"...ภาพรวมแผนงานลงทุนด้านคมนาคมในปี 2567 มีโครงการที่จะเปิดให้บริการรวม 64 โครงการ และมีโครงการใหม่ที่จะก่อสร้างจำนวน 31 โครงการ มูลค่าลงทุนรวม 389,750 ล้านบาท และโครงการใหม่ในปี 2568 อีก 57 โครงการ มูลค่าลงทุนรวม 283,016 ล้านบาท คิดรวมทั้งปี 2567-2568 จะมีโครงการใหม่พร้อมลงทุนจำนวน 88 โครงการ คิดเป็นมูลค่าโครงการรวม 672,766 ล้านบาท..."
เป็นเวลา 5 เดือนแล้วที่รัฐบาล ‘เศรษฐา ทวีสิน’ ประจำการเข้าบริหารประเทศ ลุยงานทุกวันขึ้นเหนือ ล่องใต้ บินนอกทั้งใกล้ไกล เพื่อสร้างผลงานด้านเศรษฐกิจ หวังชะล้างคราบรัฐบาลข้ามขั้วสลายข้างที่ยังมีเสียงระบึงเซ็งแซ่อยู่เนืองๆในทุกวันนี้
หนึ่งในฟันเฟืองด้านเศรษฐกิจที่ทุกคนจับตามองคือ ‘การลงทุนของภาครัฐ’ โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ก่อให้เกิดการสร้างงาน เพิ่มผลิตภาพและศักยภาพการผลิตในระยะยาว โดยมีกระทรวงคมนาคมเป็นหนึ่งในหน่วยงานขับเคลื่อนสำคัญ ซึ่งปัจจุบันมี ‘สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นผู้นำ ‘ทีมคมนาคมเพื่อไทย’ ผลักดันแผนงานต่างๆในมือมากมายให้เป็นจริง
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา นำเสนอโครงการด้านขนส่งทางอากาศไปแล้ว 8 โครงการ
ดังนั้น ในโอกาสที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้สัมภาษณ์พิเศษนายสุริยะถึงแผนงานและแนวนโยบายที่จะขับเคลื่อนต่อใน 2567-2568 นี้ จึงจะเพิ่มเติมโครงการด้านขนส่งทางถนน ทางบก และทางรางต่อเนื่องกันไป
@รวบ 2 ปี ถม 88 โปรเจ็กต์ 672,766 ล้านบาท
นายสุริยะ เริ่มต้นฉายภาพรวมของโครงการต่างๆว่า ภาพรวมแผนงานลงทุนด้านคมนาคมในปี 2567 มีโครงการที่จะเปิดให้บริการรวม 64 โครงการ และมีโครงการใหม่ที่จะก่อสร้างจำนวน 31 โครงการ มูลค่าลงทุนรวม 389,750 ล้านบาท และโครงการใหม่ในปี 2568 อีก 57 โครงการ มูลค่าลงทุนรวม 283,016 ล้านบาท คิดรวมทั้งปี 2567-2568 จะมีโครงการใหม่พร้อมลงทุนจำนวน 88 โครงการ คิดเป็นมูลค่าโครงการรวม 672,766 ล้านบาท
@พาเหรด 4 โครงการถนน เปิดใช้ปี 67
ในมิติการขนส่งทางถนน นายสุริยะกล่าวว่า กระทรวงคมนาคมจะเร่งรัดแผนการพัฒนาโครงข่ายมอเตอร์เวย์และทางด่วนทั่วประเทศ โครงการที่น่าจะเปิดในปี 2567 ด้านถนนมี 18 โครงการ โครงการสำคัญที่จะเปิดใช้ ได้แก่ มอเตอร์เวย์สาย M6 ช่วงบางปะอิน - นครราชสีมา ระยะทาง 169 กม. มูลค่าโครงการ 72,251 ล้านบาท คาดว่าจะเปิดให้บริการบางส่วนช่วงไตรมาสที่ 2 ปีนี้, มอเตอร์เวย์สาย M81 ช่วงบางใหญ่ - กาญจนบุรี ระยะทาง 96 กม.มูลค่าโครงการ 61,051 ล้านบาท คาดว่าจะเปิดให้บริการแบบทดลองช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2567, โครงการสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 5 ช่วงบึงกาฬ - บอลิคำไซ ระยะทาง 13.03 กม. วงเงิน 2,740 ล้านบาท และโครงการทางด่วนพระราม 3 - ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ระยะทาง 18.7 กม. วงเงิน 30,437 ล้านบาท ซึ่งจะเปิดให้บริการสะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 ภายในปี 2567 นี้ ส่วนทั้งโครงการน่าจะได้ทดลองใช้บริการในช่วงกลางปี 2568
@7 โครงการปี 67-68 ถนน-มอเตอร์เวย์-ทางด่วน 7 หมื่นล้าน
ขณะที่โครงการใหม่ด้านถนนรวม 2 ปี (2567-2568) มีจำนวน 7 โครงการ วงเงินรวม 77,813 ล้านบาท โครงการสำคัญมี 7 โครงการ ดังนี้
1.โครงการมอเตอร์เวย์สาย M9 สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก (วงแหวนตะวันตก) ช่วงบางบัวทอง – บางปะอิน ระยะทาง 35 กม. วงเงิน 15,936 ล้านบาท แผนงานจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่ออนุมัติโครงการได้ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 และคาดว่าจะเปิดประมูลได้ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี วางกำหนดเปิดให้บริการปี 2573
