เผยกำไรสุทธิ 6 แบงก์ใหญ่ปี 65 ‘กรุงไทย’ โชว์กำไรพุ่ง 56% แตะ 3.36 หมื่นล้านบาท ‘SCB’ กำไร 3.75 หมื่นล้าน โต 5% ‘KBANK’ กำไรลด 6% พบตั้งสำรองฯพุ่งสู่ระดับ 5.1 หมื่นล้าน ‘แบงก์กรุงเทพ’ กำไร 2.93 หมื่นล้าน เพิ่มขึ้น 10.6% ‘กรุงศรี’ กำไรลด 9.1% ขณะที่ ‘ทีเอ็มบีธนชาต’ กำไรเพิ่ม 36%
...................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ของไทยทั้ง 6 แห่ง ได้ทยอยประกาศผลประกอบการปี 2565 โดยธนาคารพาณิชย์ 4 แห่ง ได้แก่ เอสซีบี เอกซ์ ,ธนาคารกสิกรไทย ,ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารทหารไทยธนชาต มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น ขณะที่ธนาคารอีก 2 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารกรุงศรีอยุธยา มีกำไรสุทธิลดลง
ขณะที่ธนาคารขนาดใหญ่ เช่น ธนาคารกสิกรไทย และเอสซีบี เอกซ์ มีการตั้งสำรองฯในระดับสูง เพื่อรองรับกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น
@‘เอสซีบี เอกซ์’ กำไรสุทธิ 3.75 หมื่นล้าน เพิ่มขึ้น 5% จากปีก่อน
บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB รายงานว่า ในช่วงไตรมาส 4/2565 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิลดลง 9.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นจำนวน 7,143 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นผลจากรายได้จากการลงทุนและการค้าที่ลดลง ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นและรายได้ค่าธรรมเนียมและอื่นๆที่ลดลง ซึ่งถูกลดทอนด้วยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เพิ่มขึ้น และการลดลงของผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น
สำหรับกำไรสุทธิของปี 2565 มีจำนวน 37,546 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.5% จากปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวที่แข็งแกร่งของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ การมีวินัยด้านค่าใช้จ่าย และการตั้งเงินสำรองที่ลดลง ถึงแม้จะมีแรงกดดันจากการลดลงของรายได้ค่าธรรมเนียมและรายได้จากการลงทุน
ในปี 2565 รายได้ดอกเบี้ยสุทธิมีจำนวน 107,865 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.3% จากปีก่อน เป็นผลจากการขยายตัวของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิภายใต้กลยุทธ์การเติบโตที่เน้นคุณภาพสินเชื่อและทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ในขณะที่สินเชื่อโดยรวมขยายตัว 3.3% จากปีก่อน
รายได้ค่าธรรมเนียมและอื่นๆ มีจำนวน 44,866 ล้านบาท ลดลง 4.7% จากปีก่อน เป็นผลจากการชะลอตัวของธุรกิจการบริหารความมั่งคั่ง อีกทั้งรายได้จากการลงทุนและการค้ามีจำนวน 1,689 ล้านบาท ลดลง 79.1% จากปีก่อน เนื่องจากความผันผวนอย่างสูงของตลาดเงินและตลาดทุนในปีที่ผ่านมา
ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานมีจำนวน 69,874 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.9% จากปีก่อน เป็นผลจากกิจกรรมธุรกิจที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนการปรับโครงสร้างองค์กรภายใต้ยุทธศาสตร์ยานแม่ อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้อยู่ในระดับที่ เหมาะสมที่ 45.2% ในปี 2565 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนเพียงเล็กน้อย
บริษัทฯ ได้ตั้งเงินสำรองจำนวน 33,829 ล้านบาท ลดลง 19.5% จากปีก่อน สะท้อนถึงการบริหารคุณภาพสินเชื่อด้วยมาตรการเชิงรุก และความระมัดระวังตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของการแพร่ระบาดมาโดยตลอด ประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัวของภาคธุรกิจ ในขณะที่อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 159.7%
อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ สิ้นปี 2565 อยู่ที่ 3.34% ปรับตัวลดลงจาก 3.79% ในปีก่อน เป็นผลของความสำเร็จในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แบบเบ็ดเสร็จภายใต้กรอบของธนาคารแห่งประเทศไทย และการบริหารสินเชื่อด้อยคุณภาพที่มีประสิทธิภาพ และเงินกองทุนตามกฎหมายของบริษัทฯ ยังคงอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 18.9%
นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในปี 2565 บริษัท เอสซีบี เอกซ์ ได้ปรับโครงสร้างองค์กรภายใต้ยุทธศาสตร์ยานแม่แล้วเสร็จ และพร้อมเดินหน้าก้าวสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยีและสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในระยะหนึ่งถึงสองปีจากนี้จะมุ่งเน้นการเติบโตแบบก้าวกระโดดของธุรกิจในกลุ่มสินเชื่อดิจิทัล ซึ่งได้มีการเตรียมตัวทั้งในแง่ทีมงานและกลยุทธ์มาระยะหนึ่งแล้ว
ขณะเดียวกัน ก็ยังคงเน้นกลยุทธ์การก้าวไปสู่ธนาคารที่ดีขึ้น (Be a Better Bank) ของธนาคารไทยพาณิชย์ซึ่งเน้นการเติบโตแบบมีคุณภาพภายใต้โครงสร้างต้นทุนที่ลดลง สำหรับธุรกิจในกลุ่มเทคโนโลยีและสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น จะเน้นการลงทุนแบบค่อยเป็นค่อยไปตามสภาวะตลาด
