เปิดความคืบหน้ารถไฟทางคู่เฟสที่ 1 จำนวน 7 เส้นทาง หลังก่อสร้างมาแล้ว 7 ปี พบเสร็จแล้ว 3 เส้นทาง กำลังก่อสร้าง 4 เส้นทาง เผยงานโยธา-ติดตั้งระบบยังช้ากว่าแผน พบช่วงมาบกะเบา-จิระ ต้องลุ้นปรับแบบช่วงผ่านโคราช เช็กอัพกำหนดแล้วเสร็จช้าสุดในปี 2568
7 ปีมาแล้ว สำหรับการเริ่มต้นพัฒนาโปรเจ็กต์ ‘รถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน หรือรถไฟทางคู่เฟสที่ 1’ ซึ่งเมื่อ 7 ปีที่แล้ว รัฐบาลคสช.ภายใต้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลุยประมูลรถไฟทางคู่เฟสแรก 7 เส้นทาง ระยะทางรวม 993 กม. ใช้เงินก่อสร้าง 124,073.74 ล้านบาท
ก่อนที่อีก 2-3 ปี ถัดมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) ยุคเดียวกัน อนุมัติก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใหม่ 2 สายทางคือ สายบ้านไผ่ – มหาสารคาม – ร้อยเอ็ด – มุกดาหาร – นครพนม ระยะทาง 355 กม. วงเงิน 66,848.33 ล้านบาท และสายเด่นชัย – เชียงราย – เชียงของ ระยะทาง 323 กม. วงเงิน 85,345 ล้านบาท เรียกได้ว่า โหมประมูลรถไฟทางคู่กันไปถึง 9 สายทาง
เมื่อพ้นยุครัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ เข้าสู่รัฐบาล ‘เศรษฐา ทวีสิน’ ก็มีการเดินสายไปยัง จ.อุดรธานีและหนองคาย เมื่อช่วงเดือน ก.ย. 2566 ซึ่งมีแผนผลักดันโครงการรถไฟทางคู่เฟส 2 สายขอนแก่น - หนองคาย และในที่สุดเมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2566 ครม. ก็อนุมัติในหลักการให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 167 กม. วงเงิน 29,748 ล้านบาทไป รวมถึงมีกระแสข่าวจะผลักดันโครงการรถไฟทางคู่เฟส 2 สายใต้ช่วงหาดใหญ่ - ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 55 กม. วงเงินโครงการ 7,864.49 ล้านบาท เป็นเส้นทางต่อไป
โดย ณ ปัจจุบัน โปรเจ็กต์รถไฟทางคู่ จากรัฐบาล ‘ประยุทธ์’ สู่รัฐบาล ‘เศรษฐา’ อนุมัติไปแล้ว 10 เส้นทาง รวมวงเงิน 295,541.33 ล้านบาท
ในโอกาสนี้ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ขอรีวิวความคืบหน้าโครงการรถไฟทางคู่เฟสที่ 1 ที่รัฐบาล ‘ประยุทธ์’ ประเดิมเอาไว้เมื่อ 7 ปีที่แล้ว ปัจจุบันคืบหน้าถึงไหน? และประชาชนจะได้ใช้งานกันเมื่อไหร่?
@ทางคู่เฟส 1 เสร็จแล้ว 3 เส้นทาง
เริ่มต้นที่โครงการรถไฟทางคู่เฟสที่ 1หรือรถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วนที่ได้รับการอนุมัติไปตั้งแต่ปี 2559 จำนวน 7 สายทาง วงเงินโครงการรวม 124,073.74 ล้านบาท (งานโยธา 111,150.44 ล้านบาท/งานระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคม 12,923.3 ล้านบาท) สถานะ ณ เดือน พ.ย. 2567 พบว่า เส้นทางที่งานโยธาก่อสร้างเสร็จแล้ว 100% ประกอบด้วย
1.ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย ระยะทาง 106 กม. วงเงินโครงการ 10,232.86 ล้านบาท แบ่ง 2 สัญญาคือ สัญญาที่ 1 งานโยธาช่วงฉะเชิงเทรา-คลอง 19-วิหารแดง และช่วงบุใหญ่-แก่งคอย พร้อมทางคู่เลี่ยงเมือง ระยะทาง 97 กม. มูลค่าโครงการ 9,825.81 ล้านบาท มี บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น เป็นคู่สัญญา ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อเดือน ก.ย. 2562 และสัญญาที่ 2 งานโยธาช่วงวิหารแดง-บุใหญ่ และอุโมงค์รถไฟ ระยะทาง 9 กม. มูลค่าโครงการ 407.05 ล้านบาท มี บมจ.ไร้ท์ทันเน็ลลิ่ง เป็นคู่สัญญา ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อเดือน มี.ค. 2561
2.ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ระยะทาง 187 กม. วงเงินโครงการ 24,326 ล้านบาท มีกิจการร่วมค้า ซีเคซีเอช (CKCH Joint Venture) กิจการร่วมค้าระหว่าง บมจ.ช.การช่าง และ บจ. ช.ทวีก่อสร้าง ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อเดือน ส.ค. 2562
และ 3.ช่วงหัวหิน - ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 84 กม. วงเงินโครงการ 5,807 ล้านบาท มี บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ เป็นคู่สัญญา ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อเดือน ก.ย. 2566
แผนพัฒนาระบบรางของไทย ซึ่งรถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน คือ สายสีน้ำเงินที่มีจุดขาว
ที่มา: สำนักงานโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ
@รอสร้าง 4 สาย เสร็จช้าสุด มี.ค. 68
และมีอีก 4 เส้นทาที่ยังอยู่ระหว่างก่อสร้าง โดยแต่ละเส้นทางมีความคืบหน้าดังนี้
1.ช่วงประจวบคีรีขันธ์ - ชุมพร ระยะทาง 167 กม. วงเงินโครงการ 12,457 ล้านบาท แบ่งงาน 2 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 1 ช่วงประจวบคีรีขันธ์-บางสะพานน้อย ระยะทาง 88 กม.มูลค่าโครงการ 6,465 ล้านบาท มีกิจการร่วมค้า KS-C Joint Venture (ประกอบด้วย บจ. เคเอสร่วมค้า และ China Railway 11th Bureau Group Corporation Ltd.) เป็นคู่สัญญา ความคืบหน้าของโครงการอยู่ที่ 94.736% ล่าช้ากว่าแผน 5.264% มีกำหนดแล้วเสร็จในเดือน ม.ค. 2567 และสัญญาที่ 2 ช่วงบางสะพานน้อย - ชุมพร ระยะทาง 79 กม. มูลค่าโครงการ 5,992 ล้านบาท มีกิจการร่วมค้า STPP Joint Venture ( ประกอบด้วย บมจ. ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น (STEC) ร่วมกับ บจ. ไทยพีค่อนและอุตสาหกรรม) เป็นคู่สัญญา ความคืบหน้าโครงการอยู่ที่ 97.912% ล่าช้ากว่าแผน 2.088% มีกำหนดแล้วเสร็จในเดือน ม.ค. 2567
2.ช่วงมาบกะเบา - ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 132 กม. วงเงินโครงการ 23,910.58 ล้านบาท แบ่งงาน 3 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 1 ช่วงมาบกะเบา - คลองขนานจิตร ระยะทาง 58 กม.มูลค่าโครงการ 7,560 ล้านบาท มี บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ เป็นคู่สัญญา ความคืบหน้าของโครงการอยู่ที่ 96.31% ล่าช้ากว่าแผน 3.69% มีกำหนดแล้วเสร็จในเดือน มี.ค. 2568 และและสัญญาที่ 3 อุโมงค์รถไฟขนาดความยาว 5 กม. มูลค่าโครงการ 9,290 ล้านบาท มีกิจการร่วมค้าไอทีดี-อาร์ที หรือ ITD-RT (มีบมจ. อิตาเลียน ดีเวล๊อปเมนต์ ร่วมกับบจ. ไรท์ทันเน็ลลิ่ง) เป็นคู่สัญญา ความคืบหน้าของโครงการอยู่ที่ 98.188% ล่าช้ากว่าแผน 1.812% มีกำหนดแล้วเสร็จในเดือน ม.ค. 2567
ส่วนสัญญาที่ 2 ช่วงคลองขนานจิต - ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 69 กม. มูลค่าโครงการ 7,060.58 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างการปรับแบบก่อสร้างและคำนวณราคากลางใหม่ หลังประชาชนใน ต.โคกกรวด, บ้านใหม่ และในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา เรียกร้องให้ปรับรูปแบบการก่อสร้างจากคันดินเป็นการยกระดับแบบตอม่อ ซึ่งตอนนี้ได้ข้อยุติแล้ว
แต่เนื่องจากสัญญา 2 อยู่ทับซ้อนกับแนวรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน สัญญา 3-5 ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา ระยะทาง 12.38 กม. มีกลุ่มกิจการร่วมค้า SPTK (ประกอบด้วย ประกอบด้วย บจ.ซิโนไฮโดร, บจ.สหการวิศวกร และ บจ.ทิพากร) มูลค่าโครงการ 7,750 ล้านบาท ดังนั้น จึงต้องขออนุมัติปรับแบบในส่วนรถไฟความเร็วสูงก่อน หากรถไฟความเร็วสูงได้รับอนุมัติจึงจะเสนอปรับแบบรถไฟทางคู่ตามไป โดยคาดว่าไม่เกินสิ้นปี 2566 นี้จะสามารถขออนุมัติปรับแบบรถไฟความเร็วสูงได้
