“…คาดว่าน่าจะเลื่อน เพราะเราก็คุยกันว่า บริษัทฯจะเอาอย่างไร ถ้าเขาตั้งใจจะกลับมาจริงๆ ก็เลื่อนไปก่อนก็แล้วกัน ให้เขาไปคิด แต่ถ้าอ่านเลย เราก็พร้อม ซึ่งในช่วง 1-2 วันนี้ เราจะคุยกันว่าจะเลื่อนหรือไม่” นิรันดร์ กล่าว พร้อมระบุว่า “เราได้ทำในสิ่งที่เราควรทำ ประเทศไทยปฏิบัติในสิ่งที่ควรทำ แต่สุดท้ายขึ้นอยู่กับอนุญาโตตุลาการว่าจะติดสินอย่างไร…”
................................
ประเด็น ‘เหมืองทองอัครา’ กำลังถูกจับตามองอีกครั้ง
เมื่อ ‘คิงส์เกต-บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด’ บริษัทสัญชาติออสเตรเลีย ผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) เผยแพร่ข่าวผ่านเว็บไซต์ของบริษัทฯ ว่า บริษัทฯได้รับอนุมัติใบอนุญาตประทานบัตรเหมืองแร่ 4 ฉบับ ในพื้นที่ ‘เหมืองทองคำชาตรี’ หรือ ‘เหมืองทองอัครา’ จากรัฐบาลไทย อายุประทานบัตร 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ 31 ธ.ค.2564
“จุดสนใจหลักในขณะนี้ คือ การทำให้เหมืองทองคำชาตรีกลับมาดำเนินการโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้…” รอส สมิธ-เคิร์ก ประธานกรรมการบริหาร ประธานกรรมการบริหาร คิงส์เกต ระบุในเอกสารข่าวเมื่อวันที่ 19 ม.ค.2565 (อ่านประกอบ : 'รัฐบาลไทย' อนุมัติประทานบัตรฯ 4 ฉบับ พื้นที่ 'เหมืองทองคำชาตรี' ให้ 'คิงส์เกต')
การกลับมาเปิด ‘เหมืองทองอัครา’ อีกครั้ง ได้รับการยืนยันจาก นิรันดร์ ยิ่งมหิศรานนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ว่า เมื่อเดือน ธ.ค.2564 คณะกรรมแร่ฯ มีมติเห็นชอบต่ออายุประทานบัตรเพื่อการทำเหมืองแร่ทองคำและเงิน 4 แปลง ให้กับ บมจ.อัครา รีซอร์สเซส ได้แก่
-ประทานบัตรที่ 25528/14714 ในพื้นที่ ต.ท้ายดง อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์
-ประทานบัตรที่ 26910/15365 ในพื้นที่ ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร
-ประทานบัตรที่ 26911/15366 ในพื้นที่ ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร
-ประทานบัตรที่ 26912/15367 ในพื้นที่ ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร
ทั้งนี้ ประทานบัตรเพื่อการทำเหมืองแร่ทองคำและเงินทั้ง 4 ฉบับดังกล่าว จะมีอายุ 10 ปี หรือตั้งแต่วันที่ 30 ธ.ค.2564 ถึงวันที่ 29 ธ.ค.2574
นอกจากนี้ กพร. ได้อนุญาตต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมที่ 1/2551 ให้แก่ บมจ.อัครา รีซอร์สเซส เพื่อประกอบโลหกรรมแร่ทองคำ ด้วยวิธีการโลหะวิทยาสารละลาย วิธีการโลหะวิทยาไฟฟ้า และวิธีการโลหะวิทยาความร้อน ที่ ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จังหวัดพิจิตร และที่ ต.ท้ายดง อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ ออกไปอีก 5 ปี (19 ม.ค.2565-18 ม.ค.2570)
