‘เศรษฐา’ ตั้งเป้าจีดีพีเติบโตเฉลี่ย 5% ตลอด 4 ปี เผยต้นปี 67 จะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ 5.6 แสนล้านบาท มอบ 5 กรอบจัดทำงบประมาณปี 67
..............................
เมื่อวันที่ 2 ต.ค. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง มอบนโยบายและแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ว่า รัฐบาลปัจจุบันเข้ามาบริหารราชการแผ่นดินในช่วงที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายทั้งเชิงเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภายในและภายนอกประเทศไม่ว่าจะเป็นผลจากโควิด 19 ที่ทำให้ประเทศไทยฟื้นตัวช้ากว่าเพื่อนบ้าน และฟื้นอย่างไม่เท่าเทียมเป็น K-shape recovery ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำของประชาชนไทยในหลายระดับ
ทั้งนี้ ประเทศไทยเองก็ได้ให้คำมั่นสัญญาไว้ในเวทีสหประชาชาติ (UN) เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน ว่า เราจะเดินหน้าพัฒนาแก้ไขเรื่องนี้ให้ดีที่สุด ร่วมกับนานาประเทศ เศรษฐกิจโลกที่ถูกกระทบโดยสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ ปัญหา supply chain ที่กระทบมาถึงประเทศไทย โครงสร้างอุตสาหกรรมและภาคการผลิตที่กระจุกตัวอยู่ในไม่กี่หมวดสินค้า ถูกจำกัดด้วยจำนวนตลาดที่ไทยสามารถแข่งขันส่งออกได้
“อีกไม่นาน เราก็จะเจอกับเอลนีโน่ (El Nino) ที่จะทำให้เกิดภัยแล้งยาว กระทบกับพี่น้องเกษตรกรกว่า 20 ล้านครัวเรือน หนี้สินในภาคครัวเรือน การเกษตร ก็เรื้อรัง มีการพักหนี้มา 13 ครั้ง แต่เราจะต้องแก้ที่โครงสร้างอื่นๆ เช่น ความสามารถในการผลิตด้านการเกษตรของเรา การต่อยอด Value chain ให้เป็น High value agriculture economy วิธีทำการเกษตรของเรา ก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาฝุ่นควันที่เกิดขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาสาธารณสุขอื่นๆอีก ปัญหาทั้งหมดที่กล่าวไปทั้งหมด ล้วนมีส่วนทำให้เศรษฐกิจของเรามีปัญหาอยู่ในปัจจุบันนี้ และยังมีส่วนทำให้เกิดปัญหาภาคสังคมอื่น ๆ ด้วย” นายเศรษฐา กล่าว
@ต้นปี 67 อัดฉีดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจ 5.6 แสนล้าน
นายเศรษฐา ระบุว่า ในภาคสังคม มีความท้าทายหลายประการที่กำลังเผชิญอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Aged Society จะทำให้ workforce ลดลง ส่งผลต่อสัดส่วนแรงงานต่อประชากร และรัฐจะต้องใช้เงินมากขึ้นในการทำสวัสดิการเพื่อดูแลประชากรทุกคน ความเปราะบางที่เกิดจากหนี้สิน หนี้ครัวเรือน ค่าแรงขั้นต่ำที่ไม่เป็นธรรม และยาเสพติด กำลังก่อให้เกิดภาระทางการคลังของรัฐบาล ทั้งแง่การลงทุน แก้ปัญหาสวัสดิการ สาธารณสุข และอีกหลายๆ มิติ
“จากความท้าทายที่ผมกล่าวไปทั้งหมด รัฐบาลนี้เราจะ Take on actions อย่างจริงจัง ดำเนินนโยบายร่วมกับทั้งราชการทุกภาคส่วน และผลักดันเอกชนทุกระดับ เพื่อรับมือกับความท้าทายนี้ในระยะสั้น รัฐบาลให้ความสำคัญ 3 ประการเร่งด่วนด้วยกัน คือการฟื้นฟูรายได้ ดูแลค่าใช้จ่ายของประชาชน และเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีท่านรองนายกฯ ภูมิธรรม เป็นประธานคณะกรรมการ
