อัปเดทแผนงานรถไฟทางคู่ 9 สายทาง ‘เด่นชัย-เชียงของ/บ้านไผ่-นครพนม’ วางกำหนดแล้วเสร็จปี 71 ห่วงงานเวนคืนยังคืบช้า พบสายอีสานต้องเวนคืนเพิ่ม 9,000 แปลง ‘คมนาคม-รถไฟ’ เตรียมดันทางคู่เฟส 2 อีก 3 เส้นทาง วงเงิน 1.3 แสนล้านเข้าครม.ต้นปี 67 เปิดโผ ‘หาดใหญ่-ปาดังฯ/ปากน้ำโพ-เด่นชัย/จิระ-อุบล’
กำลังเข้าสู่ 90 วันแล้ว
...ที่ ‘สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ’ เข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มี ‘สุรพงษ์ ปิยะโชติ’ และ ‘มนพร เจริญศรี’ นั่งในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการ ภายใต้การถือธงนำโดย ‘เศรษฐา ทวีสิน’ ซึ่งกระทรวงคมนาคมถือเป็นหน่วยงานใหญ่ งบประมาณประจำปีไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาท ประกอบกับมีโครงการลงทุนมากมาย
จึงไม่แปลกที่บรรดารัฐมนตรีกระทรวงนี้จะถูกจับตามองเป็นพิเศษ
โดยเฉพาะงานด้านระบบราง ที่ไม่ว่าจะชอบหรือเกลียดก็ต้องยอมรับว่า รัฐบาลชุดที่แล้วภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผลักดันเนื้องานระบบรางไปมากมาย ทั้งรถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน 7 เส้นทาง, รถไฟทางคู่สายใหม่ช่วงบ้านไผ - นครพนมและช่วงเด่นชัย - เชียงราย - เชียงของ, รถไฟความเร็วสูงไทย-จีนช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา, รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน, รถไฟฟ้าสายสีต่างๆทั้ง ม่วงใต้ช่วงเตาปูน - ราษฎร์บูรณะ, สายสีส้มช่วงศูนย์วัฒนธรรม - บางขุนนนท์, รถไฟฟ้าสายสีชมพูช่วงแคราย - มีนบุรี และรถไฟฟ้าสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว - สำโรง เป็นอาทิ
เมื่อกงล้อแห่งอำนาจหมุนมาผลัดเปลี่ยน โครงการต่างๆที่มีการปูทางไว้ จึงถูกจับตามองว่า จะเดินหน้าไปต่ออย่างไรกันบ้าง?
ในโอกาสนี้ หลังจากสำนักข่าวอิศรา (www.isranews,org) นำเสนอความคืบหน้าของโรงการรถไฟทางคู่ระยะที่ 1 จำนวน 7 เส้นทางไปแล้ว จึงขอนำเสนอความคืบหน้าโครงข่ายรถไฟทางคู่ที่เหลือ ได้แก่ รถไฟทางคู่สายใหม่ 2 เส้นทางช่วงเด่นชัย - เชียงราย - เชียงของ และช่วงบ้านไผ่ - นครพนม รวมถึงโปรเจ็กต์รถไฟทางคู่ระยะที่ 2 ที่เล็งกันมานานด้วย
@ทางคู่เด่นชัย - เชียงราย - เชียงของ เวนคืนยังฉุดความคืบหน้า
เริ่มต้นที่รถไฟทางคู่สายใหม่ 2 เส้นทางที่กำลังก่อสร้างในเวลานี้ ได้แก่ ช่วงเด่นชัย - เชียงราย - เชียงของ ระยะทาง 232.1 กม. วงเงินโครงการ 85,345 ล้านบาท โดยมีค่าเวนคืนประมาณ 10,660 ล้านบาท สถานะ ณ เดือนตุลาคม 2566 ความคืบหน้ารวมที่ 3.16% ก้าวหน้ากว่าแผนที่ 0.289% วางกำหนดแล้วเสร็จเปิดใช้บริการในปี 2571
เมื่อลงรายละเอียด โครงการนี้แบ่งได้ 3 สัญญา ประกอบด้วย สัญญาที่ 1 ช่วงเด่นชัย - งาว ระยะทาง 104 กม. มูลค่าโครงการ 26,560 ล้านบาท มี มีกิจการร่วมค้า ไอทีดี-เนาวรัตน์ (บมจ.อิตาเลี่ยนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ร่วมกับ บมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการ) เป็นคู่สัญญา ความคืบหน้าก่อสร้างรวม 1.921% เร็วกว่าแผน 0.45% ระยะเวลาก่อสร้าง 2,160 วัน (71 เดือน) วันเริ่มงานตามสัญญา วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 และวันสิ้นสุดงานตามสัญญา วันที่ 14 มกราคม 2571