“ตอนนี้เป็นสิทธิ์ของเขา (บมจ.อัครา รีซอร์สเซส) แล้ว ที่จะเลือกเข้าพื้นที่เมื่อไหร่ แต่ก่อนที่เขาจะเข้า จะต้องแจ้งหน่วยงานราชการก่อน 15 วัน” นิรันดร์ กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org)
นิรันดร์ ระบุด้วยว่า การอนุมัติประทานบัตรฯทั้ง 4 แปลงดังกล่าว เป็นการอนุมัติภายใต้ พ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่ หรือฉบับปี 2560 และอนุบัญญัติที่เกี่ยวข้อง ซึ่งปรับปรุงเนื้อหาเกี่ยวกับการจัดการเหมืองแร่ทองคำ และกำหนดเงื่อนไขต่างๆเข้มงวดมากขึ้น เมื่อเทียบกับ พ.ร.บ.แร่ฉบับเดิม
ที่สำคัญ บมจ.อัครา รีซอร์สเซส ต้องยื่นคำขอเข้ามาใหม่ตั้งแต่ต้น แม้ว่าประทานบัตรทำเหมืองแร่ฯทั้ง 4 แปลง จะมี 3 แปลงที่บริษัทฯเคยได้รับอนุมัติประทานบัตรมาแล้ว และเพิ่งหมดอายุไปเมื่อปี 2563 ส่วนอีก 1 แปลง เป็นแปลงที่บริษัทยื่นขอประทานบัตรฯเมื่อปี 2551 แต่ยังไม่ได้รับอนุมัติ
“เราแจ้งเขาไปว่า ถ้ายังสนใจทำต่อ ให้มาขอ (ประทานบัตร) ไม่มีสิทธิ์มาบอกว่าเคยยื่นมาแล้ว ทำไมต้องยื่นใหม่ เราบอกไม่เกี่ยว ถ้าอยากทำจริงๆ ต้องยื่นเอกสารใหม่ เป็นตามกฎหมายใหม่ ไม่มีข้อยกเว้น ไม่มีการต่อรอง แล้วเขาก็ยื่นมาจริงๆ พอยื่นครบ จึงเป็นหน้าที่ของกรมฯที่ต้องเอาคำขอมาพิจารณา แต่กว่าจะอนุมัติก็ใช้เวลา 2-3 ปี” นิรันดร์ ย้ำ
@ตัวแทนชาวบ้าน 90% เห็นด้วยกับการเปิดเหมืองอีกครั้ง
เมื่อถามถึงความกังวลของประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณโดยรอบพื้นที่ทำเหมืองฯ หาก บมจ.อัครา รีซอร์สเซส จะกลับมาเปิดเหมืองอีกครั้ง นั้น นิรันดร์ บอกว่า ก่อนหน้านี้ กพร.ได้ให้ บมจ.อัครา รีซอร์สเซส จัดทำและเสนอข้อมูลฐานตั้งต้น (baseline) ด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่ชัดเจนมาให้ กพร.พิจารณาแล้ว จากเดิมที่ไม่มี baseline
“เราให้เขา (บมจ.อัครา รีซอร์สเซส) เอาข้อมูลที่มีทั้งหมด ก่อนการประกอบการมาเป็น baseline ตั้งต้น และเริ่มนับหนึ่งกันใหม่ โดยเราจะมีระบบการติดตามตรวจสอบฯ และจะมีการตั้งคณะกรรมการฯมีตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆเข้ามาทำงานในการวางแผนเพื่อติดตามเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อมร่วมกัน จากในอดีตที่ต่างคนต่างทำ” นิรันดร์ กล่าว