ในส่วนของผลประกอบการในปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ยังคงรักษาการเติบโตและความมั่นคงของสถานะการเงินได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสมภายใต้ความผันผวนอย่างสูงของตลาดเงินตลาดทุน บริษัทฯ เชื่อว่าการเติบโตของธุรกิจของกลุ่มในระยะต่อไปจะยังมีโอกาสปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากยุทธศาสตร์ยานแม่และการฟื้นตัวของภาคธุรกิจ
@‘กสิกรไทย’ กำไร 3.57 หมื่นล้าน-ไตรมาส 4 ตั้งสำรองฯเพิ่ม 129%
ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK รายงานว่า ในช่วงไตรมาส 4/2565 ธนาคารและบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิ 3,191 ล้านบาท ลดลง 69.82% เมื่อเทียบกับกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (ไตรมาสที่ 4/2564) ที่มีกำไรสุทธิ 9,901 ล้านบาท ทั้งนี้ บริษัทฯ กลับมาตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น จำนวน 22,784 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 129.03% เมื่อเทียบกับกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (ไตรมาสที่ 4/2564) ที่มีการตั้งสำรองฯ เพียง 9,580 ล้านบาท
สำหรับปี 2565 ธนาคารและบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิจำนวน 35,770 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนจำนวน 2,283 ล้านบาท หรือ 6% โดยกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและภาษีเงินได้มีจำนวน 98,504 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.72% เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็นผลจากการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ของธนาคารและทิศทางอัตราดอกเบี้ย
ส่งผลให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเติบโตอย่างแข็งแกร่ง และมีอัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net interest margin : NIM) ที่สูงขึ้นอยู่ในระดับ 3.33% ประกอบกับการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพทำให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) ดีขึ้นอยู่ที่ระดับ 43.15%
อย่างไรก็ตาม ธนาคารและบริษัทย่อยพิจารณาตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected credit loss : ECL) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนในระดับสูงเพื่อให้สอดคล้องกับหลักความระมัดระวังอย่างต่อเนื่อง และเหมาะสมกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ
รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 13,608 ล้านบาท หรือ 11.40% ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อตามการเติบโตของเงินให้สินเชื่อใหม่ในกลุ่มลูกค้าบุคคล และกลุ่มลูกค้าธุรกิจเอสเอ็มอี โดยเน้นการนำเสนอผลิตภัณฑ์สินเชื่อผ่านช่องทางดิจิทัลเพิ่มขึ้น ควบคู่กับการนำข้อมูลมาใช้วิเคราะห์ในการปล่อยสินเชื่อซึ่งเป็นไปตามยุทธศาสตร์ของธนาคาร
ในขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงจำนวน 3,700 ล้านบาท หรือ 8.42% ส่วนใหญ่เกิดจากค่าธรรมเนียมรับจากการจัดการกองทุน ค่านายหน้าจากการซื้อขายหลักทรัพย์ และรายได้สุทธิจากการรับประกันภัยที่ลดลงซึ่งเป็นไปตามสภาวะตลาด
ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ เพิ่มขึ้นจำนวน 3,709 ล้านบาท หรือ 5.22 % หลักๆ จากค่าใช้จ่ายทางการตลาดที่เพิ่มขึ้นสอดคล้องกับรายได้ที่เพิ่มขึ้นตามปริมาณธุรกิจ และค่าใช้จ่ายทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อให้สามารถรองรับความต้องการของลูกค้า
ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected credit loss : ECL) ในปี 2565 มีจำนวน 51,919 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 28.73% เพื่อรองรับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นภาวะเศรษฐกิจถดถอยในอนาคต รวมทั้งการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจในประเทศไทยที่ยังคงเปราะบาง
นอกจากนี้ ยังเป็นการเสริมความแข็งแกร่งและเพิ่มความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์ให้มีความพร้อมในการดูแลช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มต่าง ๆ ตามยุทธศาสตร์ของธนาคาร เพื่อให้ลูกค้าสามารถดำเนินธุรกิจได้เต็มศักยภาพ ตอบรับกับโอกาสทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้น โดยอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 อยู่ที่ระดับ 154.26% ซึ่งเป็นระดับที่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 ธนาคารและบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมจำนวน 4,246,369 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2564 จำนวน 142,970 ล้านบาท หรือ 3.48% หลัก ๆ เป็นการเติบโตของเงินให้สินเชื่อสุทธิตามยุทธศาสตร์ของธนาคารและสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ และการเพิ่มขึ้นของรายการระหว่างธนาคารและตลาดเงินสุทธิ
นอกจากนี้ ธนาคารเพิ่มความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งมีส่วนช่วยให้ลูกค้ามีสถานะทางการเงินที่ดีขึ้นสามารถประกอบธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง และจะเป็นกำลังขับเคลื่อนการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโดยรวม
ส่วนเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (%NPL gross) อยู่ที่ระดับ 3.19% สำหรับอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยงของกลุ่มธุรกิจทางการเงินธนาคารกสิกรไทยตามหลักเกณฑ์ Basel III ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 ยังคงมีความแข็งแกร่งอยู่ที่ 18.81% โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่1 อยู่ที่ 16.84%
ทั้งนี้ งบการเงินรวมของธนาคารและบริษัทย่อยสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ได้รวมฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของธนาคารแมสเปี้ยน จากการเข้าไปลงทุนเพิ่มในช่วงปลายปีทำให้มีสัดส่วนการถือหุ้นรวมร้อยละ 67.50 ของหุ้นที่ออกและชำระแล้ว ซึ่งไม่มีผลกระทบต่องบการเงินรวมอย่างมีสาระสำคัญ
น.ส.ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า แม้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2565 จะสามารถประคองทิศทางการฟื้นตัวได้ดีกว่าปี 2564 แต่ภาคการส่งออกของไทยเริ่มได้รับผลกระทบจากสัญญาณชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ปรากฏขึ้นอย่างชัดเจนตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2565 และมีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นภาวะเศรษฐกิจถดถอย ในปี 2566 เนื่องจากธนาคารกลางของประเทศแกนหลักของโลกยังคงต้องคุมเข้มนโยบายการเงินต่อเนื่องเพื่อสกัดแรงกดดันเงินเฟ้อ
นอกจากนี้ แม้ว่าจีนจะเริ่มทยอยเปิดประเทศ แต่การฟื้นตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวจีนอาจหนุนตลาดต่างชาติเที่ยวไทยได้เพียงในระดับหนึ่ง ทำให้การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวของไทยในปี 2566 จะยังไม่สามารถกลับเข้าสู่ระดับก่อนโควิด-19 ได้
ดังนั้น เส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ยังคงมีความเปราะบาง และยังคงต้องติดตามแรงกดดันในส่วนของต้นทุนการผลิต ค่าจ้างแรงงาน อัตราเงินเฟ้อ ปัญหาค่าครองชีพ และอัตราดอกเบี้ยในประเทศที่ยังขยับขึ้นต่อเนื่องด้วยเช่นกัน
ธนาคารและบริษัทย่อยจึงยังคงดำเนินธุรกิจตามหลักความระมัดระวังรอบคอบภายใต้ทิศทางภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอน ในการเดินหน้าเชิงกลยุทธ์ด้วยการใช้เทคโนโลยี และกระบวนการใหม่ ๆ รวมทั้งการผนึกกำลังกับพันธมิตรทางธุรกิจ และการเป็นธนาคารยุคใหม่แห่งภูมิภาค AEC+3 อย่างต่อเนื่องในการขยายโอกาสการเข้าถึงบริการทางการเงินในระบบธนาคารพาณิชย์ให้กับประชาชนในวงกว้าง ให้ได้รับการสนับสนุนเงินทุนและสภาพคล่อง
และใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์ และบริการต่าง ๆ ของธนาคาร ส่งเสริมให้ธุรกิจลูกค้าเติบโตอย่างต่อเนื่อง ตอบรับโอกาสทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้นรวมทั้งธนาคารยังคงดำเนินการเชิงรุกในการดูแล และให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องแก่ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่มีการฟื้นตัวไม่เท่ากันผ่านช่องทางต่างๆ ของธนาคาร
@‘กรุงไทย’ กำไร 3.36 หมื่นล้าน เพิ่ม 56.1%-มองจีดีพีปี 66 โต 3.4%
ส่วน ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB รายงานว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 4/2565 เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2564 ธนาคารและบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร เท่ากับ 8,109 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 64% มีสาเหตุหลักจากรายได้รวมจากการดำเนินงานที่ขยายตัว 15.8% จากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ ตามการเติบโตของสินเชื่อที่มุ่งเน้นคุณภาพทั้งสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่และสินเชื่อรายย่อย พร้อมรักษาสมดุลของสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง
โดยธนาคารมีการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายโดยองค์รวม ส่งผลให้ Cost to Income ratio เท่ากับ 45.30% ลดลงจาก 49.16% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน ธนาคารและบริษัทย่อย ตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจำนวน 7,532 ล้านบาท ลดลง 8.5% โดยยังคงรักษา Coverage ratio ในระดับสูง
ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3/2565 กำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาจากการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น เพิ่มขึ้น 32.9% ซึ่งเป็นการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์อย่างระมัดระวัง
พร้อมกับการพิจารณาตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอย่างรอบคอบถึงปัจจัยแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจ ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอน จากค่าครองชีพ ค่าแรงงาน อัตราดอกเบี้ย ราคาพลังงาน และเงินเฟ้อที่สูงขึ้น กระทบกลุ่มเปราะบางต่อเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ของประเทศมหาอำนาจของโลก ส่งผลให้ NPLs Ratio-Gross เท่ากับ 3.26% และยังคงรักษา Coverage ratio ในระดับสูงที่ 179.7%
โดยธนาคารมีกำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 9.7% มีสาเหตุหลักจากรายได้รวมจากการดำเนินงานที่ขยายตัว 9.7% จากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ และรายได้จากการดำเนินงานอื่น ประกอบกับการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในองค์รวม ทำให้ Cost to Income ratio เท่ากับ 45.30%
สำหรับผลการดำเนินงานปี 2565 ธนาคารและบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร เท่ากับ 33,698 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 56.1% สาเหตุหลักจากรายได้รวมจากการดำเนินงานที่ขยายตัวร้อยละ 8.3 จากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เพิ่มขึ้นตามการเติบโตของสินเชื่อที่มุ่งเน้นคุณภาพ
โดยสินเชื่อไม่รวมสินเชื่อภาครัฐเติบโต 4.3% จากสิ้นปี 2564 และอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวขึ้น รายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิและรายได้จากการดำเนินงานอื่นๆ ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสามารถบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในองค์รวม ทำให้ Cost to Income ratio เท่ากับ 43.68% ลดลงจาก 45.54% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน
ทั้งนี้ ธนาคารและบริษัทย่อยมีการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์อย่างระมัดระวัง และติดตามภาพรวมของเงินให้สินเชื่ออย่างใกล้ชิด โดยมีอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวม (NPLs Ratio-Gross) 3.26% ลดลงจากสิ้นปี 2564 ที่เท่ากับ 3.50%
อีกทั้งพิจารณาอย่างรอบคอบถึงปัจจัยแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจ ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอน โดยตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นลดลง 25.2% จากช่วงเดียวกันของปี ซึ่งยังคงรักษา Coverage ratio ในระดับสูงที่ 179.7% เทียบกับ 168.8% เมื่อสิ้นปี 2564
ทั้งนี้ ณ 31 ธันวาคม 2565 ธนาคารมีการตั้งสำรองฯจำนวน 24,338 ล้านบาท เทียบกับ ณ 31 ธันวาคม 2564 ที่มีการตั้งสำรองฯ 32,524 ล้านบาท
ณ 31 ธันวาคม 2565 ธนาคาร (งบการเงินเฉพาะธนาคาร) มีเงินกองทุนชั้นที่ 1 16.50% ของสินทรัพย์ถ่วงน้ำหนักตามความเสี่ยง และมีเงินกองทุนทั้งสิ้น 19.68% ของสินทรัพย์ถ่วงน้ำหนักตามความเสี่ยง ซึ่งอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับเกณฑ์ของ ธปท.
ทั้งนี้ ในเดือนเมษายน 2565 ธนาคารได้ออกตราสารด้อยสิทธิ ที่สามารถนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 จำนวน 18,080 ล้านบาทเพื่อเตรียมพร้อมทดแทนตราสารด้อยสิทธิที่ไถ่ถอนจำนวน 20,000 ล้านบาทในเดือนพฤศจิกายน 2565 ซึ่งเป็นการไถ่ถอนก่อนวันครบกำหนดเพื่อช่วยรักษาระดับของอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 2 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงให้แข็งแกร่งและรองรับการเติบโตในอนาคต
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยปี 2565 ฟื้นตัวต่อเนื่องจากการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวได้ดี กิจกรรมเศรษฐกิจภายในประเทศทยอยกลับมาเป็นปกติมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี รวมถึงการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565 ช่วยให้ภาคการท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง จากสงครามรัสเซียและยูเครนกดดันราคาพลังงานให้เพิ่มขึ้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อคุมภาวะเงินเฟ้อ และสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ธนาคารตระหนักถึงผลกระทบต่อลูกค้าประชาชน จึงพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยให้ความสำคัญกับการดูแลลูกค้ากลุ่มเปราะบางที่รายได้ยังไม่กลับมาปกติ ผ่านมาตรการความช่วยเหลือที่เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละกลุ่ม โดยคำนึงถึงศักยภาพและโอกาสในการปรับตัวของลูกค้า เพื่อรองรับทิศทางเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว พร้อมดูแลผู้ฝากเงินให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ส่งเสริมการออมเพื่อความมั่นคงทางการเงินในอนาคต
ในปี 2565 ธนาคารมุ่งมั่นขับเคลื่อนองค์กรด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนไทยภายใต้วิถีใหม่ (New Normal) ทั้งในด้านการชำระเงิน พัฒนา “เป๋าตังเปย์” เป็นซูเปอร์วอลเล็ตสำหรับคนรุ่นใหม่ เติมเต็มฐานลูกค้าให้ตอบโจทย์ทุกฐาน จับมือพันธมิตรทำ โครงการ “Point Pay” นำคะแนนสะสมของพันธมิตรทั้ง AIS บางจาก และ MAAI by KTC มาใช้จ่ายแทนเงินสดในร้านค้าถุงเงินทั่วประเทศ เพิ่มโอกาสขายสินค้า เพิ่มรายได้ให้กับร้านค้าถุงเงินซึ่งเป็นร้านค้าขนาดเล็ก การออมและการลงทุน เป็นต้น
