เผยมติ ป.ป.ช.ตีตกข้อกล่าวหา 'จีรศักดิ์ สุคนธชาติ' อดีตอธิบดีกรมการจัดหางาน พวก 11 ราย คดีจ่ายเงินค่าปฏิบัติงานสืบสวน หาข่าว ราชการลับ ให้รองนายกฯ รมว.แรงงาน ทั้งที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง ชี้เป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ภายใต้บทบัญญัติแห่งกฎหมาย ไม่ปรากฏเจตนาโดยมิชอบหรือทุจริต ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่ากระทำความผิด
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เผยแพร่มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตีตกข้อกล่าวหา นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการจัดหางาน และพวก กรณีกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีจ่ายเงินค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงานด้านการสืบสวน การหาข่าว และการปฏิบัติราชการลับปีงบประมาณ 2553 - 2557 ให้แก่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยที่ผู้ได้รับเงินดังกล่าวไม่ได้เป็นผู้เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานด้านสืบสวน การหาข่าว ตามภารกิจหน้าที่ในการปฏิบัติงานที่มีลักษณะเป็นราชการลับ หลังผลการไต่สวนเบื้องต้นชี้เป็นการดำเนินการไปตามอำนาจหน้าที่ภายใต้บทบัญญัติแห่งกฎหมายโดยไม่ปรากฏเจตนาโดยมิชอบหรือโดยทุจริตแต่อย่างใด ไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่ากระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
โดยคดีนี้ มีผู้ถูกกล่าวหา จำนวน 12 ราย ได้แก่
1. นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการจัดหางาน
2. นางสุทัศนี สืบวงศ์แพทย์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการจัดหางาน
3. นายประวิทย์ เคียงผล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการจัดหางาน และในฐานะประธานกรรมการพิจารณาใช้จ่ายเงินราชการลับ
4. นายสุภัท กุขุน เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมการจัดหางาน ในฐานะคณะกรรมการพิจารณาใช้จ่ายเงินราชการลับ
5. นายธนิช นุ่มน้อย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว ในฐานะคณะกรรมการพิจารณาใช้จ่ายเงินราชการลับ
6. นางอภิรัตน์ เมฆากุล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเลขานุการกรม ในฐานะคณะกรรมการพิจารณาใช้จ่ายเงินราชการลับ
7. นายสุพจน์ บุญเจริญ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองตรวจและคุ้มครองคนหางาน ในฐานะคณะกรรมการพิจารณาใช้จ่ายเงินราชการลับ
8. นายสมชาย อัครธรรมกุล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนเพื่อการส่งคนต่างด้าวกลับออกไปนอกราชอาณาจักร
9. นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว ในฐานะคณะกรรมการพิจารณาใช้จ่ายเงินราชการลับ
10 นายเดชา พฤกษ์พัตนรักษ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว ในฐานะคณะกรรมการพิจารณาใช้จ่ายเงินราชการลับ
11. นายนพดล พลอยอยู่ดี เมื่อครั้งดำรงตำหน่งเลขานุการกรม ในฐานะคณะกรรมการพิจารณาใช้จ่ายเงินราชการลับ
12. นางสาวบุณยวีร์ ไขว้พันธุ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนเพื่อการส่งคนต่างด้าวกลับออกไปนอกราชอาณาจักร
@ จีรศักดิ์ สุคนธชาติ