นิรันดร์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จากการส่งทีมงานสำรวจในพื้นที่บริเวณรอบเหมืองฯ พบว่าตัวแทนชาวบ้านที่เข้าไปสำรวจส่วนใหญ่หรือ 90% เห็นด้วยกับการเปิดเหมืองฯ ส่วนที่ยังลังเลว่าจะเปิดเหมืองดีหรือไม่มี หรือไม่อยากให้มีการเปิดเหมืองฯมีเพียง 10% จึงได้ฝากการบ้านไปยัง บมจ.อัครา รีซอร์สเซส ในการทำความเข้าใจกับชาวบ้าน
“ถ้ามีผลกระทบตรงไหน และจะเยียวยากันอย่างไร บริษัทฯต้องไปดู แต่ก่อนอื่นบริษัทฯต้องทำดีก่อน ทำทุกอย่างให้ถูกต้องก่อน และอย่าทิ้งชาวบ้าน” นิรันดร์ ย้ำ
(นิรันดร์ ยิ่งมหิศรานนท์)
@ยันให้ ‘ประทานบัตร’ ไม่เกี่ยวยุติคดี ‘คิงส์เกต’ ฟ้องรัฐบาลไทย
เมื่อถามว่า การอนุมัติประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำฯ 4 แปลง ให้ บมจ.อัครา รีซอร์สเซส เป็นข้อ ‘แลกเปลี่ยน’ ที่รัฐบาลไทยให้กับ ‘คิงส์เกต’ แลกกับการที่ ‘คิงส์เกต’ ยื่นถอนคดีออกจากการพิจารณาคณะอนุญาโตตุลาการหรือไม่ นั้น นิรันดร์ ระบุว่า ‘ไม่มีการแลกเปลี่ยน’ และเป็น ‘คนละเรื่องกัน’ ซึ่งวันนี้คดีก็ยังว่ากันอยู่
“ข้อเรียกร้องหรือข้อต่อสู้ของเขา (คิงส์เกต) ตั้งแต่ต้น คือ เขาร้องว่า ไปหยุดเขาทำไม ซึ่งเราบอกไปว่า ที่เราหยุด เพราะรัฐมีสิทธิ์ที่จะห่วงใยเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องสุขภาพ และรัฐมีสิทธิ์สั่งการ แต่เราไม่เคยคิดไปเวนคืน ไม่เคยคิดยึดมา และถ้าเขามาขอ (ประทานบัตร) เราก็ให้ แต่ต้องมาขอตามกฎหมายใหม่
ดังนั้น ทั้ง 2 เรื่อง จึงเป็นคนละเรื่องกันเลย ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องคดี แต่ถ้ามาบอกว่า เป็นการแลกเปลี่ยนกัน อันนั้นเราจะต้องให้ (ประทานบัตร) เขาทันที คือ ถ้าเขาขอมา เราต้องให้เขาทันที แต่นี่เราใช้เวลาพิจารณากัน 2-3 ปี และเอกสารที่เขาส่งมา ต้องครบและถูกต้องจริงๆ ไม่อย่างนั้น เราไม่ให้” นิรันดร์ กล่าว
นิรันดร์ ยังกล่าวว่า มีแนวโน้มว่าการตัดสินคดีที่ คิงส์เกต ฟ้องรัฐบาลที่สั่งระงับการทำเหมืองทองเมื่อปี 2560 ของคณะอนุญาโตตุลาการฯ จะเลื่อนออกไปจากวันที่ 31 ม.ค.นี้ เพื่อให้ คิงส์เกต มีเวลาพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร เมื่อสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในขณะนี้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
“คาดว่าน่าจะเลื่อน เพราะเราก็คุยกันว่า บริษัทฯจะเอาอย่างไร ถ้าเขาตั้งใจจะกลับมาจริงๆ ก็เลื่อนไปก่อนก็แล้วกัน ให้เขาไปคิด แต่ถ้าอ่านเลย เราก็พร้อม ซึ่งในช่วง 1-2 วันนี้ เราจะคุยกันว่าจะเลื่อนหรือไม่” นิรันดร์ กล่าว พร้อมระบุว่า “เราได้ทำในสิ่งที่เราควรทำ ประเทศไทยปฏิบัติในสิ่งที่ควรทำ แต่สุดท้ายขึ้นอยู่กับอนุญาโตตุลาการว่าจะติดสินอย่างไร”