สำหรับทิศทางเศรษฐกิจไทย ปี 2566 Krungthai Compass คาดว่าจะขยายตัวได้ในระดับ 3.4% ตามแนวโน้มการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังเผชิญความท้าทาย จากภาคการส่งออกที่มีสัญญาณการชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก ขณะที่ภาวะต้นทุนที่อยู่ในระดับสูงตามราคาพลังงาน ค่าไฟฟ้า และทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น
@‘กรุงศรี’ กำไรสุทธิ 3.07 หมื่นล้าน ร่วง 9.1% แม้ตั้งสำรองฯลดลง
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY รายงานว่า ในช่วงไตรมาส 4/2565 ธนาคารฯ มีกำไรสุทธิ 7,392 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (ไตรมาส 4/2564) ที่มีกำไรสุทธิ 6,385 ล้านบาท โดยมีปัจจัยหลักมาจากการลดลงของผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น
ส่วนผลประกอบการของปี 2565 ธนาคารฯมีกำไรสุทธิจำนวน 30,712 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้าที่มีกำไรสุทธิ 33,794 ล้านบาท หรือคิดเป็น 9.1%
โดยธนาคารมีกำไรสุทธิจากการดำเนินงานปกติจำนวน 30,713 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20% จากปีก่อนหน้า สนับสนุนโดยการลดลงของภาระการตั้งสำรอง และการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ ตามการเติบโตของสินเชื่อในกลุ่มที่มีอัตราผลตอบแทนสูงและส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิปรับตัวดีขึ้น
โดยเงินให้สินเชื่อของกรุงศรีเติบโตอย่างทั่วถึงและครอบคลุมทุกกลุ่มลูกค้าในปี 2565 โดยสินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดใหญ่และสินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งที่ 3.8% และ 5.3% ตามลำดับ
สะท้อนการปรับตัวดีขึ้นของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการลงทุนภาคเอกชน ที่ช่วยกระตุ้นความต้องการเงินทุนหมุนเวียนและสภาพคล่องของภาคธุรกิจ กอปรกับการบริหารจัดการโครงสร้างทางการเงินอย่างมีประสิทธิภาพของธนาคาร ส่งผลให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิและส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มสูงขึ้น
สรุปผลประกอบการและฐานะการเงินที่สำคัญสำหรับปี 2565
กำไรสุทธิจากการดำเนินงานตามปกติในปี 2565 จำนวน 30,713 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.9% หรือ 5,104 ล้านบาท จากปี 2564 โดยมีปัจจัยหลักมาจากการปรับตัวดีขึ้นของภาระการตั้งสำรองและการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของเงินให้สินเชื่อ และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิที่ปรับตัวดีขึ้นในระหว่างปี
ทั้งนี้ หากรวมรายการพิเศษจากการบันทึกกำไรจากเงินลงทุนจากการขายหุ้นของ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) (เงินติดล้อ) ในปี 2564 กำไรสุทธิลดลง 9.1% หรือจำนวน 3,081 ล้านบาท
เงินให้สินเชื่อรวมเพิ่มขึ้น 3.1% หรือจำนวน 59,033 ล้านบาท จากสิ้นเดือนธันวาคมปี 2564 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างทั่วถึงและครอบคลุมทุกกลุ่มลูกค้า ทั้งนี้ สินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดใหญ่และสินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมขยายตัว 3.8% และ 5.3% ตามลำดับ
เงินรับฝาก เพิ่มขึ้น 1.4% หรือจำนวน 25,553 ล้านบาท จากสิ้นเดือนธันวาคมปี 2564 โดยมีปัจจัยหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของเงินรับฝากประเภทออมทรัพย์
ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ปรับตัวดีขึ้นอยู่ที่ 3.45% จาก 3.24% ในปี 2564 โดยเป็นผลมาจากการปรับตัวดีขึ้นของอัตราผลตอบแทนของสินทรัพย์ ขณะที่ต้นทุนทางการเงินคงที่
รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยจากการดำเนินงานตามปกติลดลง 4.6% หรือ 1,561 ล้านบาท จากปี 2564 หากรวมรายการพิเศษจากการบันทึกกำไรจากเงินลงทุนจากการขายหุ้นของเงินติดล้อในปี 2564 รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงจำนวน 12,288 ล้านบาท หรือ 27.4%
อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้อยู่ที่ 43.8% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานตามปกติ (หากไม่รวมกำไรพิเศษจากการขายหุ้นเงินติดล้อ) ที่ 43.2% ในปี 2564
อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL Ratio) อยู่ที่ 2.32% เมื่อเทียบกับ 2.20% ณ สิ้นปี 2564 กรุงศรียังคงบริหารจัดการความเสี่ยงด้วยความรอบคอบระมัดระวัง โดยมีสัดส่วนการตั้งสำรองต่อสินเชื่อรวมในระดับ 136 เบสิสพอยนต์ในปี 2565
อัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ อยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 167.4%
อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (ของธนาคาร) อยู่ที่ 17.97% ลดลงจาก 18.53% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2564
นายเซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) (BAY) กล่าวว่า จากความมุ่งมั่นในการสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยและการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคธุรกิจ กรุงศรีสามารถส่งมอบกำไรสุทธิจากการดำเนินงานที่แข็งแกร่งในปี 2565 โดยเงินให้สินเชื่อรวมเติบโตอย่างทั่วถึงและครอบคลุมทั้งกลุ่มลูกค้าธุรกิจและรายย่อย ทั้งนี้ ธนาคารยังคงดำเนินกลยุทธ์การขยายธุรกิจและบริหารจัดการความเสี่ยงด้วยความรอบคอบระมัดระวัง