ระบุพฤติการณ์ที่กล่าวหาว่ากระทำผิดโดยสรุปว่า ในปีงบประมาณ 2553 - 2557 กรมการจัดหางานได้ขอรับเงินจัดสรรจากกองทุนเพื่อการส่งคนต่างด้าวออกไปนอกราชอาณาจักร เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการโครงการตรวจสอบ ปราบปราม จับกุม และดำเนินคดีแรงงานต่างด้าวลักลอบทำงาน และโครงการศูนย์เฉพาะกิจปราบปราม จับกุม และดำเนินคดีแรงงานต่างด้าวลักลอบทำงาน โดยเมื่อกรมการจัดหางานได้รับจัดสรรเงินจากกองทุนดังกล่าวแล้ว จะนำเงินในส่วนของค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงานด้านการสืบสวน การหาข่าว และการปฏิบัติราชการลับ
เพื่อเบิกจ่ายตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในระเบียบกรมการจัดหางานว่าด้วยการใช้จ่ายเงินราชการลับ พ.ศ. 2552 ดังกล่าว โดยมีคณะกรรมการพิจารณาการใช้จ่ายเงินราชการลับเป็นผู้พิจารณาและมีมติให้จัดสรรเงินให้แก่รองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลกระทรวงแรงงาน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน โดยจัดสรรให้เป็นรายเดือน โดยมีการนำเสนออธิบดีกรมการจัดหางานในแต่ละวาระ ประกอบด้วย นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ นางสุทัศนี สืบวงศ์แพทย์ และนายประวิทย์ เคียงผล ตามลำดับ
ซึ่งบุคคลทั้งสามก็ได้อนุมัติเบิกจ่ายเงินค่าปฏิบัติราชการลับให้แก่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองดังกล่าว โดยไม่ปรากฏว่าบุคคลที่ได้รับเงินค่าปฏิบัติราชการลับจะได้นำเงินไปจ่ายในภารกิจด้านการสืบสวน การหาข่าว การปฏิบัติราชการลับ และจ่ายเป็นค่าข่าวให้แก่สายข่าวในการหาข่าว สืบสวน ปราบปราม จับกุม และดำเนินคดีเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าว ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ
เบื้องต้น ในรายงานผลการไต่สวนข้อเท็จจริง ระบุว่า เงินที่ใช้ในภารกิจด้านการสืบสวน การหาข่าว และการปฏิบัติราชการลับ เป็นเงินส่วนหนึ่งของกองทุนเพื่อการส่งคนต่างด้าวกลับออกไปนอกราชอาณาจักร ที่ได้มาจากเงินค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บได้ ตามพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 โดยกระทรวงการคลังอนุญาตให้นำไปใช้จ่ายได้โดยไม่ต้องนำส่งคลังเป็นเงินรายได้แผ่นดิน ตามความในมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการเกี่ยวกับการทำงานของคนต่างด้าวของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว และมีคณะกรรมการกองทุนเพื่อการส่งคนต่างด้าวกลับออกไปนอกราชอาณาจักร ตามมาตรา 32 เป็นผู้พิจารณาความเห็นของคณะอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองฯ เพื่อจัดสรรเงินให้แต่ละหน่วยงานตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ในมาตรา 37 (3) แห่งพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 โดยเห็นว่า ภารกิจด้านการสืบสวน หาข่าว การขยายผล การปราบปราม ติดตาม และจับกุมผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการเกี่ยวกับการทำงานของคนต่างด้าวตามมาตรา 31 (7) ซึ่งควรปฏิบัติในลักษณะราชการลับ และจัดสรรเงินให้กับกรมการจัดหางานตามความเหมาะสมของภารกิจ
ทั้งนี้ สำหรับกรมการจัดหางาน จะมีโครงการและภารกิจที่ขอรับการจัดสรรเงินราชการลับจากกองทุนเพื่อการส่งคนต่างด้าวไปนอกราชอาณาจักร ประกอบด้วย
