'กลุ่มประชาสังคมปฎิรูปทรัพยากรและทองคำ' ส่งหนังสือถึงอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กรณีคัดค้านการทำเหมืองทอง ร้องให้สอบสวน รมว.อุตสาหกรรม อ้างฮั้วให้ประทานบัตรครั้งใหม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 6 ต.ค.2564 กลุ่มประชาสังคมปฎิรูปทรัพยากรและทองคำ นำโดยนางอารมณ์ คำจริง นางวันเพ็ญ พรมรังสรรค์ และนายปรีชา แสนจันทร์ ร่วมกันเปิดเผยว่า กลุ่มฯได้มีหนังสือถึงอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ร้องทุกข์ให้สอบสวนดำเนินคดีว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐเพื่อเอาผิดกับ 1.นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม 2.คณะกรรมการบริหารจัดการแร่แห่งชาติ และ 3.บริษัท อัครารีซอร์เซส จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ร้องและเป็นพยานในคดีพิเศษที่ 17/2559 และคดีที่เกี่ยวเนื่องต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ
โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กลุ่มฯ ซึ่งประกอบด้วยประชาชนในพื้นที่ 5 จังหวัด คือ พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ลพบุรี และสระบุรี ได้คัดค้านการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัทอัครารีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) มาอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะยุติการทำเหมืองแร่ทองคำไว้ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 72/2559 ข้อ 2 ซึ่งมีข้อสั่งการให้ระงับการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำและระงับการอนุญาตอาชญาบัตรไว้จนกว่าคณะกรรมการจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
นอกจากนี้คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 พ.ค.2559 ก็ได้เห็นชอบให้ระงับการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำในประเทศไทยรวมถึงระงับการต่อใบอนุญาตอาชญาบัตรประทานบัตร และระงับนโยบายทองคำไว้ ซึ่งยังมีผลผูกพันมาจนถึงขณะนี้ แต่ในช่วงเวลาดังกล่าวที่ยังมีผลตามคำสั่ง คสช.ที่ 72/2559 และมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 10 พ.ค.2559 เรื่องการระงับการอนุญาตประกอบกิจการเหมืองทองคำ และระงับการอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษหรือประทานบัตรไว้ กลับพบว่ากระทรวงอุตสาหกรรมพยายามที่จะเดินหน้าอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษให้กับ บริษัท อัครารีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) จึงทำให้ประชาชนได้ยืนหนังสือคัดค้านทวงติงต่อนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กับนายวิษณุ ทับเที่ยง อธิบดีกรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
ต่อมากลับพบว่า กระทรวงอุตสาหกรรมภายใต้การกำกับดูแลของนายสุริยะ กับนายวิษณุ ไม่รับฟังเสียงคัดค้านของประชาชนแต่อย่างใด โดยปรากฏหลักฐานว่าได้อนุญาตอาชญาบัตรพิเศษให้กับ บริษัท อัครารีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ในเขตพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นพื้นที่ราวๆ ประมาณมากกว่า 400,000 ไร่ โดยจากเอกสารที่เผยแพร่โดยกระทรวงอุตสาหกรรมแสดงข้อมูลอาชญาบัตรได้ปรากฏหลักฐานวันที่อนุญาตคือ 26 ต.ค.2563 และนอกจากนี้กระทรวงอุตสาหกรรมยังได้ดำเนินการติดประกาศในท้องที่จังหวัดเพชรบูรณ์ เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.2563
โดยต่อมาเมื่อวันที่ 17 ก.พ.2564 ได้ปรากฏเผยแพร่ผ่านสื่อ กรณีนายสุริยะ ได้ชี้แจ้งประเด็นเหมืองทองคำอัคราฯ ต่อที่ประชุมสภา กรณีการอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำจำนวน 44 แปลง ซึ่งบางช่วงในข้อชี้แจงดังกล่าวอ้างว่า คณะกรรมการนโยบายแร่แห่งชาติได้มีมติให้ผูประกอบการสามารถยื่นขออนุญาตและกลับมาประกอบการภายใต้นโยบายทองคำได้ ดังนั้นบริษัทอัคราฯ จึงได้กลับมาเดินเรื่องขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจจำนวน 44 แปลง ที่เคยขึ้นทะเบียนไว้ตั้งแต่ปี 2546 และ 2548 ดังนั้นการมาเดินเรื่องคำขออนุญาตดังกล่าวและกระทรวงอุตสาหกรรมได้อนุญาตไป จึงเป็นไปตามมติของคณะกรรมการแร่ชาติ
จากพยานหลักฐาน ข้างต้นที่กล่าวมานี้จึงเป็นเหตุให้ข้าพเจ้าและคณะควรเชื่อได้ว่านายสุริยะ นายวิษณุ และคณะกรรมการแร่แห่งชาติ ร่วมกันออกอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษให้กับ บริษัท อัครารีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) โดยมิชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการกระทำความผิดตามกฏหมายพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 และในเวลาต่อมาได้มีการแก้ไข พระราชบัญญัติ แร่ในปี 2560 แต่นายสุริยะยังออกอาชญาบัตรให้บริษัทอัคราฯ จึงเป็นลักษณะการสมยอม เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทอัคราฯ เพื่อมิให้มีการแข่งขันราคา และเพื่อไม่ให้เกิดการประมูลตามที่กฎหมายบัญญัติไว้
กรณีดังกล่าวจึงน่าจะผิดกฎหมายฮั้วประมูล จึงขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษสอบสวนดำเนินคดีเอาผิด นายสุริยะ และคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ และขอให้สอบสวนดำเนินคดีเพื่อเอาผิดกับบริษัทอัครารีซอร์สเซสจำกัด (มหาชน) เป็นนิติบุคคลผู้ซึ่งได้ประโยชน์ จึงมีความผิดฐาน เป็นตัวการร่วมในการกระทำความผิดด้วย จึงขอให้ดำเนินคดีให้ถึงที่สุด
นางวันเพ็ญ กล่าวว่า ได้รับหนังสือการตอบรับจาก ร้อยตำรวจโทภลลภ เพ็ชรรุ่ง ผู้อำนวยการส่วนพิจารณาสำนวนร้องทุกข์ ปฎิบัติราชการแทน ผู้อำนวยการกองบริหารคดีพิเศษ โดยในหนังสือระบุว่า อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษมีข้อสั่งการให้ส่งเรื่องไปยังกองคดีความมั่นคงเพื่อพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่
นอกจากนั้นก่อนหน้านี้ กลุ่มฯพวกเรายังเคยได้ไปยืนหนังสือ ที่ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปราบการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ให้เอาผิดกับพนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในการที่ไม่สืบสวนสอบสวนดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดตามที่กลุ่มฯร้องทุกข์ ซึ่งในเร็วๆนี้จะไปตามเรื่องต่อที่ นายแพทย์ไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษคนใหม่
อนึ่งก่อนหน้านี้เคยไปตามเรื่องที่ยืนร้องต่อ ปปช.เอาผิดกับพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษที่ละเว้นปฎิบัติหน้าที่มาแล้ว
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage