วงเสวนา ‘วปอ.’ ชี้ ‘ระบบราชการไทย’ มีขนาดใหญ่โต สร้างภาระการคลัง-เป็นข้อจำกัด ‘เศรษฐกิจ’ พร้อมระบุออก ‘กฎหมาย’ มาก เป็นการ ‘จำกัด’ สิทธิเสรีภาพของประชาชน ‘วิรไท’ มอง 10 ปี ระบบราชการใหญ่ขึ้น-รัฐบาลมีอำนาจ ‘รวมศูนย์’ มากขึ้น
.................................
เมื่อวันที่ 13 ม.ค.ที่ผ่านมา วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) จัดเสวนาเรื่อง ‘From Strategy to Execution’ ภายในงาน ‘NDC Leadership Talk Series’ ครั้งที่ 1 โดยมีวิทยากร 3 ราย ได้แก่ นายวิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) , นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และนายโจ ฮอร์น พัธโนทัย กรรมการอำนวยการบริษัท Strategy613 จำกัด ในฐานะผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับประเทศจีน
นายวิรไท กล่าวในงานเสวนาตอนหนึ่งว่า ต้องยอมรับว่า เราอยู่ในโลกที่มีการคาดเดาอนาคตได้ยากขึ้นเรื่อยๆ หรือที่เรียกว่า VUCA (V-Volatility ความผันผวน , U-Uncertainty ความไม่แน่นอน , C-Complexity ความซับซ้อน และ A-Ambiguity ความคลุมเครือ) โดยหลายเรื่องที่เราคุ้นชิน หรือเรื่องที่เคยเรียนมา ไม่ได้เป็นแบบนั้นแล้ว ขณะที่เครื่องมือและมาตรการหลายอย่างที่ทำ ไม่ได้ส่งผลตามที่เราเคยเชื่อหรือเข้าใจ เพราะโลกมีความซับซ้อนและความไม่แน่นอนสูงมาก
“การที่โลกมีลักษณะ VUCA ไม่ใช่แค่ในระดับมหภาคเท่านั้น แต่ลงไปถึงวิถีชีวิตของคนทุกคน ดังนั้น ทุกแผนหรือยุทธศาสตร์ที่เราจะทำ จะต้องนำไปสู่การเปลี่ยนพฤติกรรมของคน จึงจะเกิดผล เกิด outcome ผมคิดว่านี่เป็นคำใหญ่ที่เราไม่ค่อยได้พูดถึงกัน มันต้องมีผลในเรื่องการเปลี่ยนพฤติกรรม ไม่ว่าจะคนในองค์กร หรือคนนอกองค์กร โดยเฉพาะถ้าเป็นองค์กรภาครัฐ สิ่งที่เราทำ จะต้องมีผลไปสู่พฤติกรรมของคน จึงจะได้ outcome ที่เราต้องการ” นายวิรไท กล่าว
@โลกมีความไม่แน่นอนสูง-ทำแผนต้องมี ‘ฉากทัศน์’ หลายแบบ
นายวิรไท กล่าวต่อว่า ในขณะที่เราอาจคาดเดาอนาคตไม่ได้ แต่การทำแผนต่างๆในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะนักเศรษฐศาสตร์ มักติดกับสิ่งที่เป็น baseline (ฉากทัศน์กลางหรือฉากทัศน์มาตรฐาน) คือ ประมาณการว่าอนาคตจะเป็นแบบนี้ แล้วทำแผนตาม baseline แต่เนื่องจากโลกมีความไม่แน่นอนสูง ทำให้การทำแผนที่อิงกับฉากทัศน์กลางหรือฉากทัศน์มาตรฐาน จะไม่ค่อยเกิดผลแบบนั้น หรือไม่สอดคล้องกับบริบทที่เกิดขึ้นจริง