1. โครงการตรวจสอบปราบปรามจับกุม และดำเนินคดีคนต่างด้าวลักลอบทำงาน ซึ่งเป็นภารกิจของกรมการจัดหางาน มีกองตรวจและคุ้มครองคนหางาน เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ โดยมีรายละเอียดโครงการในการดำเนินมาตรการตรวจสอบ ปราบปราม จับกุม และดำเนินคดีแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต รวมทั้งบุคคลที่กระทำผิดตามพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 รวมถึงกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยเจ้าหน้าที่กองตรวจและคุ้มครองคนหางาน ฝ่ายควบคุมตรวจสอบการทำงานของคนต่างด้าว ออกดำเนินการตรวจสอบ ปราบปราม จับกุม และดำเนินคดีคนต่างด้าว นายจ้าง ผู้ที่เกี่ยวข้อง ในพื้นที่ส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมทั้งประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมดำเนินการตรวจสอบ ปราบปราม จับกุม และดำเนินคดีคนต่างด้าว รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
2. ศูนย์ปราบปราม จับกุม และดำเนินคดีแรงงานต่างด้าวลักลอบทำงาน ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 125/2553 ลงวันที่ 2 มิถุนายน 2553 เรื่อง การจัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจปราบปราม จับกุม และดำเนินคดีแรงงานต่างด้าวลักลอบทำงาน คำสั่งที่ 177/2553 ลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2553 เรื่อง แต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการอำนวยการศูนย์เฉพาะกิจปราบปราม จับกุม และดำเนินคดีแรงงานต่างด้าวลักลอบทำงาน และคณะทำงานในคณะทำงานตรวจสอบ ปราบปราม จับกุม และดำเนินคดีแรงงานต่างด้าวลักลอบทำงาน เพิ่มเติม คำสั่งที่ 269/2553 ลงวันที่ 15 ตุลาคม 2553 เรื่อง จัดตั้งศูนย์ปราบปราม จับกุม และดำเนินคดีแรงงานต่างด้าวลักลอบทำงานและกระบวนการค้ามนุษย์ คำสั่งที่ 282/2553 ลงวันที่ 27 ตุลาคม 2553 เรื่อง จัดตั้งศูนย์ปราบปราม จับกุม และดำเนินคดีแรงงานต่างด้าวลักลอบทำงาน และกระบวนการค้ามนุษย์ และคำสั่งที่ 68/2555 ลงวันที่ 13 มีนาคม 2555 เรื่อง จัดตั้งศูนย์ปราบปราม จับกุม และดำเนินคดีแรงงานต่างด้าวลักลอบทำงาน อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2553 เห็นชอบการขยายเวลาการพิสูจน์สัญชาติและผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรแก่แรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองเพื่อรอการส่งกลับออกไปอีกไม่เกินสองปี สิ้นสุดวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2555 โดยให้แรงงานต่างด้าวดำเนินการแจ้งความประสงค์เข้ารับการพิสูจน์สัญชาติและดำเนินการขอต่ออายุใบอนุญาตทำงานหรือขอรับใบอนุญาตทำงานให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553 ซึ่งเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาดังกล่าวแล้ว ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดในการป้องกัน สกัดกั้น การเข้ามาของแรงงานต่างด้าวรายใหม่