“สำหรับในปี 2566 แม้ว่าหลายตัวแปรทางความเสี่ยง เช่น ภาวะเศรษฐกิจถดถอย และปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์อาจกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย อย่างไรก็ดี การท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนจะยังคงเป็นแรงสนับสนุนหลักที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยต่อเนื่องจากปี 2565 และบรรเทาผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ กรุงศรีคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ในอัตรา 3.6% ในปี 2566” นายเซอิจิโระ กล่าว
ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 กรุงศรี ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจการเงินที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 5 ในระบบเศรษฐกิจไทยจากมูลค่าสินทรัพย์ สินเชื่อและเงินรับฝาก และเป็นหนึ่งในสถาบันการเงินที่มีความสำคัญเชิงระบบ (D-SIB)
มีสินเชื่อรวม 1.95 ล้านล้านบาท เงินรับฝาก 1.80 ล้านล้านบาท และสินทรัพย์รวม 2.64 ล้านล้านบาท ขณะที่เงินกองทุนของธนาคารอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 300.70 พันล้านบาท หรือเทียบเท่า 17.97% ของสินทรัพย์เสี่ยง โดยเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นของเจ้าของคิดเป็น 13.23%
@‘แบงก์กรุงเทพ’ กำไรสุทธิ 2.93 หมื่นล้าน เติบโต 10.6%
ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL รายงานว่า ในช่วงไตรมาส 4/2565 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร จำนวน 7,569 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน เนื่องจากค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นซึ่งเป็นไปตามฤดูกาล ประกอบกับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงจากกำไรสุทธิจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุน (FVTPL) ตามสภาวะตลาด
ขณะที่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น จากอัตราผลตอบแทนของสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ตามการปรับตัวของอัตราดอกเบี้ยในตลาด ทั้งนี้ ธนาคารมีผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นลดลง โดยยังคงอยู่ภายใต้หลักความระมัดระวังในการตั้งสำรอง
ทั้งนี้ หากเทียบกับไตรมาส 4/2564 กำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร เพิ่มขึ้น 19.8%
สำหรับปี 2565 ธนาคารกรุงเทพและบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิ 2565 จำนวน 29,306 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.6% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 24.4% ตามการเพิ่มขึ้นของปริมาณเงินให้สินเชื่อและการปรับตัวของอัตราดอกเบี้ย ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 2.42% สอดคล้องกับทิศทางของอัตราดอกเบี้ยและการบริหารจัดการสภาพคล่องของธนาคาร
ขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลง 30.0% ส่วนใหญ่เกิดจากการปรับมูลค่ายุติธรรมของเครื่องมือทางการเงินซึ่งเป็นไปตามสภาวะตลาด และรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิลดลงจากธุรกิจหลักทรัพย์ และบริการประกันผ่านธนาคารและบริการกองทุนรวม ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมจากการอำนวยสินเชื่อและบริการการค้าระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น สำหรับอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ 49.7%
ธนาคารพิจารณาตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจำนวน 32,647 ล้านบาท ลดลง 4.4% จากปีก่อน ธนาคารยังคงยึดหลักความระมัดระวังในการตั้งสำรอง โดยพิจารณาความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า
ทั้งนี้ ธนาคารกรุงเทพยังคงแนวทางการดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวังและรอบคอบ พร้อมทั้งดำรงฐานะการเงิน สภาพคล่อง และเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง เพื่อการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน
ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2565 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อจำนวน 2,682,691 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.6% จากสิ้นปี 2564 ส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นจากสินเชื่อลูกค้าธุรกิจรายใหญ่และสินเชื่อกิจการต่างประเทศ สำหรับอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อรวมยังคงอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ที่ 3.1%
ทั้งนี้ จากการที่ธนาคารยึดหลักการตั้งสำรองด้วยความระมัดระวังและรอบคอบอย่างต่อเนื่อง ทำให้อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 260.8%
