‘อนุญาโตตุลาการฯ’ เลื่อนอ่านคำชี้ขาด ‘คดีเหมืองทองอัครา’ รอกำหนดวันอ่านอีกครั้ง ขณะที่ ‘อธิบดี กพร.’ แจง 3 ปมกรณีออก ‘ประทานบัตร-อาชญาบัตรพิเศษ-ใบอนุญาตประกอบโลหกรรม’ ให้ ‘บมจ.อัครา รีซอร์สเซส’ ด้าน ‘กลุ่มประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรฯ’ ยื่นหนังสือร้องนายกฯ เพิกถอน ‘ประทานบัตร’ 3 แปลง บุกรุกป่า
..................................
สืบเนื่องจากกรณีคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศนัดอ่านคำชี้ขาด คดีที่ บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด’ หรือ ‘คิงส์เกต’ บริษัทสัญชาติออสเตรเลีย ผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ยื่นฟ้องรัฐบาลไทยเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 3 หมื่นล้านบาท กรณีสั่งปิดเหมืองทองคำชาตรี หรือ ‘เหมืองทองอัครา’ ในวันที่ 31 ม.ค.2565 นั้น
ล่าสุด นายนิรันดร์ ยิ่งมหิศรานนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า วันนี้ (31 ม.ค.) คณะอนุญาโตตุลาการฯเลื่อนการอ่านคำชี้ขาดคดีเหมืองทองอัคราฯออกไปก่อน และอีกไม่กี่วันน่าจะทราบว่า จะเลื่อนการอ่านคำชี้ขาดออกไปนานเท่าใด
“ตอนนี้รู้ว่าเลื่อนแล้ว และอีกไม่กี่วันจะทราบว่าเลื่อนกันอย่างไร เลื่อนนานแค่ไหน” นายนิรันดร์ กล่าว
นายนิรันดร์ กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำระบุว่า การต่ออายุใบอนุญาตประทานบัตร 4 แปลง ให้กับ บมจ.อัครา รีซอร์สเซส พบว่าประทานบัตรฯ 3 แปลง จากทั้งหมด 4 แปลง ตั้งอยู่ในเขตที่ดินที่เคยถูกแจ้งความว่าบุกรุกพื้นที่ป่า ว่า เรื่องนี้ กพร.ได้ตรวจสอบแล้ว และเนื่องจากกรณีดังกล่าวยังเป็นเรื่องที่ถูกกล่าวหา และตราบใดที่ศาลยังไม่มีการตัดสินว่า มีการกระทำผิด บมจ.อัครา รีซอร์สเซส ก็ยังมีคุณสมบัติครบ
“ตราบใดที่ยังถูกกล่าวหา ยังไม่มีการตัดสิน ก็ยังไม่ผิด ซึ่งก็เหมือนกับเราทุกคน เวลาโดนกล่าวหาว่า โดนนั่น โดนนี่ จะต้องเข้าสู่กระบวนการฟ้องก่อน แล้วต้องดูว่าศาลจะตัดสินว่าอย่างไร และอย่างไรจึงจะเรียกว่าเป็นผู้กระทำผิด แต่ตราบใดที่ยังถูกกล่าวหาอยู่ คุณสมบัติของเขาก็ยังครบ” นายนิรันดร์ กล่าว
ส่วนกรณีที่คณะกรรมการแร่อนุมัติใบอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำ ในเขตพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์ 4 แสนไร่ และอนุมัติต่ออายุใบอนุญาตประทานบัตร 4 แปลง ให้กับ บมจ.อัครา รีซอร์สเซส โดยไม่มีการเปิดประมูล อาจเข้าข่ายกระทำผิด พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2560 นั้น นายนิรันดร์ กล่าวว่า น่าจะเป็นความเข้าใจผิด เพราะตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2560 กำหนดให้แหล่งแร่ที่ภาครัฐจะต้องเปิดประมูลนั้น ต้องเป็นแหล่งแร่ที่ภาครัฐลงทุนสำรวจและพบแหล่งแร่
“ตามกฎหมายแร่ฯ พื้นที่ที่รัฐดำเนินการสำรวจเอง รัฐลงทุนสำรวจ จนเจอแหล่งแร่ ซึ่งสถานที่ประเภทนี้ เมื่อเจอแร่แล้ว ภาครัฐจะต้องนำมาเปิดประมูล แต่กรณีนี้ เขาดำเนินการสำรวจด้วยทุนของเขาเองทั้งหมด เขาลงทุนเอง รัฐไม่มีสิทธิ์นำมาเปิดประมูล” นายนิรันดร์ กล่าว
นายนิรันดร์ ยังกล่าวถึงการต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมที่ 1/2551 ให้แก่ บมจ.อัครา รีซอร์สเซส ว่า เป็นการดำเนินการโดยถูกต้องตามกฎหมาย เพราะแม้ว่าศาลจะเคยมีคำพิพากษาเกี่ยวกับโรงประกอบโลหกรรมของ บมจ.อัครา รีซอร์สเซส ซึ่งในคำพิพากษาระบุว่า บมจ.อัครา รีซอร์สเซส มีการดำเนินการขาดไป 1 ขั้นตอน และให้บริษัทไปดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี เมื่อบริษัทฯสามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี จึงไม่มีความผิดอะไร