ขอเริ่มที่การฟื้นฟูรายได้ ซึ่งจะเริ่มต้นด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในต้นปี 2567 จะมีเงินอัดฉีดเข้าไปในเศรษฐกิจ ด้วยกรอบประมาณ 560,000 ล้านบาท นโยบายนี้จะแตกต่างจากการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่เคยเกิดขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา การกระตุ้นเศรษฐกิจเข้าไม่ถึงทุกพื้นที่ ไม่ถึงทุกชุมชน กล่าวคือเป็นการกระตุ้นฝั่ง Demand หรือกระตุ้นอุปสงค์ ความต้องการเป็นหลัก แต่การกระตุ้นฝั่ง Demand อย่างเดียว จะทำให้เกิดการเจริญเติบโตที่ไม่เท่าเทียม เพราะ Demand ที่มากขึ้น ก็จะวิ่งเข้าหาศูนย์กลางทางเศรษฐกิจเป็นหลัก ไม่ได้กระจายไปยังชุมชน
ในครั้งนี้ เงิน 560,000 ล้าน ที่เข้าไปกระตุ้น Demand และจะขับเคลื่อนฝั่ง Supply หรืออุปทานให้โตขึ้น ก่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน สิ่งที่ได้รับคืนมา คือ ภาษีที่กลับคืนสู่ภาครัฐ การจำกัดการใช้จ่ายให้อยู่ในชุมชน จะทำให้เงินหมุนเข้าไปถึงระดับรากหญ้าก่อนเสมอ ทำให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในกิจกรรมเศรษฐกิจนี้ และในระยะเวลา 6 เดือนเอง ก็เพื่อกำหนดให้เงินนี้ต้องหมุน มีการจับจ่ายใช้สอย ไม่อย่างนั้นก็จะมีการเอาไปดองไว้ ไม่ก่อให้เกิด Multiplier Effect หรือการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ
ตอนนี้ ครม. ได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อดำเนินการในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนา Application การจัดหาแหล่งเงิน การกำหนดกฎระเบียบทั้งหมด และตอบคำถามจากทุกๆ คน ไม่ต้องห่วงครับ ได้ใช้แน่นอนในเดือนกุมภาพันธ์นี้ แต่นี่เป็นเพียงมาตรการระยะสั้น ซึ่งเดี๋ยวจะขอพูดถึงในระยะยาวว่ารัฐบาลมีมาตรการอย่างไรให้เศรษฐกิจโตได้อย่างต่อเนื่อง” นายเศรษฐา กล่าว
@เศรษฐกิจ'ดีขึ้น'หนุนเพิ่มค่าแรง 400 บาท/วันโดยเร็วที่สุด
นายเศรษฐา ระบุว่า ในด้านการท่องเที่ยว รัฐบาลจะฟื้นการท่องเที่ยวทั้งจากนักท่องเที่ยวในประเทศและนอกประเทศ ซึ่งในประชุม ครม. วาระแรกได้ดำเนินการเรื่องที่ทำได้ทันที คือ การยกเว้นวีซ่าชั่วคราวไปให้กับนักท่องเที่ยวจีนและคาซัคสถาน ที่เมื่อวันจันทร์แล้วได้มีนักท่องเที่ยวชุดแรก ที่เดินทางเข้ามาแล้ว นั่นเป็นมาตรการเบื้องต้นเท่านั้น
รัฐบาลจะวางแผนดำเนินมาตรการกับประเทศอื่นๆอีก โดยพิจารณาจากสถานภาพเศรษฐกิจ ความต้องการ และสถานะของประเทศ นอกจากนั้น รัฐบาลจะวางแผนมาตรการอื่นๆ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว เช่น ช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่าย อำนวยความสะดวก หรือมาตรการอื่นๆ ที่เหมาะสม ส่วนในระยะยาวเองก็ต้องมีการพัฒนาด้านอื่นๆด้วย ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว หรือการต่างประเทศที่จะต้องมีการจัด Roadshow เป็นต้น
“ด้วยทิศทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ผมมั่นใจว่าเราจะทำให้เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำไปอยู่ที่ 400 บาทต่อวัน ได้โดยเร็วที่สุด เป็น Step แรก ในด้านค่าใช้จ่าย ครม. ก็ได้อนุมัติการลดค่าพลังงานให้กับประชาชนไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการทำให้น้ำมันดีเซลราคาไม่เกิน 30 บาท หรือทำให้ค่าไฟเหลือเพียง 3.99 บาท โดยจะต้องมีการวางแผนใช้งบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาชั่วคราว โดยจะควบคู่ไปกับการวางแผนโครงสร้างพลังงานระยะยาว