สัญญาที่ 2 ช่วงงาว–เชียงราย ระยะทาง 132 กม. มูลค่าก่อสร้าง 26,890 ล้านบาท มีกิจการร่วมค้าซีเคเอสที – ดีซี2 (ประกอบด้วย บมจ. ช. การช่าง, บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น และบจ. บุรีรัมย์พนาสิทธิ์) เป็นคู่สัญญา ความคืบหน้าก่อสร้างรวม 4.393% เร็วกว่าแผนงาน 0.744% มีระยะเวลาก่อสร้าง 2,160 วัน (71 เดือน) วันเริ่มงานตามสัญญา วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 และวันสิ้นสุดงานตามสัญญา วันที่ 14 มกราคม 2571
สัญญาที่ 3 ช่วงเชียงราย–เชียงของ ระยะทาง 87 กม. มูลค่าก่อสร้าง 19,385 ล้านบาท มีกิจการร่วมค้าซีเคเอสที – ดีซี3 (ประกอบด้วยบมจ. ช. การช่าง, บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น และบจ.เชียงใหม่คอนสตรัคชั่น) เป็นคู่สัญญา ความคืบหน้าก่อสร้างรวม 2.606% ช้ากว่าแผน 0.563% ระยะเวลาก่อสร้าง 2,160 วัน (71 เดือน) วันเริ่มงานตามสัญญา วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 และวันสิ้นสุดงานตามสัญญา วันที่ 14 มกราคม 2571
ประเด็นสำคัญที่จะส่งผลทำให้โครงการล่าช้า ซึ่งจากการสำรวจ เส้นทางช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ต้องมีการเวนคืน ที่ดินประมาณ 9,661 ไร่ สิ่งปลูกสร้าง 1,200 หลังคาเรือน โดยล่าสุดพื้นที่เวนคืนรวม 9,114 แปลง แบ่งเป็น ที่ดินมีโฉนด 7,321 แปลง (สัญญาที่ 1 ช่วงเด่นชัย-งาว จำนวน 2,857 แปลง สัญญาที่ 2 ช่วงงาว-เชียงราย จำนวน 2,817 แปลง สัญญาที่ 3 ช่วงเชียงราย-เชียงของ จำนวน 1,647 แปลง) และที่ดินอื่นๆ อีก 1,793 แปลง
สถานะ เดือน ต.ค. 2566 ส่วนของโฉนดที่ดินรวม 9,114 แปลง ส่งมอบพื้นที่แล้ว 5,636 แปลง (77.0%) ส่วนที่ดินอื่นๆ ณ เดือน ต.ค. 2566 ได้แก่ พื้นที่ครอบครอง จำนวน 316 แปลง ส่งมอบแล้ว 264 แปลง (83.5%)พื้นที่ ส.ป.ก. จำนวน 929 แปลง ส่งมอบแล้ว 359 แปลง ( 39%) พื้นที่กรมป่าไม้ 548 แปลง ส่งมอบแล้ว 521 แปลง ( 95%)
แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยสำนักข่าวอิศราเพิ่มเติมว่า การเวนคืนเพิ่มยังมีอีกหลายจุด เพื่อทำถนนโลคัลโรด เป็นการอำนวยความสะดวก ประชาชนในการเข้าออกพื้นที่ ตามแนวเส้นทาง และมีการเวนคืนเพิ่ม ช่วงที่ตัดผ่านเสาไฟฟ้าของ กฟผ. รวมประมาณ 18 จุด (ในสัญญา1 จำนวน 3 จุด ,สัญญา 2 จำนวน 13 จุด และสัญญา 3 จำนวน 2 จุด) ซึ่งมีทั้งรูปแบบ ย้ายแนวเสาไฟฟ้า และ การปรับปรุงยกระดับสายไฟฟ้า เพื่อให้มีความปลอดภัย ประเมินค่าใช้จ่ายเบื้องต้น จุดละ 10-20 ล้านบาท ซึ่งยังอยู่ในกรอบค่าเวนคืน 10,600 ล้านบาท
@บ้านไผ่ – นครพนม เวนคืนเพิ่มอีก 9,000 แปลง
ขณะที่อีกสายทางหนึ่ง คือ โครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 355 กม. กรอบวงเงินลงทุน 66,848 ล้านบาท ประกอบด้วยค่าเวนคืน 10,080.33 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 55,462 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาสำรวจอสังหาริมทรัพย์ 160 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมงาน 1,131 ล้านบาทค่าจ้างที่ปรึกษาประกวดราคา 15 ล้านบาท ตอนนี้วางกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2570 และจะเปิดให้บริการประชาชนในปี 2571