วันเดียวกัน กลุ่มประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ เข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม คัดค้านการต่ออายุใบอนุญาตประทานบัตร 4 แปลง รวมถึงการอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ฯ 4 แสนไร่ ให้กับ บมจ.อัครา รีซอร์สเซส เนื่องจากเป็นการอนุญาตโดยมิชอบ ขณะที่ บมจ.อัครา รีซอร์สเซส อยู่ระหว่างถูกดำเนินคดีในหลายกรณีจากการที่เคยประกอบกิจการทำเหมืองแร่ทองคำในประเทศไทย และไม่มีปฏิบัติตามกฎหมายไทย
“การอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษ และประทานบัตร เป็นการกระทำ โดยไม่ได้ปฏิบัติตามที่กฎหมายพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2560 มาตรา 19 มาตรา 21 ที่บัญญัติไว้ว่า ต้องประกาศเขตแหล่งแร่และต้องเปิดให้มีการประมูลแข่งขันอย่างเป็นธรรม กรณีดังกล่าวจึงเป็นการกระทำความผิดตามกฎหมายพระราชบัญญัติแร่ และเป็นการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (ฮั้วประมูล) ซึ่งกรณีดังกล่าวนี้ ข้าพเจ้าและคณะได้ยื่นต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษให้สอบสวนดำเนินคดี และกรมสอบสวนฯได้ตั้งเลขสืบสวนแล้ว
นอกจากนี้ ยังพบว่าแปลงประทานบัตรที่ บริษัทอัคราฯ ได้รับอนุญาตจากกระทรวงอุตสาหกรรม แปลงเลขที่ 26910/15365 แปลงประทานบัตรเลขที่ 26911/15366 และแปลงประทานบัตรเลขที่ 26912/15367 เป็นแปลงประทานบัตรที่ถูกดำเนินคดีข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่าไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นการบุกรุกพื้นที่ครอบครองทำประโยชน์โดยไม่ได้รับอนุญาตในช่วงเดือนตุลาคม ปี 2563
โดยชุดปฏิบัติการหน่วยเฉพาะกิจปราบปรามพิเศษ (พยัคฆ์ไพร) กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ร่วมกันตรวจสอบการบุกรุกพื้นที่ครอบครองการทำประโยชน์โดยไม่ได้รับอนุญาต แล้วทำลายทางสาธารณประโยชน์ของประเทศที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ในรายของบริษัทอัคราฯ รวม 15 แปลง โดยอธิบดีกรมป่าได้มอบหมายให้ทางกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร้องทุกข์กล่าวโทษดำเนินคดีเอาผิดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดรวม 15 แปลง 15 คดี ซึ่งประทานบัตร 4 แปลง ที่ได้รับอนุญาตประทานบัตร มี 3 แปลงที่ถูกดำเนินคดี
ประทานบัตรที่ได้อนุญาตยังเกี่ยวข้องกับคดีขุดถนนทำเหมืองทองคำนอกเขตประทานบัตรในถนนทางสาธารณะ ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างดำเนินคดีเอาผิดในขณะนี้ เนื่องจากเป็นการทำเหมืองทองคำในทางสาธารณะอันเป็นการทำเหมืองทองคำนอกเขตประทานบัตร
นอกจากนี้ การอนุญาตโรงงานโลหะกรรมให้กับบริษัทอัคราฯ ในคราวเดียวกับอนุญาตประทานบัตร ยังส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อรูปคดี เนื่องจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้เคยสอบสวนตามข้อร้องเรียนในคดีพิเศษที่ 17/2559 และผลการลงสอบสวนพบว่า มีโรงงานโลหกรรมส่วนขยายโดยไม่ได้รับอนุญาต กรณีนี้กรมสอบสวนคดีพิเศษได้แยกเลขเป็นคดีพิเศษที่ 39/2562 โดยเห็นว่าเป็นการกระทำความผิดประเด็นเกี่ยวกับการขอขยายโรงงาน ตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535