แน่นอน ในอนาคตก็ต้องหาทางลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานลงอีก อาทิเช่น ค่าก๊าซหุงต้ม น้ำมันเบนซิน เป็นต้น เพื่อให้เหมาะสมกับค่าครองชีพของประชาชน หนี้ครัวเรือน หนี้เกษตรกร ครม. เมื่อวันอังคารที่ผ่านมาก็ได้อนุมัติไปแล้ว พักหนี้ให้กับเกษตรกรเกือบๆ 2,700,000 ราย และจะวางแผนดูแลหนี้สินกลุ่มที่มีความจำเป็นอื่น ๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือ ต่อลมหายใจให้กับประชาชนที่เดือดร้อนจากหนี้สิน
ทั้งนี้ การพักหนี้ในช่วง 9 ปีก่อนหน้าที่เกิดมา 13 ครั้งนั้น และยังมีการแทรกแซงตลาดราคาสินค้าอีกนับแสน ๆ ล้านบาท แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ซึ่งเดี๋ยวผมจะพูดต่อไปว่าครั้งนี้เราจะทำต่างกันอย่างไร เรื่องรัฐธรรมนูญ รัฐบาลนี้ก็ได้เดินหน้าตั้งคณะกรรมการเพื่อเริ่มดำเนินการแล้ว โดยจะดำเนินการทำประชามติ เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้เสร็จสิ้นโดยเร็วที่สุด เพื่อคืนอำนาจให้กับประชาชน” นายเศรษฐา กล่าว
@วางนโยบายระยะยาว 3 ด้านดันเศรษฐกิจโตยั่งยืน
นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า มาตรการระยะสั้นที่กล่าวไปทั้งหมด จำเป็นต้องมีงบประมาณสนับสนุน แต่จะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าต่อชีวิตให้กับประชาชนและภาคธุรกิจทั้งเล็กและใหญ่ เพื่อให้มีกำลังไปสร้างพลังทางเศรษฐกิจต่อไป สำหรับรัฐเอง เราจะต้องวางแผนหาเงินกลับมาคืนในส่วนที่ใช้ไปในส่วนนี้ด้วย และรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัดในระยะยาว รัฐบาลตั้งใจที่จะทำให้เศรษฐกิจโตไปอย่างยั่งยืน
โดยนโยบายระยะยาว จะครอบคลุม 3 มิติด้วยกันได้แก่ การสร้างรายได้ การขยายโอกาส และการดูแลคุณภาพชีวิตและความมั่นคง
ทั้งนี้ ในการสร้างรายได้ จะมีการเพิ่มรายได้สุทธิในภาคเกษตร การเปิดการค้าระหว่างประเทศ การส่งเสริมเขตเศรษฐกิจ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อดึงดูดการลงทุน อย่างที่บอกไปว่าเราพักหนี้มา 13 ครั้ง ใช้เงินไปมหาศาล แต่ว่าปัญหาหนี้สินในภาคเกษตรไม่ได้รับการแก้ไข ในรัฐบาลนี้นอกจากการพักหนี้ที่เราจะต่อลมหายใจแล้ว เราจะใช้หลักการตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ ดูแลเกษตรกรโดยการลดต้นทุน
เช่น ค่าปุ๋ย โดยการปรับปรุงสูตร และใช้ปริมาณที่เหมาะสมให้ตรงกับสภาพพืช และสภาพดิน รวมถึงการเพิ่ม Yield หรือ “ผลผลิตต่อไร่” โดยการปรับปรุงพันธุ์ วิธีการปลูกพืช และใช้นวัตกรรมต่าง ๆ เช่น เกษตรแม่นยำ (Precision Agriculture) เป็นต้น เป้าหมายของรัฐบาลนี้คือการทำให้พี่น้องเกษตรกรมีรายสุทธิเพิ่มขึ้น 3 เท่าใน 4 ปี ต้องดูทั้งอุปสงค์ อุปทานให้เหมาะสม มีการวางแผนล่วงหน้าเพื่อไม่ให้สินค้าล้นตลาด ราคาตกต่ำ วางแผนบริหารพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์
โดยพิจารณาปัจจัยให้ครบทุกมิติไม่ว่าจะเป็นต้นทุน ราคา ระยะเวลา ข้อกฎหมาย และอื่น ๆ จัดทำองค์ความรู้อย่างเป็นระบบ ควบคู่ไปกับการลดต้นทุนให้เกษตรกร รวมถึงใช้มาตรการใหม่ๆ เช่น การขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าด้วย
นอกจากภาคการเกษตรแล้ว ภาคการผลิต อุตสาหกรรมเอง ก็จะได้รับประโยชน์ต่อเนื่องหลังจากการกระตุ้นการใช้จ่ายผ่าน Digital Wallet รัฐบาลนี้เองก็จะสนับสนุนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจใหม่ ๆ เศรษฐกิจดิจิทัล เทคโนโลยีขั้นสูง หรือ Deep Tech อุตสาหกรรมสีเขียว อุตสาหกรรมความมั่นคงประเทศ และผลักดันให้ Start Up ไทยสามารถเติบโตได้ ซึ่งจะมีการจัดทำ Matching fund ที่ภาครัฐจะร่วมมือกับกองทุนระดับโลก