ธนาคารมีเงินรับฝาก ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2565 จำนวน 3,210,896 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.7% จากสิ้นปี 2564 และมีอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินรับฝากอยู่ที่ 83.5% ขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้น อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารและบริษัทย่อยอยู่ที่ 19.1% และ 15.7% และ 14.9% ตามลำดับ ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่าอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นต่ำตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
ธนาคารกรุงเทพ ระบุว่า ในระยะข้างหน้าเศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญกับความเสี่ยงจากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง ท่ามกลางดอกเบี้ยนโยบายที่ปรับสูงขึ้นทั่วโลก และความไม่แน่นอนจากปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อ อย่างไรก็ตาม การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากจีน จะเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ซึ่งคาดว่าไทยจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่า 20 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 50% เทียบกับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19
“แม้ว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในทิศทางฟื้นตัวจากการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่มีแนวโน้มที่จะเผชิญกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ธนาคารกรุงเทพจึงให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการดูแลลูกค้าทั้งลูกค้าธุรกิจและลูกค้าบุคคลอย่างใกล้ชิดให้สามารถก้าวผ่านความท้าทายทางเศรษฐกิจที่กำลังรออยู่ โดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับสถานการณ์และผลกระทบของลูกค้าแต่ละราย” ธนาคารกรุงเทพ ระบุ
นอกจากนี้ ธนาคารให้คำแนะนำในการปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจตามแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า ทั้งด้านดิจิทัลเทคโนโลยี นวัตกรรมแห่งโลกอนาคต รวมถึงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ตลอดจนการสร้างโอกาสการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืน ภายใต้เจตนารมณ์ของการเป็น “เพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน” ในขณะเดียวกันธนาคารให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพฐานะการเงิน สภาพคล่อง และเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง
@‘ทีเอ็มบีธนชาต’ กำไรสุทธิ 1.4 หมื่นล. เติบโต 36%
ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ ทีเอ็มบีธนชาต (TTB) แจ้งผลประกอบการไตรมาส 4 และรอบ 12 เดือน ปี 2565 ว่า ผลการดำเนินงานยังคงปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง และมีกำไรสุทธิในไตรมาส 4 ปี 2565 ที่ 3,847 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 37% จากปีที่แล้ว ส่วนทั้งปี 2565 มีกำไรสุทธิ 14,195 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36% จากปี 2564 ด้านคุณภาพสินทรัพย์ยังดูแลได้ดี โดยอัตราส่วนหนี้เสียอยู่ที่ 2.73% ลดลงจากปีที่แล้วและต่ำกว่ากรอบที่วางไว้
นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบีธนชาต หรือ TTB เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในปี 2565 นี้ ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องทุกไตรมาส ถือว่าเป็นความสำเร็จที่เกิดจาก Strategy และ Execution นั่นคือ การวางกลยุทธ์ที่เหมาะสมและสามารถทำได้จริงตามแผนที่วางไว้
โดยกลยุทธ์ที่เรามุ่งเน้นมาตลอด ได้แก่ การเติบโตสินเชื่ออย่างมีคุณภาพ การมีวินัยด้านค่าใช้จ่าย และการบริหารความเสี่ยงอย่างรอบคอบ ที่สำคัญคือการดูแลลูกค้าในเชิงรุกและให้ความช่วยเหลือทางการเงินอย่างเหมาะสม จึงส่งผลให้ลูกค้าโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางสามารถปรับตัวผ่านช่วงที่ยากลำบากและมีสถานการณ์ที่ดีขึ้นเป็นลำดับ ทำให้พอร์ตสินเชื่อมีคุณภาพดี หนี้เสียลดลง และทำให้ค่าใช้จ่ายตั้งสำรองฯ ลดลงอย่างมีนัยสำคัญในท้ายที่สุด เป็นปัจจัยหนุนผลกำไรและสถานะทางการเงินให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น
อีกหนึ่งกลยุทธ์หลักในปี 2565 ได้แก่ การเตรียมความพร้อมสำหรับวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น โดยธนาคารสามารถบริหารงบดุล (Balance SheetManagement) ได้อย่างมีประสิทธิภาพผ่านการดำเนินการหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการปรับโครงสร้างเงินฝาก ด้วยการทยอยเพิ่มเงินฝากประจำเพื่อล็อกต้นทุนเงินฝากและขยายฐานเงินฝากล่วงหน้าในการรองรับแผนการเติบโตสินเชื่อในปี 2566 ในด้านการลงทุนธนาคารได้ปรับพอร์ตให้มีระยะเวลาลงทุนสั้นลงเพื่อช่วยเพิ่มผลตอบแทนในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น และเนื่องจากที่ผ่านมาธนาคารดำรงเงินกองทุนในระดับสูงมาโดยตลอด
