เผยที่ประชุมบอร์ดรถไฟวันนี้ (22 ก.พ. 67) พิจารณาวาระลงทุน 4 โครงการ ทางคู่เฟส 2 จำนวน 3 เส้นทาง และทบทวนวงเงินต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีแดงไปรังสิต
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.ที่มีนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เป็นประธาน วันที่ 22 ก.พ.นี้ มีวาระเพื่อพิจารณาอยู่ 4 วาระ ได้แก่
1.ขออนุมัติดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงปากน้ำโพ - เด่นชัย (ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง)
2.ขออนุมัติดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ - อุบลราชธานี (ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง)
3.ขออนุมัติดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางหาดใหญ่ - ปาดังเบซาร์ (ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง)
และ 4.ขออนุมัติการทบทวนกรอบวงเงินค่าก่อสร้างโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต - มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต (ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า หลังจากผลักดันช่วงขอนแก่น - หนองคายสำเร็จแล้ว ต่อไปจะผลักดันอีก 3 เส้นทาง วงเงินรวม 133,696.62 ล้านบาทเป็นลำดับถัดไป ประกอบด้วย ช่วงชุมทางหาดใหญ่ - ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 45 กม. วงเงินโครงการ 7,900.89 ล้านบาท, ช่วงปากน้ำโพ - เด่นชัย ระยะทาง 281 กม. วงเงิน 81,726.98 ล้านบาท และช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 308 กม. วงเงิน 44,068.75 ล้านบาท โดยคาดว่าจะเสนอให้ ครม.พิจารณาในช่วงต้นปี 2567
ส่วนรถไฟชานเมืองสายสีแดงส่วนต่อขยาย แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมระบุว่า ก่อนหน้านี้ รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชายุคคสช.เห็นชอบไปแล้วเมื่อปี 2562 แต่เนื่องจากมีการดึงกลับมาทบทวนในสมัยนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โดยมีแผนจะทำ PPP ในลักษณะโครงการใหญ่ วงเงินรวม 340,000 ล้านบาท และในระยะเวลาต่อมา มีการประเมินว่า มูลค่าลงทุนสูงเกินไป ความเสี่ยงขาดทุนสูงมาก เอกชนไม่สนใจ จึงกลับมาใช้แนวทางเดิมคือ ประกวดราคางานโยธาไปก่อน ส่วนงานระบบค่อยมาประกวดราคากันภายหลัง
และเนื่องจากเวลาที่ผ่านไป 2-3 ปี ทำให้ภาวะเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ ต้นทุนต่างๆ มีการปรับเปลี่ยนเพิ่มขึ้น รฟท.ต้องทบทวนวงเงินลงทุนโครงการ 4 เส้นทางใหม่ทั้งหมด โดยช่วงรังสิต - มธ.ศูนย์รังสิต ที่จะเสนอบอร์ดครั้งนี้ .เดิมเมื่อ ก.พ. 2562 เห็นชอบวงเงิน 6,570.40 ล้านบาท ประกอบด้วย (ค่างานโยธาและระบบราง 3,874.29 ล้านบาท, ค่าระบบไฟฟ้าเครื่องกล 2,197.19 ล้านบาท, ค่าจ้างที่ปรึกษาจัดประกวดราคา 7.39 ล้านบาท , CSC 166.97 ล้านบาท, ICE 21.97 ล้านบาท ,ค่าจ้างที่ปรึกษาช่วยเวนคืน 5 ล้านบาท,ค่าเวนคืนที่ดิน 295 ล้านบาท)
โดยกรอบวงเงินปรับใหม่จะอยู่ที่ 6,468.69 ล้านบาท ลดลง 101.71 ล้านบาทเนื่องจากปรับลดจากค่าเวนคืนลงบางส่วน ประกอบด้วย (ค่างานโยธาและระบบราง 4,055.65 ล้านบาท, ค่าระบบไฟฟ้าเครื่องกล 2,004.17 ล้านบาท, ค่าจ้างที่ปรึกษาจัดประกวดราคา 7.39 ล้านบาท , CSC 166.97 ล้านบาท, ICE 20.04 ล้านบาท ,ค่าจ้างที่ปรึกษาช่วยเวนคืน 5 ล้านบาท,ค่าเวนคืนที่ดิน 209.79 ล้านบาท) โดยจะเสนอครม.เพื่อทราบ เนื่องจากวงเงินอยู่ในกรอบเดิม
อ่านประกอบ