“เราจะอาศัยความเชี่ยวชาญของกองทุนในการค้นหาและคัดเลือก Start Up หรือ SME ที่มีศักยภาพโดยภาครัฐจะร่วมลงทุนด้วย เพื่อทำให้ Start Up หรือ SME เหล่านี้มีเงินทุนเพียงพอ เติบโตและขยายธุรกิจ เป็น Unicorn ต่อไปได้ รัฐบาลจะช่วยเหลือ SME ให้มีกลไกช่วยเหลืออย่างครบวงจร ทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์ การผลิต การจัดหาเงินทุน เปิดตลาด และมาตรการอื่น ๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยสามารถโตในเวทีโลก” นายเศรษฐากล่าว
ส่วนเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ระบบคมนาคมทั้งถนน น้ำ ราง อากาศ จะต้องมีการวางแผนลงทุนอย่างเป็นระบบ และต้องทำอย่างมียุทธศาสตร์ ดูทั้งอุปสงค์ และอุปทานให้สอดคล้องกัน ยกตัวอย่าง เช่น สนามบิน ที่จะเป็นหน้าด่านของการท่องเที่ยว ก็ต้องมีการวางแผนขยายให้เหมาะสม ให้สามารถรับนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น ทั้งในเมืองหลัก และขยายไปยังเมืองรอง และต้องดูเรื่องปริมาณ ขั้นตอน และมาตรฐานการบริการ ควบคู่ไปทั้งหมด
“รางรถไฟ จะต้องสามารถส่งสินค้าจากเมืองต่าง ๆ ไปยังตลาดได้ จะต้องเชื่อมต่อกับรางรถไฟของโลกด้วย เช่น ขนส่งสินค้าไปยังจีน และยังต้องขยายระบบรางทั้งในและนอกเมืองเพื่อรองรับการเดินทาง การส่งสินค้า ในราคาที่เป็นธรรม เช่น รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ที่ได้ดำเนินการไปบ้างแล้ว และต้องเจรจาหาทางออกร่วมกับผู้ให้บริการอื่น ๆ อีก เพื่อให้ครบทั้งระบบ ถนน ท่าเรือ ระบบอื่น ๆ ก็ต้องมีแผนกระจายให้ทั่วถึงอย่างมีเหตุมีผล มีตัวชี้วัดที่เหมาะสมถึงความต้องการหรือตอบยุทธศาสตร์ของประเทศ” นายเศรษฐา ระบุ
นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า “จากที่ผมได้รับฟังความต้องการจากภาคธุรกิจ ทุกกลุ่มทุกท่านล้วนสนับสนุนให้ประเทศไทยเดินหน้าเปิดตลาดการค้าให้มากขึ้น เพื่อทำให้สินค้าไทยสามารถส่งออกไปยังตลาดทั่วโลกได้ จึงเป็นที่มาของการขยาย FTA หรือเปิดตลาดใหม่ๆ สร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศอื่น ๆ โดยมุ่งเน้นไปทางยุโรป และแถบอาหรับ แอฟริกา ให้มากขึ้น รวมถึงการขยายหมวดหมู่ของสินค้าให้ครอบคลุมภาคธุรกิจของไทยด้วย
การเดินหน้าเจรจาทั้งหมดที่ผมกล่าวไป จะนำมาซึ่งการลงทุนใน Real Sector ให้มากขึ้นด้วย เป็นการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ เรื่องนี้ ภาคธุรกิจที่มาคุยกับผม เขาก็บอกว่าถ้าเราขยายได้มาก เขาก็สนใจที่จะมาลงทุนมากขึ้น เพราะมัน “เสริม” ความสามารถในการแข่งขันของเขาได้
รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญกับการเร่งเจรจา FTA ที่ค้างอยู่กับ EU และเร่งเดินหน้าเปิดตลาดใหม่ๆ เช่น ตะวันออกกลาง และแอฟริกาเรื่องนี้เราก็ได้ท่านปานปรีย์ (พหิทธานุกร รองนายกฯ และ รมว.กระทรวงการต่างประเทศ) และท่านภูมิธรรมมาเป็นผู้ดำเนินการอย่างเร่งด่วน”
