‘วิรไท’ ปัดให้ความเห็น กรณีรัฐบาลเดินหน้านโยบาย ‘แจกเงินดิจิทัล-พักหนี้เกษตรกร’ แต่เตือนอย่าใช้นโยบายแบบ ‘เหวี่ยงแห’ และต้องไม่ทำลายวินัยการเงินการคลังของประเทศ
.................................
นายวิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และประธานกรรมการบริหารมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง เปิดเผยภายในงานเสวนา Inclusive Green Growth Transition จัดโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เมื่อวันที่ 18 ก.ย.ที่ผ่านมา ตอนหนึ่งว่า ในการเพิ่มผลิตภาพของประเทศนั้น ภาครัฐจะต้องให้ความสำคัญมากขึ้นกับการปฏิรูปภาครัฐ รวมถึงการปฏิรูปกฎหมายต่างๆ และต้องรับฟังคนที่เป็นผู้ใช้บริการให้มากขึ้น
อย่างไรก็ดี ในการพัฒนาผลิตภาพของประเทศนั้น คงไม่ได้อยู่ที่ภาคภาครัฐอย่างเดียว แต่ต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภาพในภาพรวม อย่างในภาคเศรษฐกิจที่คนจำนวนมากฝากชีวิตไว้ เช่น ภาคเกษตร ซึ่งต้องยอมรับว่าเรื่องการพัฒนาผลิตภาพนั้น เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา เป็นเรื่องที่ต้องทำแบบมีกลุ่มเป้าหมายชัดเจน และไม่สามารถเพิ่มผลิตภาพได้ด้วยการวิธีการทำ Demand management policy (นโยบายการจัดการด้านอุปสงค์) แบบเหวี่ยงแห
“นโยบายเกี่ยวกับการพัฒนาด้านผลิตภาพนั้น จะต้องให้ความสำคัญกับฝั่งซัพพลาย ไม่ใช่ฝั่งดีมานด์ เหมือนกับการกระตุ้นเศรษฐกิจในยามที่เศรษฐกิจมีปัญหา” นายวิรไท กล่าว
ทั้งนี้ ในงานเสวนาดังกล่าว นายวิรไท ยังตอบคำถามผู้สื่อข่าวที่สอบถามถึงกรณีที่รัฐบาลมีนโยบายแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท และนโยบายพักหนี้เกษตรกร ว่า ส่วนตัวยังไม่ขอให้ความเห็นเรื่องการแจกเงิน 1 หมื่นบาท และการพักหนี้เกษตร แต่ในหลักการแล้ว ตนยืนยันมาตลอดว่า ไม่ชอบนโยบายที่เป็นแบบเหวี่ยงแห ดังนั้น การดำเนินนโยบายต่างๆจะต้องควบคู่กับการเพิ่มผลิตภาพ ไม่ทำลายภูมิคุ้มกันด้านการเงินการคลังของประเทศ และวินัยการเงินของประชาชน
“ที่พูดมาตลอด คือ ไม่ชอบนโยบายเหวี่ยงแห ดังนั้น การทำอะไรต้องมีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน และจัดแรงจูงใจที่เหมาะสม เช่น การทำคลินิกแก้หนี้จะต้องมีแรงจูงใจ ไม่นำไปสู่การก่อหนี้ใหม่ มีทางออกให้ได้ โดยต้องทำควบคู่ไปกับการเพิ่มรายได้ มีรายได้เพิ่ม”นายวิรไท กล่าว
ด้าน นายสันติธาร เสถียรไทย อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท Sea Group ซึ่งเข้าร่วมงานเสวนา Inclusive Green Growth Transition ในครั้งนี้ด้วย กล่าวว่า การที่รัฐบาลมีนโยบายแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ซึ่งต้องใช้เม็ดเงินทั้งสิ้น 5.6 แสนล้านบาท นั้น รัฐบาลจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบว่าสามารถใช้กระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงและมากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่ารัฐบาลจะเน้นช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มหรือช่วยเหลือแบบเหวี่ยงแหทั้งหมด
อ่านประกอบ :
วิรไท สันติประภพ : ธรรมาภิบาลของตลาดทุนกับการสรรหาเลขา ก.ล.ต.
วิรไท สันติประภพ: ขอสามคำสำหรับการประเมินนโยบายเศรษฐกิจพรรคการเมือง
วิรไท สันติประภพ : เกษตรกรตกไปอยู่ใน ‘กับดักหนี้’ โจทย์สำคัญที่ต้องแก้ไข
'วิรไท'ชี้'เกษตรกรรายย่อย'ปรับตัวยาก เหตุติด'กับดักหนี้'-TDRI แนะรัฐลดอุดหนุนซ้ำซ้อน