‘บ.รุ่งศิลป์การพิมพ์ฯ’ ฟ้อง ‘ศาลปกครอง’ ขอสั่ง ‘สกสค.’เพิกถอนประกาศรายชื่อผู้ชนะประมูลงานจ้างพิมพ์ ‘หนังสือแบบเรียน’ ปี 66 รวม 84 รายการ พร้อมขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย 252 ล้าน หลังเสนอราคา ‘ต่ำสุด’ แต่ไม่ชนะประมูลฯ ขณะที่ ‘กก.พิจารณาผลประกวดราคาฯ’ แจงใช้เกณฑ์ price performance คัดเลือกผู้ชนะ-หลักเกณฑ์ให้คะแนนชัดเจน
......................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 30 ม.ค.ที่ผ่านมา บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ (1997) จำกัด ผู้ประกอบกิจการโรงพิมพ์ รับจ้างพิมพ์หนังสือและทำปกพลาสติกสำหรับทำปกหนังสือ ได้ยื่นคำร้องขอเพิ่มเติมและแก้ไขคำฟ้อง ในคดีหมายเลขดำที่ 2601/2565 ซึ่งเป็นคดีที่ บริษัทฯ ยื่นฟ้องสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) กับพวกรวม 3 คน ต่อศาลปกครองกลาง ในคดีหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมาย กรณีการประมูลงานจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียนปีการศึกษา 2566 จำนวน 150 รายการ รวม 29.77 ล้านเล่ม ราคากลาง 974.79 ล้านบาท
โดยบริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ฯ ขอให้ศาลฯมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งเพิกถอนประกาศ สกสค. เรื่อง ประกาศผู้ชนะการเสนอราคา ประกวดราคาจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียนปีการศึกษา 2566 จำนวน 150 รายการ ด้วยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ลงวันที่ 11 ม.ค.2566 รวม 84 รายการ และขอให้มีคำสั่งให้ สกสค.กับพวก ประกาศให้บริษัทฯ เป็นผู้ชนะการเสนอแบบเรียน จำนวน 84 รายการดังกล่าว รวมทั้งขอให้มีศาลฯมีคำสั่งให้ สกสค.กับพวก ประกาศให้บริษัทฯ เป็นผู้ชนะการเสนอราคาแบบเรียน รายการที่ 129 หรือรวมเป็นทั้งสิ้น 85 รายการ
นอกจากนี้ บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ฯ ยังขอให้ศาลฯมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ สกสค.กับพวก ชดใช้ค่าเสียหายให้บริษัทฯ เป็นเงิน 252.71 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 3% ต่อปี บวกด้วยอัตราเพิ่ม 2% ต่อปี ของเงินต้น 252.71 ล้านบาท
พร้อมทั้งขอให้ศาลฯมีคำพิพากษาหรือคำสั่งทุเลาการบังคับตามประกาศ สกสค. เรื่อง ประกาศผู้ชนะการเสนอราคา ประกวดราคาจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียนปีการศึกษา 2566 จำนวน 150 รายการ ด้วยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ลงวันที่ 11 ม.ค.2566 เฉพาะ 84 รายการ และสั่งให้หยุดกระบวนการลงนามในสัญญาเฉพาะ 84 รายการ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 31 ม.ค.2566 ไว้จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งด้วย
@ย้อนปมพิพาทเอกชนฟ้อง ‘สกสค.’ คดีประมูลแบบเรียน 974 ล้าน
สำหรับคดีนี้ เดิมเมื่อวันที่ 6 ธ.ค.2565 บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ฯ ได้ยื่นฟ้อง สกสค.กับพวก ต่อศาลปกครองกลาง โดยบริษัทฯ ขอให้ศาลฯมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งเพิกถอนประกาศ สกสค. เรื่อง ประกวดราคาจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียนปีการศึกษา 2566 จำนวน 150 รายการ ด้วยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ลงวันที่ 14 พ.ย.2565 ราคากลาง 974.79 ล้านบาท เป็นคดีหมายเลขดำที่ 2601/2565 โดย บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ฯ ขอให้ศาลฯมีคำสั่งให้ สกสค. กับพวก หยุดกระบวนการประกวดราคาจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียนปีการศึกษา 2566 จำนวน 150 รายการ เอาไว้ก่อน
เนื่องจากบริษัทฯเห็นว่า ในการเปิดประกวดราคาจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียนฯ ดังกล่าว สกสค. มีการกำหนดเงื่อนไขใน TOR การประมูลที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมีลักษณะกีดกันไม่ให้บริษัทฯเข้าร่วมการประมูล
