เผยมติ ป.ป.ช. เสียงแตก 3 ต่อ 3 ตีตกข้อกล่าวหา 'แพททิยา ศันสนียพันธุ์' อดีตหน.สถานีอนามัยโตนด ใช้ตำแหน่งหน้าที่กระทำการอันเป็นคุณ/โทษ ชี้นำเลือกนายก อบจ.โคราช ก่อน ปธ.ป.ป.ช.สรุป เสียงน้อยกว่ากึ่งหนึ่ง รอดหวุดหวิดข้อกล่าวหาไม่มีมูล
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดใหญ่ ตีตกข้อกล่าวหา นางแพททิยา ศันสนียพันธุ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง หัวหน้าสถานีอนามัยโตนด (เจ้าหน้าที่บริหารงานสาธารณสุข 7) ตำบลหนองระเวียง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา กรณีเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ตำแหน่งหน้าที่กระทำการใดๆ อันเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2551
โดยปรากฏพฤติการณ์ว่า เมื่อประมาณต้นเดือนธันวาคม 2550 เป็นต้นมา นางแพททิยา ศันสนียพันธุ์ ซึ่งเป็นหัวหน้าสถานีอนามัยโตนด ได้อาศัยโอกาสในการประชุมเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของ อสม.ตำบลหนองระเวียง เช่น ช่วงรณรงค์เรื่อง 5 โรคร้ายมหันตภัยเงียบ พูดคุยเกี่ยวกับการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา รวมถึงแจ้งให้ผู้เข้าร่วมประชุมทราบว่า นายสำเริง แหยงกระโทก หรือหมอแหยง จะลาออกจากตำแหน่ง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา เพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา พร้อมทั้งพูดถึงผลงานหรือความดีของนายสำเริง แหยงกระโทก เป็นระยะๆ
ต่อมาวันที่ 25 ธันวาคม 2550 นางแพททิยา ศันสนียพันธุ์ ได้จัดงานเลี้ยงสังสรรค์ในโอกาสวันขึ้นปีใหม่แบบโต๊ะจีน ณ บริเวณศูนย์สุขภาพชุมชนโตนด ด้วยค่าใช้จ่ายที่ได้มาจากการบริจาคของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) แต่ละหมู่บ้านและบุคคลภายนอก โดยมีผู้มาร่วมงานประกอบด้วย อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ตำบลหนองระเวียง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิก อบต. และนายก อบต.หนองระเวียง ซึ่งในงานมีการแสดงดนตรี(อิเล็คโทน) มีการร้องเพลงและเต้นรำ รวมถึงมีการมอบรางวัลให้แก่ อสม. ที่ปฏิบัติงานดีเด่น ซึ่งในวันดังกล่าวผู้ถูกกล่าวหาได้เชิญนายสำเริง แหยงกระโทก ขณะนั้นยังดำรงตำแหน่ง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา ไปร่วมงานเลี้ยงสังสรรค์ดังกล่าวด้วย พร้อมทั้งได้กล่าวปราศรัยและแจ้งว่าจะลาออกจากตำแหน่ง ลงสมัครรับเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา หลังจากร้องเพลงแล้ว นายสำเริง แหยงกระโทก ได้มอบวัตถุมงคลองค์จตุคามรามเทพ รุ่นสุขภาพดีมีทรัพย์ ให้แก่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่ปฏิบัติงานดีเด่นส่วนหนึ่งและให้แก่ผู้เช่าส่วนหนึ่งซึ่งไม่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง
หลังจากมีการสมัครรับเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา ในการออกพบปะเยี่ยมเยียน อสม. หรือชาวบ้าน นางแพททิยา ศันสนียพันธุ์ ได้พูดร้องขอให้ อสม.ช่วยสนับสนุน นายสำเริง แหยงกระโทก รวมถึงได้ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขพูดเกี่ยวกับการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา เพื่อปลุกเร้าหรือหยั่งคะแนนเสียงในเครือข่าย อสม และบุคคลในครอบครัว อีกทั้ง กรณีที่ประชาชนเข้าไปติดต่อขอรับบริการด้านสาธารณสุข นางแพททิยา ศันสนียพันธุ์ มักจะพูดชี้นำให้ช่วยสนับสนุนนายสำเริง แหยงกระโทก พร้อมกับแจกบัตรแนะนำตัวของนายสำเริง แหยงกระโทก ให้แก่ประชาชน