@ ‘อัคราฯ’ ขอบคุณ ‘รัฐบาล-ก.อุตฯ’ อนุมัติเปิดทำเหมืองแร่
ด้าน สิโรจ ประเสริฐผล กรรมการ บมจ.อัครา รีซอร์สเซส กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลอนุมัติต่ออายุประทานบัตรและใบใบอนุญาตประกอบโลหกรรมให้บริษัทฯ ว่า “บริษัทฯขอขอบคุณกระทรวงอุตสาหกรรมและรัฐบาลไทย ที่พิจารณาข้อเท็จจริงด้วยความเป็นธรรมให้แก่บริษัท เพื่อให้สามารถกลับมาเปิดดำเนินการได้อีกครั้ง”
พร้อมระบุว่า “บริษัทขอถือโอกาสนี้ยืนยันอีกครั้งว่า บริษัทปฏิบัติทุกอย่างตามกฎหมายและหลักธรรมภิบาลอย่างเคร่งครัด การดำเนินงานของบริษัทไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนและสิ่งแวดล้อมแต่อย่างใด ซึ่งมีเอกสารวิชาการที่จัดทำโดยคณะบุคคลและหน่วยงานที่เป็นกลางสนับสนุนข้อเท็จจริงนี้เป็นจำนวนมาก
เช่น โครงการตรวจวิเคราะห์ข้อมูลคุณภาพสิ่งแวดล้อมบริเวณพื้นที่แหล่งแร่ทองคํา จ.พิจิตร จ.เพชรบูรณ์ และจ.พิษณุโลก ของสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งพบว่าค่าการตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่บริเวณโครงการไม่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญจากพื้นที่อื่นที่อยู่ไกลออกไป ฯลฯ”
สิโรจ ระบุว่า เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการดำเนินการของบริษัท ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานสูงสุด จึงจัดให้มีการติดตั้งจุดตรวจวัดคุณภาพด้านสิ่งแวดล้อม ครอบคลุมการตรวจวัดคุณภาพดิน น้ำผิวดิน น้ำใต้ดิน อากาศ ทั้งในพื้นที่โครงการและบริเวณโดยรอบ ด้วยเทคโนโลยีที่ได้รับการออกแบบจากผู้เชี่ยวชาญและบริษัทชั้นนำระดับโลก
@ชี้ ‘รัฐบาล’ นำสมบัติชาติไปมัดจำ ‘คิงส์เกต’ แลกถอนฟ้อง
ขณะที่ จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย ซึ่งติดตามและตรวจสอบคดีเหมืองทองอัคราฯ เผยกับกับสื่อหลายสำนัก ว่า การที่รัฐบาลยอมให้ บมจ.อัครา รีซอร์สเซส กลับมาทำเหมืองฯในแหล่งทองชาตรี เป็นสัญญาณที่แสดงว่ารัฐบาลไทยกำลังจะแพ้คดี จึงยอมกลืนน้ำลายตัวเอง เพื่อเปิดทางเจรจาให้มีการถอนฟ้อง ซึ่งที่ผ่านมาคดีเหมืองทองอัคราฯได้เลื่อนการชี้ขาดไปแล้ว 3 ครั้ง
จิราพร ประเมินว่า การชี้ขาดคดีเหมืองทองอัคราฯที่จะมีขึ้นในวันที่ 31 ม.ค.นี้ จะออกมาใน 3 แนวทาง คือ
แนวทางที่ 1 คือ ยุติกระบวนการอนุญาโตตุลาการตามที่คู่กรณีทั้งสองฝ่ายร้องขอ หรือเรียกว่าทั้งสองฝ่ายประนีประนอมยอมความกัน ซึ่งอาจเกิดผลใน 2 รูปแบบ
