‘ธปท.’ ลดกระตุ้นอสังหาฯ ยันไม่ต่ออายุผ่อนคลายมาตรการ LTV ที่จะสิ้นสุด 31 ธ.ค.นี้ หลังภาคอสังหาฯทยอยฟื้นแล้ว เผยเศรษฐกิจไทยเดือน ก.ย.65 ยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัว
.....................................
เมื่อวันที่ 31 ต.ค. น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะโฆษก ธปท. แถลงภาวะเศรษฐกิจและการเงินเดือน ก.ย.2565 ว่า เศรษฐกิจไทยเดือน ก.ย.2565 ยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัว โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้การใช้จ่ายในภาคเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น ประกอบมูลค่าการส่งออกสินค้าปรับตัวดีขึ้นหลังจากลดลงมากในเดือนก่อน ขณะที่อุปสงค์ในประเทศอยู่ในภาวะทรงตัว
สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจนั้น อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับตัวลดลงตามหมวดพลังงาน อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับเดือนก่อน ด้านตลาดแรงงานฟื้นตัวต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจ ดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเกินดุลตามดุลการค้า ประกอบกับดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่ขาดดุลลดลงตามรายจ่ายค่าระวางสินค้าที่ลดลงเป็นสำคัญ
“แม้ว่าในเดือน ก.ย.2565 ดุลบัญชีเดินสะพัดจะกลับมาเกินดุล 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่หากนับตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือน ก.ย.2565 ไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 1.77 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งปีนี้เรามองว่าภาพรวมการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจะอยู่ 1.45 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้น ถ้าในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้ นักท่องเที่ยวต่างชาติกลับเข้ามาเรื่อยๆ ตัวเลขขาดดุลบัญชีเดินสะพัดน่าจะอยู่ใกล้ๆกับตัวเลขที่เราคาดการณ์ไว้” น.ส.ชญาวดี กล่าว
ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจไตรมาส 3/2565 พบว่ามีการฟื้นตัวจากไตรมาสก่อน โดยหลักๆมาจากการใช้จ่ายในประเทศ การผลิตสินค้าและภาคบริการปรับตัวดีขึ้นชัดเจน อย่างไรก็ตาม มูลค่าการส่งออกสินค้าปรับตัวลดลงตามภาวะเศรษฐกิจคู่ค้า ส่วนเศรษฐกิจเดือน ต.ค.2565 คาดว่าจะยังฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง แต่ยังคงติดตามปัจจัยต่างๆ เช่น การเพิ่มขึ้นของต้นทุนค่าจ้างและราคาสินค้า อุปสงค์ต่างประเทศที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก
@‘ธปท.’ลดกระตุ้นภาคอสังหาฯ ไม่ต่ออายุผ่อนคลายมาตรการ LTV
น.ส.ชญาวดี กล่าวว่า แม้ว่าในระยะข้างหน้าเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัว แต่เนื่องจากไทยและต่างประเทศอยู่ในวัฏจักรเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน โดยเศรษฐกิจต่างประเทศฟื้นตัวไปก่อนแล้วและฟื้นตัวเร็ว แต่เศรษฐกิจไทยกำลังค่อยๆฟื้นตัว ดังนั้น สิ่งที่ ธปท. และคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องจะดูแล คือ การทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง และการฟื้นตัวนั้นจะต้องไม่ร้อนแรงจนเกินไป จนทำให้ในที่สุดแล้วจะต้องมีการใช้ยาแรงเหมือนกับประเทศอื่นๆที่มีการฟื้นค่อนข้างเร็ว