ได้แก่ 1.มีการกำหนดให้ “ผู้ยื่นข้อเสนอต้องไม่เป็นผู้มีผลประโยชน์ร่วมกับผู้ที่มีข้อพิพาทหรือคดีความใดๆกับองค์การค้าของ สกสค. ในขณะยื่นเงื่อนไข” และกำหนดว่า “ผู้ยื่นข้อเสนอราคาจะต้องไม่มีกรณีพิพาทหรือคดีความใดๆกับองค์การค้าของ สกสค. ในขณะยื่นเงื่อนไข” ซึ่งมีลักษณะเป็นการกำหนดเงื่อนไขในการเสนอราคาที่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ยื่นข้อเสนอบางรายหรือบางกลุ่ม และเป็นการกีดกันไม่ให้ผู้ยื่นข้อเสนอรายอื่นๆสามารถยื่นข้อเสนอราคาได้ ซึ่งขัดต่อหลักการจัดซื้อจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุของหน่วยงานของรัฐ ที่ต้องเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบการหรือผู้ยื่นข้อเสนอ
2.มีการกำหนดเงื่อนไขว่า “โรงพิมพ์ที่จะเข้ามายื่นข้อเสนอต้องไม่เป็นผู้รับจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียนให้กับสำนักพิมพ์รายอื่น ตามฐานข้อมูลบัญชีกำหนดสื่อการเรียนสำหรับเลือกใช้ในสถานศึกษาตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในระยะเวลา 2 ปีบัญชีงบประมาณทางราชการนับถึงวันยื่นข้อเสนอ” และกำหนดให้ผู้ยื่นข้อเสนอต้องเสนอเอกสารเป็น “หนังสือรับรองการไม่จัดพิมพ์ให้กับคู่แข่งขององค์การค้าของ สกสค.” นั้น ซึ่งถือว่ามีลักษณะเป็นการกำหนดเงื่อนไขในการเสนอราคาที่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ยื่นข้อเสนอบางรายหรือบางกลุ่มเช่นกัน
เพราะการกำหนดเงื่อนไขดังกล่าว จะทำให้เฉพาะผู้ประกอบการหรือผู้ยื่นข้อเสนอรายที่ไม่ได้รับจ้างหรือไม่เคยรับจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียนให้กับสำนักพิมพ์รายอื่นที่เป็นคู่แข่งกับองค์การของ สกสค. ในระยะเวลา 2 ปีบัญชีฯเท่านั้น ที่มีสิทธิยื่นข้อเสนอราคา จึงเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการประกอบอาชีพของบริษัทฯ ตามที่รัฐธรรมนูญปี 60 มาตรา 40 ได้บัญญัติรองรับเอาไว้ และยังเข้าข่ายขัดต่อกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ที่กำหนดให้การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐต้องเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม
บริษัทฯยังเห็นว่า แม้ว่าผู้ยื่นข้อเสนอประมูลจะรับจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียนให้กับสำนักพิมพ์ ที่ สกสค.กับพวก เห็นว่าเป็นคู่แข่งกับองค์การค้าของ สกสค. ในขณะยื่นข้อเสนอนั้น ก็ไม่ได้ทำให้ สกสค. ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด เพราะผู้ยื่นข้อเสนอต่างก็เป็นผู้ประกอบการที่มีอาชีพรับจ้างพิมพ์งาน และย่อมต้องทราบกำลังการผลิจของตนเป็นอย่างดีว่าสามารถพิมพ์งานที่รับจ้างให้แล้วเสร็จตามกำหนดหรือไม่
3.การที่ TOR ได้กำหนดเงื่อนไขว่าให้ผู้ยื่นเสนอราคาต้อง “เป็นนิติบุคคลมีอาชีพรับจ้างที่ประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว” และ “ต้องมีผลงานรับจ้างพิมพ์หนังสือหรืองานรับจ้างพิมพ์ประเภทเดียวกันกับงานที่จะรับจ้างกับองค์การค้าของ สกสค.หรือหน่วยงานของรัฐหรือเอกชน” นั้น
จะเห็นได้ว่าไม่ได้สอดคล้องหรือขัดแย้ง TOR ฉบับเดียวกัน ที่กำหนดให้ “โรงพิมพ์ที่จะเข้ามายื่นข้อเสนอต้องไม่เป็นผู้รับจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียนให้กับสำนักพิมพ์รายอื่น ตามฐานข้อมูลบัญชีกำหนดสื่อการเรียนสำหรับเลือกใช้ในสถานศึกษาตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในระยะเวลา 2 ปีบัญชีงบประมาณทางราชการนับถึงวันยื่นข้อเสนอ” เป็นต้น
