‘ผู้ว่าฯธปท.’ มองเศรษฐกิจปี 66 เติบโต 3.8% ฟื้นตัวต่อเนื่องจากปี 65 แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัว ฉุดส่งออกไทยปีหน้าโตแค่ 1% ย้ำไม่จำเป็นต้องขึ้น ‘ดอกเบี้ย’ แรง สกัดเงินเฟ้อ
......................................
เมื่อวันที่ 14 พ.ย. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานภาคเหนือ จัดงานสัมมนาประจำปี 2565 ‘Moving beyond the curve: ก้าวข้ามความท้าทาย สู่อนาคตเศรษฐกิจการเงินใหม่ภาคเหนือ’ โดยนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวในการสนทนากับผู้ว่าการ ธปท. หัวข้อ ‘ก้าวข้ามความท้าทาย วางนโยบายสู่อนาคต’ ตอนหนึ่งว่า แม้ว่าเศรษฐกิจโลกมีโอกาสเข้าสู่ภาวะถดถอย แต่เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยโดยรวมน่าจะมีการฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง
“ปีนี้ ในแง่จีดีพีตัวเลขที่เรามองไว้น่าจะเห็น 3.3% ปีหน้า 3.8% แนวโน้มจึงยังเป็นอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเราน่าจะกลับไปสู่ระดับจีดีพีเท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด ไม่ปลายปีนี้ก็ต้นปีหน้า แต่ไม่ได้เป็นการฟื้นตัวที่เร็ว และถ้าเทียบกับประเทศอื่น เราฟื้นตัวค่อนข้างช้า เพราะถูกกระทบหนักจากโควิด เนื่องจากพึ่งพาท่องเที่ยวมาก ซึ่งตอนนี้การฟื้นตัวถูกพยุงโดยการบริโภคในประเทศที่ฟื้นต่อเนื่อง และไม่ใช่แค่คนอัดอั้น แต่รายได้คนเริ่มฟื้นตัว รวมถึงมีการฟื้นตัวในภาคท่องเที่ยว
ในขณะที่เศรษฐกิจโลกยังไงก็ชะลอลง และชะลอลงอย่างเห็นได้ชัดด้วย ตอนที่เราทำประมาณการเศรษฐกิจ เราไม่คิดว่าปีหน้าการส่งออกจะสวยหรูอะไร ปีนี้เรามองว่าการส่งออกจะเติบโตประมาณ 8% ส่วนปีหน้าคาดว่าจะเติบโตแค่ 1% ซึ่งสอดคล้องกับภาพเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และถึงแม้ว่าเราจะเห็นเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง และเห็นความผันผวนในตลาดการเงินโลก แต่การฟื้นตัวของไทยยังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป” นายเศรษฐพุฒิ ระบุ
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวต่อว่า โจทย์ของ ธปท. คือ ทำอย่างไรให้การฟื้นตัวเศรษฐกิจและไม่สะดุด ซึ่งเงินเฟ้อที่เป็นหนึ่งปัจจัยที่อาจจะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ ดังนั้น การที่เรามีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเป็นเวลานานมากแล้ว และทำนโยบายการเงินที่ผ่อนปรนมาก จึงไม่ค่อยเหมาะสมกับบริบทในปัจจุบันที่เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น และมีความจำเป็นที่เราต้องเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่เป็นการขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป และเหมาะสมกับบริบทเศรษฐกิจ
“บางช่วงเราอาจหยุด ไม่ให้ขึ้น หรือบางช่วงจำเป็นต้องขึ้นมากกว่า 0.25% ต้องขึ้น 0.5% ก็ต้องขึ้น อย่างไรก็ดี แม้ว่าตอนนี้เศรษฐกิจเราจะอยู่ในช่วงการฟื้นตัวขาขึ้น แต่ถ้าเทียบเคียงเหมือนเป็นคนไข้ คนไข้ที่ฟื้นแล้วแต่มีอาการหลายอย่างพร้อมกัน เช่น อาการเงินเฟ้อ หนี้สูง โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือนที่สูง เศรษฐกิจฟื้นช้า และค่าเงินบาทก็อ่อน ดังนั้น ในการทำนโยบายจึงต้องดูแบบองค์รวม จะไปเลือกทำจุดใดจุดหนึ่งโดยไม่ดูผลข้างเคียง คงไม่ได้” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