รวมทั้งดำเนินคดีแรงงานต่างด้าวที่ไม่เข้าสู่ระบบการพิสูจน์สัญชาติซึ่งยังลักลอบทำงาน และเพื่อเป็นการดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ จะต้องขยายผลไปยังกลุ่มนายทุนที่เกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์ในด้านแรงงานต่างด้าวลักลอบทำงานที่ผิดกฎหมาย อาทิ ผู้นำพา ผู้ให้ที่พักพิง นายจ้าง จึงได้จัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจ ปราบปราม จับกุม และดำเนินคดีแรงงานต่างด้าวลักลอบทำงานขึ้น โดยมีคณะกรรมการ จำนวน 1 คณะ ในศูนย์ฯ มีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นรองประธานกรรมการ และรัฐมนตรีอื่น ๆ รวมทั้งผู้แทนหน่วยงานอื่น ๆ เป็นกรรมการ โดยมีรองอธิบดีกรมการจัดหางาน เป็นกรรมการและเลขานุการ มีหน้าที่ในการกำหนดมาตรการในการปราบปราม จับกุม และดำเนินคดีแรงงานต่างด้าวลักลอบทำงาน นายจ้าง และผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมาย รวมทั้งขยายผลการดำเนินการไปยังกลุ่มนายทุนที่เกี่ยวข้องกับขบวนการขนย้ายแรงงานต่างด้าวลักลอบทำงานโดยผิดกฎหมาย อำนวยการ สั่งการ เกี่ยวกับการตรวจสอบ ปราบปราม จับกุม และดำเนินคดีแรงงานต่างด้าวลักลอบทำงานและขบวนการขนย้ายแรงงานต่างด้าวลักลอบทำงานโดยผิดกฎหมาย รวมถึงการสกัดกั้นการเข้ามาของแรงงานต่างด้าวรายใหม่ แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อปฏิบัติการตามที่คณะกรรมการ ศป.รต.มอบหมาย แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบ ปราบปราม จับกุม และดำเนินคดีแรงงานต่างด้าวลักลอบทำงานและกลุ่มนายทุนที่เกี่ยวข้องกับขบวนการขนย้ายแรงงานต่างด้าวลักลอบทำงานโดยผิดกฎหมายตามข้อเสนอแนะของกรมการจัดหางาน และปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย โดยงบประมาณของศูนย์ปราบปราม จับกุม และดำเนินคดีแรงงานต่างด้าวลักลอบทำงาน ให้ขอรับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อการส่งคนต่างด้าวกลับออกไปนอกราชอาณาจักร
โดยในปีงบประมาณ 2552 - 2557 คณะกรรมการกองทุนเพื่อการส่งคนต่างด้าวกลับออกไปนอกราชอาณาจักรก็ได้พิจารณาจัดสรรเงินราชการลับให้แก่กรมการจัดหางาน เพื่อดำเนินการตามโครงการทั้ง 2 โครงการ ข้างต้น โดยอนุมัติเป็นวงเงินในการพิจารณาดำเนินการเพื่อตรวจสอบ ปราบปราม จับกุม และดำเนินคดีกับแรงงานต่างด้าวผู้ลักลอบทำงานในประเทศไทย
หลังจากที่คณะกรรมการกองทุนเพื่อการส่งคนต่างด้าวกลับออกไปนอกราชอาณาจักรพิจารณาอนุมัติให้ดำเนินโครงการและจัดสรรวงเงินในการดำเนินโครงการดังกล่าวแล้ว สำนักงานกองทุนเพื่อการส่งคนต่างด้าวกลับออกไปนอกราชอาณาจักร ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่รับเรื่องการขออนุมัติใช้จ่ายเงินราชการลับของกรมการจัดหางาน ตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการขออนุมัติใช้จ่ายเงินและเสนอต่อคณะกรรมการพิจารณาการใช้จ่ายเงินราชการลับ ตามความในข้อ 6 ของระเบียบกรมการจัดหางาน ว่าด้วยการใช้จ่ายเงินราชการลับ พ.ศ. 2552 ในการพิจารณาจัดสรรว่าจะจ่ายเงินราชการลับ ก็จะเสนอให้คณะกรรมการพิจารณาการใช้จ่ายเงินราชการลับ
ซึ่งประกอบไปด้วย รองอธิบดีที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีในงานในหน้าที่ความรับผิดชอบของสำนักงานกองทุนเพื่อการส่งคนต่างด้าวกลับออกไปนอกราชอาณาจักร เป็นประธานกรรมการ ผู้อำนวยการสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว เลขานุการกรม ผู้อำนวยการกองตรวจและคุ้มครองคนหางาน เป็นกรรมการ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนเพื่อการส่งคนต่างด้าวกลับออกไปนอกราชอาณาจักร เป็นเลขานุการ เป็นผู้พิจารณา ซึ่งตามความในระเบียบกรมการจัดหางาน ว่าด้วยการใช้จ่ายเงินราชการลับ พ.ศ. 2552 มิได้กำหนดตัวบุคคลโดยเฉพาะเจาะจงว่าผู้ใดที่มีสิทธิที่จะได้รับการจัดสรรเงินราชการลับดังกล่าว
