‘ธปท.’ เผยสินเชื่อ ‘ระบบธนาคารพาณิชย์’ ไตรมาส 2/67 ขยายตัวเพียง 0.3% หลังสินเชื่อ ‘อุปโภคบริโภค’ ชะลอตัว ขณะที่ ‘หนี้เสีย’ เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.84% เตรียมออก ‘หนังสือเวียน’ แจ้ง ‘ธนาคาร-นอนแบงก์’ ช่วยเหลือลูกหนี้ประสบภัยน้ำท่วม
.........................................
เมื่อวันที่ 27 ส.ค. น.ส.อัจจนา ล่ำซำ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตรวจสอบแบบจำลองและวิเคราะห์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงสรุปภาพรวมธนาคารพาณิชย์ ไตรมาส 2/2567 ว่า ระบบธนาคารพาณิชย์มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ โดยมีเงินกองทุน เงินสำรอง และสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง ขณะที่สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ (รวมบริษัทในเครือ) ไตรมาส 2/2567 ขยายตัวชะลอลงมาอยู่ที่ 0.3% จากระยะเดียวกันปีก่อน
“สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ รวมเครือ มีการชะลอตัวลง โดยเฉพาะสินเชื่ออุปโภคบริโภคที่ขยายตัวชะลอลงมาอยู่ที่ 0.74% ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากความเสี่ยงด้านเครดิตที่ปรับเพิ่มขึ้น ส่วนสินเชื่อธุรกิจทรงตัว โดยสินเชื่อธุรกิจมีการขยายตัวในกลุ่มภาคการเงิน บริการโทรคมนาคม แต่กลุ่มที่สินเชื่อหดตัวจะอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ขณะที่สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ขยายตัว 2% และสินเชื่อ SMEs หดตัว 5.4%” น.ส.อัจจนา กล่าว
น.ส.อัจจนา ระบุว่า เมื่อพิจารณาอัตราการขยายตัวของสินเชื่ออุปโภคบริโภคแยกพอร์ตสินเชื่อ พบว่าสินเชื่อบ้านและสินเชื่อส่วนบุคคลชะลอตัว ขณะที่สินเชื่อเช่าซื้อและบัตรเครดิตหดตัว โดยสินเชื่อบ้านที่ชะลอตัว เป็นการชะลอตัวลงของสินเชื่อในกลุ่มบ้านแนวราบและบ้านที่มีราคาต่ำกว่า 5 ล้านบาท ส่วนสินเชื่อเช่าชื้อที่หดตัวนั้น เป็นเพราะผู้บริโภคชะลอซื้อรถ พฤติกรรมคนรุ่นใหม่ที่ไม่เน้นการเป็นเจ้าของรถ และสถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ
น.ส.อัจจนา กล่าวว่า ในส่วนภาพรวมคุณภาพสินเชื่อ ยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (non-performing loan: NPL หรือ stage 3) ไตรมาส 2/2567 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 540.8 พันล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมที่ร้อยละ 2.84 จากไตรมาสก่อน (1/2567) ที่อยู่ที่ร้อยละ 2.80 โดยมาจาก NPL สินเชื่ออุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้น ส่วน NPL สินเชื่อธุรกิจทรงตัว โดย NPL ที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว ยังอยู่ในระดับที่ธนาคารพาณิชย์บริหารจัดการได้ จึงทำให้ไม่เป็น NPL cliff
“สินเชื่ออุปโภคบริโภค โดยรวมจะเห็นได้ว่าคุณภาพหนี้ด้อยลงทุกประเภทพอร์ตสินเชื่อ และส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มลูกหนี้กลุ่มเปราะบางที่เคยได้รับการช่วยเหลือมาแล้ว แต่อาจชำระหนี้ไม่ได้ตามเงื่อนไข อีกกลุ่มเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึง ทำให้รายได้กลับมาช้า และกลุ่มที่มีรายได้น้อยกว่า 3 หมื่นบาท ซึ่งมีภาระหนี้ค่อนข้างสูง” น.ส.อัจจนา กล่าว
สำหรับสัดส่วนสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม (SICR หรือ stage 2) อยู่ที่ร้อยละ 6.50 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน (1/2567) ที่อยู่ที่ร้อยละ 6.38 โดยสินเชื่อ stage 2 ที่เพิ่มขึ้นนั้น มาจากทั้งสินเชื่อธุรกิจ ซึ่งเป็นผลจากการจัดชั้นเชิงคุณภาพของสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ และสินเชื่ออุปโภคบริโภค เนื่องจากลูกหนี้ที่เคยอยู่ในมาตรการช่วยเหลือจ่ายหนี้ไม่ได้ หลังจากมีการปรับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น และลูกหนี้บางกลุ่มเริ่มจ่ายหนี้ล่าช้า
ด้านผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2567 ปรับดีขึ้นจากไตรมาสก่อน โดยธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบมีกำไรสุทธิ 7.6 หมื่นล้านบาท โดยหลักจากรายได้เงินปันผลตามปัจจัยฤดูกาล ขณะที่ค่าใช้จ่ายสำรองปรับเพิ่มขึ้น สำหรับอัตราส่วนทางการเงินปรับตัวดีขึ้น โดยในไตรมาส 2/2567 ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) อยู่ที่ร้อยละ 3.04 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน (1/2567) ที่อยู่ที่ร้อยละ 3.02 ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับกลางๆเมื่อเทียบกับประเทศคู่เทียบของไทย
ด้าน น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า NPL และสินเชื่อ stage 2 ในช่วงไตรมาส 2/2567 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น นั้น ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มลูกหนี้ที่เคยได้รับการช่วยเหลือมาแล้ว เพราะแม้ว่ารายได้ของลูกหนี้จะฟื้นตัวกลับมาแล้ว แต่ยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึงและฟื้นตัวไม่เต็มที่ ในขณะที่รายได้ดังกล่าวเพียงพอต่อการดำรงชีพ แต่ไม่เพียงพอต่อการจ่ายชำระหนี้เดิม และต้องยอมรับว่ามาตรการปรับโครงสร้างหนี้ คงไม่สามารถช่วยได้ทุกคน
“คนรู้สึกว่า แบงก์ชาติบอกว่าเริ่มฟื้นตัวแล้ว แต่ทำไมยังมีความเสียอยู่ ก็เพราะว่า หลุมรายได้ที่เกิดขึ้น แล้วไปโปะด้วยหนี้ พอมันผ่านเวลาไป สิ่งที่ต้องเอามาจ่าย นอกจากการดำรงชีพแล้ว ก็ยังต้องเอามาจ่ายหนี้เดิมด้วย ซึ่งมันสูงขึ้น และเราก็เอามาตรการปรับโครงสร้างหนี้มาช่วย แต่ก็ยอมรับว่าช่วยไม่ได้ทุกคน” น.ส.สุวรรณี กล่าว
น.ส.สุวรรณี ระบุด้วยว่า ณ ไตรมาส 1/2567 สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ 90.8% และคาดว่าไตรมาส 2/2567 สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP จะลดลงมาเล็กน้อย ขณะที่สัดส่วนหนี้ภาคธุรกิจ อยู่ที่ 87.9% ต่อจีดีพี เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน สอดคล้องกับการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ยังต้องติดตามธุรกิจบางกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเชิงโครงสร้างและความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง
สำหรับความคืบหน้ามาตรการการให้สินเชื่อด้วยความรับผิดชอบ (Responsible Lending) นั้น ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 สถาบันการเงินมีการปรับโครงสร้างให้กับลูกหนี้สะสม 4.9 ล้านบัญชี และมียอดภาระหนี้ที่ได้รับการช่วยเหลือสะสม 1.5 ล้านล้านบาท
น.ส.สุวรรณี กล่าวว่า จากสถานการณ์อุทุกภัยในพื้นที่ต่างๆนั้น ในสัปดาห์หน้า ธปท.จะออกหนังสือเวียนให้ธนาคารพาณิชย์ และ Non-bank เข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้ เช่น การพิจารณาให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนและสภาพคล่องให้ลูกหนี้ เพื่อซ่อมแซมที่อยู่อาศัย หรือนำไปเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพหรือทำธุรกิจ และกรณีสินเชื่อบัตรเครดิตให้พิจารณาปรับลดอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำเป็นเวลา 1 ปี
ส่วนกรณีสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้กำกับ รวมถึงสินเชื่อดิจิทัลส่วนบุคคล นั้น จะมีการผ่อนผันหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกำหนดวงเงินชั่วคราวกรณีฉุกเฉินที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ
อ่านประกอบ :
‘ธปท.’เผยสินเชื่อ‘แบงก์พาณิชย์’ปี 66 หด 0.3%-สศช.แนะหั่นดอกเบี้ยอุ้ม‘ภาคครัวเรือน-SMEs’
แบงก์ระวังปล่อยกู้ SMEs! ‘ธปท.’เผยสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 3/66 หดตัว 0.9%
คืนเงินกู้-ออกตราสารหนี้! ‘ธปท.’เผยสินเชื่อ‘แบงก์พาณิชย์’ไตรมาส 2/66 หด 0.4%-NPL 2.67%
'ธปท.' เผยไตรมาส 1/65 สินเชื่อ'แบงก์พาณิชย์' เติบโต 6.9%- 'หนี้เสีย'ทรงตัวที่ 2.93%
ไตรมาสแรก '6 แบงก์ใหญ่' กำไรเพิ่มทั่วหน้า ตั้งสำรองฯลดลง-คุณภาพสินเชื่อดีขึ้น
‘ธปท.’ เผยปี 64 ระบบแบงก์พาณิชย์ มีกำไรสุทธิ 1.81 แสนล้าน เพิ่มขึ้น 23.6%-NPL 2.98%
ธปท.ประกาศให้ 'แบงก์พาณิชย์' จ่ายเงินปันผล ไม่เกิน 50% ของกำไรสุทธิ ปี 64