‘ธปท.’ เผยสินเชื่อ ‘ระบบธนาคารพาณิชย์’ ไตรมาส 2/66 หดตัว 0.4% หลังธุรกิจทยอยคืนหนี้-ระดมทุน ‘ตราสารหนี้’ ขณะที่ NPL ลดเหลือ 2.67%
......................................
เมื่อวันที่ 22 ส.ค. น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงสรุปภาพรวมธนาคารพาณิชย์ ไตรมาส 2 ปี 2566 ว่า ระบบธนาคารพาณิชย์มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ โดยมีเงินกองทุน เงินสำรอง และสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง โดยสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 2 ปี 2566 หดตัวเล็กน้อยร้อยละ 0.4 จากระยะเดียวกันปีก่อน
จากการทยอยชำระคืนหนี้ของภาคธุรกิจ หลังเร่งขยายตัวต่อเนื่องเพื่อเสริมสภาพคล่องในช่วงโควิด โดยเฉพาะการชำระคืนสินเชื่อ SMEs (รวม soft loan) และภาครัฐ ขณะที่ธุรกิจขนาดใหญ่ส่วนหนึ่งระดมทุนผ่านการออกตราสารหนี้ ประกอบกับมีการบริหารจัดการคุณภาพหนี้ของธนาคารพาณิชย์ อย่างไรก็ดี สินเชื่อยังขยายตัวได้จากธุรกิจขนาดใหญ่กลุ่ม holding รวมถึงสินเชื่อรายย่อยพอร์ตที่อยู่อาศัยและพอร์ตส่วนบุคคลเป็นสำคัญ
“ในช่วงไตรมาสที่ 2/2566 การขยายตัวของสินเชื่อหดตัวที่ 0.4% แต่ถ้าบวกกลับในกรณีที่มีธนาคารพาณิชย์แม่ได้โอนขายธุรกิจรายย่อยลงไปให้กลุ่มธุรกิจของตัวเองแล้ว การขยายตัวของสินเชื่อยังอยู่ที่ 0.4%” น.ส.สุวรรณี กล่าว
ด้านคุณภาพสินเชื่อด้อยลงเล็กน้อยในสินเชื่อ SMEs และสินเชื่ออุปโภคบริโภค โดยธนาคารพาณิชย์บริหารจัดการคุณภาพหนี้และให้ความช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่องด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ ส่งผลให้ยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (non-performing loan: NPL หรือ stage 3) ไตรมาส 2 ปี 2566 ลดลงมาอยู่ที่ 492.3 พันล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมที่ร้อยละ 2.67
ขณะที่สัดส่วนสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม (significant increase in credit risk: SICR หรือ stage 2) อยู่ที่ร้อยละ 6.08 ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 6.00
“ในภาพรวมตัวเลข NPL ถือว่าปรับตัวลดลง และตัวเลขทั้งหมดต่ำกว่า 5 แสนล้านบาท ซึ่งหลักๆมาจากการปรับโครงสร้างหนี้ที่มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีการขายหนี้และตัดหนี้สูญสำหรับหนี้รายย่อยด้วย ส่วนหนี้ stage 2 มีการปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยหลักๆจะมาจากสินเชื่อรถยนต์” น.ส.สุวรรณี กล่าว
สำหรับผลการดำเนินงานไตรมาส 2 ปี 2566 ปรับดีขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน เป็นผลจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เพิ่มขึ้น แม้ต้นทุนทางการเงินปรับเพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินรับฝากและ FIDF Fee กลับสู่ระดับปกติ รวมถึงค่าใช้จ่ายดำเนินงานและค่าใช้จ่ายสำรองที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ หากเทียบไตรมาสก่อน กำไรสุทธิปรับเพิ่มขึ้น จากรายได้เงินปันผลตามปัจจัยฤดูกาล และรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเป็นสำคัญ
อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของ SMEs และครัวเรือนบางกลุ่มที่ยังมีฐานะการเงินเปราะบางจากภาระหนี้ที่สูงขึ้นและรายได้ที่ฟื้นตัวช้า โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ไตรมาส 1 ปี 2566 ลดลงเล็กน้อยตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่ภาคธุรกิจมีสัดส่วนหนี้สินต่อ GDP ปรับลดลงต่อเนื่อง และความสามารถในการทำกำไรปรับดีขึ้นเล็กน้อยจากภาคการผลิต
โดยต้องติดตามความเสี่ยงจากภาคการส่งออกที่ชะลอลงตามเศรษฐกิจโลก ภาคการท่องเที่ยวที่ต้องมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง และภาคก่อสร้างที่ต้องติดตามนโยบายของภาครัฐ
น.ส.สุวรรณี กล่าวว่า สถาบันการเงินยังให้ความช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของกลุ่มเปราะบาง แม้มาตรการแก้หนี้ระยะยาวในช่วงโควิดจะสิ้นสุดในสิ้นปี 2566 ลูกหนี้ที่มีปัญหายังสามารถปรับโครงสร้างหนี้ได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนที่สิ้นสุดเป็นเรื่องการผ่อนปรนหลักเกณฑ์กำกับดูแลเพื่อลดต้นทุนให้กับสถาบันการเงินเท่านั้น
นอกจากนี้ ธปท. จะเร่งออกมาตรการเพื่อแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ซึ่งจะทำอย่างครบวงจรและถูกหลักการ ไม่เพิ่มภาระลูกหนี้ในระยะยาว โดยมาตรการที่จะบังคับใช้ในปี 2567 คือ การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (responsible lending) ที่รวมถึงการดูแลหนี้เรื้อรัง (persistent debt) ตลอดจนมาตรการอื่น ๆ ที่ ธปท. จะดำเนินการในระยะต่อไป
ทั้งในด้านการกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกหนี้ (risk-based pricing: RBP) และการกำหนดภาระหนี้ต่อรายได้ (debt service ratio: DSR) ซึ่งทั้ง 3 มาตรการจะช่วยเสริมกันในการปรับพฤติกรรมของทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ตลอดวงจรหนี้ เพื่อช่วยแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยให้ลดลงสู่ระดับที่ยั่งยืน ซึ่งจำเป็นต้องใช้เวลา อาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และคำนึงถึงผลกระทบอย่างรอบด้าน
น.ส.สุวรรณี ระบุว่า สำหรับความคืบหน้าการช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงิน ล่าสุด ณ เดือน มิ.ย.2566 มีลูกหนี้ที่ยังอยู่ภายใต้มาตรการช่วยเหลือ 5.51 ล้านบัญชี ยอดภาระหนี้รวม 3.36 ล้านล้านบาท ขณะที่การปล่อยสินเชื่อฟื้นฟูและสินเชื่อเพื่อการปรับตัวนั้น ข้อมูล ณ วันที่ 7 ส.ค.2566 มียอดสินเชื่อที่ได้รับอนุมัติแล้ว 2.44 แสนล้านบาท จำนวนลูกหนี้ 6.42 หมื่นราย ส่วนสินเชื่อเพื่อการปรับตัว มียอดสินเชื่อที่ได้รับอนุมัติแล้ว 5,137 ล้านบาท จำนวนลูกหนี้ 437 ราย
