เผยมติ ป.ป.ช. ตีตกข้อกล่าวหา 'ยงยุทธ วัฒนสินธุ์' อดีตบิ๊กทีโอที ทุจริตต่อหน้าที่จัดซื้อจ้าง 2 โครงการ เหตุไม่ปรากฏพยานหลักฐานเพียงพอที่จะฟังว่ากระทำความผิด หลังก่อนหน้านี้โดนโทษคุก5 ปี คดีเบิกค่ารับรองเท็จประชุมร้านไวน์หรูไปแล้ว
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดใหญ่ ตีตกข้อกล่าวหา นายยงยุทธ วัฒนสินธุ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กระทำผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างโครงการ Roadie Live by TOT และ Thailand Smart Education ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และอนุมัติการจ่ายเงินให่แก่บริษัท ทู ทรี เปอร์สเปกทีพ จำกัด ไปโดยมิชอบ ในโครงการ ROADie Live by TOT
โดยผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีดังนี้
ประเด็นแรก ผู้ถูกกล่าวหาดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างโครงการ Roadie Live by TOT และ Thailand Smart Education ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือไม่ อย่างไร
1. โครงการ Roadie Live by TOT
การจัดงานแถลงข่าวเปิดแอพพลิเคชั่น Roadie live by TOT และการเปิดให้ใช้แอพพลิเคชั่น Roadie live by TOT เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2556 เป็นการดำเนินการก่อนขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ว่าด้วย การพัสดุ พ.ศ. 2546 และคำสั่งบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ที่ รพ. 14/2547 เรื่องการพัสดุ ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2547 โดยบริษัท ท. ได้นำแอพพลิเคชั่น Roadie live by TOT มาให้ประชาชนดาวน์โหลดเพื่อเป็นการทดลองตลาดหรือให้ทดลองใช้งาน หรือ Prove of Concept (POC) เพื่อให้ทราบความต้องการใช้แอพพลิเคชั่น Roadie live by TOT การจัดงานแถลงข่าวเปิดแอพพลิเคชั่น Roadie live by TOT เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2556 เป็นความร่วมมือทางการตลาดระหว่าง บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท ท. โดยบริษัท ท.มีหนังสือฉบับลงวันที่ 21 มีนาคม 2556 ถึงกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ขอความอนุเคราะห์เงินสนับสนุนเพื่อการจัดทำข้อมูลให้บริการแก่ประชาชนทั่วไปในช่วงเทศกาลสงกรานต์และช่วงเทศกาลวันหยุดยาวต่อเนื่อง โดยขอความอนุเคราะห์จากบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ร่วมสนับสนุนงบประมาณเป็นเงิน จำนวน 500,000 บาท โดยบริษัท ท.ยินดีมอบสิทธิประโยชน์ให้แก่บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ในรูปแบบของการโฆษณาประชาสัมพันธ์ตราสัญลักษณ์ เช่น โลโก้สนับสนุนข่าวอัพเดทและบทความ เป็นต้น
ผู้ถูกกล่าวหาได้มอบหมายให้สถาบันนวัตกรรม (สว.) ดำเนินการศึกษาต่อยอดนวัตกรรมใหม่ด้านแอพพลิเคชั่นประเภทบอกตำแหน่ง (Location Base Service) ภายใต้ชื่อโครงการ Roadie Live by TOT หากมีความเป็นไปได้ในเชิงพาณิชย์ ให้จัดทำแผนงานนำเสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น และต่อมาสถาบันนวัตกรรม (สว.) ได้นำข้อมูลจากการทดลองให้บริการแก่ประชาชนหรือข้อมูลการตลาดของบริษัท ท.มาประกอบในแผนงานเพื่อเสนอขออนุมัติแผนการจัดหาและงบประมาณ
แต่ปรากฏว่าแผนการจัดหาดังกล่าวไม่ผ่านการอนุมัติ เห็นว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นการดำเนินการเพื่อให้ได้ข้อมูลการตลาดหรือข้อมูลผู้ดาวน์โหลดและใช้แอพพลิเคชั่น Roadie live by TOT ซึ่งเจ้าของแอพพลิเคชั่นเท่านั้นที่เป็นผู้ดำเนินการทดลองและข้อมูลเป็นของบริษัท ท.เมื่อแผนการจัดหาโครงการ Roadie live by TOT ไม่ผ่านการอนุมัติ จึงยัง ไม่มีกระบวนการในการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และยังไม่มีการระบุว่าผู้ใดเป็นคู่สัญญาหรือผู้รับจ้าง
จึงยังฟังไม่ได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างโครงการ Roadie Live by TOT ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)