นายเศรษฐพุฒิ ระบุว่า ที่ผ่านมาอัตราเงินเฟ้อของไทยปรับตัวเพิ่มขึ้น และมีบางช่วงที่เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นไปถึง 7.9% แทบจะสูงที่สุดในภูมิภาค และหากทียบเคียงกับกรณีคนไข้แล้ว สิ่งที่ต้องรักษาอย่างแรก คือ ต้องทำให้ไข้ลงก่อน เพราะหากปล่อยให้ไข้อยู่ยาว คือ ปล่อยเงินเฟ้อให้อยู่ยาวหรืออยู่นาน จะส่งผลไม่ดีอย่างมาก เพราะเงินเฟ้อจะฝังราก คนจะคิดว่าเงินเฟ้อจะอยู่อย่างนี้ ซึ่งจะทำให้เกิดวงจรอุบาทว์ที่เรียกว่า Wage-price Spiral เราจึงจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
นายเศรษฐพุฒิ ย้ำด้วยว่า “ที่เราบอกว่าเราจะขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะเรามองว่า เราไม่มีความจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยแรง เพื่อไปต่อต้านหรือต่อสู้กับเงินเฟ้อเหมือนที่สหรัฐหรือยุโรปเจอ” พร้อมระบุว่า "ปีหน้า เงินเฟ้อจะกลับเข้ามาอยู่ในกรอบเงินเฟ้อของเรา คือ เงินเฟ้อจะอยู่ในกรอบ 1-3% ซึ่งเราคิดว่าเงินเฟ้อปีหน้าจะต่ำกว่า 3% หรือ 2% กว่าๆ ขณะที่เศรษฐกิจจะยังฟื้นได้ต่อเนื่อง"
ส่วนกรณีที่นักวิเคราะห์บอกว่า การที่ไทยขึ้นดอกเบี้ยช้า ทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ยสูง และส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนนั้น ธปท.ได้พยายามชี้แจงไปแล้วว่า ค่าเงินบาทที่อ่อนค่ามาจากปัจจัยต่างประเทศ โดยค่าเงินบาทที่อ่อนค่ามาจากปัจจัยหลัก คือ เงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่า และบางช่วงอาจโยงถึงค่าเงินหยวน โดยปีนี้เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าไปแล้ว 10-11% แต่ค่าเงินบาทอ่อน 7% อ่อนน้อยกว่าที่ดอลลาร์แข็ง และอ่อนน้อยกว่าประเทศอื่นๆในภูมิภาค ยกเว้นสิงคโปร์
“เราอ่อนน้อยกว่าอินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งประเทศเหล่านี้ มีส่วนต่างดอกเบี้ยน้อยกว่าเรา ตัว Key จึงไม่ใช่เรื่องส่วนต่างของดอกเบี้ย” นายเศรษฐพุฒิ กล่าวและว่า “แม้จะมีเรื่องส่วนต่างดอกเบี้ย แต่ปีนี้ประเทศเรามีเงินทุนไหลเข้า และไหลเข้ามาประมาณ 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสะท้อนว่าการเคลื่อนย้ายเงินทุน ไม่ใช่แค่เรื่องส่วนต่างดอกเบี้ย และท้ายที่สุดมันก็โชว์ให้เห็นแล้วว่า ค่าเงินของเรามีเสถียรภาพ และเสถียรภาพต่างประเทศเราไม่ได้ด้อยเลย”
อ่านประกอบ :
ลดกระตุ้นอสังหาฯ! ‘ธปท.’ไม่ต่ออายุผ่อนคลายมาตรการ LTV-เศรษฐกิจ ก.ย.อยู่ในทิศทางฟื้นตัว
ไม่น่าห่วง!'ธปท.'ย้ำ'ทุนสำรองฯ'ลด เหตุตีมูลค่าสินทรัพย์-เร่งสร้าง'กันชน'รับมือโลกผันผวน
‘แบงก์ชาติ’ คัดท้าย 5 ‘หางเสือ’ ขับเคลื่อนนโยบายปี 66
กลับสู่ความยั่งยืน!‘ธปท.’เล็งออกมาตรการคุม‘หนี้ครัวเรือน’-ไตรมาส 2 หนี้ทะยาน 14.7 ล้านล.
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ : โครงสร้างเศรษฐกิจไทย....ต้องเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่