2.โครงการมอเตอร์เวย์สาย M7 ช่วงกรุงเทพฯ – บ้านฉาง ส่วนต่อขยายเชื่อมต่อสนามบินอู่ตะเภา ระยะทาง 1.92 กม. วงเงิน 4,508 ล้านบาท แผนงานจะประกวดราคาในช่วงไตรมาส 1-2 ปี 2567 และจะได้ตัวเอกชนในช่วงไตรมาสที่ 3 ก่อนจะดำเนินการก่อสร้างในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567 ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี แล้วเสร็จในปี 2570
3.โครงการทางด่วนฉลองรัช ส่วนต่อขยายช่วงจตุโชติ - ลำลูกกา ระยะทาง 16.21 กม. วงเงิน 24,060 ล้านบาท (แหล่งเงินทุน จากงบประมาณ 3,727 ล้านบาท/กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFFIF) 14,373 ล้านบาท/พันธบัตรรัฐบาล 5,960 ล้านบาท แผนงานจะดำเนินคัดเลือกผู้ควบคุมงานและผู้ก่อสร้างในช่วงไตรมาส 1-3 ของปี 2567 นี้ จากนั้นจะเริ่มก่อสร้างช่วงปลายปี 2567 คาดว่าจะแล้วเสร็จเปิดให้บริการได้ในช่วงปี 2570
4.โครงการทางด่วน จ.ภูเก็ต ช่วงกะทู้ - ป่าตอง ระยะทาง 3.98 กม. วงเงิน 16,494 ล้านบาท แผนงานจะเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ปรับรูปแบบการลงทุนของโครงการใหม่ จากเดิมที่จะเป็น PPP (เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ) จะแยกเอางานโยธาออกมาทำเอง หากบอร์ด กทพ.เห็นชอบก็จะต้องเสนอต่อไปยังกระทรวงคมนาคม ส่งต่อไปยังที่ประชุม ครม. เพื่อพิจารณาแก้ไขมติ ครม. เดิมที่กำหนดให้ลงทุนแบบ PPP กระบวนการทั้งหมดน่าจะจบในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 จากนั้นจะเริ่มต้นประกวดราคาหาผู้รับจ้างช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี ก่อนที่จะลงนามในสัญญาเริ่มต้นก่อสร้างในช่วงปลายปี 2567
5.โครงการทางแนวใหม่เชื่อมต่อมอเตอร์เวย์หมายเลข 6 (M6) สายบางปะอิน-นครราชสีมา กับทางหลวงหมายเลข 32 (ถนนสายเอเซีย) ระยะทาง 4.76 กม. วงเงิน 6,340 ล้านบาท แผนงานกำลังจะเสนอ ครม.ขออนุมัติในหลักการ และจะบรรจุในแผนแก้ไขปัญหาจราจรถนนวงแหวนรอบนอก กทม. ด้านทิศเหนือ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการ ปี 2568 และคาดว่าจะแล้วเสร็จ ปี 2572
6.โครงการ สะพานข้ามแม่น้ำโก-ลกแห่งที่ 2 ที่ อ.สุไหงโกลก - รันเตาปันยัง จ.นราธิวาส วงเงิน 160 ล้านบาท แผนงานเตรียมประกวดราคาและก่อสร้างในปี 2568 โดยเรื่องนี้อยู่ในแผนพัฒนาของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) ซึ่งทางฝ่ายมาเลเซีย จะรับผิดชอบในการออกแบบสะพาน 116 เมตร คู่ขนานสะพานเดิมด้านทิศตะวันตก ส่วนงบประมาณฝ่ายไทยจะอยู่ที่ 160 ล้านบาท ซึ่งล่าสุดได้มีการสำรวจพื้นที่ร่วมกันแล้วกับประเทศมาเลเซีย
ข้อมูลเบื้องต้นของสะพานนี้ ตามแผนเดิมจะมีความยาวของสะพานอยู่ที่ 1.134 กม. แต่โครงการทั้งหมดมีระยะทางรวม 11.49 กม. โดยแบ่งเป็นของฝั่งไทย 7.82 กม. ฝั่งมาเลเซีย 3.67 กม. ซึ่งจุดเริ่มต้นจะอยู่บริเวณสามแยกตากใบ สิ้นสุดที่จุดตัด 3 แยกระหว่างทางหลวงรัฐหมายเลข d134 กับ d167 บริเวณบ้าน kok semru ประเทศมาเลเซีย
7.โครงการถนนวงแหวนรอบเมืองเชียงใหม่ รอบที่ 3 วงเงินรวม 10,315 ล้านบาท
@ขสมก.-บขส.เข็นแผนเช่ารถ EV 1.5 หมื่นล้าน
นายสุริยะ กล่าวต่อไปว่า ส่วนแผนงานด้านงานทางบก สิ่งที่จะทำในปี 2567 – 2568 ที่สำคัญ คือ การผลักดันการจัดหารถโดยสารพลังงานสะอาดและพลังงานไฟฟ้าของ 2 หน่วยงานคือ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.)