ดังนั้น การทำแผนจะต้องให้ความสำคัญกับการพิจารณา scenario (ฉากทัศน์) ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ และต้องสามารถปรับตัวให้เท่าทันกับฉากทัศน์ต่างๆได้ แต่การทำฉากทัศน์นั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องมองจากข้างนอกเข้ามา และมองจากตัวแปรสำคัญๆที่กำลังจะเปลี่ยน เช่น เมื่อก่อน ธปท.ชอบทำแผนยาวๆ แต่ตอนหลังทำแผน 3 ปี ก็เก่งแล้ว เพราะการทำแผนเกิน 3 ปี ไม่สามารถที่จะเดาอะไรได้เลย
“ทำอย่างไรที่จะทำให้แผน 3 ปี เป็นแผนที่มีพลัง เกิดผล เป็นแผนที่ได้ outcome ที่ชัดเจน และในยุคปัจจุบันผมจะให้น้ำหนักมากกับ outcome ทำอย่างไรที่จะได้ outcome ที่ต้องการ จึงต้องมาถกเถียงเรื่อง outcome มากๆ ว่า outcome ที่ต้องการคืออะไร เพราะถ้าไม่ทำเรื่อง outcome ให้ชัด แผนจะมีลักษณะเป็นแผนกิจกรรม ทุกคนจะต่อยอดสิ่งที่ทำมา และเป็นแผนปฏิบัติ ขณะที่โลกที่เราเผชิญข้างหน้า เป็นโลกที่กำลังเปลี่ยนโครงสร้างทุกรูปแบบอย่างหนักเลย
แผนที่ไม่ได้คิดเรื่อง outcome ไม่ได้คิดถึงเป้าประสงค์ที่แท้จริง จะออกเป็นแผนกิจกรรมที่ต่อยอดจากสิ่งที่เคยทำมาแล้ว และบางครั้งก็ไม่ได้กลับไปดูด้วยว่า สิ่งที่เคยทำมาสอดคล้องกับบริบทในอนาคตหรือไม่ ดังนั้น การคิดเรื่อง outcome , outside in (มองจากข้างนอกเข้ามาข้างใน) การคิดเรื่องการทำแผนให้มีความคล่องตัว ทันการณ์ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ” นายวิรไท กล่าว
(วิรไท สันติประภพ)
@ไทยไม่ควรตั้งเป้าเป็น ‘ฮับ’ เพราะโลกเปลี่ยนไปแล้ว
นายวิรไท กล่าวว่า หากพิจารณาจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ที่กำลังทำกันในขณะนี้ มักจะได้ยินว่าเราอยากเป็นศูนย์กลาง เช่น เป็นศูนย์กลาง CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และกัมพูชา) แต่ถามว่าประเทศรอบบ้านเขาคิดแบบเราหรือไม่ เขาอยากให้เราเป็นศูนย์กลางหรือไม่ เราจะเป็นศูนย์กลาง CLMV แต่คุณค่าที่เราจะทำให้เกิดกับประเทศรอบข้างคืออะไรที่จะเป็น Win-Win
“โลกปัจจุบัน ไม่ใช่โลกที่มีแนวคิดการเป็นศูนย์กลางแบบเดิมแล้ว แต่เป็นโลกของ network เป็นโลกแห่งความเชื่อมโยง และหลายเรื่องเวียดนามไปไกลกว่าเรา และในอนาคตตัว C ตัว L และตัว M ใครอยู่เบื้องหลังจริงๆ มีคนบอกว่าอีกหน่อยเราจะมีเพื่อนบ้านแค่ 2 ประเทศ คือ จีนกับมาเลเซีย ซึ่งบริบทแบบนี้เราอาจไม่ค่อยได้คิดกันเท่าไหร่ เพราะเรายังคิดกับกรอบแบบเดิม
เช่น เราอยากจะเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาค แต่คำถาม คือ การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคนี้คืออะไร เราจะเอาดาต้าเซ็นเตอร์มาตั้งในประเทศไทยเยอะๆให้เปลืองไฟเราเหรอ โดยโลกปัจจุบันเป็นโลกดิจิทัล เป็นโลกของ network เป็นโลก distributed ledger technology (เทคโนโลยีจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์) เป็นโลกที่ไม่มีศูนย์กลาง ไม่มีบัญชีกลาง แต่ประเทศเราอยากจะเป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจดิจิทัล
ซึ่งมันจะเหมือนกับที่เราเคยตั้งเป้าว่าจะเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค เมื่อก่อนเราก็เป็นได้ ถ้าถอยกลับไปเมื่อ 10-15 ปีที่แล้ว เครื่องบินจะยุโรปไปออสเตรเลีย ต้องแวะเมืองไทยหรือสิงคโปร์แค่นั้น 2 ฮับนี้ได้มาเก็ตแชร์ประมาณ 40 และ 45% ของไฟล์ททั้งหมด แต่วันนี้เครื่องบินบินได้ไกล บินไม่ต้องหยุด และเกิดฮับใหม่ๆในตะวันออกกลาง ซึ่งเรามีน้ำมันที่ถูกกว่า ภาษีก็ไม่ต้องเสีย มีสายการบินที่รัฐบาลซัพพอร์ต แล้วเรายังอยากจะเป็นศูนย์กลางในบริบทแบบนี้ ก็ไม่ใช่
ดังนั้น เวลาที่เราพูดถึงยุทธศาสตร์ น้ำหนักที่เราให้ค่อนข้างน้อย คือ การคิดให้ตกผลึกถึงบริบทข้างหน้า และ outcome (ผลลัพธ์) ที่เราต้องการ เรามักจะข้ามไปที่กิจกรรมเลย พอเราข้ามไปที่กิจกรรม ก็เป็นแค่การต่อยอดจากกรอบคิดแบบเดิมๆ ทำให้เราติดอยู่ในกับดักของกรอบความคิดแบบเดิมของเรา” นายวิรไท กล่าว
@'ระบบราชการไทย' ใหญ่โต สร้างภาระการคลังประเทศ
นายวิรไท ยังกล่าวว่า ที่ผ่านมาอาจไม่มีใครมองว่าระบบราชการจะใหญ่ขึ้น จนทำให้เกิดภาระฐานการคลังของประเทศ และยิ่งระบบราชการใหญ่ขึ้นเท่าใด ทุกคนจะต้องมีหน่วยงาน มีกรอบกฎหมายมาสนับสนุนการทำงานของตัวเอง และกรอบกฎหมายดังกล่าว ก็เป็นข้อจำกัดของภาคเอกชน สังคม และการพัฒนานวัตกรรม
“สิ่งที่ขาดมาก เราขาดคนหรือขาดหน่วยงาน ที่ทำหน้าที่ดูข้อจำกัดของประเทศอย่างจริงจัง เพราะเวลาที่มีแผนมา มักจะมีการขออัตรากำลังเพิ่ม ขอหน่วยงานเพิ่ม คิดเหมือนกันว่าแต่ละหน่วยงานไม่มีข้อจำกัด และไม่มองภาพใหญ่ของประเทศ ที่สำคัญพอไม่มองว่ามีข้อจำกัดเป็นตัวตั้งต้น ก็ไม่มีใครคิดถึงเรื่องการจัดลำดับความสำคัญ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่อีกอันหนึ่งของประเทศไทย
เรามักทำแผน เพราะกฎหมายบอกให้ทำแผน รัฐธรรมนูญบอกให้ทำแผน หรือเป็นนโยบายของผู้ใหญ่ที่ย้ายเข้ามาใหม่ ก็ต้องทำแผนหรือมีอะไรที่ต่างไปจากเดิม ส่วนข้อกัดต่างๆ ก็คิดว่าจะไปหาทางที่จะได้งบหรืออะไรเพิ่มเติม และพอไม่มีการจัดลำดับความสำคัญ ก็เป็นแผนที่เป็นเบี้ยหัวแตก และเป็นปัญหาว่า เรามีแผนเยอะแยะไปหมดเลย แต่ไม่รู้สึกว่ามีผลในทางปฏิบัติจริง” นายวิรไท กล่าว
นายวิรไท ระบุว่า หากรัฐบาลกลางมีขนาดเล็ก จะไม่ไปเสียเวลาไปทำเรื่องที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ แต่จะไปโฟกัสในเรื่องที่สำคัญ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ระบบราชการของไทยใหญ่ขึ้น ทำให้เกิดภาระงบประมาณเป็นจำนวนมาก ในขณะที่รัฐบาลเองมีการรวมศูนย์อำนาจมากขึ้น
“ถ้าเราปล่อยให้รัฐบาลใหญ่ ซึ่งรัฐบาลของไทยใหญ่มาก และเป็นรัฐบาลที่รวมศูนย์มากขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เช่น ส่วนราชการ เมื่อก่อนมีอธิบดี และมีรองอธิบดี 2-3 ท่าน แต่วันนี้มีอธิบดี อาจมีที่ปรึกษาระดับ 10 อีก 2-3 ท่าน และมีรองอธิบดีอีก 2-3 ท่าน มันเป็นส่วนราชการหัวโต และทุกคนก็ต้องพยายามทำให้ตัวเองมีงาน จึงทำให้มีงานที่ไม่จำเป็นอยู่เยอะ ดังนั้น การสร้างวินัยให้มีข้อจำกัดที่ชัดเจนของภาครัฐ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก
เพราะถ้าเราปล่อยให้ระบบราชการโตแบบนี้ไปเรื่อยๆ ภาระการคลังของประเทศจะมีปัญหาแน่นอนในอนาคต วันนี้ฐานะการคลังเรายังดีอยู่ แต่ถ้าปล่อยให้ทิศทางไปในลักษณะแบบนี้ ภาคการคลังจะมีรายจ่ายอีกเยอะมาก ที่สำคัญที่จะมีผลข้างเคียง ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎหมายที่เกินพอดี หรือมีกฎเกณฑ์กติกาการขออำนาจ ขอใบอนุญาตที่เกินพอดี ซึ่งจะทำให้ภาคเศรษฐกิจไม่สามารถเติบโตได้ดีเท่าที่ควร” นายวิรไท กล่าว
นายวิรไท ย้ำว่า “เวลาที่ภาครัฐมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จะพบว่าระบบการทำงานมีความเป็น Silo มากขึ้น มีความเป็นกล่องมากขึ้น ในขณะที่ปัญหาที่ต้องเผชิญข้างหน้า เป็นปัญหาที่มีความซับซ้อน มีหลายมิติ เราจะเสียเวลากันเยอะมาก ที่จะประชุมเพื่อบอกว่าอันนี้อยู่ภายใต้อำนาจหน่วยงานไหน กฎหมายของใคร ใครรักษากฎหมายและทุกคนจะเกาะแต่กฎหมายของตัวเอง ที่สำคัญกฎหมายที่ออกมาแต่เดิม เป็นกฎหมายที่ตอบโจทย์โลกเก่า ปัญหาหลายเรื่องเราจึงแก้ไขไม่ได้”
@เสนอ ‘พรรคการเมือง’ มีนโยบายให้ ‘ระบบราชการ’ เล็กลง
นายวิรไท เสนอว่า การทำให้รัฐบาลกลางเล็กลงนั้น ต้องทำให้ชัดว่า เราต้องการความคาดหวังอะไรจากการที่รัฐบาลกลางเล็กลง และต้องตกผลึกก่อนว่ารัฐบาลเล็กลงเพื่ออะไร เช่น เพื่อให้มีการใช้อำนาจน้อยลง เพื่อให้เกิดความคล่องตัว และลดภาระการคลังของประเทศในระยะยาว เป็นต้น จากนั้นก็จัดลำดับความสำคัญว่าจะทำอะไรบ้าง แต่สิ่งที่ทำได้เลยในระยะสั้น คือ ต้องใส่ข้อจำกัดเรื่องงบประมาณเข้าไป แต่ไม่ใช่ลดงบเท่ากับหมดทุกหน่วยงาน
“พอบอกให้ลดงบประมาณ 10% ทุกหน่วยงานก็ลดงบลง 10% ไม่ใช่ แต่ควรจะต้องลงไปในรายละเอียดว่างบประมาณลักษณะไหน หน่วยงานลักษณะไหนควรต้องลดงบประมาณหรือมีข้อจำกัดที่ชัดเจนขึ้น เพราะเราเจอปัญหาว่า พอห้ามเพิ่มข้าราชการ สิ่งที่เกิด คือ หลายเป็นหน่วยงานหัวโตกันหมด คนทำงานข้างล่างไม่มี เพราะเงินเดือนของพี่ๆผู้ใหญ่ราคาแพง เมื่อพี่ๆผู้ใหญ่มีเสียงดังมากกว่า น้องๆก็ถูก freeze ตำแหน่ง ก็ไม่ตอบโจทย์อีก
ผมเคยเสนอไปว่างบกระดาษควรจะลด งบหมึกพิมพ์ควรจะลด แล้วทุกคนควรทำเรื่องดิจิทัลกันอย่างจริงจัง ที่สำคัญเรื่องนี้จะต้องทำให้เป็นวาระของการเลือกตั้งคราวหน้า พรรคไหนบ้างที่มีนโยบายเรื่องนี้ที่ชัดเจนว่า จะลด ไม่ใช่แค่ลดเฉพาะรัฐบาลกลาง แต่ลดอำนาจรัฐด้วย หรือแม้แต่รัฐวิสาหกิจเอง วันนี้รัฐวิสาหกิจของเราก็มีขนาดใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ และมีบทบาทที่เข้าไปมีบทบาทต่อการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจ” นายวิรไท กล่าว
@ชี้ระบบกฎหมายไทย ‘ล้าสมัย’ เหตุยังเน้นระบบ ‘ควบคุม’
ด้าน นายปกรณ์ กล่าวว่า ความท้าทายใหญ่ขององค์กรภาครัฐ คือ ภาครัฐของไทยมีขนาดใหญ่มาก และยังคงยึดติดกับวิธีทำงานแบบเดิม เช่น ตอนที่เราจะทำเป้าหมายอะไรซักอย่าง เราไม่รู้ว่าตัวเราอยู่ตรงไหนของโลก ไม่รู้ว่าอยู่ตรงไหนของสถานการณ์ ทำให้เราทำงานเหมือนที่เคยๆทำ ทั้งๆที่หากมองจากสภาพแวดล้อมจะพบว่าทุกอย่างเปลี่ยนไปแล้ว โดยเฉพาะในเรื่องกฎหมาย ซึ่งทุกวันนี้กฎหมายของเรายังมีลักษณะ control system หรือมีลักษณะควบคุมเหมือนในอดีต
“ของเรา จากเดิมเป็น control system (การควบคุม) จนบัดนี้ก็ยังเห็นอยู่ ยังต้องอนุมัติ อนุญาต กันตะบี้ตะบัน นี่คือระบบ control system ซึ่งใช้มาตั้งแต่สมัยสงครามโลก ในขณะที่ต่างประเทศ เขาไปเรื่อง D-regulation (ลดการควบคุม) หรือ Self-regulation (ควบคุมและกำกับตนเอง) มาตั้งแต่ปี 1980 ในลักษณะของ open government ที่เริ่มที่อังกฤษ ในสหรัฐเรียกว่า Sunshine Act แม้สหภาพโซเวียต ก็เป็นเปเรสตรอยคา-กลัสนอสต์
ในจีนเกิดเขตเศรษฐกิจพิเศษ 4 แห่งแรกขึ้น เขาเปลี่ยนวิธีการทำงานไปหมดแล้ว แต่เรายังลอกของเก่ามา เน้นทำตามเดิม เพราะทุกคนกลัวการเปลี่ยนแปลง ผมเคยเป็นเลขาธิการ ก.พ.ร. (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ) เขาจะบอกว่า คนกลัวการเปลี่ยนแปลง แต่เรากลัวไม่ได้ สิ่งที่เกิด คือ โลกเปลี่ยนทุกวัน เปลี่ยนตลอดเวลา ดังนั้น เราต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปให้ได้ จะตั้งรับอย่างไร” นายปกรณ์ กล่าว
@ออกกฎหมายมากจำกัด ‘สิทธิเสรีภาพ’ ประชาชน
นายปกรณ์ กล่าวต่อว่า จากการที่ระบบกฎหมายได้เปลี่ยนจาก D-regulation เป็น Better regulation ในปี 2000 และเป็น Better Regulation for Better Life ในปี 2012 คือ ทำอย่างไรให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ฉะนั้น การร่างกฎหมายแต่ละฉบับไม่ใช่แต่คิดว่า เมื่อมีปัญหาต้องร่างกฎหมาย