คงปรากฏแต่เพียงให้คณะกรรมการชุดข้างต้นพิจารณาเสนอความเห็นต่ออธิบดีในการสั่งจ่ายเงินราชการลับให้เป็นไปตามแผนการปฏิบัติงานที่ได้รับการจัดสรรเงินราชการลับ และให้อธิบดีสั่งจ่ายเงินราชการลับภายในวัตถุประสงค์ เป้าหมาย และวงเงินตามแผนปฏิบัติงานที่ได้รับการจัดสรรเงินราชการลับ ตามความในข้อ 7 และข้อ 8 ของระเบียบดังกล่าว เท่านั้น
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า คณะรัฐมนตรี ได้มีมติโดยกำหนดให้มีการขยายระยะเวลาการพิสูจน์สัญชาติและการผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรแก่แรงงานต่างด้าว กับทั้งยังมีกรณีแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองเพื่อเข้ามาทำงานในประเทศไทยอย่างผิดกฎหมาย จึงจำเป็นต้องเร่งรัด สกัดกั้น และปราบปรามแรงงงานต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมือง ตลอดจนกำหนดนโยบาย มาตรการ และแนวทางปฏิบัติ รวมทั้งบริหารจัดการ ดำเนินการ ประสานการปฏิบัติแก้ไขปัญหาและติดตามประเมินผลเกี่ยวกับการบริหารแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง ดังนั้น เมื่อนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งจัดตั้งศูนย์ปราบปราม จับกุม และดำเนินคดีแรงงานต่างด้าวลักลอบทำงาน
โดยอาศัยมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว และได้แต่งตั้งให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นคณะกรรมการอำนวยการศูนย์ปราบปราม จับกุม และดำเนินคดีแรงงานต่างด้าวลักลอบทำงาน แม้บุคคลทั้งสองจะมิใช่เจ้าพนักงานที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานแต่งตั้ง หรือเป็นผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจสอบ ปราบปราม จับกุม แรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองโดยตรงก็ตาม แต่ก็มีหน้าที่ในการกำหนดมาตรการ วิธีการดำเนินการ และอำนวยการ สั่งการ เร่งรัด และกำกับดูแลการดำเนินการของศูนย์เฉพาะกิจปราบปรามจับกุมฯ อันส่งผลให้มีการตรวจสอบ ปราบปราม และจับกุมแรงงานต่างด้าวลักลอบทำงานโดยตรง
ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการดำเนินการตามภารกิจ มติคณะรัฐมนตรี และตามกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินทั้งสิ้น
ประกอบกับกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องก็มิได้กำหนดว่าเงินราชการลับดังกล่าวจะต้องจ่ายให้แต่เพียงบุคคลผู้ปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจสอบ ปราบปราม และจับกุม โดยตรง เพื่อให้มีการจ่ายเงินให้แก่สายข่าวแต่เพียงเท่านั้น คงกำหนดไว้แต่เพียงให้มีการใช้ในการบริหารจัดการเกี่ยวกับการทำงานของคนต่างด้าวของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามความในมาตรา 31 (6) แห่งพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 และเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการเกี่ยวกับการทำงานของคนต่างด้าวในการปฏิบัติภารกิจที่มีลักษณะเป็นราชการลับให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตามความในข้อ 4 ของระเบียบกรมการจัดหางาน ว่าด้วยการใช้จ่ายเงินราชการลับ พ.