“…เหล่านี้เป็น ‘มติ ครม.’ เกี่ยวกับโครงการ ‘พักชำระหนี้เกษตรกรฯ’ 3 ปี ในช่วง 3 รัฐบาล ได้แก่ รัฐบาลทักษิณ ,รัฐบาลยิ่งลักษณ์ และรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งพบว่าทั้ง 3 รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณเพื่อชดเชยภาระ ‘ดอกเบี้ย’ แทน ‘เกษตรกรรายย่อย’ รวมแล้วเป็นเงินประมาณ 4.78 หมื่นล้านบาท…”
......................................
“พรรคเพื่อไทยในฐานะพรรคการเมืองที่เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล มุ่งมั่นที่จะแก้วิกฤตเศรษฐกิจที่เป็นปัญหาใหญ่ของพี่น้องประชาชน
ภาระหนี้สินเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องได้รับการแก้ไข โดยเฉพาะพี่น้องเกษตรกรและกลุ่มผู้ประกอบการ SME เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวจึงจะต้องมีหนทางในการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน
พรรคเพื่อไทยมีแนวทางในการพักหนี้เกษตรกร 3 ปีทั้งต้น ทั้งดอก เพื่อลดภาระและเปิดโอกาสใหม่ให้พี่น้องเกษตรกรในการทำมาหากิน พลิกฟื้นภาคการเกษตรของไทย ด้วยหลัก ‘ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้’
รวมทั้งการผลักดันการพักชำระหนี้ SME ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด (รหัส 21) 1 ปี คู่ขนานไปกับการปรับโครงสร้างหนี้แบบเฉพาะเจาะจง พร้อมต่อยอดด้วยชุดนโยบายของพรรคต่อไป”
นี่เป็นข้อความที่ พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะแกนนำจัดตั้ง ‘รัฐบาลใหม่’ ประกาศผ่านเพจเฟซบุ๊ก ‘พรรคเพื่อไทย’ เมื่อวันที่ 13 ส.ค.2566 พร้อมทั้งมีภาพข้อความว่า ‘เพื่อไทยเป็นรัฐบาล พักหนี้เกษตรกร 3 ปี พักหนี้ SME 1 ปี ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด (รหัส 21)’
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำสาธารณชนไปย้อนดูมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เกี่ยวกับ ‘โครงการพักชำระหนี้เกษตรกร’ 3 ปี ของรัฐบาล 3 ยุค ได้แก่ รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ,รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และงบประมาณที่ใช้ในโครงการฯ มีสาระสำคัญ ดังนี้
@ยุครัฐบาล‘ทักษิณ’ชดเชย 1.5 หมื่นล้าน พักหนี้เกษตรกร
รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร 1 (17 ก.พ.2544-11 มี.ค.2548)
มติ ครม.วันที่ 13 มี.ค.2544 และ 20 มี.ค.2544
ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการ ‘โครงการพักชำระหนี้และลดภาระหนี้ให้แก่เกษตรกรรายย่อย ผ่านระบบธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)’ เป็นเวลา 3 ปี เพื่อลดภาระหนี้สินของเกษตรกรรายย่อยให้มีเงินออมและเงินลงทุนเพื่อใช้ในการประกอบอาชีพและสร้างรายได้เพิ่มขึ้น
โดยให้เกษตรกรที่แสดงความจำนงขอเข้าร่วมโครงการฯ ต้องเป็นเกษตรกรลูกค้ารายย่อยของ ธ.ก.ส. ซึ่งมีวงเงินกู้ไม่เกิน 100,000 บาท รวมทั้งเป็นผู้ประสบปัญหาหนี้สินอันเนื่องมาจากเหตุสุดวิสัยและจำเป็น ด้วยการพักชำระหนี้ต้นเงิน และไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นตั้งแต่ 1 เม.ย.2544-31 มี.ค.2547
ทั้งนี้ ครม.มีมติให้สำนักงบประมาณไปพิจารณาจัดสรรเงินงบประมาณ เพื่อรับภาระในการดำเนินโครงการฯ (การจ่ายชดเชยดอกเบี้ย) รวมค่าใช้จ่ายในส่วนที่ ธ.ก.ส. ต้องจ่ายเพิ่มจากการดำเนินงานตามปกติเท่าที่จ่ายจริง ในวงเงินงบประมาณไม่เกินปีละ 6,000 ล้านบาท หรือไม่เกิน 18,000 ล้านบาท ในช่วง 3 ปี
มติ ครม.วันที่ 14 ส.ค.2544
ครม.รับทราบรายงานผลการดำเนินการของ ธ.ก.ส. ตามโครงการพักชำระหนี้และลดภาระหนี้ให้แก่เกษตรกรรายย่อยตามนโยบายของรัฐบาลผ่านระบบ ธ.ก.ส.
โดยผลการดำเนินการโครงการฯ ณ วันที่ 30 มิ.ย.2544 มีเกษตรกรแสดงความประสงค์ขอเข้าร่วมโครงการแล้ว รวมทั้งสิ้น 2,254,792 ราย (จากเกษตรกรที่มีคุณสมบัติทั้งหมด 2,368,412 ราย) จำแนกเป็นผู้ขอใช้สิทธิพักชำระหนี้ 1,155,360 ราย ,ผู้ขอใช้สิทธิลดภาระหนี้ 1,099,432 ราย และมีผู้ไม่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการ 113,620 ราย
มติ ครม.วันที่ 7 เม.ย.2547
ครม.รับทราบรายงานผลการดำเนินการโครงการพักชำระหนี้และลดภาระหนี้ให้แก่เกษตรกรรายย่อยครบ 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2544-31 มี.ค.2547
โดยผลการดำเนินงานเมื่อเริ่มต้นโครงการจนถึงวันที่ 31 มี.ค.2547 มีเกษตรกรคงเหลือ 1,944,029 ราย ต้นเงินคงเป็นหนี้ 75,476 ล้านบาท แบ่งเป็นผู้ใช้สิทธิพักชำระหนี้ 878,555 ราย ต้นเงินคงเป็นหนี้ 41,006 ล้านบาท และเป็นผู้ใช้สิทธิ์ลดภาระหนี้ 1,065,474 ราย ต้นเงินคงเป็นหนี้ 34,470 ล้านบาท
ส่วนผลการใช้จ่ายเงินงบประมาณในการสนับสนุนการดำเนินงาน ตามนโยบายพักชำระหนี้และลดภาระหนี้ให้แก่เกษตรกรรายย่อยนั้น รัฐบาลได้จัดสรรเงินงบประมาณ 18,000 ล้านบาท ซึ่ง ธ.ก.ส. ได้เบิกจ่ายเงินงบประมาณดังกล่าวแล้ว เป็นเงินทั้งสิ้น 15,541.81 ล้านบาท โดยเป็นการชดเชยดอกเบี้ย
@รัฐบาล‘ยิ่งลักษณ์’พักหนี้ 3 ปี ชดเชยดอกเบี้ย 1.59 หมื่นล.
รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (9 ส.ค.2554-22 พ.ค.2557)
มติ ครม.วันที่ 15 พ.ย.2554
ครม.มีมติเห็นชอบ ‘โครงการพักหนี้ครัวเรือนเกษตรกรรายย่อยและผู้มีรายได้น้อยที่มีหนี้ต่ำกว่า 500,000 บาท’ อย่างน้อย 3 ปี (ระยะเวลาพักหนี้ 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2554-30 ก.ย.2557) เฉพาะ ‘หนี้ที่มีปัญหาการชำระหนี้’ เท่านั้น ซึ่งมีผู้มีสิทธิประมาณ 775,090 บัญชี มูลหนี้คงค้าง 90,502.55 ล้านบาท
แบ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่เป็น ‘เกษตรกรรายย่อย’ ซึ่งเป็นลูกค้าของ ธ.ก.ส. จำนวน 639,589 ราย/บัญชี มูลหนี้คงค้าง 77,753.17 ล้านบาท และ ‘ลูกค้าบุคคลธรรมดา’ ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ 5 แห่ง (ธนาคารออมสิน ,ธพว. ,ธอส. , ธอท. และ บตท.) 135,501 ราย/บัญชี มูลหนี้คงค้าง 12,749.17 ล้านบาท
โดยมีกรอบภาระงบประมาณในการดำเนินโครงการฯ 12,406.04 ล้านบาท แบ่งเป็น ภาระชดเชยต้นทุนเงินสำหรับการพักหนี้ให้กับสถาบันการเงินเฉพาะกิจในอัตรา 4% ต่อปี ตลอดระยะเวลา 3 ปี (2555-2557) 10,860.31 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูอบรมลูกหนี้ 1,279.73 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการประชาสัมพันธ์ฯ 266 ล้านบาท
มติ ครม.วันที่ 24 เม.ย.2555
ครม.ปรับปรุงโครงการพักหนี้ฯ โดยขยายกลุ่มเป้าหมายและเพิ่มเติมรูปแบบการช่วยเหลือ โดยเปิดโอกาสให้ลูกหนี้ ‘สถานะปกติ’ ของ ธ.ก.ส. และสถาบันการเงินเฉพาะกิจทั้ง 5 แห่ง เข้าร่วมโครงการพักหนี้ฯ โดยมีคุณสมบัติคือ ต้องมีหนี้คงค้างไม่เกิน 500,000 บาท กับสถาบันการเงินเฉพาะกิจนั้น ก่อนวันที่ 15 เม.ย.2555 และมีสถานะหนี้ปกติ
สำหรับภาระชดเชยรายได้ดอกเบี้ยที่ลดลงของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ จากการดำเนินโครงการที่ปรับปรุงใหม่ ในอัตรา 1.5% ต่อปี คิดเป็นจำนวนเงินงบประมาณในช่วงโครงการพักหนี้ 3 ปี รวมเป็นเงิน 22,851.82 ล้านบาท โดยให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจที่ร่วมโครงการฯ ขอทำความตกลงในรายละเอียดกับสำนักงบประมาณต่อไป
มติ ครม.วันที่ 8 ส.ค.2556
ครม.รับทราบรายงานกิจการ งบดุล บัญชีกำไรและขาดทุน ประจำปีบัญชี 2555 (1 เม.ย.2555-31 มี.ค.2556) ของ ธ.ก.ส. โดยในส่วนผลการดำเนินการโครงการพักหนี้เกษตรกรรายย่อยและประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่มีหนี้คงค้างต่ำกว่า 500,000 บาท ปรากฏข้อมูล ดังนี้
1.โครงการพักหนี้เกษตรกรรายย่อยและประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่มีหนี้คงค้างต่ำกว่า 500,000 บาท ปี 2554 (หนี้ค้างชำระ) ผลการดำเนินงาน ณ วันที่ 31 มี.ค.2556 มีลูกค้าในโครงการพักชำระหนี้ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 15 พ.ย.2554 จำนวน 384,731 ราย จำนวนเงิน 44,209 ล้านบาท (จากเป้าหมาย 639,589 ราย มูลหนี้ 77,753.17 ล้านบาท)
โดยมีการอบรมฟื้นฟูลูกค้าพักหนี้ค้างชำระจำนวน 2 หลักสูตร คือ หลักสูตรพื้นฐานการปรับวิธีคิดตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง 270,875 และหลักสูตรพัฒนาอาชีพเพิ่มมูลค่าผลผลิต 197,454 ราย