“ทุกวันนี้ ผมยังเจออยู่พอมีอะไรซักอย่าง ทำแผนอะไรซักอย่าง จะร่างกฎหมายเป็นอันดับแรก ผมขออนุญาตบอกว่าอันนั้นเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง กฎหมายมันจำกัดสิทธิเสรีภาพคน ถ้าไม่จำเป็นไม่ต้องมี เพราะมันจำกัดเสรีภาพไม่พอ มันยังจำกัด creativity (ความคิดสร้างสรรค์) ทำไมเราไม่ปล่อยให้มันเดินไปซักพักหนึ่งก่อน พอเรารู้หลักการและแนวทางว่าเราควรคุมอะไร เราค่อยกฎหมายมาคุม เรามอนิเตอร์ใกล้ชิดได้ แต่ไม่ใช่ไปกำกับเสียแต่แรก
ถ้าอย่างนั้น innovation (นวัตกรรม) ไม่เกิด เพราะฉะนั้น นักยุทธศาสตร์ในภาครัฐจำเป็นต้องมี คือ การเข้าใจบริบทหรือสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป และเวลาเราทำสิ่งพวกนี้ เราเรียกว่าการสำรวจสภาวะแวดล้อม ส่วนภาษาของนักกฎหมายเปรียบเทียบ คือ เมื่อโลกเปลี่ยน เป็นโลก VUCA และเปลี่ยนอย่างรุนแรงด้วย แต่เราต้องเดาให้ได้ ขณะที่การสำรวจสภาวะแวดล้อม เราสำรวจแค่ไหน สำรวจแค่ในประเทศเราหรือในอาเซียนได้หรือไม่
ตอนนี้สิ่งที่ผมกำลังตาม ผมไม่ได้ตามว่า มันเกิดอะไรขึ้นแถวนี้ เมียนมาเรามอนิเตอร์อยู่แล้ว เพราะใกล้บ้าน แต่ผมกังวลปัญหาเรื่องยูเครน เรื่องคาซัคสถาน อะไรเกิดขึ้นที่ยูเครน มีการประท้วงที่โน่นที่นั่น ซึ่งปัญหาเกิดจากท่อแก๊ส ท่อส่งน้ำมัน แล้วมันจะทำให้เกิดอะไรขึ้น แล้วทำไมอยู่ๆ ปัญหาจึงไปแตกที่คาซัคสถาน ซึ่งอยู่ใกล้กับรัสเซีย มันเกิดอะไรขึ้นในระบบการเมืองระหว่างประเทศ แล้วทำไมสหรัฐถึงเทขายน้ำมันในแท็งก์ ซึ่งวันนี้น้ำมันแตะ 84 ดอลลาร์แล้ว ผมเป็นนักกฎหมายซึ่งไม่ควรรู้เรื่องเหล่านี้ แต่นี่เป็นสิ่งที่นักกฎหมายเปรียบเทียบต้องมอนิเตอร์”นายปกรณ์ กล่าว
นายปกรณ์ กล่าวถึงการจัดทำแผนต่างๆของภาครัฐ ว่า แผนที่ส่งมาให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณา จะพบว่า 80-90% มาจากของเดิม จึงต้องตั้งคำถามว่ามีอะไรใหม่ และสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
“ปีนี้ มีลานินญ่า จะเกิดอะไรขึ้นจากลานินญ่า เราได้มองหรือไม่ ตอนนี้ที่อเมริกาใต้กำลังน้ำท่วมรุนแรง แล้วของเราจะโดนอะไร จะแล้งไหม จะเย็นไปนานแค่ไหน เราไม่รู้ แล้วแผนที่เสนอขึ้นมา คือ ลอกแผนเก่ามาแล้วเดิน วิธีคิดเป็นแบบเดิมๆ และทำแผนงาน โครงการเพื่อของบประมาณแค่นั้น ไม่ก็ขอตั้งหน่วยงานซ่อนมาในแผนปฏิบัติหรือแผนงาน บอกว่าถ้าจะทำอย่างนี้ต้องมีการตั้งหน่วยงาน ซึ่งตั้งมาเป็นร้อยแล้ว มันไม่ได้การันตีว่าประสบความสำเร็จ
มีครั้งหนึ่งตอนที่ยังอยู่ ก.พ.ร. มีเรื่องเสนอเข้า ครม. เกี่ยวกับแผนปฏิรูปประเทศ มีการขอตั้งหน่วยงานใหม่ 50 หน่วย ก.พ.ร.เลยต้องเบรกเข้าครม. โดยขอให้ไปทบทวนด่วน เพราะมันไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ที่เรา (ระบบราชการ) ต้องเล็กลง ต้องคล่องตัวขึ้น แต่ถ้ามาเป็นร้อย (หน่วยงาน) อย่างนั้น ประเทศมีแต่เจ๊งกับเจ๊ง เพราะมีแต่ต้นทุน” นายปกรณ์ กล่าว