นายเศรษฐา กล่าวว่า เรื่องการต่างประเทศที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่ง คือการเปลี่ยนการทูตของเรา ให้ Pro-active มากยิ่งขึ้น เราจะไม่รอคำเชิญจากนานาประเทศเพียงอย่างเดียว แต่เราจะ “รุก” ออกไปพบ ไปคุย ไปจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อบอกชาวโลกว่า “Thailand is open” หรือ “ประเทศไทยเปิดแล้ว” การลงทุนทั้งในภาคการเกษตร การทำเขตเศรษฐกิจ โครงสร้างพื้นฐาน และการเดินหน้าเจรจาต่างประเทศ ต้องใช้ทรัพยากรทั้งคน เงิน และเวลา
แต่ทำแล้วเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างมหาศาล ซึ่งจะนำประเทศไทยกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของโลก รักษาความเป็นกลางระหว่างขั้วอำนาจ ซึ่งกลายมาเป็นจุดแข็งของประเทศไทย ที่บริษัทต่างชาติกำลังให้ความสนใจ การดำเนินงานหลากหลายนโยบาย จะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น และทำให้รัฐบาลสามารถปรับค่าแรงขั้นต่ำตามเศรษฐกิจได้ เป็น 600 บาทต่อวัน ปริญญาตรี 25,000 ภายในปี 2570
นายเศรษฐา ระบุว่า ในด้านการขยายโอกาสนั้น มีหลากหลายประเด็นที่ได้พูดไปตอนแถลงนโยบาย แต่จะขอ recap สั้น ๆไม่กี่เรื่องคือพลังงาน ที่ดิน การศึกษา และ Soft power ด้านพลังงาน ที่ประชาชนเดือดร้อนเรื่องค่าใช้จ่าย ในระยะสั้นเราก็ได้ปรับแก้ไปแล้วชั่วคราว แต่ในระยะยาวก็ต้องมาดูตัวโครงสร้างกัน รวมถึงเราต้องวางแผนเรื่องพลังงานสะอาดด้วย เพราะจะดึงดูดการลงทุนจากนานาประเทศได้
ส่วนเรื่องที่ดิน รัฐบาลนี้จะต้องช่วยทำให้พี่น้องประชาชนจำนวนมากที่ยังไม่มีสิทธิในที่ดินทำกิน ให้เขาได้มีโฉนด มีเอกสารสิทธิครบถ้วน และรวมถึงพิจารณากำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ ที่เหมาะสมด้วย กองทัพก็แสดงความพร้อมที่จะช่วยเหลือประชาชน นำที่ดินมาจัดสรรเพื่อนำไปใช้สร้างรายได้ให้กับประชาชนได้
ในด้านการศึกษาเอง ก็ขอให้ความสำคัญด้วย ประเทศไทยจะต้องเป็นสังคมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นสังคมที่รักการอ่าน มีการพัฒนาทั้งนักเรียน ทั้งครู และทำให้หลักสูตรมีความทันสมัย ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเหลือ และอาจรวมถึงการทำให้ลดปริมาณงาน การเรียน การบ้าน และปัจจัยอื่นๆ สำหรับหลายๆส่วนในภาคการศึกษา ในประชุม ครม. สมัยแรก ก็ได้มีมติจัดตั้งคณะกรรมการ Soft Power เพื่อผลักดันเรื่องการสร้างอัตลักษณ์ และนำมาใช้ประโยชน์มากขึ้นด้วย และสุดท้ายจะส่งผลให้เรามีเอกลักษณ์และบริการที่โดดเด่น ส่งผลต่อเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นเช่นกัน
รวมถึงเราต้องลงทุนส่งเสริมกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยวในระยะยาวทั้งนักท่องเที่ยวในและนอกประเทศ ปรับปรุงสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติให้มากขึ้นวางแผนลงทุนสถานที่ท่องเที่ยว Man-made ในหลาย ๆ พื้นที่ ทำให้ประเทศไทยเป็นจุดมุ่งหมายของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ทั้งในเมืองหลักและเมืองรอง เรามีนโยบายที่จะทำให้ Low Season หมดไปจากประเทศไทย เช่น ใช้ประโยชน์จากเทศกาลต่าง ๆ ทำให้ครบวงจร เที่ยวได้ตลอดทั้งปี
@ประกาศจัดการยาเสพติดให้หมดสิ้น-ปราบผู้มีอิทธิพล
เรื่องความมั่นคงและคุณภาพชีวิต เราคงละเลยเรื่องความมั่นคงที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปไม่ได้ ทั้งรูปแบบของภัยคุกคาม และวางแผนการรับมือให้เหมาะสม ต้องมีการบริหารจัดการกำลังพล ทรัพยากรให้เหมาะสมกับยุคสมัย เช่น มีกำลังพลประจำการน้อยลงแต่มีคุณภาพและทันสมัยมากขึ้น ปรับเปลี่ยนรูปแบบการเกณฑ์ทหารเป็นสมัครใจ ทำให้กองทัพของเรามีความเป็นสากล มีความเป็นมืออาชีพ ในขณะเดียวกัน ก็เป็นกำลังสำคัญในการช่วยเหลือประชาชนในเวลาต่างๆ รวมถึงการนำสินทรัพย์ของกองทัพออกมาสร้างประโยชน์ต่อประชาชน ซึ่งก็ได้มีการพูดคุยกันไปบ้างแล้ว
“รัฐบาลนี้จะจัดการยาเสพติดให้หมดสิ้น บำบัดและส่งคืนลูกหลานที่ติดยาสู่ครอบครัว จัดการกับผู้มีอิทธิพลต่างๆ ป้องกันการแทรกแซงการบริหารราชการ โดยวางแผนใช้มาตรการต่างๆ เช่น ตั้งรางวัลผู้ให้เบาะแส ปกป้องคุ้มครองพยาน และอื่น ๆ ที่เหมาะสม เป็นต้น มาตรการต่าง ๆ ผมต้องขอให้เกียรติกับผู้ปฏิบัติงานทุกคน ไม่ว่าจะเป็นทหาร ตำรวจ ข้าราชการ และประชาชนที่เกี่ยวข้องให้ช่วยกันดำเนินการให้สำเร็จ
และยังมีเรื่องของภัยธรรมชาติ เตรียมตัวรับมือกับ El Nino ที่ท่านรองนายกฯ ภูมิธรรมได้รับไปดูแล เรื่องของการดูแลเรื่องน้ำ เพิ่มพื้นที่ชลประทานให้เป็น 40 ล้านไร่ ทำแผนลงทุนในบริเวณที่ยังเข้าไม่ถึง และครอบคลุมไปยังการดูแลบริหารน้ำอย่างครบวงจร ซึ่งหลายโครงการที่อยู่ภายใต้แผนงานบูรณาการ ก็ขอให้ความสำคัญด้วย เช่น การใช้น้ำให้เกิดประโยชน์ การทำให้น้ำไม่ท่วม-ไม่แล้งในทุกฤดูต่างๆ
โดยใช้ฝายพาราซอยซีเมนต์ หรือการทำธนาคารน้ำใต้ดิน และโครงการอื่น ๆ เดินหน้าแก้ไขฝุ่น PM2.5 ที่ต้องบริหารจัดการอย่างเร่งด่วน ก่อนจะเริ่มส่งผลกระทบในต้นปีที่จะถึงนี้ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ก็มีการเสนอ พรบ. อากาศสะอาดเข้าสภาไปแล้ว ซึ่งจะช่วยผลักดันการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และ Balance ระหว่างการสร้างประโยชน์ของคนรุ่นปัจจุบัน และส่งต่อให้กับคนรุ่นหลังได้ด้วย
อีกเป้าหมายหนึ่ง คือการวางแผนที่จะทำให้ประเทศไทยเป็น Carbon Neutral ภายในปี 2593 หรือ ค.ศ. 2050 ใน UN ที่ผ่านมา ประเทศไทยก็ได้ประกาศไปว่าปีนี้รัฐบาลจะออก Sustainability Linked Bond ตั้งเป้าออกไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท จุดประสงค์ของพันธบัตรตัวนี้จะทำให้องค์กร หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยกันดำเนินนโยบายที่สร้างความยั่งยืน การดำเนินการเรื่องทรัพยากรธรรมชาติเป็นเรื่องที่ต้องลงมือทำตั้งแต่วันนี้ และใช้เวลานานกว่าจะเห็นผล ฉะนั้นเราจะรอช้าไม่ได้” นายเศรษฐา กล่าว
@รับไม่ได้‘เจ้าหน้าที่’ทำตัวเป็นนายประชาชน-เรียกรับสินบน
นายเศรษฐา ระบุว่า ในเรื่องสวัสดิการและสาธารณสุข ต้องมีการพัฒนาให้ดีขึ้น นำระบบดิจิทัลมาใช้เพื่อให้บริการประชาชน ทำให้ประเทศไทยมี Universal Healthcare Coverage หรือระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่มีคุณภาพระดับโลก ลงทุนทำระบบเชื่อมต่อฐานข้อมูลของคนไข้ทั้งประเทศ ทำให้เข้าถึงศูนย์รักษาพยาบาลใกล้บ้านในราคา 30 บาท สร้างศูนย์ดูแลผู้มีความจำเป็นต่างๆ สถานธรรมาภิบาล โรงพยาบาลเพิ่มเติม เพื่อตอบสนองต่อสภาพสังคมสูงวัย
อีกฟากหนึ่งของระบบ คือ คนทำงาน ต้องดูแลให้มีรายได้ที่เป็นธรรม มีปริมาณและรายได้ที่เหมาะสมอย่างทันท่วงที รวมถึงดูแล สนับสนุน สิทธิมนุษชน และความเท่าเทียมของคนทุกกลุ่ม ทั้งชนกลุ่มน้อย ผู้พิการ คนท้อง คนชรา เด็ก กลุ่มความหลากหลายทางเพศ เร่งรัดการทำให้พวกเขามีสิทธิพื้นฐานครบถ้วนโดยเร็ว และทำแผนดูแลในบางกลุ่มเปราะบางเพิ่มเติมด้วย และสุดท้าย รัฐบาลและราชการ จะต้องทำงานเพื่อบริการประชาชนให้ดีขึ้น