ในส่วนของ ขสมก. เตรียมแผนเช่ารถโดยสารพลังงานสะอาด จำนวน 1,520 คัน วงเงินรวม 15,355.60 ล้านบาท ระยะเวลาเช่า 7 ปี (2568-2575) แผนงานในปี 2567 จะเป็นขั้นตอนของการเตรียมจัดทำ TOR เสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) ขสมก. เมื่อผ่านการพิจารณาแล้วก็จะเสนอต่อกระทรวงคมนาคมและสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) พิจารณาก่อนที่ จะเริ่มประกวดราคาในที่สุด ขณะที่ปี 2568 จะต้องเป็นช่วงที่ทยอยรับมอบรถโดยสารแล้ว
ขณะที่ บขส. จะเป็นโครงการจัดหารถโดยสารพลังงานไฟฟ้า (EV) จำนวน 54 คัน วงเงินรวม 368.732 ล้านบาท ระยะเวลาเช่า 7 ปี (2568-2575) แผนงานในปี 2567 จะเป็นกระบวนการจัดทำ TOR ประกวดราคาจัดหารถ EV และกระบวนการหลังจากนั้นคือ การเสนอบอร์ด บขส.เห็นชอบ แล้วในปี 2568 จะเป็นการลงนาในสัญญาและตรวจรับมอบรถโดยสาร
@ดันสายสีแดงต่อขยาย ปีนี้
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงการลงทุนด้านระบบรางว่า ในปี 2567 โครงการด้านระบบรางที่จะเปิดให้บริการ คือ รถไฟทางคู่ระยะที่ 1 ช่วงนครปฐม – ชุมพร ระยะทาง 336 กม. ซึ่งปัจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จ 100% และคาดว่าจะเปิดให้บริการทั้งสายทางในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2567
ขณะที่โครงการสำคัญที่จะผลักดันในปี 2567-2568 มีจำนวน 4 โครงการ วงเงินรวม 56,910.96 ล้านบาท ดังนี้
1.รถไฟชานเมืองสายสีแดงส่วนต่อขยาย 3 เส้นทาง วงเงินรวม 21,754.96 ล้านบาท ได้แก่ สายสีแดงเข้มช่วงรังสิต - มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กม. วงเงิน 6,468.69 ล้านบาท, ช่วงตลิ่งชัน – ศาลายา ระยะทาง 14.80 กม วงเงิน 10,670.27 ล้านบาท และสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน – ศิริราช ระยะทาง 5.70 กม. วงเงิน 4,616 ล้านบาท
ปัจจุบันทั้ง 3 สายทางอยู่ระหว่างทบทวนราคาค่าก่อสร้างปัจจุบัน เพราะต้นทุนค่าก่อสร้างมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่ ครม. อนุมัติไว้เมื่อปี 2562 โดยคาดว่าจะเสนอ ครม.ได้อีกครั้งไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 และเริ่มก่อสร้างช่วงเดือน ส.ค. 2567
2.จัดหารถดีเซลรางปรับอากาศบริการเชิงสังคมจ้านวน 216 คัน พร้อมอะไหล่ วงเงิน 27,317 ล้านบาท 3.จัดหารถจักรดีเซลไฟฟ้า จำนวน 30 คัน พร้อมอะไหล่ วงเงิน 5,850 ล้านบาท และ 4.จัดหารถจักรสับเปลี่ยนพร้อมอะไหล่ จำนวน 17 คัน พร้อมอะไหล่ วงเงิน 1,989 ล้านบาท ซึ่ง 3 โครงการหลังนี้จะผลักดันต่อไปในปี 2568
เหล่านี้คือโครงการสำคัญเบื้องต้นของกระทรวงคมนาคมที่ได้วางแผนไว้ว่า จะดำเนินการในปี 2567-2568 นี้
อย่างไรก็ตาม ยังมีแนวนโยบายของรัฐบาลที่จะผลักดันต่อไปใน 2 ปีดังกล่าว โปรเจ็กต์เรือธงอย่าง ‘แลนด็บริดจ์’ – นโยบายเด่นดังอย่างรถไฟฟ้า 20 บาทจะไปต่ออย่างไร หรือจะมีนโยบายว้าวๆอะไรออกมาอีกบ้างไหม?
ต้องติดตามตอนต่อไป