ศ. 2552 อีกทั้งเมื่อการปราบปราม จับกุม และดำเนินคดีแรงงานต่างด้าว ก็มีวิธีการในการดำเนินการในหลายวิธีและในหลากหลายระดับ ซึ่งสามารถเจรจาหารือ ทั้งวิธีการปกติและวิธีการปกปิดลับที่ไม่เปิดเผยกับประเทศเพื่อนบ้านได้ ดังนั้น การพิจารณาจ่ายเงินราชการลับให้แก่รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานของคณะกรรมการใช้จ่ายเงินราชการลับและการอนุมัติให้จ่ายเงินดังกล่าวของอธิบดีกรมการจัดหางาน จึงเป็นไปเพื่อดำเนินการภายใต้ภารกิจเกี่ยวกับการบริหารจัดการเกี่ยวกับการทำงานของคนต่างด้าวดังกล่าว ประกอบกับเมื่อความในมาตรา 4 และมาตรา 10 ของระเบียบกรมการจัดหางาน ว่าด้วยการใช้จ่ายเงินราชการลับ พ.ศ. 2552 ได้กำหนดให้หน่วยงานที่ใช้จ่ายเงินราชการลับมีหน้าที่ต้องจัดทำบัญชีการรับ - จ่าย เงินราชการลับ และเก็บรักษาหลักฐานการจ่ายเงินไว้ตรวจสอบ ซึ่งแม้จะไม่ปรากฏหลักฐานการจ่ายเงินราชการลับเนื่องจากเป็นภารกิจที่ต้องกระทำในลักษณะปกปิดและไม่อาจเปิดเผยได้ ซึ่งสอดคล้องกับรายงานการประชุมของคณะกรรมการกองทุนเพื่อการส่งคนต่างด้าวกลับไปนอกราชอาณาจักร ในการประชุมเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2555 ซึ่งผู้แทนสำนักงบประมาณชี้แจงเกี่ยวกับเงินค่าสืบสวนและหาข่าวอันเป็นส่วนหนึ่งของเงินราชการลับว่า จะเปิดเผยคนให้ข่าวไม่ได้ เงินลับจึงตรวจสอบไม่ได้ แต่ก็ปรากฏใบสำคัญรับเงิน และบัญชีรับจ่ายของกรมการจัดหางาน ที่แสดงให้เห็นว่ามีการจ่ายเงินราชการลับให้แก่บุคคลที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับโครงการตรวจสอบ ปราบปราม จับกุมและดำเนินคดีแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบเข้าทำงานทั้งสิ้น กับทั้งความก็ปรากฏจากพยานบุคคลว่ามีการนำเงินกองทุนฯ ดังกล่าวไปใช้จ่ายเป็นค่าหาข่าวและค่าสืบสวนดำเนินการต่าง ๆ ในการตรวจสอบ ปราบปราม จับกุมแรงงานต่างด้าวลักลอบทำงาน อันเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของทั้ง 2 โครงการ และมีการเสนอผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติงาน แสดงต่อคณะกรรมการกองทุนฯ ที่เป็นผู้จัดสรรเงินในกองทุนเพื่อการส่งคนต่างด้าวกลับออกไปนอกราชอาณาจักรในทุกปีงบประมาณ
ดังนั้น การพิจารณาและอนุมัติจ่ายเงินราชการลับให้แก่รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อใช้ในภารกิจด้านการสืบสวน การหาข่าว และการปฏิบัติราชการลับจึงเป็นการดำเนินการไปตามอำนาจหน้าที่ภายใต้บทบัญญัติแห่งกฎหมายโดยไม่ปรากฏเจตนาโดยมิชอบหรือโดยทุจริตแต่อย่างใด
ทั้งนี้ สำหรับประเด็นว่ามีความเสียหายในการจ่ายเงินราชการลับหรือไม่และต้องมีบุคคลใดรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวหรือไม่นั้น ข้อเท็จจริงปรากฏว่า กระทรวงการคลังได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวแล้วเห็นว่า เมื่อกรมการจัดหางานมีภารกิจเกี่ยวกับการพิจารณาอนุญาตการทำงานของคนต่างด้าวทั้งที่เข้าเมืองอย่างถูกต้องตามกฎหมายและหลบหนีเข้าเมือง รวมทั้งการควบคุม และตรวจสอบการทำงานของคนต่างด้าวให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จึงได้เสนอขอรับการจัดสรรเงินจากกองทุนฯ ตามพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงานตามภารกิจด้านการปราบปราม จับกุม และดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานด้านการสืบสวน การหาข่าว การขยายผลการปราบปรามติดตามและจับกุมผู้กระทำความผิด และคณะกรรมการกองทุนฯ เห็นว่า เป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการใช้เงินกองทุนฯ จึงได้พิจารณาอนุมัติ และเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการใช้จ่ายเงินที่ได้รับการจัดสรรจากกองทุนฯ จึงได้ออกระเบียบกรมการจัดหางาน ว่าด้วยการใช้จ่ายเงินราชการลับ พ.