริต อันจะนำไปสู่การช่วยสร้างภาพลักษณ์ของประเทศในสายตา ผู้เชี่ยวชาญ ตลอดจนนักลงทุนและนักธุรกิจต่างประเทศ และยกระดับค่าคะแนน CPI ให้ดีขึ้นได้
@‘หน้าห้องอธิบดี-คนขับรถส่งเอกสาร’ได้‘เงินรางวัล’ด้วย
สำนักมาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม ได้พิจารณาข้อเท็จจริงที่ได้จากการศึกษาข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจ่ายเงินสินบนและรางวัลให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามระเบียบกรมศุลกากรฯ พบว่า
แม้ว่ากรมศุลกากรได้มีการปรับปรุงกฎหมายศุลกากร และปรับปรุงการดำเนินงาน ตามข้อเสนอแนะการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการจ่ายเงินสินบนและรางวัลของกรมศุลกากร ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อปี พ.ศ.255 หลายประกำร แต่ยังคงมีประเด็นที่นำไปสู่การพิจารณา ดังนี้
ประเด็น ผู้มีสิทธิได้รับเงินรางวัลและสัดส่วนเงินรางวัล
-ขอบเขตผู้มีสิทธิได้รับเงินรางวัล
จากข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติการณ์การจ่ายเงินสินบนและรางวัลของกรมศุลกากร ตามเรื่องกล่าวหาเมื่อปี พ.ศ.2563 ปรากฏรายชื่อเจ้าหน้าที่ ซึ่งไม่ได้ร่วมดำเนินการจับกุมกระทำความผิดโดยตรง เช่น อธิบดี ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่หน้าห้องอธิบดี หน้าห้องที่ปรึกษา เจ้าพนักงานธุรการ เจ้าหน้าที่การเงิน พนักงานขับรถของสำนักงานศุลกากรตรวจสินค้าที่มีหน้าที่รับส่งเอกสาร เป็นต้น
โดยในรายงานการจับกุมของพนักงานศุลกากร (แบบที่ 306) นั้น ได้ระบุความเกี่ยวข้องว่าบุคคลดังกล่าว เป็นผู้สั่งการ ผู้วางแผน ผู้ร่วมวางแผน ผู้ร่วมจับกุม และผู้ช่วยเหลือ ทั้งเป็นผู้เกี่ยวข้องก่อนการจับกุม ขณะจับกุม และภายหลังการจับกุม ซึ่งนำไปสู่การได้รับเงินรางวัลด้วย
ทั้งนี้ แม้ว่าจะมีการปรับปรุงกฎหมายศุลกากร โดยมีการออก พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 และระเบียบกรมศุลกากรว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนและรางวัล พ.ศ.2560 และมีแนวปฏิบัติตามระเบียบฯ พ.ศ.2560 อย่างไรก็ตาม ระเบียบฯ พ.ศ.2560 ข้อ 7 ยังคงกำหนดบุคคลผู้มีสิทธิ์ได้รับเงินรางวัล คงเดิมตามระเบียบฯ พ.ศ.2517
ทำให้ ผู้มีสิทธิ์ได้รับเงินรางวัล มีขอบเขตกว้างขวางมาก โดยหากมีการระบุความเกี่ยวข้องในแบบการจับกุม (แบบที่ 306) แล้ว ไม่ว่าจะเป็นผู้สั่งการ ผู้วางแผน ผู้ร่วมวางแผน ผู้ร่วม จับกุม และผู้ช่วยเหลือ ทั้งกรณีเป็นผู้เกี่ยวข้องก่อนการจับกุม ขณะจับกุม และภายหลังการจับกุม ก็จะนำไปสู่การได้รับเงินรางวัลทั้งสิ้น
ดังนั้น ในประเด็นนี้ เห็นว่าการกำหนดคำนิยาม “เจ้าพนักงาน” ผู้มีสิทธิ์ได้รับเงินรางวัล ควรกำหนดนิยาม และขอบเขตให้ชัดเจน เจาะจงเฉพาะผู้มีส่วนร่วมโดยตรงในการปฏิบัติหน้าที่จับกุมเท่านั้น
-ความเหมาะสมของสัดส่วนเงินรางวัล
จากการศึกษาข้อมูลฯ เกี่ยวกับการกำหนดสัดส่วนเงินรางวัล พบว่าไม่ได้มีการอ้างอิงที่มา หลักเกณฑ์ หรือแนวทางอ้างอิงเพื่อกำหนดสัดส่วนเงินรางวัลที่ชัดเจน และเมื่อเปรียบเทียบกับการกำหนดสัดส่วนเงินรางวัลของกฎหมายอื่น พบว่ามีความแตกต่างและหลากหลายโดยไม่ได้มีการอ้างอิงมาตรฐานของความเหมาะสม