3.ช่วงนครปฐม - หัวหิน ระยะทาง 169 กม. วงเงินโครงการ 15,718 ล้านบาท แบ่งงาน 2 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 1 ช่วงนครปฐม – หนองปลาไหล ระยะทาง 93 กม. มูลค่าโครงการ 8,198 ล้านบาท มี บจ.เอ.เอส. แอสโซซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964) เป็นคู่สัญญา ความคืบหน้าของโครงการอยู่ที่ 97.21% ล่าช้ากว่าแผน 2.79% มีกำหนดสร้างเสร็จเดือน ม.ค. 2567 และสัญญาที่ 2 ช่วงหนองปลาไหล – หัวหิน ระยะทาง 76 กม. มูลค่าโครงการ 7,520 ล้านบาท มี บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น เป็นคู่สัญญา ความคืบหน้าของโครงการอยู่ที่ 98.297% ล่าช้ากว่าแผนที่ 1.703% มีกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือน ม.ค. 2567
4.ช่วงลพบุรี – ปากน้ำโพ ระยะทาง 148 กม. วงเงินโครงการ 18,699 ล้านบาท แบ่งงาน 2 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 1 ช่วงบ้านกลับ – โคกกระเทียม ระยะทาง 32 กม. มูลค่าโครงการ 10,050 ล้านบาท มีกิจการร่วมค้า UN-SH (ประกอบด้วย บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น ร่วมกับ บจ.ซิโนไฮโดร คอร์ปอเรชั่น ลิมิเต็ด) เป็นคู่สัญญา ความคืบหน้าของโครงการอยู่ที่ 88.55% ล่าช้ากว่าแผน 11.44% มีกำหนดแล้วเสร็จในเดือน ก.ย. 2567 และสัญญาที่ 2 ช่วงท่าแค - ปากน้ำโพ ระยะทาง 116 กม. มูลค่าโครงการ 8,649 ล้านบาท มีบมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น เป็นคู่สัญญา ความก้าวหน้าของโครงการอยู่ที่ 80.19% ล่าช้ากว่าแผน 19.81% มีกำหนดแล้วเสร็จในเดือน ต.ค. 2567
ความคืบหน้างานโยธารถไฟทางคู่ระยะที่ 1
@ติดตั้งระบบเดินรถยังช้ากว่าแผน ไม่เกิน ต.ค. 67 กำหนดแล้วเสร็จ
ส่วนความคืบหน้างานระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคม โครงการรถไฟทางคู่ระยะที่ 1 แบ่ง 3 งาน ได้แก่
1.สายเหนือ ช่วงลพบุรี – ปากน้ำโพ มูลค่าโครงการ 2,988.57 ล้านบาท มีกิจการร่วมค้า บีที-ยูเอ็น (ประกอบด้วย บจ.บอมบาร์ดิเอร์ ทรานสปอร์เทชั่น ซิกเนล (ประเทศไทย) และ บมจ. ยูนิค เอ็นจิเนียริงแอนด์ คอนสตรัคชั่น) เป็นคู่สัญญา มีความคืบหน้าที่ 33.24% ช้ากวาแผน 66.76% มีกำหนดแล้วเสร็จในเดือน เม.ย. 2568
2.สายใต้ ช่วงนครปฐม – ชุมพร มูลค่าโครงการ 7,384.84 ล้านบาท มีกิจการร่วมค้า CRSC Research & Design Institute Group Co.,Ltd และ CRSC International Company Limited (บริษัทจากประเทศจีน) เป็นคู่สัญญา มีความคืบหน้าที่ 53.793% ช้ากว่าแผน 46.207% มีกำหนดแล้วเสร็จเดือน ม.ค. 2567
3.สายตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงมาบกะเบา – ชุมทางถนนจิระ มูลค่าโครงการ 2,549.89 ล้านบาท มีกิจการร่วมค้า ประกอบด้วย บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนต์ และ บจ. LSIS Co., Ltd. จากประเทศสาธารณรัฐเกาหลี เป็นคู่สัญญา มีความคืบหน้าที่ 33.487% ช้ากว่าแผน 74.338% มีกำหนดแล้วเสร็จในเดือน ต.ค. 2567
เหล่านี้คือความคืบหน้าของรถไฟทางคู่เฟสที่ 1 ที่อนุมัติก่อสร้างมาแล้ว 7 ปี แม้เนื้องานส่วนใหญ่จะคืบหน้าเกินครึ่งแล้ว แต่ยังต้องลุ้นกันว่า ดอกผลที่เริ่มต้นไว้ในสมัยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จะทันเก็บเกี่ยวในยุครัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน หรือไม่ต้องติดตาม