ดังนั้น เมื่อมองเห็นโอกาสในตลาดตราสารหนี้ จึงได้ทำการซื้อคืนตราสารหนี้ที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 หรือ AT1 กลับมาบางส่วน ซึ่งนอกจากจะเป็นไปตามแผนการบริหารส่วนทุน (Capital Management) ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นแล้วธนาคารยังได้ผลตอบแทนจากส่วนต่างราคาซื้อคืนอีกด้วย
ทั้งนี้ ธนาคารสามารถทำได้ตามแผนเช่นกัน เริ่มจากการปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจและจัดตั้งบริษัท ทีทีบี คอนซูมเมอร์ การเปิดตัวแอปพลิเคชัน ttb touch รวมไปถึงการลงทุนและพัฒนาด้านดิจิทัล ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการรับรู้ Revenue Synergy ด้านการรับรู้ Balance Sheet Synergy และ Cost Synergy นั้น ทำได้ดีกว่าเป้าหมาย ขณะที่ธนาคารได้ส่งผ่านผลประโยชน์จากการรวมกิจการกลับคืนไปยังผู้ถือหุ้นอย่างต่อเนื่อง
สำหรับรายละเอียดผลการดำเนินงานหลักในปี 2565 มีดังนี้
ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2565 เงินฝากอยู่ที่ 1,399 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.9% จากไตรมาสก่อน (QoQ) และ 4.5% จากปี 2564 (YTD) หนุนโดยการเพิ่มขึ้นของเงินฝากประจำ สอดคล้องกับกลยุทธ์ด้านเงินฝากเพื่อรองรับแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้นและการเติบโตสินเชื่อในปี 2566
ด้านสินเชื่ออยู่ที่ 1,376 พันล้านบาท ลดลงเล็กน้อย 1.3% QoQ เนื่องจากมีการชำระหนี้คืนจากลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ แต่ทั้งปียังคงเพิ่มขึ้น 0.4% YTD ซึ่งเป็นผลจากการเติบโตสินเชื่ออย่างระมัดระวัง โดยเน้นสินเชื่อรายย่อยเป็นหลัก นำโดยสินเชื่อเช่าซื้อและสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย
ในส่วนของรายได้นั้นมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิในไตรมาส 4 อยู่ที่ 13,826 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.6% QoQ หนุนโดยการเติบโตสินเชื่อรายย่อยและการบริหารต้นทุนทางการเงินหลังการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ด้านรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยอยู่ที่ 4,014 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.7% QoQ จากรายได้ค่าธรรมเนียมที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการรับรู้ผลตอบแทนจากการซื้อคืนตราสารหนี้ AT1 ส่งผลให้รายได้จากการดำเนินงานรวมในไตรมาส 4 อยู่ที่ 17,840 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.1% QoQ
รวม 12 เดือน ปี 2565 ธนาคารมีรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ 65,852 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.5% จากปีก่อนหน้า (YoY) ขณะที่ค่าใช้จ่ายดำเนินงานอยู่ที่ 29,952 ล้านบาท ลดลง 4.1% YoY สะท้อนถึงการรับรู้ Cost Synergy และการมีวินัยด้านค่าใช้จ่าย
อัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ในปี 2565 อยู่ที่ 45% ลดลงจาก 48% ในปี 2564 ส่งผลให้กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองฯ หรือ PPOP อยู่ที่ 36,169 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.4% YoY ด้านค่าใช้จ่ายสำรองฯ อยู่ที่ 18,353 ล้านบาท ลดลง 14.7% จากปีที่แล้ว
เมื่อหักค่าใช้จ่ายสำรองฯ และภาษี จึงทำให้มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 14,195 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35.5% YoY
ทั้งนี้ การตั้งสำรองฯ ที่ลดลงเป็นผลจากการดูแลคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคาร รวมไปถึงการดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิดและให้ความช่วยเหลือได้อย่างเหมาะสม ส่งผลให้ธนาคารสามารถควบคุมและลดสัดส่วนหนี้เสียลงมาได้อย่างต่อเนื่อง จากระดับสูงสุดในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ 2.98% ในไตรมาส 3/64 มาอยู่ที่ 2.81% ณ สิ้นปี 2564 และ 2.73% ณ สิ้นปี 2565 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่ากรอบควบคุมและต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม
ด้านความเพียงพอของเงินกองทุนยังอยู่ในระดับสูงและเป็นลำดับต้นๆ ของอุตสาหกรรม โดยอัตราส่วน CAR และ Tier 1 (เบื้องต้น) ณ สิ้นปี 2565เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 20.0% และ 16.3% เทียบกับ 19.3%และ 15.3% ณ สิ้นปี 2564 และสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารกลุ่ม D-SIBs ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้ที่ 12.0% และ 9.5% ตามลำดับ
อ่านประกอบ :
‘ธปท.’ เผยสินเชื่อ ‘ระบบธนาคารพาณิชย์’ ไตรมาส 3/65 เติบโต 5.3%-NPL ลดเหลือ 2.77%
'ธปท.'เผยไตรมาส 2/65 ยอดปล่อยสินเชื่อ'ระบบแบงก์พาณิชย์'โต 6.3%-หนี้เสียลดเหลือ 2.88%
'ธปท.' เผยไตรมาส 1/65 สินเชื่อ'แบงก์พาณิชย์' เติบโต 6.9%- 'หนี้เสีย'ทรงตัวที่ 2.93%
ไตรมาสแรก '6 แบงก์ใหญ่' กำไรเพิ่มทั่วหน้า ตั้งสำรองฯลดลง-คุณภาพสินเชื่อดีขึ้น
‘ธปท.’ เผยปี 64 ระบบแบงก์พาณิชย์ มีกำไรสุทธิ 1.81 แสนล้าน เพิ่มขึ้น 23.6%-NPL 2.98%
ธปท.ประกาศให้ 'แบงก์พาณิชย์' จ่ายเงินปันผล ไม่เกิน 50% ของกำไรสุทธิ ปี 64