นอกจาก บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ฯ ยังขอให้ศาลฯมีคำสั่งทุเลาการบังคับตาม สกสค. เรื่อง ประกวดราคาจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียนปีการศึกษา 2566 จำนวน 150 รายการ ด้วยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ลงวันที่ 14 พ.ย.2565 และ TOR การจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียนปีการศึกษา 2566 ไว้จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งอีกด้วย
@เสนอราคาประมูลต่ำสุด 93 รายการ แต่ชนะเพียง 12 รายการ
ต่อมาในวันที่ 14 ธ.ค.2565 ศาลฯมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตาม สกสค. เรื่อง ประกวดราคาจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียนปีการศึกษา 2566 จำนวน 150 รายการ ด้วยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ลงวันที่ 14 พ.ย.2565 เฉพาะส่วนที่กำหนดคุณสมบัติของผู้ยื่นเสนอราคาข้อ 13 ข้อ 15 และข้อ 20 รวมถึงคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอในทำนองเดียวกันในเอกสารประกวดราคา และ TOR แต่ยังให้ สกสค. สามารถดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างตามประกาศ สกสค. เรื่องประกวดราคาจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียนปีการศึกษา 2566 จำนวน 150 รายการฯ ต่อไปได้
จากนั้นในวันที่ 15 ธ.ค.2565 สกสค. ได้เปิดให้เอกชนเข้ายื่นข้อเสนอราคางานจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียนปีการศึกษา 2566 จำนวน 150 รายการ โดยบริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ฯ เข้าร่วมการยื่นเสนอราคาครั้งนี้ด้วย และยื่นเสนอราคาประมูลต่ำสุด 92 รายการ ส่วนรายการที่ 129 นั้น แม้ว่าบริษัทฯจะยื่นราคาสูงกว่าราคากลาง แต่ได้มีการต่อรองราคาลงมาเท่ากับราคากลาง ทำให้บริษัทฯเป็นผู้ชนะประมูลงานจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียน รวมทั้งสิ้น 93 รายการ
แต่ปรากฏว่า เมื่อ สกสค. ได้เผยแพร่ประกาศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาเรื่อง ประกาศผู้ชนะการเสนอราคา ประกวดราคาจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียนปีการศึกษา 2566 จำนวน 150 รายการ ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ลงวันที่ 11 ม.ค.2566 พบว่า สกสค. ประกาศให้ บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ฯ เป็นผู้ชนะประมูล 12 รายการเท่านั้น
ส่วนอีก 84 รายการ ที่บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ฯ ยื่นเสนอราคาต่ำสุด แต่ไม่ได้รับการประกาศให้เป็นผู้ชนะแต่อย่างใดนั้น สกสค. ให้เหตุผลว่า บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ฯ “เป็นผู้มีคุณสมบัติและข้อเสนอทางเทคนิคถูกต้องครบถ้วน แต่ไม่เป็นผู้ได้คะแนนรวมสูงสุด (ราคาที่เสนอต่ำกว่าผู้ชนะ)” คือ บริษัทฯเป็นผู้เสนอราคาต่ำสุดก็จริง แต่ได้คะแนน price performance น้อยกว่าคู่แข่ง ทั้งๆที่ บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ฯ เป็นโรงพิมพ์ขนาดใหญ่ ประกอบธุรกิจมานาน และมีประสิทธิภาพการผลิตในระดับต้นๆของประเทศ ในขณะที่คู่แข่งบางรายที่ชนะประมูลบางรายเพิ่งเปิดบริษัทฯได้เพียง 2-3 ปีเท่านั้น
บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ฯ จึงได้ยื่นอุทธรณ์ผลการจัดซื้อจัดจ้างฯ เฉพาะผลการประมูลจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียนปีการศึกษา 2566 รวม 84 รายการ ต่อคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ของ สกสค. แต่ปรากฏว่า คณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาฯ มีมติไม่รับพิจารณาและวินิจฉัยอุทธรณ์ของบริษัทฯ
โดยคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาฯ ให้เหตุผลว่า เนื่องจากในขณะที่สำนักงานคณะกรรมการ สกสค. (องค์การค้าของ สกสค.) ประกาศเผยแพร่รับฟังความคิดเห็นร่างของเขตงาน (TOR) เมื่อวันที่ 31 ต.ค.2565 บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ฯ มิได้วิจารณ์หรือเสนอแนะร่างขอบเขตงานหรือรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะพัสดุ กำหนดเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกผู้ชนะการยื่นข้อเสนอโดยใช้เกณฑ์ราคาประกอบเกณฑ์อื่นตามข้อ 6 ของเอกสารประกวดราคา และข้อ 16 ของเขตของงาน (TOR)