(ปกรณ์ นิลประพันธ์)
@ระบบราชการไทยต้อง ‘เล็กลง’-ลดการออกกฎหมาย
นายปกรณ์ ยังให้ความว่า ภาครัฐของประเทศไทยไม่ควรจะใหญ่ เพราะในหลายประเทศภาครัฐเขาเล็กลง จึงเกิดคำถามว่า ทำไมไทยทำให้ระบบราชการเล็กลงไม่ได้ และเราได้พูดความจริงบางอย่างหรือไม่
“มัน (ระบบราชการ) ควรจะต้องเล็กลง แต่ไม่ใช่แค่คิด เราต้องลงมือทำเพื่อให้มันเล็กลงได้อย่างไร ซึ่งตรงนี้เราหามาตรการไม่เจอ เราเพียงแต่ออกนโยบายว่า มันต้องเล็กลง แต่เราไม่รู้ว่าเราจะทำให้มันเล็กลงอย่างไร และในมุมของนักกฎหมาย ผมไม่แฮปปี้กับการมีกฎหมายเยอะๆ เพราะมันจำกัดสิทธิเสรีภาพคน และในทางตรงข้าม มันเป็นการขยายภารกิจของรัฐไปเรื่อยๆ
พอไปจำกัดสิทธิเสรีภาพคน ก็เท่ากับว่ารัฐต้องส่งคนเข้าไปดูแล ทำให้ภารกิจของรัฐขยายไปเรื่อยเปี่อย ดังนั้น ยิ่งมีกฎหมายน้อยลง ภารกิจของรัฐจะแคบลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนนี้เราอยู่ในสังคมผู้สูงอายุ คนจะอยู่ในเสียภาษีน้อยลง แรงงานน้อยลง เขาจะเอาตังก์ที่ไหนมาจ่ายเป็นบำเหน็จบำนาญให้พวกเรา” นายปกรณ์ กล่าว
นายปกรณ์ ระบุว่า การทำให้รัฐบาลเล็กลงเป็นเรื่องระยะยาว เพราะต้องเปลี่ยนหลายอย่าง โดยเฉพาะการเปลี่ยนความคิด (mindset) แต่สิ่งที่ทำได้เลย ณ ปัจจุบัน คือ การปรับโครงสร้างภาครัฐให้มีความคล่องตัวมากขึ้น (Agility) ปรับทัศนคติในการทำงาน การใช้ระบบการทำงานที่เป็นดิจิทัลมากขึ้น ดังนั้น อย่าเพิ่งไปทำเรื่องใหญ่ เอาเรื่องที่ทำได้ และทำได้ผลจริง ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าไปพูดภาพใหญ่ว่าทำให้รัฐบาลเล็กลง จะกลายเป็นปัญหาการเมืองไปทันที
@ลด ‘แรงจูงใจ-ผลประโยชน์’ จะทำให้ขนาดภาครัฐลดลง
ขณะที่ นายโจ กล่าวว่า ในการออกนโยบายระดับรัฐบาลกลางและนโยบายพรรคของประเทศจีน จะมองใน 2 โหมด คือ โหมดหยิน และโหมดหยาง โดยวิธีหยาง คือ จะเป็นแบบ Bottom Up (จากล่างขึ้นไปข้างบน) เริ่มจากวิเคราะห์ว่า pain point อยู่ตรงไหน แล้วส่งขึ้นไปที่ศูนย์วิจัยของรัฐบาล แล้วก็ส่งไปที่คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน (NDRC) จากนั้นทำโครงการสาธิตใน 3-5 เมือง เมื่อทำไป 2-3 ปี จึงสรุปเป็นนโยบาย จากนั้นจะทำแบบเล็กๆแล้วค่อยขยาย
สำหรับวิธีหยิน คือ เคาะออกมาเลย พรรคคิดขึ้นมาแล้ว top down (สั่งการจากบนลงล่าง) แต่วิธีการแบบนี้จะใช้กับสิ่งที่เป็นระยะสั้นหรือระยะเร่งด่วน ไม่ใช่เรื่องระยะยาว ซึ่งมีถูกบ้าง ผิดบ้าง หากผิดก็แก้ หากถูกก็ทำต่อ