2. โครงการ Thailand Smart Education
มีการจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงโครงการความร่วมมือทางวิชาการด้านเทคโนโลยีระบบบริการการจัดการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษาอัจฉริยะ (Thailand Smart Education Platform) เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2556 จริง ซึ่งเป็นการจัดทำบันทึกข้อตกลงระหว่างกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กับโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้ถูกกล่าวหามอบหมายให้ส่วนงานใดของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ประสานงานกับบริษัท ท.เพื่อดำเนินโครงการ Thailand Smart Education และไม่มีส่วนงานใดของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการโครงการดังกล่าวเพื่อให้มีการจัดซื้อจัดจ้าง
ปรากฏข้อเท็จจริงแต่เพียงว่าผู้ถูกกล่าวหาไปร่วมงานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงโครงการความร่วมมือทางวิชาการด้านเทคโนโลยีระบบบริการการจัดการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษาอัจฉริยะ (Thailand Smart Education Platform) เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2556 เท่านั้น
จึงยังฟังไม่ได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาให้บริษัท ท.ดำเนินโครงการ Thailand Smart Education
ประเด็นที่สอง ผู้ถูกกล่าวหาอนุมัติการจ่ายเงินให้แก่บริษัท ท. โดยมิชอบหรือไม่ อย่างไร
ตามคำสั่งคณะกรรมการบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ที่ 29/2546 ลงวันที่ 22 สิงหาคม 2546 เรื่องมอบหมายอำนาจให้กรรมการผู้จัดการใหญ่ปฏิบัติการแทนคณะกรรมการบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) 2. การมอบหมายอำนาจ 2.1 การบริหารงานทั่วไป ให้กรรมการผู้จัดการใหญ่ มีอำนาจอนุมัติ สั่งการ ลงนาม หรือดำเนินการอื่นใด ในการบริหารงานทั่วไปในกิจการของบริษัท ยกเว้นกรณีดังต่อไปนี้ ให้นำเสนอคณะกรรมการเพื่อพิจารณาอนุมัติ 2.1.2 การเงิน 2.1.2.6 การบริจาค สนับสนุน ช่วยเหลือ หรือสมนาคุณบุคคล หรือหน่วยงานในวงเงินครั้งละเกินกว่า 5 แสนบาท โดยไม่รวมภาษี การบริจาคเงินนั้น บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ไม่มีหลักเกณฑ์กำหนดไว้ให้ชัดเจนว่าการบริจาคหรือสนับสนุนเงินให้กับบุคคลหรือคณะบุคคลใด สามารถให้ได้ในลักษณะใดบ้าง มีเพียงคำสั่งคณะกรรมการบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ที่ 29/2546 ลงวันที่ 22 สิงหาคม 2546 เรื่องมอบหมายอำนาจให้กรรมการผู้จัดการใหญ่ปฏิบัติการแทนคณะกรรมการบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ข้อ 2.1.2.6 และในการสอบสวนหาผู้รับผิดทางแพ่งกรณีผู้ถูกกล่าวหาอนุมัติสนับสนุนเงินจำนวน 500,000 บาท ให้กับบริษัท ท. นั้น
ปรากฏว่า ตามคำสั่งดังกล่าวกำหนดให้กรรมการผู้จัดการใหญ่มีอำนาจสามารถกระทำได้
ดังนั้นการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาที่อนุมัติเงินสนับสนุนจำนวน 500,000 บาท จึงเป็นการกระทำที่ชอบตามระเบียบคำสั่งของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ประกอบกับผู้ถูกกล่าวหาได้พิจารณาแล้วเห็นว่าแอพพลิเคชั่นดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อประชาชน เป็นการโฆษณาประชาสัมพันธ์หน่วยงานและตอบสนองนโยบายของรัฐในขณะนั้น จึงยังฟังไม่ได้ว่า ผู้ถูกกล่าวหาอนุมัติการจ่ายเงินให้แก่บริษัท ท.โดยมิชอบ พิจารณาแล้วยังฟังไม่ได้ว่าการกระทำของผู้ถูกกล่าวหา มีมูลเป็นความผิดทางอาญา ฐานเป็นพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใดๆ ใช้อำนาจในหน้าที่โดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่องค์การ บริษัทจำกัด ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่น ฐานเป็นพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 8 และมาตรา 11 และมีมูลความผิด ทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานพนักงานผู้ใดปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่การงานโดยมิชอบเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ที่มิควรได้ เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ และฐานพนักงานผู้ใดประมาทเลินเล่อในหน้าที่การงาน หรือปฏิบัติหน้าที่การงานโดยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบของบริษัท หรือมติคณะรัฐมนตรี อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่บริษัทอย่างร้ายแรง ตามระเบียบบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ว่าด้วยการพนักงาน พ.ศ. 2557 ข้อ 37 และข้อ 38
คณะไต่สวนเบื้องต้นมีมติว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหา ไม่เป็นความผิดทั้งทางวินัยและทางอาญา เห็นควรให้ข้อกล่าวหาตกไป
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว ลงคะแนนเสียงแยกเป็น 2 ฝ่าย ดังนี้ ฝ่ายที่หนึ่ง ประกอบด้วย กรรมการ ป.ป.ช. จำนวน 4 เสียง เห็นด้วยตามความเห็นของคณะผู้ไต่สวนเบื้องต้นว่า จากการไต่สวนไม่ปรากฏพยานหลักฐานเพียงพอที่จะฟังได้ว่าผู้ถูกกล่าวหา ได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
ฝ่ายที่สอง จำนวน 1 เสียง เห็นว่า จากการไต่สวนไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานว่าการกระทำของผู้ถูกกล่าวหา ได้กระทำการอันมีมูลความผิดในทางอาญาตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาในทางอาญาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป ทั้งนี้ การกระทำดังกล่าวของผู้ถูกกล่าวหา มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานเป็นพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่การงานโดยมิชอบเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ที่มิควรได้ และฐานประมาทเลินเล่อในหน้าที่การงาน หรือปฏิบัติหน้าที่การงานโดยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบของบริษัท หรือมติคณะรัฐมนตรี อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่บริษัทอย่างร้ายตามระเบียบบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ว่าด้วยการพนักงาน พ.ศ. 2557 ข้อ 37 และข้อ 38
ประธานฯ จึงสรุปว่า ผลการลงคะแนนเสียง เพื่อมีมติของที่ประชุมต้องถือตามความเห็นของกรรมการ ป.ป.ช. ฝ่ายที่หนึ่ง จำนวน 4 เสียง ซึ่งเกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ว่าจากการไต่สวนไม่ปรากฏพยานหลักฐานเพียงพอที่จะฟังได้ว่าผู้ถูกกล่าวหา ได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา
ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า นายยงยุทธ วัฒนสินธุ์ เป็น 1 ใน 3 อดีตผู้บริหารระดับสูงของ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ที่ถูกศาลพิพากษาตัดสินลงโทษจำคุกจากคดีความเกี่ยวกับเรื่องการเอื้อประโยชย์ ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ
โดยเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2565 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษาตัดสินคดีนี้ เป็นทางการ ศาลฯ สั่งลงโทษจำคุก นายยงยุทธ วัฒนสินธุ์ จำเลยที่ 1 อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ บมจ.ทีโอที เป็นเวลา 5 ปี
ส่วน นางอุทัยรัตน์ วัชโรทัย จำเลยที่ 2 อดีตผู้จัดการสำนักเลขานุการ คณะกรรมการ บมจ.ทีโอที (ภรรยา นายดิสธร วัชโรทัย อดีตข้าราชการประจำสำนักพระราชวัง) ถูกศาลตัดสินลงโทษเป็นเวลา 3 ปี 4 เดือน
แต่คำให้การของ นางอุทัยรัตน์ วัชโรทัย เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดี ลดโทษให้ ตามป.อ.มาตรา 78 ให้หนึ่งในสาม
คงจำคุก นางอุทัยรัตน์ วัชโรทัย กำหนด 2 ปี 2 เดือน 20 วัน
พร้อมให้ นายยงยุทธ วัฒนสินธุ์ จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ร้อง 361,720.55 บาท
อย่างไรก็ดี คดีนี้ ยังไม่สิ้นสุด นายยงยุทธ วัฒนสินธุ์ ยังมีสิทธิต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลที่สูงกว่านี้ได้อีก