“ตอนนี้ของเราเหมือนอยู่ในช่วงขาขึ้น ถ้าจะไม่ให้มันฟื้นแรงเกินไป เราก็ต้องทำให้แน่ใจว่า การฟื้นตัวมีความสมดุล คือ เศรษฐกิจต้องฟื้นตัวไปได้ แต่บางอย่างที่ไม่ใช่แล้ว ที่มันเยอะเกินไป ที่เป็นมาตรการที่ผ่อนคลายในวงกว้าง และอาจสร้างผลข้างเคียงในระยะต่อไป เราจะต้องดูแล เพื่อไม่ให้ไปสร้างผลข้างเคียง ดังนั้น อะไรที่ไม่เหมาะกับภาวะของเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นแล้ว ก็ต้องลดลง” น.ส.ชญาวดี กล่าว
น.ส.ชญาวดี ยกตัวอย่างมาตรการที่จะต้องยุติหรือจะไม่มีการต่ออายุมาตรการฯ เช่น การยุติการดำเนินงานกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ (BSF) เนื่องจากสถานการณ์ในตลาดตราสารหนี้กลับสู่ภาวะปกติแล้ว และปัจจัยเสี่ยงที่มาจากการแพร่ระบาดของโควิด ซึ่งทำให้การต้องการความช่วยเหลือจากกองทุน BSF หมดไปแล้ว รวมถึงการไม่ต่ออายุการผ่อนคลายมาตรการ LTV (Loan to Value) ที่จะสิ้นสุดอายุในวันที่ 31 ธ.ค.นี้ เป็นต้น
“เรื่อง LTV ถ้าจำกันได้ เรามีการระบาดโควิดระลอก 3 ทำให้เศรษฐกิจไทยถูกซ้ำเติมจากการระบาดหลายระลอก ซึ่งแม้ว่าตอนนั้นเราจะฟื้นแล้ว ฟื้นเป็น k-shaped และส่วนหนึ่งเป็นการฟื้นตัวของภาคอสังหาฯ แต่เนื่องจากภาคอสังหาฯมีจุดพิเศษ คือ มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องไปได้หลายทาง ถ้าภาคอสังหาริมทรัพย์ได้รับการกระตุ้นบ้าง ก็อาจช่วยกระตุ้น และช่วยส่งผ่านความช่วยเหลือไปยังภาคอื่นๆได้ด้วย เราจึงได้ผ่อนคลายมาตรการ LTV
ขณะที่คณะกรรมการฯเองได้พยายามเข้าดูให้เหมาะและตรงจุด ทำให้การผ่อนคลายมาตรการ LTV ในครั้งนั้น ไม่ได้ผ่อนคลายทั้งหมด แต่ผ่อนคลายเฉพาะบ้านหลังที่ 2 และหลังที่ 3 หรือหากเป็นบ้านหลังแรก ก็ต้องเป็นบ้านขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าสูง เพราะเราคิดว่า กลุ่มคนที่มีกำลังในช่วงที่มีความเสี่ยงสูงจะเข้ามาช่วยได้ จึงดึงแรงตรงนั้นมา แต่ตอนนี้ภาคอสังหาริมทรัพย์กลับมาทยอยฟื้นตัวได้แล้ว ยอดจดทะเบียนกลับมาใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิดแล้ว
ดังนั้น เราจึงมองว่าการกระตุ้นแบบนี้ ในอนาคตอาจมีผลข้างเคียงเหมือนกัน เมื่อมันกลับมาดีแล้ว ความจำเป็นของการกระตุ้นตรงนี้น่าจะหมดไป และเราเองไม่อยากทิ้งมาตรการที่มีผลข้างเคียงเยอะ แล้วเราก็ดูแล้วว่า ผู้มีรายได้น้อยจะไม่ได้ผลกระทบตรงนี้ โดยบ้านที่มีราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท และเป็นบ้านแรก ซึ่งเป็นความจำเป็นของชีวิต เราให้ LTV ที่ 100% อยู่แล้ว และ Top-up อีก 10% เราไม่ไปแตะตรงนั้น จึงเป็นการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยอยู่” น.ส.ชญาวดี ระบุ
น.ส.ชญาวดี ระบุด้วยว่า ผลจากการผ่อนคลายมาตรการ LTV ในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา หรือตั้งแต่ พ.ย.64-มิ.ย.2565 พบว่าผู้ที่เข้ามาใช้ประโยชน์มาตรการ LTV ที่ผ่อนคลายนั้น ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีรายได้มากกว่า 8 หมื่นบาท/เดือน ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีรายได้สูง ขณะที่ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2565 (ม.ค.-ส.ค.2565) ยอดการโอนอสังหาริมทรัพย์ขยายตัว 8.5% และการเปิดโครงการใหม่เฉลี่ยอยู่ที่ 9,000 หน่วย/เดือน เทียบกับช่วงก่อนโควิดที่อยู่ที่ 9,300 หน่วย/เดือน
รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 21 ต.ค.2564 ธปท.ประกาศผ่อนคลายหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่ออื่นที่เกี่ยวเนื่องกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (มาตรการ LTV) เป็นการชั่วคราว โดยมีสาระสำคัญ ได้แก่