ขณะที่ผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่า ประธาน อสม. บ้านโตนด หมู่ที่ 11 และ อสม. หมู่ที่ 11 บ้านโตนด (คนที่ 1) ได้ให้ถ้อยคำทำนองเดียวกันว่า ในการออกพบปะเยี่ยมเยียน อสม. หรือชาวบ้าน นางแพททิยา ศันสนียพันธุ์ ได้พูดช่วยเหลือหรือสนับสนุนให้นายสำเริง แหยงกระโทก ได้รับการเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา และ อสม. หมู่ที่ 11 บ้านโตนด (คนที่ 2) ได้ให้ถ้อยคำว่า เมื่อประชาชนเข้าไปติดต่อขอรับบริการด้านสาธารณสุข นางแพททิยา ศันสนียพันธุ์ มักจะพูดชี้นำสนับสนุนนายสำเริง แหยงกระโทก พร้อมกับแจกบัตรแนะนำตัวของนายสำเริง แหยงกระโทก ให้แก่ประชาชน
แต่บุคคลดังกล่าวไม่มีรายละเอียดข้อมูลเกี่ยวกับวันเวลา สถานที่ และบุคคลที่เกี่ยวข้องที่รู้เห็นเหตุการณ์ โดยบุคคลดังกล่าวได้ข้อมูลมาจากคำบอกเล่าของบุคคลอื่น จึงไม่ยืนยันข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำของนางแพททิยา ศันสนียพันธุ์ ประกอบกับจากการสอบถามผู้นำชุมชน และราษฎรที่เคยเข้ารับบริการด้านสาธารณสุขที่สถานีอนามัยโตนด (ศูนย์สุขภาพชุมชนโตนด) ในช่วงเกิดเหตุ ได้ให้ถ้อยคำทำนองเดียวกันว่า ไม่เคยพบเห็นนางแพททิยา ศันสนียพันธุ์ พูดชี้นำให้ประชาชนเลือกนายสำเริง แหยงกระโทก เป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา หรือเอื้อประโยชน์เกี่ยวกับการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา รวมถึงข้าราชการที่ทำงานในสถานีอนามัยโตนด ได้ให้ถ้อยคำทำนองเดียวกันว่า กรณีที่ประชาชนเข้าไปติดต่อขอรับบริการด้านสาธารณสุข ไม่เคยพบเห็นนางแพททิยา ศันสนียพันธุ์ พูดชี้นำให้ประชาชนสนับสนุนนายสำเริง แหยงกระโทก หรือแจกบัตรแนะนำตัวของนายสำเริง แหยงกระโทก ให้แก่ประชาชนเพื่อช่วยเหลือหรือสนับสนุนให้นายสำเริง แหยงหระโทก ได้รับการการเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา
ที่ประชุมพิจารณาแล้ว ลงคะแนนเสียงแยกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายที่หนึ่ง จำนวน 3 เสียง เห็นชอบตามความเห็นของคณะผู้ไต่สวนเบื้องต้น ว่าจากการไต่สวนข้อเท็จจริง ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานยังไม่เพียงพอที่จะฟังได้ว่า นางแพททิยา ศันสนียพันธุ์ ผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
ฝ่ายที่สอง จำนวน 3 เสียง เห็นว่า จากการสืบสวนของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดนครราชสีมา ปรากฎข้อเท็จจริงว่า นางแพททิยา ศันสนียพันธุ์ ผู้ถูกกล่าวหาได้ใช้อำนาจในตำแหน่งหัวหน้าสถานีอนามัยโตนด เอื้อประโยชน์ให้กับนายสำเริง แหยงกระโทก เกี่ยวกับการเลือกตั้ง โดยวางตัวไม่เป็นกลางทางการเมือง หรือกระทำการใดๆ อันเป็นคุณแก่นายสำเริง แหยงกระโทก ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา หมายเลข 1 การกระทำของนางแพททิยาศันสนียพันธุ์ ผู้ถูกกล่าวหา จึงมีมูลความผิดอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2545 มาตรา 60 และมีมูลความผิดวินัยอย่างร้ายแรง
ประธานฯ จึงสรุปว่า ผลการลงคะเเนนเสียงเพื่อมีมติของที่ประชุมในเรื่องนี้ ปรากฎว่า กรรมการ ป.ป.ช. ที่มีความเห็นว่านางแพททิยา ศันสนียพันธุ์ ผู้ถูกกล่าวหา มีมูลความผิดทางอาญาและวินัยมีจำนวน 3 เสียง น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่
จึงต้องถือว่า ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป