ครม.ไฟเขียวมาตรการ ‘พักหนี้ฯเกษตรกร’ ครอบคลุมลูกหนี้ ธ.ก.ส. กว่า 2.7 ล้านคน จัดสรรงบชดเชยดอกเบี้ยใน 'ปีแรก' กว่า 1.1 หมื่นล้านบาท เผยหากลูกหนี้ที่เข้าร่วมมาตรการฯนำเงินมาชำระหนี้ จะนำไปตัด ‘เงินต้น’ ทั้งหมด
.....................................
เมื่อวันที่ 26 ก.ย. นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการพักหนี้เกษตรกร โดยจะพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ซึ่งได้แก่ กลุ่มลูกหนี้ที่เป็นหนี้ปกติ และกลุ่มที่เป็นหนี้เสีย (NPLs) เป็นระยะเวลา 3 ปี พร้อมทั้งเห็นชอบมาตรการพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ ธ.ก.ส. ผู้ที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ฯภายใต้หลักการ ‘ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้’ มีรายละเอียด ดังนี้
1.มาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาล
โดยเกษตรกรลูกค้ารายย่อยของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 2.698 ล้านราย ที่มีต้นเงินคงเป็นหนี้คงเหลือทุกสัญญารวมกัน ณ วันที่ 30 ก.ย.2566 ไม่เกิน 300,000 บาท และมีสถานะเป็นหนี้ปกติและ/หรือเป็นหนี้ค้างชำระ (หนี้ 0-3 เดือน และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs)) จะได้รับสิทธิ์ในการพักชำระหนี้ ‘ระยะแรก’ ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี หรือตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2566 ถึงวันที่ 30 ก.ย.2567
ทั้งนี้ เกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ที่ต้องการรับสิทธิ์ สามารถแสดงความประสงค์เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ดังกล่าวได้ตามความสมัครใจ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2566 ถึงวันที่ 31 ม.ค.2567 ส่วนลูกหนี้ที่มีสถานะเป็น NPLs นั้น จะสามารถเข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ฯได้ เมื่อได้มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์ของ ธ.ก.ส. แล้ว
2.การพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ ธ.ก.ส. ผู้ที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ฯ
โดย ธ.ก.ส. จะร่วมกับส่วนงานราชการและหน่วยงานภายนอก ดำเนินการอบรมเกษตรกรคู่ขนานไปกับมาตรการพักชำระหนี้ที่ได้เพิ่มโอกาสให้เกษตรกร ในการนำเงินไปลงทุนปรับเปลี่ยนหรือขยายการประกอบอาชีพ โดยการอบรมอาชีพเกษตรกรจะช่วยฟื้นฟูเกษตรกรให้สามารถประกอบอาชีพได้อย่างมีศักยภาพ มีความสามารถในการแข่งขัน มุ่งสร้างรายได้ให้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต พร้อมทั้งเพิ่มความสามารถในการชำระหนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมวินัยการเงิน เป็นต้น
นายจุลพันธ์ อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรการพักหนี้เกษตรกร ว่า ในส่วนของเกษตรกรที่เป็นลูกหนี้ปกตินั้น แน่นอนว่ารัฐบาลจะรับภาระและช่วยเหลือในเรื่องอัตราดอกเบี้ยอยู่แล้ว แต่ในระหว่างการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยนั้น หากเกษตรกรมีความประสงค์ และมีกำลังเพียงพอในการชำระหนี้สินในขณะนั้น เงินที่เกษตรกรนำไปชำระหนี้ดังกล่าว อย่างน้อย ‘ครึ่งหนึ่ง’ จะถูกนำไปตัดหนี้เงินต้น