โครงการนี้ผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 28 พฤษภาคม 2562 เป็นโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใหม่ ผ่านพื้นที่ทั้งหมด 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น, มหาสารคาม, ร้อยเอ็ด, ยโสธร, มุกดาหาร และนครพนม ระยะทางรวม 355 กิโลเมตร วงเงิน 66,848.33 ล้านบาท ความพิเศษของทางรถไฟสายใหม่นี้ที่สามารถเชื่อมพรมแดนได้ถึง 5 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย เมียนมา สปป.ลาว เวียดนาม และจีน
โดยมีรายละเอียดการลงนามสัญญาจ้างก่อสร้าง 2 สัญญา ประกอบด้วย
สัญญาที่ 1 บ้านไผ่-หนองพอก เนื้องานประกอบด้วยงานก่อสร้างทางรถไฟระดับพื้นดินและทางรถไฟยกระดับ รวมระยะทางประมาณ 178 กม. มีสถานี 10 สถานี และงานระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคม และงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง มีกิจการร่วมค้า เอเอส-ช.ทวี แอนด์ แอสโซซิเอทส์ ประกอบด้วย บจ. เอ.เอส. แอสโซซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964), บจ.ช.ทวีก่อสร้าง, บจ.กิจการร่วมค้า ทีบีทีซี, บจ. เสริมสงวนก่อสร้าง จำกัด และบจ. เค.เอส.ร่วมค้า มูลค่างาน 27,095 ล้านบาท ความคืบหน้า ณ เดือน ต.ค. 2566 อยู่ที่1.601% ช้ากว่าแผน 0.955% มีกำหนดแล้วเสร็จเดือน ก.พ. 2570
สัญญาที่ 2 หนองพอก-สะพานมิตรภาพ งานประกอบด้วยงานก่อสร้างทางรถไฟระดับพื้นดินและทางรถไฟยกระดับ รวมระยะทางประมาณ 177 กม. มีสถานี 9 สถานี และงานระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคม และงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง มีกิจการร่วมค้า ยูนิค ประกอบด้วย บมจ. ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น, บจ.ซีอีที, บจ. ไทยพีค่อนและอุตสาหกรรม และบจ. วัชรขจรเป็นผู้รับจ้าง มูลค่างาน 28,306 ล้าน ความคืบหน้า ณ เดือน ต.ค. 2566 อยู่ที่ 0.036% ช้ากว่าแผน 0.64% กำหนดแล้วเสร็จเดือน มี.ค. 2570
แหล่งข่าวจากรฟท.ระบุว่า สำหรับสายนี้จากการสำรวจล่าสุด ต้องมีการเวนคืน ที่ดินประมาณ 17,500 ไร่ พื้นที่รวม 9,994 แปลง เพิ่มจากเดิมที่ประเมินไว้ที่ 7,400 แปลง แบ่งเป็น ที่ดินมีโฉนด 8,834 แปลง (สัญญาที่ 1 ช่วงช่วงบ้านไผ่-หนองพอก จำนวน 4,632 แปลง สัญญาที่ 2 ช่วงหนองพอก-สะพานมิตรภาพ 3 จำนวน 3,902 แปลง) และที่ดินอื่นๆ อีก 1,160 แปลง
สถานะ เดือน ต.ค. 2566 ส่วนของโฉนดที่ดินรวม 8,834 แปลง ทำการรังวัดแล้ว ทำสัญญาและส่งมอบพื้นที่แล้ว 2,783 แปลง (31.0%) ส่วนที่ดินอื่นๆ สถานะ เดือน ต.ค. 2566 ได้แก่ พื้นที่ครอบครอง อยู่ระหว่างตรวจสอบ พื้นที่ ส.ป.ก. จำนวน 848 แปลง ดำเนินการแล้ว 124 แปลง ( 14.69%) พื้นที่กรมป่าไม้ 312 แปลง กำลังดำเนินการ
แนวเส้นทางรถไฟทางคู่ช่วงบ้านไผ่ - มุกดาหาร - นครพนม
ที่มา: https://mukdahan.city/2021/08/railways-khonkaen-mukdahan/
@เข็น 3 ทางคู่ระยะที่ 2 วงเงิน 1.33 แสนล้าน ชงครม.ต้นปี 67
ขณะที่โครงการรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 จำนวน 7 เส้นทาง ระยะทาง 1,479 กิโลเมตร (กม.) วงเงินลงทุน 301,952.19 ล้านบาท หลังจากรัฐบาล ‘เศรษฐา ทวีสิน’ ผลักดัน ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 167 กม. วงเงิน 29,748 ล้านบาทผ่านการพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2566 ที่ผ่านมา