แม้ว่ากระทรวงการคลังจะมีข้อบังคับกระทรวงการคลังว่าด้วยการหักเงินค่าปรับก่อนนำส่งคลัง พ.ศ.2546และที่แก้ไขเพิ่มเติม แต่ก็เป็นเพียงการกำหนดอัตราเงินค่าปรับที่ให้หักไว้ก่อนนำส่งคลัง ไม่ได้มีการกำหนดว่าเงินที่หน่วยงานหักไว้ดังกล่าว ควรไปกำหนดสัดส่วนเพื่อจัดสรรให้กับเจ้าหน้าที่อย่างไร
ดังนั้น จึงเป็นอำนาจของหน่วยงานอย่างแท้จริงในการกำหนดสัดส่วนเงินรางวัล ซึ่งอาจไม่ได้แสดงถึงเหตุผลและวัตถุประสงค์และขาดหลักเกณฑ์การพิจารณาที่ชัดเจนและเป็นมาตรฐาน
@ให้‘อธิบดี’ใช้ดุลพินิจแบ่งรางวัล-มีผลประโยชน์ทับซ้อน
-การกระจายสัดส่วนที่มากเกินไป และไม่สอดคล้องกับการมีส่วนร่วมในการปฏิบัติงาน
การกระจายสัดส่วนเงินรางวัลที่มากเกิน มีการกระจายไปยังผู้ปฏิบัติงานทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดของหน่วยงาน ทำให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ในการจับกุมโดยตรงได้รับเงินรางวัลในจำนวนน้อย จนไม่อาจสร้างแรงจูงใจในการปฏิบัติหน้าที่ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายโดยตรงปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยความซื่อสัตย์ได้ ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับผู้ปฏิบัติงานโดยตรง
รวมทั้งการจ่ายเงินรางวัลไม่อาจบรรลุวัตถุประสงค์ เนื่องจากผู้ได้รับเงินรางวัลในสัดส่วนที่สูง กลับไม่ได้เป็นผู้ปฏิบัติงานโดยตรง แต่เป็นผู้บริหารระดับสูงหรือผู้มีอำนาจในการสั่งการแทน
ดังนั้น ในประเด็นนี้ การกระจายสัดส่วนเงินรางวัล ควรต้องดำเนินการควบคู่กับการกำหนดนิยามและขอบเขตของเจ้าพนักงาน ผู้มีสิทธิ์ได้รับเงินรางวัล และควรมีการปรับสัดส่วนให้สอดคล้องสัมพันธ์กัน
-การใช้ดุลยพินิจและผลประโยชน์ทับซ้อน
เนื่องจากระเบียบกรมศุลกากรว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนและรางวัล พ.ศ.2560 ข้อ 14 กำหนดให้อธิบดีกรมศุลกากรมีอำนาจชี้ขาดในการกำหนดบุคคลผู้ได้รับเงินรางวัล แม้ว่าตามระเบียบฯ ใหม่ พ.ศ.2560 จะมีคณะกรรมการกลั่นกรองปัญหาเกี่ยวกับการจ่ายเงินสินบน รางวัล และค่าภาระติดพัน ทำหน้าที่พิจารณาเรื่องก่อนนำเสนออธิบดีพิจารณาสั่งการ
แต่ในทางปฏิบัติ อาจยังเป็นความเสี่ยงในการใช้ดุลยพินิจได้ เนื่องจากไม่ได้ปรากฏรายละเอียดกรอบการใช้ดุลยพินิจที่ชัดเจนที่จะกลั่นกรองบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้อง เนื่องจากการกำหนดคำนิยาม “เจ้าพนักงาน” มีขอบเขตที่กว้าง ตามที่ได้กล่าวไปแล้ว
นอกจากนี้ การกำหนดให้อธิบดีในฐานะหัวหน้าหน่วยงาน ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจชี้ขาดในการกำหนดบุคคลผู้มีสิทธิได้รับเงินรางวัล ปรากฏเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินรางวัลในฐานะ “ผู้สั่งการจับกุม” และมีสิทธิได้รับเงินรางวัลด้วย โดยได้รับเงินรางวัลในอัตราที่สูงกว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ อาจเข้าข่ายการมีผลประโยชน์ทับซ้อนจากการปฏิบัติหน้าที่ได้