น.ส.สุวรรณี กล่าวด้วยว่า ในช่วงสิ้นปี 2566 มาตรการลดอัตราการผ่อนชำระหนี้บัตรเครดิตขั้นต่ำ (Minimum payment) ที่อัตรา 5% จะสิ้นสุดลง และทยอยกลับไปใช้ Minimum payment ในอัตรา 8% ในปี 2567 และกลับสู่เกณฑ์ปกติในอัตรา 10% ในปี 2568 นั้น ธปท.จะให้สถาบันการเงินเร่งสื่อสารในเรื่องดังกล่าวกับลูกหนี้ พร้อมทั้งขอให้สถาบันการเงินดูแลลูกหนี้ที่ไม่สามารถเพิ่มอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำได้
“ในช่วงต้นไตรมาส 4 เราจะสถาบันการเงินเร่งสื่อสารเรื่องการปรับเรทดังกล่าวกับลูกหนี้ และเราขอให้มีการดูแลลูกหนี้ที่ไม่สามารถขึ้นอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำได้ โดยให้มีข้อเสนอที่จะโอนเปลี่ยนประเภทหนี้จากบัตรเครดิตไปเป็นสินเชื่อ term loan ซึ่งการเปลี่ยนอันนั้น สถาบันการเงินไม่สามารถคิดดอกเบี้ยเพิ่มจาก 16% ได้ เพราะถือว่าสัญญาที่เริ่มต้น เป็นสัญญาบัตรเครดิต แม้ว่าพีโลนในปัจจุบันจะมีเพดานอยู่ที่ 25% ก็ตาม รวมทั้งให้เจ้าหนี้กำหนดงวดการชำระหนี้ให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้” น.ส.สุวรรณีกล่าว
น.ส.อัจจนา ล่ำซำ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตรวจสอบแบบจำลองและวิเคราะห์ความเสี่ยงสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า เมื่อพิจารณาอัตราการขยายตัวสินเชื่ออุปโภคบริโภคแยกตามพอร์ต พบว่าในช่วงไตรมาส 2/2566 สินเชื่อที่อยู่อาศัยยังขยายตัวได้ 2.8% ขณะที่สินเชื่อบัตรเครดิตขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง แม้ว่าจะมีการบวกกลับในส่วนของพอร์ตที่ธนาคารแห่งหนึ่งโอนขายพอร์ตสินเชื่อรายย่อยให้กลุ่มบริษัทของตัวเองแล้ว ส่วนสินเชื่อรถยนต์ขยายตัวในระดับต่ำ เนื่องจากธนาคารระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ
ส่วนภาพรวม NPL (Stage 3) ของสินเชื่ออุปโภคบริโภคนั้น เมื่อแยกตามพอร์ตสินเชื่อ พบว่าสินเชื่อรถยนต์มี NPL อยู่ที่ 2.05% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ NPL อยู่ที่ 1.89% ส่วนสินเชื่ออื่นๆ คือ สินเชื่อบ้าน และสินเชื่อส่วนบุคคล พบว่า NPL อยู่ในระดับทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ในขณะที่ NPL ของสินเชื่อบัตรเครดิตปรับตัวลดลงระดับหนึ่ง โดยมีระดับ NPL อยู่ที่ 2.98% ลดลงจากไตรมาสก่อนที่ NPL อยู่ที่ 3.11%
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาสินเชื่อ Stage 2 ในส่วนของสินเชื่ออุปโภคบริโภคแยกพอร์ตสินเชื่อ พบว่า สินเชื่อรถยนต์มีสินเชื่อ Stage 2 อยู่ที่ 14.39% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่อยู่ที่ 13.85% ในขณะที่สินเชื่อ Stage 2 ในส่วนของสินเชื่อบ้าน สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อบัตรเครดิตปรับตัวลดลง
อ่านประกอบ :
'ธปท.' เผยไตรมาส 1/65 สินเชื่อ'แบงก์พาณิชย์' เติบโต 6.9%- 'หนี้เสีย'ทรงตัวที่ 2.93%
ไตรมาสแรก '6 แบงก์ใหญ่' กำไรเพิ่มทั่วหน้า ตั้งสำรองฯลดลง-คุณภาพสินเชื่อดีขึ้น
‘ธปท.’ เผยปี 64 ระบบแบงก์พาณิชย์ มีกำไรสุทธิ 1.81 แสนล้าน เพิ่มขึ้น 23.6%-NPL 2.98%
ธปท.ประกาศให้ 'แบงก์พาณิชย์' จ่ายเงินปันผล ไม่เกิน 50% ของกำไรสุทธิ ปี 64