ดังนั้น บริษัทฯ จึงเป็นผู้ขาดคุณสมบัติตามมาตรา 115 (1) และ (4) แห่ง พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ประกอบข้อ 3 (2) ของกฎกระทวงกำหนดเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างกับหน่วยงานรัฐที่ใช้สิทธิอุทธรณ์ไม่ได้ พ.ศ.2560 และหนังสือคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน กรมบัญชีกลาง ที่ กค.0405.5/ ว 374 ลงวันที่ 6 ส.ค.2562
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาฯ ได้แจ้งกับบริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ฯ ว่า หากบริษัทฯต้องการโต้แย้งคำวินิจฉัย ก็ให้ไปฟ้องคดีต่อศาลปกครองภายใน 90 วัน ทำให้ต่อมา บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ฯ ได้เข้ายื่นคำร้องขอเพิ่มเติมและแก้ไขคำฟ้อง ในคดีหมายเลขดำที่ 2601/2565 ต่อศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 30 ม.ค.2566 ที่ผ่านมา
@‘กก.พิจารณาผลฯ’แจงใช้เกณฑ์‘price performance’คัดเลือกผู้ชนะ
ด้าน นายภูวนัย ทิพย์เจริญ หนึ่งในคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาฯ จ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียนปีการศึกษา 2566 จำนวน 150 รายการ กล่าวกับสำนักข่าวอิศราว่า เหตุผลที่ทำให้ คณะกรรมการพิจารณาผลฯ องค์การค้า สกสค. ไม่สามารถประกาศให้ บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ฯ เป็นผู้ชนะการประมูลแบบเรียน รวม 84 รายการ ได้ เนื่องจากหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกผู้ชนะการประมูลในครั้งนี้ ใช้หลักเกณฑ์การประเมินคัดเลือกผู้ชนะประมูลแบบ price performance ดังนั้น การพิจารณาคัดเลือกผู้ชนะประมูลจึงไม่ได้ใช้เกณฑ์การเสนอราคาต่ำสุดเป็นตัวตัดสิน
“แม้ว่าบริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ฯ จะเสนอราคาต่ำสุดจริง แต่การคัดเลือกผู้ชนะการประมูลฯ เราใช้เกณฑ์ price performance คือ จะต้องพิจารณาให้คะแนนคุณสมบัติของโรงพิมพ์ด้วย ซึ่งคะแนนของ บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ฯ จะน้อยกว่าโรงพิมพ์อื่นๆ ในเรื่องความพร้อมของกระดาษ ขณะที่การประมวลว่าใครจะเป็นผู้ชนะประมูลในแต่ละรายการนั้น ระบบของกรมบัญชีกลางจะเป็นประมวลฯ โดยเรา (สกสค.) มีหน้าที่เพียงใส่คะแนน (price performance) เข้าไป และโรงพิมพ์จะส่งราคาเข้าไปในระบบของกรมบัญชีกลาง แล้วระบบจะประมวลว่าแต่ละรายการใครเป็นผู้ชนะ” นายภูวนัย กล่าว
ส่วนกรณีที่ บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ฯ อ้างว่าการที่ สกสค. นำหลักเกณฑ์ price performance มาใช้ในการคัดเลือกผู้ชนะประมูลนั้น เปิดโอกาสให้มีการใช้ดุลพินิจมากเกินไป นั้น นายภูวนัย กล่าวว่า ในการประเมินคัดเลือกผู้ชนะการประมูลโดยใช้เกณฑ์ price performance นั้น สกสค. มีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาที่ชัดเจนว่าจะพิจารณาให้คะแนนในเรื่องใดบ้าง และหลักเกณฑ์การพิจารณาดังกล่าว ก็ได้รับความเห็นชอบจาก ผู้อำนวยการองค์การค้า สกสค. แล้ว
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวพยายามโทรศัพท์ติดต่อไปยัง นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ รักษาการแทน เลขาธิการคณะกรรมการ สกสค. และนายพัฒนะ พัฒนทวีดล ผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค. เพื่อสอบถามกรณีที่ บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ฯ ได้ยื่นฟ้อง สกสค. ต่อศาลปกครอง เกี่ยวกับการประมูลงานจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียนปีการศึกษา 2566 จำนวน 150 รายการ แต่ไม่สามารถติดต่อได้