สำหรับเกษตรกรที่เป็นหนี้ NPL นั้น ในระหว่างที่รัฐบาลช่วยเหลือเรื่องดอกเบี้ยนั้น หากลูกหนี้สามารถแก้ไขตัวเองจนกลับมาเป็นหนี้ปกติได้ รัฐบาลจะชดเชยหนี้สินในส่วนดอกเบี้ยให้เป็นเวลา 3 เดือน แต่หากกลับมาเป็นหนี้ปกติไม่ได้ รัฐบาลก็จะไม่ชดเชยในส่วนนี้ให้ นอกจากนี้ กรณีเกษตรกรที่มีสถานะเป็น NPL และสมัครใจเข้าร่วมโครงการฯ นั้น หากภายในระยะเวลา 3 ปี เกษตรกรสามารถชำระหนี้ให้ ธ.ก.ส. ได้ เงินที่ชำระหนี้จะนำไปตัดเงินต้นทั้ง 100% โดยไม่ตัดดอก
นายจุลพันธ์ ระบุว่า ภายใต้มาตรการพักหนี้ฯดังกล่าว ครม.ได้อนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณ เพื่อเป็นค่าชดเชยดอกเบี้ยแทนเกษตรกร ในปีที่ 1 ประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาท และตลอดระยะเวลาการดำเนินมาตรการฯ 3 ปี คาดว่าจะใช้งบประมาณ 3.3 หมื่นล้านบาท แต่ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามที่มีการใช้จ่ายจริง
“ครั้งนี้ (มาตรการพักชำระหนี้) จะแตกต่างจาก 13 ครั้งที่ผ่านมา เพราะ 13 ครั้งที่ผ่านมา การพักหนี้เกษตรกร เป็นเพียงแค่การประวิงเวลา เมื่อพ้นระยะเวลาโครงการแล้ว เกือบทุกครั้งที่ภาครัฐได้ไปสำรวจตรวจสอบดู พบว่าเกษตรกรไม่ได้อยู่ในสถานที่ดีกว่าเดิม หรือหลายครั้งแย่กว่าเดิมในเรื่องของมูลหนี้ และสถานะเศรษฐกิจ แต่ครั้งนี้ที่เราช่วยเหลือ เราตั้งเป้าว่า ในช่วงระยะเวลา 3 ปี เขาจะได้รับการพักภาระ และเมื่อกลับมาแล้ว ต้องกลับมาได้อย่างแข็งแกร่ง
สิ่งที่เราทำมีกรอบประมาณทั้งสิ้นที่เราไปช่วยเหลือ คือ 1.1 หมื่นล้านบาทเศษ โดยจะเข้าไปช่วยในการจ่ายอัตราดอกเบี้ยแทนพี่น้องเกษตรกร ซึ่งการพักหนี้เกษตรกรในครั้งนี้ เราใช้คำว่า การพักชำระต้นและการพักชำระดอก ซึ่งการชำระดอก รัฐบาลจะเป็นผู้รับผิดชอบดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นในระยะเวลาที่กำหนด ส่วนหนี้เกษตรกรที่เข้าโครงการได้จะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เป็นหนี้ปกติ และกลุ่มที่เป็นหนี้เสีย (NPL)
โดยกลุ่มที่เป็นหนี้ปกติ เราคัดกลุ่มที่มีการช่วยเหลือจากภาครัฐในรูปแบบอื่น หรือกลุ่ม PSA ออกไป เพื่อไม่ให้การช่วยเหลือมีความซ้ำซ้อน แต่หากกลุ่มนี้พ้นระยะเวลาการช่วยเหลือจากภาครัฐในโครงการอื่นแล้ว ในปีถัดๆไป หรือในระยะที่ 2-3 จากทั้งหมด 3 ระยะ อาจจะมีสิทธิ์เข้ามาได้ ซึ่งทุกคนที่เข้าสู่โครงการจะต้องตัดสินใจด้วยตัวเอง และเดินมาที่ ธ.ก.ส. คือ ต้องเป็นการเข้าร่วมโดยสมัครใจ ซึ่งกลไกนี้จะแตกต่างจากการพักหนี้ฯในอดีต
เนื่องการเข้าสู่โครงการฯโดยสมัครใจจะเกิดประโยชน์ เพราะ ธ.ก.ส. มีเครือข่ายและองค์ความรู้ในการช่วยเหลือเกษตรกร เราไม่อยากเห็นปัญหาอย่างที่เคยเกิดขึ้นในอดีต คือ พักหนี้ฯ 3 ปีแล้วไม่เคยเจอหน้ากันเลยกับ ธ.ก.ส. กลับมาอีกที สภาพหนักกว่าเดิม เราจึงอยากจะให้ (เกษตรกร) มาทำงานร่วมกับ ธ.ก.ส. ในการปรับสภาพ ปรับภาระ ปรับโครงสร้างหนี้สินของตัวเอง เพื่อจะยืนยันว่าได้พี่น้องเกษตรกรจะได้รับการช่วยเหลือจนกลับมาได้อีกครั้ง” นายจุลพันธ์ ระบุ
นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ในเร็วๆนี้ ธ.ก.ส. จะมีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ภายใต้นโยบาย ‘กระตุ้นเศรษฐกิจ’ ของรัฐบาล โดยหนึ่งในโครงการฯที่ ธ.ก.ส. จะออกมานั้น เป็นโครงการที่จะเข้าช่วยเหลือให้เกษตรกรที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ฯให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อประกอบอาชีพได้ โดย ธ.ก.ส.จะให้เงินกู้เพิ่มเติมรายละไม่เกิน 1 แสนบาท ทั้งนี้ จะขึ้นอยู่กับศักยภาพในการชำระหนี้ของลูกหนี้
นายจุลพันธ์ กล่าวด้วยว่า ในการประชุมคณะทำงานกำหนดมาตรการในการพักหนี้เกษตรกรฯนั้น คณะทำงานฯได้มีการเชิญผู้แทนจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ เข้ามาร่วมหารือด้วย ขณะที่ในส่วนของมาตรการพักชำระหนี้ในส่วนของผู้ประกอบการรายย่อย หรือ SME เป็นระยะเวลา 1 ปี นั้น ขณะนี้ยังไม่ได้เสนอเรื่องให้ ครม.พิจารณา โดยจะใช้เวลาในการจัดทำมาตรการฯอีกเล็กน้อย
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการ รมว.คลัง กล่าวว่า เกษตรกรที่มีสิทธิ์เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ฯของ ธ.ก.ส. ได้นั้น ต้องเป็นเกษตรกรลูกหนี้ที่หนี้รวมทุกบัญชีไม่เกิน 3 แสนบาท ณ วันที่ 30 ก.ย.2566 ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะมีเกษตรกรเข้าร่วมมาตรการฯได้ 2.7 ล้านราย ยอดหนี้ 3 แสนล้านบาท ขณะที่มาตรการพักชำระหนี้ฯ ที่ ครม.มีมติเห็นชอบในวันนี้ (26 ก.ย.) มีจุดเด่น 5 ข้อ ได้แก่
1.คงชั้นหนี้เดิมไว้ คือ หากเข้าผู้เข้าร่วมโครงการเป็นหนี้ดี ก็จะไม่กลายเป็นหนี้เสีย 2.เปลี่ยนลำดับการชำระหนี้ ธ.ก.ส. โดยเงินที่ชำระหนี้จะนำไปตัดต้นก่อน ซึ่งจะทำให้ยอดหนี้ลดลงในช่วงการพักชำระหนี้ 3.ผู้เข้าร่วมโครงการฯมีสิทธิ์ได้รับสินเชื่อเพิ่มเติม ซึ่งจะพิจารณาจากความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ 4.มีการเพิ่มมาตรการเกี่ยวกับการดูแลและเพิ่มศักยภาพของเกษตรกรในช่วงการพักหนี้ฯ และ 5.สนับสนุนให้มีการปรับโครงสร้างหนี้ลูกหนี้ NPL
นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า ภายใต้มาตรการพักชำระหนี้เกษตรกรดังกล่าว มีเกษตรกรที่มีสิทธิ์เข้าร่วมมาตรการ 2.69 ล้านราย ในจำนวนนี้มี 6 แสนรายที่เป็นลูกหนี้ NPL และมียอดเงินต้น 3.6 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 70-80% ของลูกหนี้ NPL ทั้งหมดของ ธ.ก.ส.ที่มีประมาณ 8.6 แสนราย ขณะที่ปัจจุบัน ธ.ก.ส.มี NPL คงค้างอยู่ที่ 1.29 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 7.8% ของสินเชื่อรวม
“ข้อดีของมาตรการฯนี้เมื่อเทียบกับ 13 มาตรการฯในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา คือ ถ้าลูกค้าที่เข้าร่วมโครงการฯ มีความสามารถนำเงินมาจ่าย เงินที่จ่ายเข้ามา ธ.ก.ส.จะตัดต้นให้ทั้งหมด นั่นหมายความว่าพอพ้นจากช่วงพักหนี้ฯ มูลหนี้จะลดลงและเกษตรกรจะฟื้นตัวเร็วขึ้น” นายฉัตรชัย กล่าว
อ่านประกอบ :
แนวโน้มเป็นหนี้เสียสูงขึ้น! นักวิจัยฯเปิดผลศึกษา‘พักหนี้เกษตรกร’-แนะทำในวงจำกัด-ระยะสั้น
‘อดีตผู้ว่าฯ ธปท.’เตือนรบ.อย่าทำนโยบายแบบ‘เหวี่ยงแห’-ต้องไม่ทำลายภูมิคุ้มกันการคลังฯปท.
‘ผู้ว่าฯธปท.’แนะรัฐบาล‘พักหนี้ฯ-แจกเงินดิจิทัล’เฉพาะกลุ่ม-ย้ำไม่เปลี่ยน‘นโยบายการเงิน’
เปิด(ร่าง)คำแถลงนโยบายรัฐบาล‘เศรษฐา’ งานเร่งด่วน‘แจกเงินดิจิทัล-พักหนี้เกษตรกร-แก้รธน.’
จ่ายดบ.4.7หมื่นล.! พลิกมติครม.‘ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์-บิ๊กตู่’ ก่อน‘พท.’ปักธงพักหนี้เกษตรฯ3ปี