1.สินเชื่อที่อยู่อาศัยสัญญาที่ 1 หรือ บ้านหลังแรก ที่มีมูลค่าตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป ให้ขยายเพดาน LTV เป็นให้กู้ได้ 100% ของมูลค่าหลักทรัพย์ (LTV 100%) จากเดิมที่กำหนดเพดาน LTV ไว้ที่ไม่เกิน 90% ส่วนบ้านหลังแรกที่มีมูลค่าต่ำกว่า 10 ล้านบาท นั้น มาตรการ LTV ที่ใช้ในปัจจุบัน สามารถกู้ได้ 100% ของมูลค่าหลักทรัพย์อยู่แล้ว และยังกู้สินเชื่อ top-up ได้อีกไม่เกิน 10% ของมูลค่าหลักทรัพย์
2.สินเชื่อที่อยู่อาศัยสัญญาที่ 2 ให้กู้ได้ 100% ของมูลค่าหลักทรัพย์ (LTV 100%) จากเดิมที่กำหนดเพดานไว้ที่ไม่เกิน 80-90% และ
3.สินเชื่อที่อยู่อาศัย ตั้งแต่สัญญาที่ 3 ขึ้นไป ให้กู้ได้ 100% ของมูลค่าหลักทรัพย์ (LTV 100%) จากเดิมที่กำหนดเพดานไว้ที่ไม่เกิน 70% (อ่านประกอบ : กู้ซื้อบ้านทุกสัญญาได้เต็ม 100%! 'ธปท.'ผ่อนคลายมาตรการ LTV กระตุ้นภาคอสังหาฯถึงปี 65)
@ชี้มาตรการดึงต่างชาติ 'ศักยภาพสูง' เข้าไทยช่วยกระตุ้นใช้จ่าย
น.ส.ชญาวดี กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลเห็นชอบมาตรการให้ต่างชาติศักยภาพสูง 4 กลุ่ม ที่ลงทุนในประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท สามารถซื้อที่ดินได้ไม่เกิน 1 ไร่ ว่า มาตรการดังกล่าวจะเอื้อให้ผู้มีรายได้สูงเข้ามาลงทุนมากขึ้น และมาอาศัยอยู่ในประเทศไทยระยะยาว ซึ่งจะทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยในประเทศไทย มาลงทุน และมาซื้อสินทรัพย์ ซึ่งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะมาตรการในลักษณะดังกล่าวประเทศมาเลเซียก็ทำ
"ในแง่การผ่อนคลายดังกล่าว เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ทำให้ในระยะยาว เราจะได้อุปสงค์จากต่างประเทศเข้ามาอยู่ในประเทศ และทำให้แน่นอนชัดเจนขึ้นว่า มันมาที่ประเทศไทย ซึ่งในประเทศที่เขาทำนั้น ในช่วงที่ผ่านมาแม้ว่าจะไม่ได้มาเยอะเท่าไหร่ แต่จะบอกว่าไม่เยอะเลยก็ไม่ได้ เพราะในระยะยาวข้างหน้าเราไม่ทราบว่าอะไรจะเกิดขึ้น แต่เทรนด์การ work from anywhere ก็เป็นจุดหนึ่งที่เรามอง และเป็นเรื่องที่เราจะดึงดูดคนที่มีทักษะเข้ามาในประเทศ ซึ่งจะเพิ่มศักยภาพของเราในระยะยาวได้" น.ส.ชญาวดี กล่าว
@ยุติเปิดรับการขอความช่วยเหลือ 'กองทุน BSF' หลัง 31 ธ.ค.นี้
ด้าน นางอลิศรา มหาสันทนะ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธปท. ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการกำกับกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ (คณะกรรมการกำกับกองทุน) กล่าวว่า คณะกรรมการกำกับกองทุนฯ มีมติเห็นชอบให้ยุติการเปิดรับการขอความช่วยเหลือจากกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ (Corporate Bond Stabilization Fund: BSF) หลังวันที่ 31 ธ.ค.2565 เป็นต้นไป
เนื่องจากความจำเป็นของความช่วยเหลือจากกองทุนปรับลดลงตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ที่ดีขึ้น ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับสู่ระดับปกติ ภาคธุรกิจส่วนใหญ่มีผลประกอบการที่ดีขึ้นและสามารถบริหารจัดการสภาพคล่องได้ส่งผลให้ความเสี่ยงของการผิดนัดชำระในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนจากผลกระทบของสถานการณ์โควิด 19 ปรับลดลงชัดเจน