ล่าสุด แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า หลังจากผลักดันช่วงขอนแก่น - หนองคายสำเร็จแล้ว ต่อไปจะผลักดันอีก 3 เส้นทาง วงเงินรวม 133,696.62 ล้านบาทเป็นลำดับถัดไป ประกอบด้วย ช่วงชุมทางหาดใหญ่ - ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 45 กม. วงเงินโครงการ 7,900.89 ล้านบาท, ช่วงปากน้ำโพ - เด่นชัย ระยะทาง 281 กม. วงเงิน 81,726.98 ล้านบาท และช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 308 กม. วงเงิน 44,068.75 ล้านบาท โดยคาดว่าจะเสนอให้ ครม.พิจารณาในช่วงต้นปี 2567
ทั้งนี้ ในส่วนของช่วงชุมทางหาดใหญ่ - ปาดังเบซาร์ เนื่องจากรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการได้รับความเห็นชอบแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 2561 ซึ่ง EIA มีอายุ 5 ปี หรือจะหมดอายุวันที่ 1 ส.ค. 2566 ดังนั้น จึงต้องมีการสอบถามไปที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ว่ารายงาน EIA ฉบับเก่ายังใช้ได้หรือไม่ ประกอบกับการศึกษาออกแบบ เป็นโครงการรถไฟทางคู่ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ซึ่งก่อนหน้านี้สภาพัฒน์ฯไม่เห็นด้วยและให้รฟท.ทบทวนโครงการใหม่ โดยถอดระบบไฟฟ้าออก และปรับให้เป็นรถไฟทางคู่เหมือนโครงการอื่นๆ แทน เพื่อความเหมาะสมและคุ้มค่ากับการลงทุนมากกว่า โดยรฟท.กำลังสรุปเพื่อนำเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.พิจารณาต่อไป
สำหรับรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 จำนวน 7 เส้นทาง ประกอบด้วย ช่วงขอนแก่น - หนองคาย ระยะทาง 167 กม. วงเงินโรงการ 29,748 ล้านบาท, ช่วงปากน้ำโพ - เด่นชัย ระยะทาง 281 กม. วงเงินโครงการ 81,726.98 ล้านบาท, ช่วงชุมทางถนนจิระ - อุบลราชธานี ระยะทาง 308 กม. วงเงินโครงการ 44,068.75 ล้านบาท, ช่วงชุมทางหาดใหญ่ - ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 45 กม. วงเงินโครงการ 7,900.89 ล้านบาท, ช่วงชุมพร – สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 168 กม. วงเงินโครงการ 24,294.36 ล้านบาท, ช่วงสุราษฎร์ธานี – หาดใหญ่ - สงขลา ระยะทาง 321 กม. วงเงินโรงการ 57,375.43 ล้านบาท และช่วงเด่นชัย - เชียงใหม่ ระยะทาง 189 กม. วงเงินโครงการ 56,837.78 ล้านบาท
โดยสถานะของแต่ละสายทาง ช่วงขอนแก่น - หนองคาย ผ่าน ครม.แล้ว ขณะที่สายทางอื่นยกเว้นช่วงเด่นชัย - เชียงใหม่ รายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ผ่านการพิจารณาโดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) แล้ว อยู่ระหว่างรอเสนอให้คณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. พิจารณา เพื่อเสนอต่อไปยังครม. ขณะที่ช่วงเด่นชัย - เชียงใหม่ อยู่ระหว่างการพิจารณารายงาน EIA
ความฝัน ความหวังในการต่อเติมโครงข่ายระบบรางของรัฐบาลนี้ จะเป็นจริงหรือไม่?
และหลังจากโหมก่อสร้างรถไฟทางคู่หลายๆสายทางแล้ว ประชาชนอย่างเราๆท่านๆ จะได้รับความสะดวกสบายในการใช้บริการจากขบวนรถไฟใหม่ๆหรือไม่ ยังเป็นโจทย์ที่การรถไฟฯต้องคิดต่อไป
ที่มาภาพปก: การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)