“ขอให้ทุกหน่วยงานพิจารณาการลงทุนที่เหมาะสมเพื่อนำเทคโนโลยีมาใช้ เช่น ดำเนินการการเชื่อมฐานข้อมูลของประชาชนเป็นฐานเดียวกัน ใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์และ Machine Learning เพื่อเพิ่มความสามารถ ใช้ระบบการจ่ายเงินที่ตรวจสอบได้ เพื่อป้องกันการทุจริตและเพิ่มความโปร่งใสในการทำงานของรัฐ
การปฏิสัมพันธ์ระหว่างราชการกับประชาชน จะต้องทำให้ไม่มีคนมาต่อคิวรอตั้งแต่เช้า ต้องมีแผนปรับปรุงการให้บริการ กำจัดเจ้าหน้าที่ที่ทำตัวเป็นนายประชาชน เรียกรับสินบน ซึ่งผมรับไม่ได้ และต้องปรับปรุงขั้นตอนการบริหารภายในราชการด้วยกันเอง เพื่อทำให้งานทำได้เร็วยิ่งขึ้น เพิ่ม Productivity ของทั้งระบบ ให้สะท้อนไปสู่บริการประชาชนที่ดียิ่งขึ้นไปอีก” นายเศรษฐา กล่าว
@‘เศรษฐา’ตั้งเป้าจีดีพีโตเฉลี่ย 5% ตลอด 4 ปี
นายเศรษฐา กล่าวว่า “เป้าหมายของผม ชัดเจนครับ ด้านเศรษฐกิจ คือ การทำให้ GDP ของประเทศโตเฉลี่ย 5% ตลอด 4 ปีนี้ และทำให้รายได้ขั้นต่ำให้ถึง 600 บาทในปี 2570 เป็นจุดเริ่มต้นของแผนการมุ่งหน้าสู่การเป็นประเทศรายได้สูง อย่าลืมว่ารัฐจะเก็บภาษีมาลงทุนต่อยอดให้ทุกคนได้ ก็ต่อเมื่อเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนมีคุณภาพที่ดี
ฉะนั้น ขอทุกภาคส่วนร่วมกันดูแลประชาชนทุกภาคส่วนให้มีชีวิตอย่างมีความสุข มีสวัสดิการที่เหมาะสม ทำให้เขาเลี้ยงชีพได้อย่างสมศักดิ์ศรีด้วย หลาย ๆ อย่างที่ทำมาดีแล้ว ก็ขอให้ทำต่อไป และขอให้เปิดใจ รับฟังเสียงของประชาชน เพื่อนำไปปรับปรุง ขอให้ผู้บริหารหน่วยราชการช่วยกันกำกับดูแลการทำงานอย่างขะมักเขม้น
แต่เปลี่ยนไปตามสถานการณ์ สร้างวิธีการทำงานที่เน้นผลลัพธ์ มีตัวชี้วัดที่ชัดเจน มากกว่าแค่ทำตามกระบวนการ และขอให้ยึดโยงกับประชาชนเสมอ ในปีงบประมาณ 2567 การใช้จ่ายภาครัฐจะมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการดำเนินนโยบายของรัฐให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม และแผนต่างๆ ให้บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนด รัฐบาลจะมีเงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เป็นวงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท
ทั้งนี้ ผมตั้งใจที่จะบริหารจัดการการคลังด้วยความรอบคอบ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และรักษาวินัยและเสถียรภาพทางการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด ในการวางแผนใช้จ่ายงบประมาณปี 67 ผมขอวางกรอบความสำคัญ 5 ข้อต่อไปนี้
ข้อแรก ขอให้จัดทำงบและเบิกจ่ายงบประมาณตามนโยบายที่รัฐบาลได้แถลงต่อสภาไป และคำนึงถึงกรอบกฎหมายและวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด ขอให้ทุก ๆ หน่วยงานพิจารณาดูว่าอะไรที่ทำได้ก็ขอให้ดำเนินการทำไปก่อน แต่อย่าลืมเรื่องความถูกต้องตามกระบวนการ
ข้อที่สอง ขอให้ทุกหน่วยงานทำงานกันอย่างบูรณาการ วางแผนงบประมาณไม่ให้ซ้ำซ้อนกันหลาย ๆ โครงการในอดีตที่เคยทับซ้อนกัน ขออย่าให้เกิดภาพแบบนั้นอีกภายในรัฐบาลนี้
ข้อที่สาม ขอให้วางแผนและจัดทำงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ (Efficiency) และมีประสิทธิผล (Productivity) คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของรัฐ และคำนึงถึงวินัยการเงินการคลัง การทำแผนงานหรือโครงการ ขอให้ทำตามความจำเป็นเร่งด่วน และสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน คำนึงถึงวินัยการเงินการคลังด้วย นโยบาย แผนงานใดที่ทำได้โดยไม่ต้องใช้งบประมาณ ก็เริ่มดำเนินการได้เลย ซึ่งโครงการเหล่านี้ ผมถือว่าจะมีผลตอบแทนที่คุ้มค่า