ขณะที่การขอขยายโรงประกอบโลหกรรมแร่ทองคำตามพระราชบัญญัติ แร่ พ.ศ.2560 ของบริษัทอัคราฯ ยังพบว่าเป็นประเด็นเกี่ยวข้องกับความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการของเจ้าหน้าที่รัฐ จึงได้สรุปสำนวนส่งคดีไปยัง ป.ป.ช แล้ว และอยู่ระหว่างการสอบสวนของ ป.ป.ช. ในส่วนการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อให้สอบสวนเอาผิดในส่วนการอนุญาตโรงงานประกอบโลหกรรมโดยมิชอบ” หนังสือร้องเรียนของกลุ่มประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ เมื่อวันที่ 31 ม.ค.2565 ระบุ
นอกจากนี้ กลุ่มประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำยังเดินหน้าไปยื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษขอให้ DSI พิจารณาอายัดโรงงานโลหกรรม บริษัทอัคราฯ เนื่องจากเป็นหลักฐานที่อยู่ระหว่างการสอบสวนดำเนินคดี
(วันเพ็ญ พรมรังสรรค์ (ซ้าย) ยื่นหนังสือถึงนายกฯ ขอให้เพิกถอนประทานบัตรฯ ของ บมจ.อัครา รีซอร์สเซส)
นางวันเพ็ญ พรมรังสรรค์ แกนนำกลุ่มประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ กล่าวกับสำนักข่าวอิศราว่า การที่ภาครัฐอนุญาตออกประทานบัตร 4 แปลง และอาชญาบัตรพิเศษฯ ให้กับ บมจ.อัครา รีซอร์สเซส นั้น เป็นการอนุญาตที่ผิดกฎหมาย เพราะตามพ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2560 กำหนดว่า หากภาครัฐจะให้เอกชนรายใดเข้ามาสำรวจหรือทำเหมืองแร่นั้น จะต้องเปิดให้มีการประมูลก่อน และบทเฉพาะกาลมาตรา 189 ก็ล็อคไว้ว่า การออกประทานบัตรต้องทำตามกฎหมายนี้
“ที่เราขอให้ท่านนายกฯเพิกถอนประทานบัตร และใบอนุญาตประกอบโลหกรรมของ บมจ.อัครา รีซอร์สเซส ครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการอนุญาตที่ผิดกฎหมายแล้ว เราพบว่าที่ตั้งของแปลงประทานบัตร และโรงประกอบโลหกรรมที่ได้รับอนุญาต ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ผิดกฎหมาย โดยมีประทานบัตร 3 แปลงตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีการบุกรุกป่า และถูกดำเนินคดีแล้ว ส่วนโรงประกอบโลหกรรมที่ว่าก็อยู่ระหว่างดำเนินคดีกรณีการขยายโรงประกอบโลหกรรมโดยมิชอบ” นางวันเพ็ญกล่าว
อ่านประกอบ :
‘ดีเอสไอ’ ตั้งเรื่องสอบ คดี ‘บอร์ดแร่ฯ’ ออกอาชญาบัตรฯสำรวจทองให้ ‘บ.อัครา’ ผิดกม.ฮั้ว
ฟื้น'เหมืองทองอัครา'! ดีลให้'ประทานบัตร'แลกถอนฟ้อง? จับตา'อนุญาโตฯ'เลื่อนชี้ขาดคดี
ร้องตร.ป.ป.ป.เอาผิดDSIละเว้นปฎิบัติหน้าที่-จี้สอบปมขอประทานบัตรเหมืองทองอัคราฯ
'รัฐบาลไทย' อนุมัติประทานบัตรฯ 4 ฉบับ พื้นที่ 'เหมืองทองคำชาตรี' ให้ 'คิงส์เกต'
โฆษกรัฐบาลโต้ 'เพื่อไทย' ปัดรัฐไฟเขียว 'คิงส์เกต' เปิดเหมืองทองใหม่
'เครือข่ายต้านเหมืองทอง'ร้อง DSI สอบ รมว.อุตสาหกรรม อ้างฮั้วให้ประทานบัตรใหม่
ส่งฟ้องศาลแล้ว! อัปเดตคดี 'อดีตบิ๊ก ก.อุตฯ' เอื้อ บ.อัคราฯ เปลี่ยนผังเหมืองทองมิชอบ
ถอดบทเรียน! ก่อนปิด ‘เหมืองทองอัครา’ ปมผลกระทบ ‘สุขภาพ’ ที่ยังไม่คลี่คลาย?
ดีเอสไอรับ'คดีเหมืองทองอัครา'ปมทำผิด กม.ประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เป็นคดีพิเศษ
รบ.ยังไม่เสียสักบาท! ‘วิษณุ’สวนฝ่ายค้านแนวโน้มไทยแพ้ค่าโง่เหมืองอัคราฯแค่เฟกนิวส์
ฝ่ายค้านขุดเอกสารลับ!แนวโน้มไทยแพ้ค่าโง่ 2 หมื่นล.อัคราฯ ‘สุริยะ-บิ๊กตู่’ปัดเอื้อ ปย.