คือ รูปแบบแรก บริษัทคิงส์เกตฯ ถอนคดีออกจากกระบวนการอนุญาโตตุลาการ
และ รูปแบบที่สอง คณะอนุญาโตตุลาการไม่ได้ตัดสินว่าฝ่ายใดถูกหรือผิด แต่จะนำข้อตกลงประนีประนอมยอมความของคู่กรณีมาบันทึกไว้โดยไม่มีความเห็นของอนุญาโตตุลาการประกอบ หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ปฏิบัติตามจะนำบันทึกข้อตกลงนั้นไปบังคับคดีต่อไปได้
แนวทางที่ 2 คือ ออกคำชี้ขาดแค่บางส่วนบางประเด็น แล้วเก็บข้อพิพาทที่เหลือไว้ออกคำชี้ขาดในภายหลัง
แนวทางที่ 3 คือ ออกคำชี้ขาดของข้อพิพาททั้งหมด
(จิราพร สินธุไพร)
จิราพร ระบุว่า “รัฐบาลไทยกำลังมีดีลใหญ่กับบริษัทคิงส์เกตเพื่อแลกกับการถอนฟ้องใช่หรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้รัฐบาลได้อนุมัติสิทธิสำรวจแร่ทองคำในพื้นที่เกือบ 400,000 ไร่ ให้กับ คิงส์เกตฯ และยังเร่งอนุมัติสัญญาเช่าอีก 4 แปลงเพื่อเปิดทางให้เหมืองทองอัครา สามารถกลับมาดำเนินการได้ก่อนที่จะมีการตัดสินคดีด้วยซ้ำ
และอาจเป็นการนำทรัพย์สมบัติชาติไปมัดจำก่อนตามที่ได้เจรจาไว้ และยังมีพื้นที่อีกเกือบ 600,000 ไร่ และสิทธิประโยชน์อื่นๆ ที่รอการอนุมัติเพิ่มเติมหลังจากนี้ ซึ่งมีประเด็นปัญหาว่า การที่รัฐบาลไทยนำทรัพยากรชาติไปใช้ในการเจรจาต่อรองในลักษณะนี้เป็นการดีลที่เกินกว่าข้อพิพาทหรือไม่ ซึ่งในอนาคตอาจเกิดปัญหาทางกฎหมายได้”
@ภาคประชาสังคมเรียกร้องสอบสวน ‘สุริยะ-อธิบดี กพร.’
ส่วนความเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคมนั้น ล่าสุด (26 ม.ค.) กลุ่มประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ นำโดย วันเพ็ญ พรหมรังสรรค์ แกนนำกลุ่มฯ เข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม คัดค้านการการต่อใบอนุญาตประทานบัตร และใบอนุญาตประกอบโลหกรรม ให้กับ บมจ.อัครา รีซอร์สเซส
พร้อมกันนั้น ทางกลุ่มฯเรียกร้องสอบสวนดำเนินคดี สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม , อธิบดี กพร. กรณีการอนุญาตประทานบัตร และอนุญาตโรงประกอบโลหกรรม เพื่อทำเหมืองแร่ทองคำให้กับ บมจ.อัครา รีซอร์สเซส โดยมิชอบ และขอให้ถอดถอน สุริยะ และสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม เนื่องจากไม่กำกับดูแลกรณีคดีเหมืองแร่ทองคำ
“กลุ่มฯคัดค้านการอนุญาตอาชญาบัตรและประทานบัตรที่ออกโดยไม่ชอบให้แก่ บมจ.อัครา รีซอร์สเซส เพื่อระงับยับยั้งและป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายร้ายแรงแก่ประเทศไทย และขอให้นายกฯเร่งรัดเอาผิดกับ บมจ.อัครา รีซอร์สเซส ตามกฎหมายของประเทศไทยด่วนที่สุด” หนังสือของกลุ่มประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ ระบุ
อารมย์ คำจริง หนึ่งในแกนนำกลุ่มประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา ว่า ไม่แน่ใจว่า การที่กระทรวงอุตสาหกรรมอนุมัติประทานบัตร 4 ฉบับ ให้กับ บมจ.อัครา รีซอร์สเซส ทำไป เพื่อแลกกับการให้ คิงส์เกต ถอนฟ้องคดีเหมืองทองอัคราหรือไม่
แต่ส่วนตัวเชื่อว่า ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกัน เพราะไม่ว่าอย่างไร บมจ.อัครา รีซอร์สเซส จะต้องเดินหน้ากลับไปมาเปิดเหมืองทองอีกครั้งให้ได้ และที่ผ่านมาบริษัทฯก็ได้รับอนุมัติอาชญาบัตรพิเศษแร่ทองคำกว่า 4 แสนไร่ ใน จ.เพชรบูรณ์
"คิดว่าไม่น่าจะต้องแลกอะไรกัน อนุญาโตตุลาการจะตัดสินอย่างไรก็เป็นไปตามนั้น แต่เราก็ไม่รู้ว่าทางรัฐมนตรีของเราไปคุยอะไรกับเขาบ้าง ซึ่งในมุมของชาวบ้านเอง เห็นว่าสิ่งที่บริษัทฯทำผิด เช่น การลักลอบขุดถนนเอาแร่ การทำสารพิษรั่วไหล ภาครัฐจะต้องไปเรียกค่าเสียหายจากบริษัทฯ ซึ่งตรงนี้มีมูลค่าเป็นแสนล้าน มากกว่าคดีที่คิงส์เกตฟ้องเรียกค่าเสียหายจากเรา 3 หมื่นล้าน" อารมย์ กล่าว
จากนี้คงต้องติดตามกันไปว่า ‘คดีเหมืองทองอัครา’ ซึ่ง ‘คิงส์เกต’ ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายจากรัฐบาลไทยเป็นเงิน 750 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3 หมื่นล้านบาท จากกรณีสั่งปิดเหมืองทองเมื่อวันที่ 1 ม.ค.2560 จะยุติลงอย่างไร หลังรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยอมให้ บมจ.อัครา รีซอร์สเซส ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ ‘คิงส์เกต’ กลับมาเปิดเหมืองทองอีกครั้ง!
อ่านประกอบ :
ร้องตร.ป.ป.ป.เอาผิดDSIละเว้นปฎิบัติหน้าที่-จี้สอบปมขอประทานบัตรเหมืองทองอัคราฯ
'รัฐบาลไทย' อนุมัติประทานบัตรฯ 4 ฉบับ พื้นที่ 'เหมืองทองคำชาตรี' ให้ 'คิงส์เกต'
โฆษกรัฐบาลโต้ 'เพื่อไทย' ปัดรัฐไฟเขียว 'คิงส์เกต' เปิดเหมืองทองใหม่
'เครือข่ายต้านเหมืองทอง'ร้อง DSI สอบ รมว.อุตสาหกรรม อ้างฮั้วให้ประทานบัตรใหม่
ส่งฟ้องศาลแล้ว! อัปเดตคดี 'อดีตบิ๊ก ก.อุตฯ' เอื้อ บ.อัคราฯ เปลี่ยนผังเหมืองทองมิชอบ
ถอดบทเรียน! ก่อนปิด ‘เหมืองทองอัครา’ ปมผลกระทบ ‘สุขภาพ’ ที่ยังไม่คลี่คลาย?
ดีเอสไอรับ'คดีเหมืองทองอัครา'ปมทำผิด กม.ประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เป็นคดีพิเศษ
รบ.ยังไม่เสียสักบาท! ‘วิษณุ’สวนฝ่ายค้านแนวโน้มไทยแพ้ค่าโง่เหมืองอัคราฯแค่เฟกนิวส์
ฝ่ายค้านขุดเอกสารลับ!แนวโน้มไทยแพ้ค่าโง่ 2 หมื่นล.อัคราฯ ‘สุริยะ-บิ๊กตู่’ปัดเอื้อ ปย.