ธปท.เผยเศรษฐกิจไทยเดือน มิ.ย. ดีขึ้นจากเดิมก่อน พร้อมประเมินครึ่งหลังปี 65 เศรษฐกิจยังขยายตัวต่อเนื่อง จากแรงส่งการ ‘บริโภคภาคเอกชน-นักท่องเที่ยวต่างชาติ’ จับตานักลงทุนขาย ‘สินทรัพย์เสี่ยง’ กระทบเงินทุนเคลื่อนย้าย
....................................
เมื่อวันที่ 27 ก.ค. น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงภาวะเศรษฐกิจและการเงิน เดือน มิ.ย. 2565 โดยระบุว่า เศรษฐกิจไทยในเดือน มิ.ย. ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน โดยเฉพาะในภาคบริการ ตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น หลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นตามราคาสินค้าในหมวดพลังงานเป็นสำคัญ
ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจในเดือน ก.ค.2565 คาดว่าจะยังฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่มีปัจจัยที่ต้องติดตามในระยะต่อไป ได้แก่ การเพิ่มขึ้นของต้นทุนค่าจ้างและราคาสินค้า ,อุปสงค์ของต่างประเทศที่อาจชะลอตัว และการแพร่ระบาดของโควิด ส่วนกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบโครงการ ‘คนละครึ่ง’ เฟส 5 นั้น โครงการคนละครึ่ง ถือเป็นมาตรการที่ช่วยกระตุ้นการบริโภคได้ค่อนข้างดี ส่วนจะกระตุ้นได้มากน้อยเพียงใด ก็ต้องขึ้นอยู่กับจำนวนเงินที่เข้ามาด้วย
น.ส.ชญาวดี ยังระบุว่า สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไตรมาส 2/2565 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาส 1/2565 โดยมีปัจจัยหลักมาจากการบริโภคภาคเอกชน โดยเฉพาะภาคบริการ และจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ในภาครวมของการผลิตภาคอุตสาหกรรมยังคงเห็นปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนฯ ซึ่งอาจทำให้การผลิตในภาคอุตสาหกรรมในช่วงไตรมาส 2/2565 ลดลงบ้าง ทั้งนี้ ธปท.คาดว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/2565 น่าจะขยายตัวที่ระดับ 3%
“ถ้าดูตามเครื่องชี้ เราจะเห็นว่าเครื่องชี้ในช่วงไตรมาส 2/2565 ดีเกือบทั้งหมด จึงคิดว่าเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 2/2565 น่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยอาจอยู่ที่ประมาณ 3% หรือ 3% นิดๆ แต่คงต้องรอดูข้อมูลจริงที่สภาพัฒน์ฯ จะประกาศในเดือน ส.ค.นี้” น.ส.ชญาวดี กล่าว พร้อมระบุว่า ในช่วงครึ่งปีหลัง ธปท.ยังมองว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง จากแรงส่งของการบริโภคภาคเอกชน และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแรงส่งค่อนข้างดี
“ในแง่ของประมาณการเศรษฐกิจ เราจะดูพัฒนาของเครื่องชี้เศรษฐกิจต่างๆ ซึ่งเรื่องตัวเลขเศรษฐกิจนั้น ไม่ได้มีแค่ของ ธปท.อย่างเดียว แต่มีตัวเลขของสภาพัฒน์ด้วย อย่างของเรา เราประกาศประมาณการไปเมื่อเดือน มิ.ย. เดี๋ยวคงต้องมีการทบทวนเมื่อข้อมูลจริงออกมาเรื่อยๆ” น.ส.ชญาวดี กล่าว
น.ส.ชญาวดี กล่าวถึงกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในคืนนี้ (27 ก.ค.) ว่า ในแง่ภาพรวมของตลาดการเงินโลก คงจะเจออาการเดียวกัน คือ นักลงทุนยังคงรู้สึกกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยง ซึ่งไม่ใช่เฉพาะเรื่องดอกเบี้ยของสหรัฐที่จะอยู่ในระดับที่สูงเกินไป แต่ยังรวมถึงความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจถดถอย (recession) ด้วย ทำให้นักลงทุนปรับตัวและทำให้เกิดเงินทุนเคลื่อนย้ายบ้าง
“เงินทุนเคลื่อนย้าย มันก็คงเคลื่อนย้ายตามมุมมองของนักลงทุนต่อเศรษฐกิจและภาคการเงิน โดยในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา เราเห็นภาพว่า มีเรื่องของ Risk-off sentiment เพราะฉะนั้น นักลงทุนจะค่อยๆทยอยออกจากประเทศที่ถือเป็นสินทรัพย์เสี่ยง คือ ประเทศตลาดเกิดใหม่ หรือสินทรัพย์เสี่ยง เข้าไปสู่สินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งเทรนด์นี้เป็นเทรนด์ที่เราเห็นมาตั้งแต่เดือน มิ.ย.แล้ว แต่ยังไม่เห็นอะไรที่น่ากังวล” น.ส.ชญาวดี กล่าว
ส่วนกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบโครงการ ‘คนละครึ่ง’ เฟส 5 นั้น น.ส.ชญาวดี กล่าวว่า โครงการคนละครึ่ง ถือเป็นมาตรการที่ช่วยกระตุ้นการบริโภคได้ค่อนข้างดี ส่วนจะกระตุ้นได้มากน้อยเพียงใด ก็ต้องขึ้นอยู่กับวงเงินที่เข้ามาด้วย
สำหรับรายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยเดือน มิ.ย.2565 และไตรมาส 2/2565 มีดังนี้
เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน โดยปรับดีขึ้นในแทบทุกหมวดยกเว้นการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทน เป็นผลจากปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนการผลิตทำให้ไม่สามารถส่งมอบรถยนต์ได้ ขณะที่ความเชื่อมั่นผู้บริโภคทยอยปรับดีขึ้นตามการสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ที่มีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่อง และการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มากขึ้น
เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน จากทั้งการลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ และการลงทุนด้านการก่อสร้าง สอดคล้องกับการฟื้นตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจโดยรวม
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในเกือบทุกสัญชาติ จากการที่ภาครัฐยกเลิกการลงทะเบียนเข้าไทยผ่านระบบ Test & Go ตั้งแต่ 1 พ.ค.2565 และอนุญาตให้เดินทางผ่านชายแดนไทยได้มากขึ้น อีกทั้งหลายประเทศต้นทางได้ผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง
มูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน ตามการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ปรับลดลงหลังจากที่เร่งไปในช่วงก่อนหน้า นอกจากนี้ การส่งออกชิ้นส่วนและยานยนต์ปรับลดลงจากการขาดแคลนชิ้นส่วนการผลิตของรถยนต์นั่ง อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าในหลายหมวด อาทิ สินค้าเกษตร โลหะ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เพิ่มขึ้นตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ยังขยายตัว
การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในหลายหมวด อาทิ หมวดยานยนต์ หมวดปิโตรเลียม หมวดอาหารและเครื่องดื่ม ตามการผลิตรถกระบะ การผ่อนคลายมาตรการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อบริโภคในร้าน และการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นสำคัญ ขณะที่การผลิตหมวดชิ้นส่วนและแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ลดลงสอดคล้องกับการส่งออกแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับลดลง
มูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับเพิ่มขึ้นในเกือบทุกหมวด โดยเฉพาะหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง ทั้งการนำเข้าเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นมากและการนำเข้าวัตถุดิบอื่น ๆสอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ปรับเพิ่มขึ้น
การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนตามการเบิกจ่ายงบกลาง เพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายในการดำเนินการแก้ไขปัญหา COVID-19 เป็นสำคัญ ส่วนการเบิกจ่ายของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจขยายตัวตามการเบิกจ่ายในโครงการโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน ขณะที่รายจ่ายลงทุนหดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนตามการเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านคมนาคมซึ่งได้เร่งไปในช่วงก่อน
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเร่งขึ้นจากเดือนก่อน โดยอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานเพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันขายปลีกตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นตามราคาอาหารสำเร็จรูปและเครื่องประกอบอาหารเป็นสำคัญ ด้านตลาดแรงงานฟื้นตัวต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจ สำหรับดุล
บัญชีเดินสะพัดขาดดุลลดลงจากดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่ขาดดุลน้อยลง ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลงต่อเนื่องสอดคล้องกับสกุลเงินภูมิภาค ตามการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ สรอ. จากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นของธนาคารกลางสหรัฐฯ
ในไตรมาสที่ 2 ปี 2565 เศรษฐกิจไทยปรับดีขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน โดยการบริโภคภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้นจากหมวดบริการเป็นสำคัญ ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดและมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ ส่งผลให้ภาคการค้าและภาคบริการฟื้นตัว และการลงทุนภาคเอกชนปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
ส่วนการส่งออกเพิ่มขึ้นตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวจากรายจ่ายประจำและเงินโอนภาครัฐเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม การผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับลดลงจากปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนการผลิต ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นจากราคาพลังงาน ราคาอาหารสด และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่เพิ่มขึ้นจากราคาอาหารสำเร็จรูป ด้านตลาดแรงงานฟื้นตัวต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจ
สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลเพิ่มขึ้นมากจากดุลการค้าที่เกินดุลน้อยลง และดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่ขาดดุลมากขึ้นตามการส่งกลับกำไรและเงินปันผลของธุรกิจต่างชาติ
อ่านประกอบ :
ผู้ว่าฯธปท. : ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ‘ส่วนต่างดอกเบี้ย-ค่าเงิน-ทุนเคลื่อนย้าย-ทุนสำรอง’
ธปท.เผยเศรษฐกิจ พ.ค. ฟื้นตัวต่อเนื่อง-ธุรกิจเจอแรงกดดัน'ต้นทุนเพิ่ม-กำลังซื้ออ่อนแอ'
‘ธปท.’ชี้หาก‘กนง.’ขึ้น'ดอกเบี้ย'จะไม่ทำให้เศรษฐกิจไทยสะดุด-เชื่อ‘ศก.สหรัฐ’ไม่ถดถอย
'ธปท.'เผยเศรษฐกิจ เม.ย. ปรับตัวดีขึ้น-ขาดดุล'บัญชีเดินสะพัด'พุ่ง 3.4 พันล.ดอลล่าร์ฯ
‘ธปท.’ ห่วง ‘บาทอ่อน’ กดดัน ‘เงินเฟ้อ’ เพิ่ม-เผยเศรษฐกิจ มี.ค.ชะลอตัวเล็กน้อย
‘บาท’ อ่อนค่ามากสุดในรอบ 5 ปี ‘ธปท.’ชี้มาจากปัจจัยภายนอก-ต่างชาติส่งกลับ‘เงินปันผล’
‘ธปท.’เผยเศรษฐกิจ ก.พ.ฟื้นต่อเนื่อง-จับตาผลกระทบ‘โอไมครอน-สินค้าแพง-แซงก์ชั่นรัสเซีย’