เผย ป.ป.ช.ลงมติเอกฉันท์ ตีตกข้อกล่าวหา 3 บิ๊ก อสมท ปมละเว้นไม่ดำเนินการ บมจ.ทรู วิชั่นส์ ไม่ปฏิบัติตามสัญญาร่วมดำเนินกิจการให้บริการโทรทัศน์ระบบบอกรับเป็นสมาชิก เหตุสอบสวนไม่พบกระทำความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่มติตีตกข้อกล่าวหา นายศิวะพร ชมสุวรรณ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ผู้ถูกกล่าวหา ที่ 1 ,นายธนะชัย วงศ์ทองศรี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ผู้ถูกกล่าวหา ที่ 2 และนายสนธิ อิชยาวิโรจน์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ผู้ถูกกล่าวหา ที่ 3 กรณีละเว้นไม่ดำเนินการกับบริษัท ทรู วิชั่นส์ จำกัด (มหาชน) ที่ไม่ ปฏิบัติตามสัญญาร่วมดำเนินกิจการให้บริการโทรทัศน์ระบบบอกรับเป็นสมาชิก ฉบับลงวันที่ 17 เมษายน 2532
หลังจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่าจากการไต่สวนเพิ่มเติม ตามมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่พบว่าผู้ถูกกล่าวหาทั้งสาม กระทำความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีร่วมดำเนินกิจการให้บริการโทรทัศน์ระบบบอกรับเป็นสมาชิก กับบริษัท ทรู วิชั่นส์ จำกัด (มหาชน) แต่อย่างใด รวมทั้งการจัดทำบันทึกข้อตกลง ฉบับลงวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2558 ระหว่างบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กับบริษัท ทรู วิชั่นส์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทรู วิชั่นส์ เคเบิ้ล จำกัด (มหาชน) เป็นการจัดทำโดยนำข้อพิพาทที่เกิดขึ้นทั้งหมดมาเจรจาเพื่อแก้ไขหาข้อสรุปทั้งหมด ซึ่งจากการตรวจสอบยอดจำนวนเงินที่บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ได้รับตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว ก็มียอดจำนวนเงินที่ไม่ต่ำกว่าที่มีการเรียกร้องให้บริษัท ทรู วิชั่นส์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทรู วิชั่นส์ เคเบิ้ล จำกัด (มหาชน) ชดใช้ รวมทั้งมีการเพิ่มสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเพิ่ม ดังนั้น ข้อกล่าวหาทั้งหมดดังกล่าวข้างต้น ไม่มีมูลตามมาตรา 58 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561
คณะกรรมการป.ป.ช. จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ เห็นชอบตามความเห็นของคณะไต่สวนเบื้องต้น ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่จะฟังได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาทั้งสาม กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
สำหรับพฤติการณ์กล่าวหาว่ากระทำผิด มีดังนี้
1) มีการนำช่องรายการตามสัญญาไปให้บริการโดยไม่ได้รับอนุญาต (True Vision Anywhere) ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2554 โดยเผยแพร่ภาพไปยังผู้รับบริการที่มิใช่สมาชิก แล้วไม่นำรายได้มารวมเป็นค่าตอบแทน และไม่จ่ายค่าตอบแทนที่ได้รับทำการโฆษณา เพราะเชื่องบการเงินของ บมจ.ทรู วิชั่นส์ โดยไม่ตรวจสอบให้ชัดเจน
2) ไม่นำส่งค่าโฆษณาของช่องรายการ TNN 24 ตั้งแต่เดือนเมษายน 2555 ถึงมกราคม 2556 โดยไม่ตรวจสอบทักท้วง แล้วกลับไปรับค่าเสียหายในช่วงเวลาอื่นซึ่งผิดปกติวิสัยของการตรวจสอบ
3) บริษัท ทรู วิชั่นส์ จำกัด (มหาชน) นำส่งส่วนแบ่งรายได้ไม่ครบถ้วน เพราะไม่ชี้แจงข้อมูลรายการ บางประเภทให้ชัดเจนและไม่นำมาคำนวณส่วนแบ่งรายได้ตามสัญญา รวมทั้งไม่นำดอกเบี้ยเงินประกันหรือเงินมัดจำอุปกรณ์มาคำนวณส่วนแบ่งรายได้ตามสัญญาและตามมติคณะกรรมการบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ครั้งที่ 5/2538 เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2538 และกลับเจรจายอมรับส่วนแบ่งจากบริษัท ทรู วิชั่นส์ จำกัด (มหาชน) จำนวน 6,464,000 บาท และบริษัท ทรู วิชั่นส์ เคเบิ้ล จำกัด (มหาชน) จำนวน 3,933,000 บาท โดยไม่ปรากฏว่าใช้ฐานคิดคำนวณอย่างไร
4) ระหว่างเดือนตุลาคม 2557 ถึง มิถุนายน 2558 ไม่ส่งมอบอุปกรณ์เครื่องส่งให้บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ตามสัญญาโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย และรับมอบอุปกรณ์ภาครับเพียง 1,551 เครื่อง โดยเชื่อตามรายงานของบริษัท ทรู วิชั่นส์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งวิญญูชนทราบดีว่ามีมากกว่าที่รายงานหลายร้อยเท่า แต่ผู้บริหารและพนักงาน บมจ.อสมท น่าจะละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
5) มีการโอนย้ายสมาชิกจากบริษัท ทรู วิชั่นส์ จำกัด (มหาชน) ไปยังบริษัท ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด โดยหลอกลวง ปกปิดข้อเท็จจริง ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2556 ทำให้การเรียกค่าตอบแทนในอัตราร้อยละ 6.5 ของรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ได้รับในอัตราน้อยลง และปล่อยปละละเลยไม่ทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)