‘คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ’ กรมบัญชีกลาง ชี้ ‘องค์การค้า สกสค.’ เขียน TOR ประมูลแบบเรียนปี 67 วงเงิน 912 ล้าน มีลักษณะ ‘กีดกันการเสนอราคา’ ขัดหลักการ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ ขณะที่รักษาการ ‘ผอ.องค์การค้า สกสค.’ ระบุต้องแบ่งประมูลหนังสือเป็น 30 กลุ่ม เหตุมีเวลาพิมพ์หนังสือแค่ 55 วัน จึงต้องกระจายความเสี่ยง
.....................................
สืบเนื่องจากกรณีที่องค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) หรือ องค์การค้าของ สกสค. ได้เผยแพร่ประกาศ สกสค. (องค์การค้าของ สกสค.) เรื่อง ประกาศผู้ชนะการเสนอราคาจ้างพิมพ์แบบเรียน ปีการศึกษา 2567 จำนวน 151 รายการ โดยวิธีการคัดเลือก ราคากลาง 912.59 ล้านบาท ซึ่งมีเอกชน 9 ราย ชนะการเสนอราคาจ้างพิมพ์แบบเรียนฯ
อย่างไรก็ดี ภายหลังจากที่องค์กรค้าของ สกสค. ประกาศผลการคัดเลือกฯการจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียน ปีการศึกษา 2567 แล้ว ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 15 มี.ค.2567 บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ (1997) จำกัด ทำหนังสืออุทธรณ์ผลการจัดซื้อจัดจ้างฯไปยังกรมบัญชีกลาง โดยขอให้กรมบัญชีกลาง มีคำสั่งยกเลิกการประกวดราคาจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียน ปีการศึกษา 2567 ทั้งหมด และให้มีการประกวดราคาใหม่
ทั้งนี้ เนื่องจากการประกวดราคาจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียนฯ ดังกล่าว มีลักษณะปิดกั้น ไม่โปร่งใส และไม่เป็นธรรม ก่อให้เกิดผลเสียต่อภาครัฐ พร้อมทั้งขอให้มีการสอบสวน และหากพบการกระทำผิด ขอให้มีการลงโทษผู้กระทำผิดและผู้สนับสนุนการกระทำผิดทุกรายตามกฎหมาย นั้น (อ่านประกอบ : ‘องค์การค้า สกสค.’ประกาศ 9 ราย ชนะประมูลแบบเรียน 912 ล.-‘รุ่งศิลป์ฯ’ร้องสอบส่อผิดกม.ฮั้ว)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 24 พ.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน กรมบัญชี ได้มีหนังสือด่วนที่สุดที่ กค (กอร) 0405.5/18222 เรื่อง แจ้งผลการพิจารณาข้อร้องเรียนของ บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ (1997) จำกัด โดยมีเนื้อหาตอนหนึ่งว่า การที่ องค์การค้าของ สกสค. กำหนดเงื่อนไขใน TOR ข้อ 8.1 กำหนดว่า “การยื่นข้อเสนอ ผู้ยื่นต้องยื่นข้อเสนอเป็นกลุ่มตามประเภทของหนังสือแบบเรียนการจัดพิมพ์ จำนวน 30 กลุ่ม ตามข้อ 17
ข้อ 8.2 กำหนดว่า “การยื่นเสนอราคา ผู้ยื่นเสนอจะยื่นได้จำนวน 1 รายการ ของแต่ละกลุ่มตามที่กำหนดในข้อ 8.1 และขอบเขตของงานรายละเอียดและคุณลักษณะ (TOR) โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น” และข้อ 16.2 กำหนดว่า “ผู้ว่าจ้างจะพิจารณาราคาต่อรายการ” ซึ่งโครงการนี้เป็นการจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียน ปีการศึกษา 2567 จำนวน 151 รายการ นั้น
การกำหนดเงื่อนไขดังกล่าว เป็นการกีดกันการเสนอราคา ทำให้ไม่สามารถยื่นเสนอราคาได้ทั้ง 151 รายการ หรือได้ตามศักยภาพและตามความประสงค์ของผู้ยื่นข้อเสนอ จึงขัดกับหลักการตามนัยมาตรา 8 วรรคหนึ่ง (2) แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560
“คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน (คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์) ได้พิจารณาคำอุทธรณ์ของผู้ร้องเรียน และตรวจสอบข้อเท็จจริงตามที่องค์การค้าของ สกสค. ชี้แจงแล้ว
เห็นว่า ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ข้อ 220 วรรคหนึ่งกำหนดว่า “ผู้ใดเห็นว่าหน่วยงานของรัฐมิได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ กฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศที่ออกตามความในกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุ ภาครัฐ มีสิทธิร้องเรียนไปยังหน่วยงานของรัฐนั้นหรือคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ แล้วแต่กรณีก็ได้”
และวรรค์สอง กำหนดว่า “การยื่นข้อร้องเรียนตามวรรคหนึ่งต้องดำเนินการภายใน 15 วัน นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ว่าหน่วยงานของรัฐนั้น มิได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ กฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศที่ออกตามความในกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ”
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ร้องเรียนได้ร้องเรียนเกี่ยวกับการกำหนดเงื่อนไขในชอบเขตของงาน รายละเอียด และคุณลักษณะ (Term of Reference : TOR) การจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียน ปีการศึกษา 2567 จำนวน 151 รายการ ข้อ 8 เป็นเหตุให้ไม่มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม เพราะผู้เสนอราคาไม่สามารถเสนอราคาได้ทุกรายการในทุกกลุ่มหนังสือมีลักษณะเป็นการปิดกั้น มิให้ผู้เสนอราคาเข้าแข่งขันได้อย่างเป็นธรรม ซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักการตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 มาตรา 8
จึงเป็นการร้องเรียนเกี่ยวกับการกำหนดเงื่อนไขใน TOR ซึ่งผู้ร้องเรียนรู้หรือควรรู้จากการที่หน่วยงานของรัฐได้มีหนังสือเชิญชวนผู้ร้องเรียนตามหนังสือ ที่ D8-6/2567 ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 เรื่อง ขอให้เสนอราคา โดยมีสิ่งที่ส่งมาด้วย ได้แก่ (1) ขอบเขตของงาน รายละเอียด และคุณลักษณะ (TOR) (2) รายละเอียดการจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียน ปีการศึกษา 2567 จำนวน 151 รายการ ซึ่งได้จัดส่งเอกสารดังกล่าวทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567
กรณีระยะเวลาร้องเรียนจึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์-13 มีนาคม 2567 โดยผู้ร้องเรียนได้มีหนังสือร้องเรียน ลงวันที่ 15 มีนาคม 2567 และกรมบัญชีกลางประทับตรารับหนังสือ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2567 ข้อร้องเรียนของผู้ร้องเรียนในครั้งนี้ จึงเป็นการร้องเรียนเกิน 15 วันนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ข้อร้องเรียนดังกล่าว จึงไม่เป็นไปตามระเบียบฯ ข้อ 220 วรรคสอง ดังนั้น จึงไม่รับประเด็นร้องเรียน ไว้พิจารณา
อย่างไรก็ตาม การที่ สกสค. โดยองค์การค้าของ สกสค. กำหนดเงื่อนไขใน TOR ข้อ 8.1 กำหนดว่า “การยื่นข้อเสนอ ผู้ยื่นต้องยื่นข้อเสนอเป็นกลุ่มตามประเภทของหนังสือแบบเรียนการจัดพิมพ์ จำนวน 30 กลุ่ม ตามข้อ 17 ข้อ 8.2 กำหนดว่า “การยื่นเสนอราคา ผู้ยื่นเสนอจะยื่นได้จำนวน 1 รายการ ของแต่ละกลุ่มตามที่กำหนดในข้อ 8.1 และขอบเขตของงานรายละเอียดและคุณลักษณะ (TOR) โดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ ทั้งสิ้น” และข้อ 16.2 กำหนดว่า “ผู้ว่าจ้างจะพิจารณาราคาต่อรายการ” ซึ่งโครงการนี้เป็นการจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียน ปีการศึกษา 2567 จำนวน 151 รายการ
การกำหนดเงื่อนไขดังกล่าว จึงเป็นการกีดกันการเสนอราคา ทำให้ไม่สามารถยื่นเสนอราคาได้ทั้ง 151 รายการ หรือได้ตามศักยภาพและตามความประสงค์ของผู้ยื่นข้อเสนอ จึงขัดกับหลักการตามนัยมาตรา 8 วรรคหนึ่ง (2) แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560” หนังสือคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน กรมบัญชี ได้มีหนังสือด่วนที่สุดที่ กค (กอร) 0405.5/18222 เรื่อง แจ้งผลการพิจารณาข้อร้องเรียนของ บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ (1997) จำกัด ลงวันที่ 24 พ.ค.2567 ลงนามโดย นางแพตริเซีย มงคลวนิช อธิบดีกรมบัญชีกลาง ปฏิบัติราชการแทนปลัดกระทรวงการคลัง ประธานกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน ระบุ
ด้าน นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ในฐานะรักษาการผู้อำนวยการองค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานว่า คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ กรมบัญชีกลาง ได้ส่งหนังสือแจ้งผลการพิจารณาข้อร้องเรียนของ บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ (1997) จำกัด มายัง องค์การค้า สกสค. แล้ว
อย่างไรก็ตาม หนังสือของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯดังกล่าว จะไม่มีผลกระทบต่อการประมูลแบบเรียนฯ ปีการศึกษา 2567 ซึ่งองค์การค้า สกสค. ได้ประมูลและลงนามสัญญากับเอกชนไปแล้ว และผ่านมา องค์การค้า สกสค. ได้ทำหนังสือไปปรึกษาเรื่องนี้กับกรมบัญชีกลาง โดยแจ้งสาเหตุที่ต้องเปิดประมูลแบบเรียนฯ ปีการศึกษา 2567 ซึ่งต้องแบ่งเป็นกลุ่มๆ ว่า เป็นเพราะ องค์การค้า สกสค. มีเวลาจัดพิมพ์หนังสือเพียง 55 วัน ซึ่งกรมบัญชีกลางบอกว่าทำได้
“ไม่มีผล เพราะเราได้ปรึกษาในเรื่องกระบวนการตรงนั้นไปแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องของกระจายความเสี่ยงในการจัดซื้อจัดจ้าง เราประเมินแบบ Low price คือ ให้กับคนที่เสนอราคามาต่ำสุดในแต่ละรายการ เพราะถ้าให้กับคนๆเดียวไปจัดการทั้งหมด ก็จะเกิดปัญหา เพราะขนาดผู้ที่ร้อง ซึ่งเป็นบริษัทๆหนึ่งที่ส่งหนังสือมาให้เรา เขาประมูลได้ไป 30 รายการ ใน 30 กลุ่ม เขาได้ไปทุกกลุ่มเลย แต่พอทำสัญญาเรียบร้อยแล้ว เขาส่งให้เราได้แค่ 50 กว่าเปอร์เซ็นต์ นี่คือปัญหาของเรา ในขณะที่บริษัทอื่นที่เขาได้คนละ 3-5 รายการ เขาส่งให้เราครบทุกรายการในวันที่ 14 พ.ค.2567
มีเพียงบริษัทฯนี้บริษัทเดียว ที่ได้ 30 รายการ แต่ส่งมอบไม่ได้ทั้งหมด ทำให้เรามีปัญหาในเรื่องจัดพิมพ์อยู่ตอนนี้ แต่เราก็ได้แก้ปัญหาในส่วนของเรา โดยการยกเลิกสัญญาและทำการคัดเลือกบริษัทฯใหม่ เพื่อดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างให้ทันภายในเดือนนี้ แต่ก็โชคดีว่า เราได้ประสานกับสำนักพิมพ์ว่า ในครั้งที่ 1 ให้ทำแบบเรียนที่ใช้ในภาคเรียนที่ 1 ก่อน ส่วนในภาคเรียนที่ 2 ที่มีหนังสือค้างส่งมอบ ซึ่งเป็นหนังสือบริษัทแห่งนั้นส่งมอบให้เราไม่ได้นั้น หนังสือส่วนใหญ่หรือกว่า 90% เป็นหนังสือที่ใช้ในภาคเรียนที่ 2 ดังนั้น จึงไม่กระทบต่อการเรียนการสอนในภาคเรียนที่ 2” นายพัฒนะ กล่าว
ส่วนกรณีที่หนังสือของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ ระบุว่า TOR ประมูลแบบเรียนฯ ปีการศึกษา 2567 ที่แบ่งกลุ่มประเภทของหนังสือแบบเรียนการจัดพิมพ์เป็น 30 กลุ่ม ซึ่งแต่ละกลุ่มมีรายการหนังสือ 5-6 รายการ และกำหนดให้ผู้ยื่นข้อเสนอจะยื่นเสนอราคาได้เพียง 1 รายการของแต่ละกลุ่ม นั้น ขัดต่อหลักการมาตรา 8 วรรคหนึ่ง (2) แห่ง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ นายพัฒนะ กล่าวว่า “ในคราวหน้า เราจะ e-bidding ตามปกติ เพราะเรามีเวลาจัดการอยู่ เพียงแต่ในครั้งนี้ อย่างที่ทราบว่าเรามีเวลาจำกัด หรือแม้แต่สำนักพิมพ์เอกชนอื่นๆก็มีปัญหาเหมือนกัน
เพราะแบบเรียนฯที่จะนำเปิดประมูลนั้น ต้องผ่านการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ก่อน ทุกสำนักพิมพ์จึงมีระยะเวลาในการจัดพิมพ์หนังสือน้อยมากเลย คือ มีเวลา 55 วัน ในขณะที่ องค์การค้า สกสค. เป็นหน่วยงานกึ่งรัฐกึ่งเอกชน ก็มีความเสียเปรียบเอกชน คือ ถ้าเป็นเอกชน เมื่อรับลิขสิทธิ์หนังสือก็สามารถตั้งแท่นพิมพ์ได้เลย แต่ องค์การค้า สกสค. จะต้องไปทำกระบวนการสรรหาผู้ประกวดราคา กว่าจะได้ต้องใช้เวลาหลายวัน เราเสียเปรียบเอกชนตรงนี้
และเมื่อ องค์การค้า สกสค. ต้องดำเนินการตามกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ต้องดำเนินการตามระเบียบพัสดุฯ ของสำนักนายกฯ และต้องใช้ระเบียบของทางราชการทั้งหมดเลย แต่เนื่องจากคราวนี้เรามีระยะเวลาในการผลิตเพียง 55 วัน เรามีเวลาจำกัด เราจึงต้องแบ่งการประมูลเป็นกลุ่มๆ เพื่อกระจายความเสี่ยง เพราะถ้าไม่จำกัดอย่างนี้ รับรองว่าหนังสือจะพิมพ์ออกมาไม่ได้เท่านี้ นี่ขนาดเรากระจายความเสี่ยงแล้ว ก็ยังเกิดปัญหาขึ้นเลย แต่ในคราวหน้าเราจะใช้ระบบ e-bidding เหมือนเดิม เพื่อให้การดำเนินการถูกต้องตามระเบียบฯต่อไป”
นายพัฒนะ กล่าวด้วยว่า หากกรมบัญชีกลาง ส่งหนังสือแจ้งผลการพิจารณาข้อร้องเรียนของ บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ (1997) จำกัด กรณีการเปิดประมูลแบบเรียนฯ ปีการศึกษา 2567 มายัง องค์การค้า สกสค. แล้ว องค์การค้า สกสค. ก็จะทำหนังสือชี้แจงรายละเอียดและเหตุผลความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องประมูลแบบเรียนฯด้วยวิธีการดังกล่าว ให้ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ กรมบัญชีกลาง รับทราบอีกครั้ง
อ่านประกอบ :
‘องค์การค้า สกสค.’ประกาศ 9 ราย ชนะประมูลแบบเรียน 912 ล.-‘รุ่งศิลป์ฯ’ร้องสอบส่อผิดกม.ฮั้ว
จับตา‘องค์การค้า สกสค.’แบ่งเค้ก ประมูลจ้างพิมพ์แบบเรียน ปี 67 ราคากลาง 912 ล้านบาท
มีปัญหาขาดสภาพคล่อง! 'องค์การค้า สกสค.'แจ้ง'โรงพิมพ์' ขอทยอยจ่ายค่าจ้างพิมพ์แบบเรียนฯ
กระดาษแพงขึ้น! เปิดข้อมูล‘สกสค.’จ้าง 4 เอกชนพิมพ์‘แบบเรียน’ปี 66 สูงกว่าราคากลาง 61 ล.
‘เอกชน’ฟ้อง‘ศาลปค.’ขอสั่ง‘สกสค.’เพิกถอนประกาศผู้ชนะจ้างพิมพ์‘แบบเรียน’ปี 66-ชดใช้ 252 ล.