นายโจ กล่าวว่า ส่วนวิธีการแผนต่างๆของประเทศจีน แม้ว่าคนจีนชอบการทำแผนระยะยาว และยิ่งยาวยิ่งดี แต่สิ่งที่น่าสนใจ คือ จีน มีรัฐบาลกลางที่เล็กมาก หากเทียบกับสหรัฐที่รัฐบาลกลางมีเจ้าหน้าที่ ซึ่งไม่รวมทหาร จำนวน 1 ล้านคน แต่ประเทศจีน ซึ่งมีประชากรสูงเป็น 4 เท่าของสหรัฐ พบว่ารัฐบาลกลางจีน มีเจ้าหน้าที่ ซึ่งไม่รวมทหาร ตำรวจและเจ้าหน้าที่ที่สืบฟัง SMS เพียง 1 แสนคนเท่านั้น
“เขา (รัฐบาลกลางจีน) ไม่มีเวลาไปคุมอะไรมาก เขาทำ KPI อย่างเดียว ให้ KPI กับมณฑล แล้วให้แต่ละมณฑลไปทำเอา ถ้าผู้ว่าฯคนไหนทำตรงเป้าก็โปรโมทเป็นเลขาธิการพรรค เพราะเขาไม่มีเวลา เขาไม่มีคนจะมาบริหารให้ลึกอย่างนั้น จึงต้อง Put down ให้ระดับมณฑล และผู้ที่มีงบจริงๆ คือ ระดับเมือง ดำเนินการ” นายโจ กล่าว
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจีน จะมีรัฐบาลกลางที่มีขนาดเล็ก แต่จีนก็มีปัญหาเรื่องภาครัฐที่มีขนาดใหญ่ จีนจึงมีนโยบายห้ามเพิ่มหน่วยงานทุกระดับ และไม่ให้เพิ่มเจ้าหน้าที่ ซึ่งการเพิ่มหน่วยงานจะเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับจีน
นอกจากนี้ นายโจ ให้ความเห็นเกี่ยวกับแนวทางการลดขนาดภาครัฐของไทย ว่า “เราสามารถเริ่มจากข้างล่างได้ โดยการลดแรงจูงใจที่ทำให้รัฐบาลอยากจะใหญ่ โดยเฉพาะในระดับที่แตะกับประชาชน ซึ่งอยากจะใหญ่ เพราะเมื่อใหญ่แล้วจะได้ผลประโยชน์ เราต้องตัดแรงจูงใจ เพื่อนำไปสู่การตัดความต้องการที่อยากจะใหญ่ เมื่อ (ภาครัฐ) เล็กลง จะทำให้กระบวนการต่างๆทำง่ายขึ้น สั้นลง และแก้ปัญหาที่มาจากการทุจริตได้ด้วย”
(โจ ฮอร์น พัธโนทัย)
อ่านประกอบ :
‘บิ๊กตู่’มอบนโยบายจัดทำงบปี 66 หนุนเศรษฐกิจฟื้น-มุ่งแก้จนแบบพุ่งเป้า-อย่าทุจริตเด็ดขาด
ปีหน้าลงทุน 1 ล้านล้าน! ‘อาคม’ มองจีดีพี 65 โต 4%-มุ่งสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจชนบท
ครม.เคาะ ‘แผนการคลังระยะปานกลาง’ ปีงบ 66-69 คาด 4 ปี รัฐบาลขาดดุลเพิ่ม 2.8 ล้านล้าน
ส่องงบกลาง! รายการเงิน 'ฉุกเฉินฯ' ปีงบ 64 'บิ๊กตู่-ครม.’ จัดสรร 1 แสนล. ทำอะไรบ้าง?
ครม.รับทราบสัดส่วน ‘หนี้สาธารณะ’ แตะ 58.15% ต่อจีดีพี-ภาระหนี้ต่อรายได้ฯทะลุ 32.27%
แพร่ประกาศขยายเพดานหนี้สาธารณะไม่เกิน 70% ต่อจีดีพี
ครม.เคาะแผนบริหารหนี้ฯ ปี 65 กู้ใหม่ 1.34 ล้านล้าน-หนี้สาธารณะแตะ 62.69% ต่อจีดีพี
ไม่เป็นอุปสรรคกู้เงิน! ‘บิ๊กตู่’ ทุบโต๊ะขยับเพดานหนี้สาธารณะเป็น 70% ของจีดีพี
เข็นจีดีพีโต-เร่งหารายได้! โจทย์รัฐบาล ‘บิ๊กตู่’ หลัง ‘หนี้สาธารณะ’ จ่อทะลุเพดาน
ครม.ไฟเขียว 'แผนบริหารหนี้สาธารณะ' กู้เพิ่ม 1.5 แสนล้าน รับมือโควิด
โชว์กู้ชดเชยขาดดุลงบปี 64 ยอดพุ่ง 7.5 แสนล้าน! หนี้สาธารณะใกล้ทะลุ 60%