และยังปรากฏว่าสัดส่วนเงินรางวัลของผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานมีสิทธิรับเงินรางวัลในสัดส่วนที่สูงกว่าเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานโดยตรง และสามารถมีสิทธิได้รับเงินรางวัลได้ในทุกคดี เนื่องจากในฐานะหัวหน้าส่วนราชการ หรือผู้บริหารระดับสูงที่ปฏิบัติหน้าที่แทนหัวหน้าส่วนราชการ ย่อมมีหน้าที่ในฐานะ “ผู้สั่งการให้มีการจับกุม” จึงอาจเป็นปัจจัยยั่วยุให้ใช้โอกาสและตำแหน่งในสร้างแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนได้
ดังนั้น ผู้มีอำนาจหรือหัวหน้าส่วนราชการจึงควรจะทำหน้าที่ผู้บริหารหน่วยงานมากกว่าจะทำหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมาย
@เผย‘เงินรางวัล’ได้รับยกเว้นภาษี-‘คลัง’คุมจัดสรรไม่ได้
นอกจากนี้ การที่เงินรางวัลที่ได้นี้ เป็นการนำเงิน ซึ่งได้จากการหักเงินค่าปรับก่อนนำส่งคลัง หรือแบ่งเงินจากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดได้จากการกระทำความผิดกฎหมาย โดยเงินส่วนนี้ จะไม่ตกเป็นเงินในระบบงบประมาณแผ่นดิน แต่ให้หน่วยงานของรัฐบริหารจัดการตามระเบียบที่กำหนดขึ้น
โดยกระทรวงการคลังจะกำกับดูแลการใช้จ่ายเงิน โดยการวางกรอบในข้อบังคับหรือประกาศ แต่มิได้พิจารณาลงไปในรายละเอียดของการกำหนดผู้มีสิทธิรับเงินรางวัลและอัตราหรือสัดส่วนเงินรางวัล ดังนั้น จึงทำให้กระทรวงการคลังไม่สามารถควบคุมการใช้จ่ายเงินดังกล่าวให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
รวมทั้งเงินรางวัลที่กรมศุลกากรจ่ายให้แก่เจ้าพนักงานผู้มีสิทธิได้รับนั้น ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 42 (11) แห่งประมวลรัษฎากร ที่บัญญัติให้เงินได้พึ่งประเมินประเภทสินบนรางวัลที่ทางราชการจ่ายให้เพื่อประโยชน์ในการปราบปรามการกระทำความผิด ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้
โดยกฎหมายฉบับดังกล่าวอยู่ในความรับผิดชอบของกรมสรรพากร ทำให้ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 และระเบียบกรมศุลกากรว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนและรางวัล พ.ศ.2560 จึงมิได้กำหนดให้มีการจ่ายภาษีไว้แต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการคำนวณภาษีเงินได้ และเป็นประโยชน์แก่ระบบงบประมาณแผ่นดิน จึงควรนำเงินรางวัลซึ่งได้รับเป็นการพิเศษตอบแทนเพิ่มเติมจากเงินเดือนจากการปฏิบัติ ควรนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ด้วย และหากต้องมีการแก้ไขกฎหมายใดเพื่อให้เกิดการนำเงินรางวัลมารวมคำนวณภาษี ก็ให้ดำเนินการแก้ไขกฎหมายเหล่านั้นด้วย
รวมทั้งควรนำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดเข้าคลังตามระบบงบประมาณก่อน แล้วจึงค่อยเบิกมาจ่ายเงินรางวัล โดยกำหนดจ่ายเมื่อสิ้นสุดปีงบประมาณ
@ไม่มี‘ฐานข้อมูลกลาง’-ระบบตรวจสอบความผิดปกติ‘จับกุม’
ประเด็น การปรับปรุงระบบงานของกรมศุลกากร เพื่อเป็นมาตรการเสริมในการแก้ไขปัญหาเรื่องการจ่ายเงินสินบนและรางวัล และแก้ไขปัญหาการทุจริต
1.เมื่อพิจารณาถึงประเด็นเกี่ยวกับสถิติการจับกุมการกระทำความผิด และสถิติการจ่ายเงินสินบนและรางวัลของกรมศุลกากร จะเห็นได้ว่าสถิติดังกล่าว ถือเป็นข้อมูลสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงจำนวนเงินที่จะต้องจ่ายให้กับผู้แจ้งความนำจับและพนักงานเจ้าหน้าที่กรมศุลกากร จำนวนเงินที่พนักงานเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรแต่ละตำแหน่งได้รับ