“การจัดตั้งกองทุน BSF ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด 19 มีส่วนช่วยสนับสนุนความเชื่อมั่นในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน และทำให้การระดมทุนของภาคธุรกิจด้วยการออกตราสารหนี้ดำเนินการได้ต่อเนื่องเป็นปกติในช่วงที่ความเสี่ยงสูง ดังนั้น สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้การดำเนินการของกองทุนในระยะต่อไปมีความจำเป็นลดลง
และไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของ พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563 ที่มุ่งให้ความช่วยเหลือแก่ธุรกิจที่มีพื้นฐานดีแต่ประสบปัญหาสภาพคล่องชั่วคราวจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 เป็นการเฉพาะ ทั้งนี้ คณะกรรมการกำกับกองทุนฯ อยู่ระหว่างการเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบวิธีและขั้นตอนการยุติดำเนินการของกองทุน รวมทั้งพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการยุติการดำเนินการของกองทุนต่อไป” นางอลิศรา ระบุ
@การใช้จ่ายภาคบริการฟื้น-ค่าครองชีพสูงกดดันการบริโภค
สำหรับรายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยเดือน ก.ย.2565 และไตรมาสที่ 3 ปี 2565 มีดังนี้
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในหลายสัญชาติ โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวเดินทางระยะใกล้ (short-haul) อาทิ มาเลเซีย และสิงคโปร์
มูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน โดยปรับดีขึ้นในหลายหมวด โดยเฉพาะการส่งออกฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ที่ปรับเพิ่มขึ้นตามรอบการส่งมอบสินค้าของผู้ประกอบการ และการส่งออกสินค้าเกษตรที่ปรับเพิ่มขึ้นหลังลดลงมากในเดือนก่อน อย่างไรก็ตาม การส่งออกบางสินค้าปรับลดลง อาทิ โลหะ และสินค้าเกษตรแปรรูป
เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วทรงตัวจากเดือนก่อน โดยเครื่องชี้การใช้จ่ายในภาคบริการปรับเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นสำคัญ ขณะที่การบริโภคสินค้าในหมวดอื่น ๆ ค่อนข้างทรงตัว สอดคล้องกับปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อภาคครัวเรือนที่ทยอยปรับดีขึ้น โดยเฉพาะการจ้างงานและความเชื่อมั่นผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม ค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูงยังเป็นปัจจัยกดดันการบริโภคในภาพรวม
เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน โดยการลงทุนหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ลดลงตามการนำเข้าสินค้าทุนเป็นสำคัญ สำหรับการลงทุนหมวดก่อสร้างลดลงเล็กน้อยจากยอดขายวัสดุก่อสร้าง ขณะที่พื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างทรงตัว
การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับลดลงจากเดือนก่อนในหลายหมวด โดยเฉพาะหมวดยานยนต์ที่เร่งผลิตไปในช่วงก่อนหน้า และหมวดเคมีภัณฑ์ที่ความต้องการจากต่างประเทศลดลง อย่างไรก็ตาม การผลิตหมวดปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
มูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงตาม 1) หมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง โดยเฉพาะการนำเข้าชิ้นส่วนและเชื้อเพลิง 2) หมวดสินค้าทุนที่ลดลง อาทิ เครื่องจักร มอเตอร์ และหม้อแปลงไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม การนำเข้าหมวดสินค้าอุปโภคและบริโภคปรับเพิ่มขึ้นทั้งสินค้าคงทนและไม่คงทน
การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนหดตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน จากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางตามกรอบงบประมาณที่ลดลง ประกอบกับมีการเบิกจ่ายไปแล้วในช่วงก่อนหน้า โดยรายจ่ายประจำหดตัวตามรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ ขณะที่รายจ่ายลงทุนหดตัวตาม
การเบิกจ่ายเพื่อใช้ในโครงการด้านคมนาคม สำหรับรายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัวตามการเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านคมนาคมและพลังงานเป็นสำคัญ
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลงจากราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ปรับลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และผลของฐานต่ำที่หมดไป หลังมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าของภาครัฐสิ้นสุดลงในเดือนสิงหาคมปีก่อน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน ด้านตลาดแรงงานฟื้นตัวต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจ สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่เพิ่มขึ้น
สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเกินดุลตามดุลการค้า ประกอบกับดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่ขาดดุลลดลงตามรายจ่ายค่าระวางสินค้าที่ลดลงเป็นสำคัญ ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์ สรอ. เฉลี่ยกลับมาอ่อนค่า ตามเงินดอลลาร์ สรอ. ที่แข็งค่าขึ้นเร็วในช่วงครึ่งหลังของเดือน เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งสัญญาณการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดกว่าที่ตลาดคาดการณ์
ในไตรมาสที่ 3 ปี 2565 เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน โดยเครื่องชี้การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรม ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการขาดแคลนชิ้นส่วนการผลิตที่คลี่คลายลง สำหรับภาคบริการฟื้นตัวต่อเนื่องตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ปรับเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม มูลค่าการส่งออกสินค้าปรับลดลงตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัว
ประกอบกับมีปัจจัยชั่วคราวด้านอุปทาน อาทิ การบริหารจัดการสินค้าคงคลังของโรงกลั่นน้ำมัน และสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐหดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลาง
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อหมวดอาหารสดและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ขณะที่ตลาดแรงงานทยอยฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลลดลงตามดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่ขาดดุลลดลง
อ่านประกอบ :
‘ธปท.’เผยเศรษฐกิจไทย ส.ค. ฟื้นตัวต่อเนื่อง-ชี้‘ปัจจัยการเมือง’ไม่กระทบการใช้จ่ายภาครัฐ
‘ธปท.’เผยเศรษฐกิจไทยเดือน ก.ค. ส่งสัญญาณชะลอฟื้นตัว-ค่าครองชีพสูงกระทบบริโภคภาคเอกชน
‘ผู้ว่าฯธปท.’ยันการขึ้นดอกเบี้ยของไทยไม่ได้ช้าไป-ชี้โอกาสเกิด Stagflation เป็นไปได้น้อย
ผู้ว่าฯธปท. : ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ‘ส่วนต่างดอกเบี้ย-ค่าเงิน-ทุนเคลื่อนย้าย-ทุนสำรอง’
กลับสู่ภาวะปกติ!‘ผู้ว่าฯธปท.’ชี้ไม่ได้ขึ้น‘ดอกเบี้ย’ทีเดียวแล้วจบ-คาดGDPไตรมาส 2 โต 3%
‘ผู้ว่าฯธปท.’ชี้บาทอ่อนสุดในรอบ 7 ปี เหตุดอลลาร์ฯแข็ง-ย้ำไม่จำเป็นต้องขึ้น‘ดบ.’ตามเฟด