2.โครงการพักหนี้เกษตรกรรายย่อยและประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่มีหนี้คงค้างต่ำกว่า 500,000 บาท ปี 2555 (หนี้ปกติ) ผลการดำเนินงาน ณ วันที่ 31 มี.ค.2556 มีลูกค้าอยู่ในโครงการ 2,160,471 ราย จำนวนเงิน 209,375 ล้านบาท จำแนกเป็นลูกค้าพักเงินต้น 1,891,908 ราย จำนวนเงิน 196,656 ล้านบาท และลูกค้าไม่ประสงค์พักเงินต้น 268,563 ราย จำนวนเงิน 12,719 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี สำนักงานอิศราได้ตรวจสอบรายงานกิจการประจำปีของ ธ.ก.ส. ตั้งแต่ปีบัญชี 2554-2558 พบว่า ธ.ก.ส.มี ‘รายได้เงินชดเชยพักชำระหนี้’ รวมทั้งสิ้น 12,794.71 ล้านบาท ประกอบด้วย
ปีบัญชี 2554 (สิ้นสุด ณ 31 มี.ค.2555) ธ.ก.ส. มีรายได้เงินชดเชยพักชำระหนี้ 918.50 ล้าน
ปีบัญชี 2555 (สิ้นสุด ณ 31 มี.ค.2556) ธ.ก.ส. มีรายได้เงินชดเชยพักชำระหนี้ปี 2554 จำนวน 1,894.70 ล้านบาท และรายได้เงินชดเชยพักชำระหนี้ ปี 55 จำนวน 2,061.16
ปีบัญชี 2556 (สิ้นสุด ณ 31 มี.ค.2557) ธ.ก.ส.มีรายได้เงินชดเชยพักชำระหนี้ ปี 54 จำนวน 1,583.51 และรายได้เงินชดเชยพักชำระหนี้ ปี 55 จำนวน 2,745.51 ล้านบาท
ปีบัญชี 2557 (สิ้นสุด ณ 31 มี.ค.2558) ธ.ก.ส.มีรายได้เงินชดเชยพักชำระหนี้ 2,735.23 ล้านบาท
ปีบัญชี 2558 (สิ้นสุด ณ 31 มี.ค.2559) ธ.ก.ส.มีรายได้เงินชดเชยพักชำระหนี้ 856.10 ล้านบาท
มติ ครม.วันที่ 27 ส.ค.2556
ครม. เห็นชอบโครงการพักหนี้เกษตรกรรายย่อยและประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่มีหนี้คงค้างต่ำกว่า 500,000 บาท ผ่านสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร พร้อมทั้งเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณการดำเนินโครงการระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ.2556-2558 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 3,684.71 ล้านบาท
โดยรัฐบาลได้จัดสรรงบกลางฯ และงบประมาณปกติ เพื่อจ่ายชดเชยดอกเบี้ยให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่พักหนี้หรือลดภาระหนี้ให้สมาชิกฯ เป็นเงินทั้งสิ้น 3,163.57 ล้านบาท แบ่งเป็นปีที่ 1 จำนวน 1,445.82 ล้านบาท ปีที่ 2 จำนวน 858.87 ล้านบาท และปีที่ 3 จำนวน 858.87 ล้านบาท
ส่วนงบที่เหลืองบอีกประมาณ 521.14 ล้านบาทนั้น รัฐบาลจัดสรรให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนสำหรับฟื้นฟูอาชีพให้สมาชิกฯ
ขณะที่ ณ วันที่ 20 ส.ค.2555 มีสมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่มีหนี้ทั้งสถานะปกติและค้างชำระทุกสัญญารวมกันไม่เกิน 500,000 บาท ยื่นความประสงค์สมัครเข้าร่วมโครงการฯ 809,799 ราย มูลหนี้ 63,864.73 ล้านบาท แบ่งเป็นหนี้ค้างชำระ 173,713 สัญญา มูลหนี้ 11,682.47 ล้านบาท และหนี้ปกติ 635,433 สัญญา มูลหนี้ 52,142.26 ล้านบาท