เพราะไม่ต้องใช้งบลงทุนสักบาท และขอให้ทำงบแบบฐานศูนย์ หรือ Zero-based โดยเฉพาะรายจ่ายลงทุนที่จะต้องมีรายละเอียดให้ชัดเจน และผมขอให้ทุกหน่วยงานนำระบบดิจิทัลมาใช้ในการทำงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิผล และเพิ่มความโปร่งใสในการทำงาน ทำให้ประชาชนเห็นว่าเงินภาษีของพวกเขา ถูกใช้จ่ายอย่างคุ้มค่าทุกบาท ทุกสตางค์
ข้อที่สี่ โครงการ แผนงาน ต่าง ๆ จะต้องมีตัวชี้วัด (KPI) หรือมีเป้าหมาย (Target) ที่ก่อให้เกิดผลดีกับพี่น้องประชาชน หรือเกิดผลเชิงบวกทางเศรษฐกิจ ผมไม่สนับสนุนการทำงานที่ไม่ก่อให้เกิดผลให้ประเทศ ประชาชน เพราะจะเป็นการนำภาษีประชาชนไปละลายแม่น้ำเสียเปล่า ๆ ไม่สนับสนุนการนำงบประมาณไปทำอะไรที่ไม่มีเป้าหมาย ไม่มีจุดประสงค์ที่จับต้องได้ ไม่มีความชัดเจน
ฉะนั้น ขอให้พิจารณาลดแผนงานหรือโครงการต่าง ๆ ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป หรือถ้าเป็นไปได้ก็ยกเลิกแผนงานหรือโครงการ ที่ไม่มีความชัดเจนไปเสีย เพื่อให้การใช้งบประมาณอย่างตรงเป้าหมายและประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ นำงบประมาณไปใช้ทำโครงการอื่นที่เกิดผลเชิงบวกต่อไป
ข้อที่ห้า ขอให้จัดทำแผนการใช้จ่ายโดยพิจารณาให้ครบทุกแหล่งเงินทุน (Source of funding) ทั้งเงินนอกงบประมาณ และเงินงบประมาณ หลาย ๆ หน่วยงานที่มีเงินนอกงบประมาณ เช่น รายได้ เงินสะสม ขอให้นำมาใช้ดำเนินภารกิจก่อน และขอให้ช่วยกันลดภาระงบประมาณประเทศ โดยพิจารณาการใช้เงินแหล่งอื่น ๆ เช่น การร่วมมือกับภาคเอกชน หรือเครื่องมือทางการเงินอื่น ๆ เป็นต้น
ทุกท่านที่อยู่ในที่นี้ล้วนเป็นตัวแทนจากภาครัฐทั้งหมด เราทุกคนมีส่วนร่วมที่จะต้องช่วยกันดูแลสถานะ ความมั่นคง ของการเงินการคลังในระยะยาว ถึงแม้งบประมาณปี 67 จะล่าช้า แต่ขอให้ทุกหน่วยงานเร่งรัดการเบิกจ่าย โดยอยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย มีความระมัดระวัง อย่าให้เศรษฐกิจสะดุด ฉะนั้นในการทำงบประมาณปีนี้ ขอให้ทุกหน่วยงานพิจารณาประเด็นทั้งกรอบความสำคัญทั้ง 5 ข้อ ได้แก่ 1) ทำงบประมาณตามนโยบายที่สัญญากับประชาชน
2) ทำอย่างบูรณาการ ลดความซ้ำซ้อน 3) ทำอย่างมีประสิทธิภาพและรักษาวินัยการเงินการคลัง 4) ทำอย่างมีตัวชี้วัดและเป้าหมาย 5) ทำให้ครบทุกแหล่งเงินทุน และยึดวินัยการเงินการคลัง และขอให้จัดส่งให้สำนักงบประมาณภายในวันที่ 6 ต.ค.2566 ที่จะถึงนี้ สุดท้ายนี้ขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่มาฟังในวันนี้ ขอให้ทุกท่านวางแผนงบประมาณให้มีสิทธิภาพ เพื่อจะได้ใช้ภาษีของประชาชนทุกบาท ทุกสตางค์ อย่างคุ้มค่า เกิดประโยชน์ต่อคนไทยทุกคน”
อ่านประกอบ :
ก่อหนี้ใหม่ 1.94 แสนล้าน! ครม.อนุมัติ ‘แผนบริหารหนี้สาธารณะ’ ปีงบ 67
เปิดรายละเอียดกรอบงบ 67 รัฐลงทุน 7.19 แสนล. มองGDPปีหน้าโต 3.2%-หลายปัจจัยเสี่ยงรุมเร้า
ขาดดุลฯ 6.93 แสนล.! ครม.ไฟเขียวเพิ่ม'กรอบวงเงิน'งบประมาณรายจ่ายปี 67 เป็น 3.48 ล้านล้าน
เปิดยุทธศาสตร์งบ 67 รบ.'เศรษฐา'ดัน 28 เรื่องด่วน-คาดทูลเกล้าฯ'ร่างพ.ร.บ.งบฯ'เม.ย.ปีหน้า
ขาดดุลเพิ่มแสนล.! รบ.เคาะกรอบงบปี 67 เป็น 3.48 ล้านล้าน-‘เศรษฐา’ย้ำแจก‘หมื่นบาท’ไม่กู้