ผู้บริหาร ‘TRUE-DTAC’ เข้ายื่นหนังสือถึง ‘กสทช.’ เรียกร้องให้พิจารณาดีลควบรวมธุรกิจของทั้ง 2 บริษัท โดยเร็ว หวั่นทำให้ผู้บริโภค-ประเทศชาติเสียประโยชน์
.............................
เมื่อวันที่ 11 ต.ค. บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE โดยนายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ หัวหน้าคณะผู้บริหาร ด้านรัฐกิจสัมพันธ์ และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC โดยนายเลิศรัตน์ รตะนานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายประสานงานภาครัฐ เข้ายื่นหนังสือถึงคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ผ่านพล.อ.กิตติ เกตุศรี ผู้ปฏิบัติงานประธาน กสทช.
โดย TRUE และ DTAC เรียกร้องให้ กสทช. พิจารณาเรื่องการรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC โดยเร็ว หลังจากทั้ง 2 บริษัทฯ ยื่นรายงานการขอควบรวมธุรกิจฯไปตั้งแต่วันที่ 25 ม.ค.2565 และให้ความร่วมมือนำส่งข้อมูลเพิ่มเติมตามที่สำนักงาน กสทช. ร้องขอมาโดยตลอด แต่เมื่อผ่านไปแล้ว 9 เดือน การพิจารณาของ กสทช.ยังไม่เสร็จสิ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อทั้งผู้บริโภค ผู้ถือหุ้น ประชาชนชาวไทยและประเทศชาติ
นายจักรกฤษณ์ กล่าวว่า การมายื่นหนังสือถึงประธานและคณะกรรมการ กสทช.อย่างเป็นทางการนี้ เพื่อให้ กสทช. ต้องพิจารณาการควบรวมโดยเร็ว เนื่องจากได้ยื่นเอกสารตั้งแต่วันที่ 25 ม.ค.ที่ผ่านมา จนล่วงเลยมาถึง 9 เดือน ยังไม่มีบทสรุปเป็นทางการจาก กสทช. ซึ่งปกติต้องพิจารณาภายใน 90 วัน โดย TRUE และ DTAC เข้าใจดีว่าคณะกรรมการ กสทช. ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ
แต่ด้วยการใช้เวลาพิจารณาเรื่องนี้เกินกว่าที่กฎหมายได้กำหนดไว้มานานแล้วได้เกิดผลกระทบความเสียหายต่อผู้บริโภคทั้งทรูและดีแทคซึ่งจะยังใช้บริการและโครงข่ายร่วมกันไม่ได้
“อยากขอความเป็นธรรมจาก กสทช. ให้ช่วยเร่งรัดพิจารณาไม่ให้เกิดความล่าช้าไปมากกว่านี้ และหากกสทช. เห็นควรให้มีมาตรการตามหลักเกณฑ์ที่กฎมายกำหนด ให้บริษัทผู้ควบรวมปฏิบัติ ก็ขอให้พิจารณามาตรการที่เหมาะสม โดยยึดถือหลักของผู้บริโภคและการเติบโตของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมควบคู่กันไป” นายจักรกฤษณ์ กล่าว
นายจักรกฤษณ์ ระบุด้วยว่า การรวมคลื่นของทั้ง 2 บริษัทฯ จะทำให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์สูงสุด เพราะลูกค้า สามารถใช้โครงข่ายร่วมกันได้ ส่วนความกังวลว่าจะเกิดการผูกขาด ค่าบริการจะสูงขึ้น และจะทำให้ผู้บริโภคเดือดร้อนนั้น เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะ กสทช. มีประกาศเรื่องอัตราค่าบริการ มีการกำหนดอัตราค่าบริการขั้นสูงสุด กสทช. สามารถกำกับได้อย่างมีประสิทธิภาพอยู่แล้ว และคุณภาพการให้บริการจะดีขึ้น รวมทั้งลดความซ้ำซ้อนในการลงทุน
“หากพรุ่งนี้ (12 ต.ค.) ยังไม่มีการลงมติ ก็อยากขอความเห็นใจ และขอให้เข้าใจว่าวันนี้ เรามีผู้ถือหุ้น ลูกค้า ประชาชนที่รออยู่ ซึ่งได้รับความเสียหายโดยตรง รวมถึงสังคมและประเทศชาติ ถ้าควบรวมกันได้ ก็จะสามารถต่อยอด 5G ได้เร็วขึ้น” นายจักรกฤษณ์ กล่าว
ด้าน นายเลิศรัตน์ กล่าวว่า กระแสตอบรับการควบรวมจากลูกค้า DTAC เป็นไปในทางที่ดี เพราะทำให้การใช้บริการดีขึ้น ซึ่งทุกองค์กรต้องมีการทำวิจัยเพื่อสอบถามความคิดเห็นของลูกค้าว่ามีผลอย่างไร แต่เท่าที่บริษัทได้วิจัยแล้วเห็นว่า ไม่มีผลในแง่ลบ มีแต่แง่บวก โดยยืนยันได้ว่าลูกค้าดีแทคจะได้ใช้งานเครือข่ายที่ดีขึ้น มีพื้นที่ใช้งานเพิ่มขึ้น และคุณภาพบริการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นอย่างแน่นอน
อ่านประกอบ :
‘บอร์ด กสทช.’ นัดถกดีลควบ ‘TRUE-DTAC’ 12 ต.ค.นี้-‘พิรงรอง’ ยันยึดประโยชน์สาธารณะ
‘บอร์ด กสทช.’ รับทราบหนังสือ ‘กฤษฎีกา’ แจ้งผลตีความอำนาจควบรวมธุรกิจ TRUE-DTAC
ฉบับเต็ม! เปิดบันทึก ‘กฤษฎีกา’ ตีความควบธุรกิจ TRUE-DTAC ชี้เป็นอำนาจ ‘กสทช.’ ใช้ดุลพินิจ
‘บิ๊กป้อม’ สั่ง ‘กฤษฎีกา’ ตีความอำนาจ ‘กสทช.’ ปมควบรวมธุรกิจ ‘TRUE-DTAC’ 6 ประเด็น
เบื้องหลังสั่งลบ‘5 Facts ควบ TRUE-DTAC’-โชว์หนังสือ‘ปธ.กสทช.’คุมอำนาจแพร่ข่าวคนเดียว
หารือรอบ 2! เปิดหนังสือ‘กสทช.’ ชง‘นายกฯ’สั่ง‘กฤษฎีกา’ตีความ 6 ปมข้อกฎหมายควบ TRUE-DTAC
มติ'กสทช.'ยื่น'นายกฯ'สั่ง'กฤษฎีกา’ตีความอำนาจควบTRUE-DTAC-แพร่ข้อมูล '5 Facts รวมธุรกิจ
‘อนุฯที่ปรึกษากม.’หนุน‘กสทช.’ชง‘นายกฯ’สั่ง'กฤษฎีกา’ตีความอำนาจถกควบ TRUE-DTAC รอบสอง
จ่อยื่นรอบ 2! 'กสทช.'มอบ'อนุฯกม.'ถก ก่อนชง'บิ๊กตู่'สั่ง'กฤษฎีกา’ตีความอำนาจควบTRUE-DTAC
'กสทช.'ตั้ง'ทีมกุนซือกม.'ชุดใหม่ 'บวรศักดิ์'ประธานฯ 'จรัญ-เข็มชัย-สุรพล-สมคิด'กรรมการ