ศ. 2552 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวางระเบียบการใช้จ่ายเงินที่ได้รับการจัดสรรจากกองทุนฯ สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการเกี่ยวกับการทำงานของคนต่างด้าวในการปฏิบัติภารกิจที่มีลักษณะเป็นราชการลับ ซึ่งมีการใช้จ่ายเงินเป็นไปตามแผนปฏิบัติงานที่ได้รับการจัดสรร
ดังนั้น การปฏิบัติราชการของอดีตอธิบดีกรมการจัดหางานทั้งสาม ในการอนุมัติสั่งจ่ายเงินราชการลับในปีงบประมาณ 2553 - 2557 จึงเป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการได้รับจัดสรรเงินจากกองทุนฯ สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการเกี่ยวกับการทำงานของคนต่างด้าวในภารกิจที่มีลักษณะเป็นราชการลับ ประกอบกับการใช้จ่ายเงิน เป็นไปตามระเบียบที่กรมการจัดหางานว่าด้วยการใช้จ่ายเงินราชการลับ พ.ศ. 2552 กำหนด
พฤติการณ์ของอดีตอธิบดีกรมการจัดหางานทั้งสามราย จึงไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่กองทุนฯ จึงให้ยุติเรื่องความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ดังกล่าว
คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเป็นเอกฉันท์ ด้วยคะแนนเสียง 6 เสียง เห็นชอบตามความเห็นของคณะไต่สวนเบื้องต้นว่า จากการไต่สวนเบื้องต้น ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 นางสุทัศนี สืบวงศ์แพทย์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 นายประวิทย์ เคียงผล ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 นายสุภัท กุขุน ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 นายธนิช นุ่มน้อย ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 นางอภิรัตน์ เมฆากุล ผู้ถูกกล่าวหาที่ 6 นายสุพจน์ บุญเจริญ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 7 นายสมชาย อัครธรรมกุล ผู้ถูกกล่าวหาที่ 8 นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 9 นายเดชา พฤกษ์พัฒนรักษ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 10 นายนพดล พลอยอยู่ดี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 11 และนางสาวบุณยวีร์ ไขว้พันธ์ุ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 12 ได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา
ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
ข่าวในหมวดเดียวกัน
- รอดหวุดหวิด! ป.ป.ช.เสียงแตกตีตกข้อกล่าวหาอดีตหน.สถานีอนามัยโตนด ชี้นำเลือกนายก อบจ.
- หลักฐานไม่เพียงพอ! ป.ป.ช.ตีตกข้อกล่าวหา อดีตผอ.สำนักเทคโนฯ ศาลยุติธรรม กลั่นแกล้ง จนท.
- ป.ป.ช.ตีตกข้อกล่าวหา 3 บิ๊ก อสมท ปมละเว้นไม่ดำเนินการกรณี 'ทรู วิชั่นส์' บอกรับสมาชิก
- หลักฐานไม่พอ! 'ยงยุทธ'อดีตบิ๊กทีโอที รอดคดีที่ 2 ป.ป.ช.ตีตกข้อกล่าวหาทุจริต 2โครงการ
- ไม่มีมูล! ป.ป.ช.ตีตกข้อกล่าวหา อดีตผอ.แขวงทางหลวง นครพนม จ้างปรับปรุงสะพาน-อาคารระบายน้ำ
- เสียงเอกฉันท์! ป.ป.ช.ตีตกข้อกล่าวหา อดีตนายก อบต.โนนราษี สั่งจ้างผู้เสนอราคาสูงทำถนน