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันกรมศุลกากรยังไม่มีการจัดเก็บข้อมูลในคอมพิวเตอร์อย่างเป็นระบบแต่อย่างใด ทั้งนี้ จากการขอทราบข้อมูลสถิติย้อนหลังระหว่าง พ.ศ.2554-พ.ศ.2563 ทั้งการจ่ายเงินสินบนและรางวัลจากกรมศุลกากร การจำแนกสถิติเป็นการจ่ายเงินสินบน เป็นต้น
แต่ปรากฏว่า กรมศุลกากรได้รวบรวมข้อมูลจากหลักฐานตามสารบบคดีที่อยู่ในวิสัยที่ตรวจสอบได้เท่านั้น ทำให้ข้อมูลที่รวบรวมได้นั้นไม่สมบูรณ์ และอาจไม่ใช้จำนวนการจ่ายเงินที่แท้จริง อีกทั้งในส่วนของการจ่ายเงินรางวัลที่จ่ายให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่กรมศุลกากร ไม่ได้มีสถิติที่จำแนกการจ่ายเงินรางวัลตามประเภทตำแหน่งตามบัญชีส่วนแบ่งไว้
ทำให้ไม่สามารถแสดงผลได้ว่าพนักงานเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรแต่ละตำแหน่งได้รับเงินรางวัลจำนวนเท่าไหร่ และการได้รับเงินรางวัลนั้น เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดให้เป็นค่าตอบแทนสำหรับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในการจับกุมหรือไม่
ดังนั้น จึงควรเน้นย้ำให้กรมศุลกากรมีการจัดทำฐานข้อมูลกลางของศุลกากรเกี่ยวกับการจ่ายเงินสินบนและรางวัลในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์อย่างเป็นระบบ มีความสะดวก แม่นยำในการแสดงผลที่ความถูกต้องรัดกุม รวมทั้งให้มีการรายงานผลการจ่ายเงินสินบนและรางวัลให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ ทั้งสถิติการจับกุม สถิติการจ่ายเงินสินและรางวัล
โดยในส่วนเงินรางวัลควรให้จำแนกการจ่ายเงินตามประเภทตำแหน่งด้วยว่าแต่ละตำแหน่งได้รับเงินรางวัลเท่าใด และควรมีระบบการตรวจสอบการจ่ายเงินสินบนและรางวัล เพื่อป้องกันปัญหาการทุจริตสร้างหลักฐานเท็จ รวมทั้งมีการกำหนดให้มีระบบป้องกันและการตรวจสอบความถูกต้องและการมีอยู่จริงของการแจ้งเบาะแสและผู้แจ้งความนำจับด้วย
ทั้งนี้ ระบบฐานข้อมูลกลางนี้ ควรมีความเชื่อมโยงถึงที่มาที่ไปของรายการจับกุม รายการทรัพย์สินที่นำไปสู่การจ่ายเงินสินบนและรางวัล เพื่อประโยชน์ในทางสถิติและการตรวจสอบทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่รัฐโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเพื่อการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชนด้วย
2.จากกรณีข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากสื่อมวลชนเกี่ยวกับกรณี นายตำรวจนายหนึ่ง เกี่ยวเนื่องกับเงินสินบนและรางวัลนำจับรถหรู ซึ่งปรากฏข่าวกรณีการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย อาศัยความเป็นเจ้าหน้าที่ และร่วมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องแสวงหาผลประโยชน์จากการปฏิบัติหน้าที่ แม้ว่ากรมศุลกากรชี้แจงว่า ไม่พบความผิดปกติที่ส่อไปในทางทุจริตเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว และไม่อาจก้ำวก่ายการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้น