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาภาระชดเชยเฉพาะ ‘ดอกเบี้ย’ ที่ ‘รัฐบาลยิ่งลักษณ์’ จ่ายชดเชยแทน ‘เกษตรกรรายย่อย’ ที่เป็นลูกค้า ธ.ก.ส. ทั้งที่เป็นหนี้ค้างชำระและหนี้ปกติ และจ่ายชดเชยแทน ‘เกษตรกรรายย่อย’ ที่เป็นลูกหนี้ของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร พบว่า ภาระชดเชยดอกเบี้ยรวมจะอยู่ที่ประมาณ 15,958.28 ล้านบาท
@รัฐบาล‘บิ๊กตู่’ควัก 1.6 หมื่นล้าน ชดเชยดอกเบี้ยให้ลูกหนี้ 1 ปี
รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 1 (30 ส.ค.2557-10 ก.ค.2562)
มติ ครม.วันที่ 31 ก.ค.2561
ครม.เห็นชอบ ‘มาตรการลดภาระหนี้เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้เกษตรกรรายย่อย’ ซึ่งประกอบด้วย 2 โครงการ ได้แก่
1.โครงการขยายเวลาชำระหนี้ให้แก่เกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. โดยให้เกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. จำนวน 3.81 ล้านราย ได้รับสิทธิ์ขยายระยะเวลาชำระหนี้ต้นเงินกู้เป็นระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.2561-31 ก.ค.2564 ตามความสมัครใจ เพื่อบรรเทาและลดภาระหนี้สินของเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ทั้งนี้ ให้ ธ.ก.ส.รับภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น
2.โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้แก่เกษตรกรรายย่อย โดยให้เกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส.มีสิทธิ์ลดดอกเบี้ยเงินกู้ เฉพาะต้นเงินกู้ที่ไม่เกิน 300,000 บาท เป็นเวลา 1 ปี (1 ส.ค.2561-31 ก.ค.2562) โดยรัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้แทนเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ในอัตรา 2.50% ต่อปี และให้ ธ.ก.ส.รับภาระดอกเบี้ยแทนเกษตรกรฯในอัตรา 0.5% ต่อปี
โดยรัฐบาลมีภาระชดเชยดอกเบี้ยแทนเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ในอัตรา 2.50% ต่อปี เป็นเวลา 1 ปี รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 16,305 ล้านบาท (คำนวณจากต้นเงินคงเป็นหนี้ 652,175 ล้านบาท เฉพาะต้นเงินกู้ 300,000 บาทแรก)
เหล่านี้เป็น ‘มติ ครม.’ ที่เกี่ยวกับโครงการ ‘พักชำระหนี้เกษตรกรฯ’ เป็นเวลา 3 ปี ในช่วง 3 รัฐบาล ได้แก่ รัฐบาลทักษิณ ,รัฐบาลยิ่งลักษณ์ และรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งพบว่าทั้ง 3 รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณเพื่อชดเชยภาระ ‘ดอกเบี้ย’ แทน ‘เกษตรกรรายย่อย’ รวมแล้วเป็นเงินประมาณ 4.78 หมื่นล้านบาท
ก่อนที่ล่าสุด ‘พรรคเพื่อไทย’ ในฐานะแกนนำจัดตั้ง ‘รัฐบาลใหม่’ ได้ประกาศผ่านเพจเฟซบุ๊กว่า ‘เพื่อไทยเป็นรัฐบาล พักหนี้เกษตรกร 3 ปี พักหนี้ SME 1 ปี ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด (รหัส 21)’ หวังเรียกศรัทธาจากฐานเสียง ท่ามลางกระแส ‘ดีลข้ามขั้ว’ จับมือพรรค ‘พลังประชารัฐ-รวมไทยสร้างชาติ’ ตั้ง ‘รัฐบาลพิเศษ’
อ่านประกอบ :
‘อนุทิน’ ชูพักหนี้ 3 ปี วงเงิน 1 ล้าน เล็งหนี้ในระบบวงเงินรวม 700,000 ล้านบาท
'เศรษฐพุฒิ'เตือนนโยบายหาเสียง'พักหนี้-พักดอก-ลบข้อมูลเครดิตฯ'กระทบเสถียรภาพสถาบันการเงิน