อย่างไรก็ดี กรมศุลกากร ควรมีระบบการตรวจสอบและเฝ้าระวังความผิดปกติในการดำเนินการจับกุมการกระทำความผิดตามกฎหมายศุลกากรที่เหมาะสมและเท่าทันพฤติการณ์การทุจริตที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพฤติการณ์การจับกุมรูปแบบซ้ำเดิม
@ชง 6 ข้อเสนอแนะป้องกันทุจริตจ่ายเงินสินบน-รางวัล
ข้อเสนอแนะ
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาข้อเสนอของสำนักมาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม และมีมติเห็นชอบข้อเสนอแนะหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจ่ายเงินสินบนและรางวัลให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ ตามระเบียบกรมศุลกากรว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนและรางวัล และเสนอไปยัง ครม. ตามนัยมาตรา 32 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 เพื่อมีมติให้กระทรวงการคลัง พิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
-ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการป้องกันมิให้จ่ายเงินรางวัลให้แก่บุคคลที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจับกุมการกระทำความผิดให้ได้รับเงินรางวัล และความเหมาะสมของอัตราส่วนแบ่งเงินรางวัล
1.ให้กระทรวงการคลัง ศึกษาวิจัยความจำเป็นในการให้มีเงินรางวัลเพื่อตอบแทนการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ และความเป็นไปได้ในการใช้ช่องทางตามระบบการกำหนดค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐที่มีอยู่ในปัจจุบัน ให้เหมาะสมกับลักษณะการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่แทนระบบการจ่ายเงินรางวัลจากเงินค่าปรับที่ได้รับ
ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่ของรัฐบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความเสมอภาคในระบบราชการมากยิ่งขึ้น
2.ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องมีการจ่ายเงินรางวัล ให้กระทรวงการคลังพิจารณา ดังนี้
2.1 ทบทวนหลักเกณฑ์การจ่ายเงินรางวัลให้สอดคล้อง เหมาะสมกับสถานการณ์การปฏิบัติงาน โดย
(1) ต้องกำหนดให้ชัดเจนว่าจะให้จ่ายเงินรางวัลกรณีใดบ้าง เช่น กรณีที่เหตุอันเสี่ยงอันตราย หรือมีเหตุอันสมควรเท่านั้น
(2) กำหนดขอบเขตบุคคลที่มีสิทธิ์รับส่วนแบ่งเงินรางวัล โดยเน้นที่การมีส่วนร่วมโดยตรงในการจับกุม เช่น เป็นผู้จับ ร่วมจับ สืบจับ ตรวจพบการกระทำความผิด ร่วมวางแผนหรือร่วมดำเนินการเป็นสำคัญ
2.2 พิจารณาปรับปรุงบัญชีอัตราส่วนแบ่งเงินรางวัลให้เหมาะสม สะท้อนการมีส่วนร่วมและผลการปฏิบัติงานมากกว่าระดับตำแหน่ง เพื่อป้องกันการมีผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interest) และลดการใช้ดุลยพินิจโดยหัวหน้าส่วนราชการ โดยอาจมีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาอัตราส่วนแบ่งเงินรางวัลที่เหมาะสม ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
2.3 เห็นควรให้มีการนำเงินที่ได้จากการจับกุมการกระทำความผิดของกรมศุลกากร นำส่งเข้าคลังโดยตรงก่อน เมื่อการพิจารณาคดีเป็นที่สิ้นสุดแล้ว จึงจะทำการเบิกจ่ายเงินรางวัลให้แก่ผู้ได้รับต่อไป เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการเบิกเงินรางวัล
2.4 ให้มีการนำเงินได้จากเงินรางวัลนี้ ไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ด้วย และอาจกำหนดอัตราการคำนวณภาษีเงินได้จากเงินรางวัลจากการจับกุมการกระทำความผิดตามกฎหมายศุลกากร ในอัตราขั้นบันไดตามจำนวนเงินรางวัลที่ได้รับด้วยก็ได้ ทั้งนี้ หากต้องมีการแก้ไขกฎหมายใดเพื่อให้เกิดการนำเงินรางวัล มารวมคำนวณภาษี ก็ให้ดำเนินการแก้ไขกฎหมายเหล่านั้นด้วย
-ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการปรับปรุงระบบงานของกรมศุลกากร เพื่อเป็นมาตรการเสริมในการแก้ไขปัญหาเรื่องการจ่ายเงินสินบนและรางวัล และแก้ไขปัญหาการทุจริต
1.ให้กรมศุลกากรจัดทำ “ฐานข้อมูลกลาง” เกี่ยวกับการจ่ายเงินสินบนและรางวัลในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์อย่างเป็นระบบ และให้จัดทำข้อมูลเชื่อมโยงถึงที่มาที่ไปของรายการจับกุมการกระทำความผิด รายการทรัพย์สินที่นำไปสู่การจ่ายเงินสินบนและรางวัล เพื่อประโยชน์ในทำงสถิติและการตรวจสอบทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเพื่อการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชนด้วย
2.ให้กรมศุลกากรจัดทำระบบ/วิธีการลงบัญชีการจ่ายเงินสินบนและรางวัล โดยนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการดำเนินงาน และให้มีการรายงานการจ่ายเงินสินบนและรางวัลให้แก่พนักงาน โดยให้ด่านศุลกากร เป็นหน่วยจัดทำรายงานการจ่ายเงินสินบนและรางวัลให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ และรายงานผ่านสำนักงานศุลกากรภาค ที่มีหน้าที่ดูแลด่านศุลกากรพื้นที่ มายังกรมศุลกากรตามลำดับขั้นตอน และเปิดเผยผลการดำเนินการให้สาธารณชนได้รับทราบ
ทั้งนี้ เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลการจ่ายเงินสินบนและรางวัลตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 และระเบียบกรมศุลกากรว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนและรางวัล พ.ศ.2560 เพื่อสร้างความโปร่งใสและความน่าเชื่อถือในการปฏิบัติหน้าที่ของกรมศุลกากร และเป็นดำเนินการตามหลักธรรมาภิบาลและการบริหารราชการที่ดีของหน่วยงานภาครัฐด้วย
3.ให้กรมศุลกากร พัฒนาระบบการตรวจสอบและเฝ้าระวังความผิดปกติในการดำเนินการจับกุมการกระทำความผิดตามกฎหมายศุลกากร โดยเฉพาะในพฤติการณ์การจับกุมรูปแบบซ้ำเดิม และจัดให้มีระบบการร้องเรียนและแจ้งเบาะแสการปฏิบัติหน้าเกี่ยวกับการจับกุมการกระทำความผิดตามกฎหมายศุลกากร
เหล่านี้เป็นรายละเอียดของรายงานของเสนอแนะ ‘ป.ป.ช.’ ในเรื่อง ‘หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจ่ายเงินสินบนและรางวัลให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ ตามระเบียบกรมศุลกากรฯ’ เพื่อป้องกันทุจริตการ ‘จ่ายเงินสินบน-รางวัล’ ให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ และยังต้องติดตามกันต่อไปว่า หลังจาก ครม. รับทราบข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช.แล้ว จะมีข้อสั่งการใดบ้าง!
อ่านประกอบ :
‘ป.ป.ช.’ชง‘ครม.’รับทราบเกณฑ์‘จ่ายสินบน-รางวัล’แก่‘จนท.กรมศุลฯ’-รื้อระบบงานป้องกันทุจริต