เผยความคืบหน้าปัญหาขึ้นบัญชีดำ เอกชนคู่สัญญาขายเครื่อง จีที 200-อัลฟ่า 6 หลังจาก คกก.วินิจฉัยปัญหาจัดซื้อจ้างฯ สั่งฝ่ายเลขาฯ ทำหนังสือเวียนแจ้ง 15 หน่วยงานรัฐ ส่งเรื่องผู้ทิ้งงาน แถม ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดแล้ว ผ่านไป 5 เดือน ยังไม่ตอบกลับกรมบัญชีกลาง ชี้เข้าข่ายฝ่าฝืนกม. ต้นเหตุยังปรากฏชื่อได้รับงานรัฐต่อเนื่อง
..........................
การทำหนังสือแจ้งเวียนหน่วยงานราชการ 15 แห่ง ที่ทำสัญญาจัดซื้อเครื่องจีที 200 และ อัลฟ่า 6 กับบริษัทเอกชน และมีคดีฟ้องร้องฉ้อโกงในเวลาต่อมา ของ คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ที่ให้ตรวจสอบความคืบหน้าคดีดังกล่าว ซึ่งหากคดีจบสิ้นแล้วให้ทำหนังสือแจ้งกลับมาที่ปลัดกระทรวงการคลัง เพื่อให้ดำเนินการขึ้นบัญชีดำผู้ทิ้งงานตามกฎหมายต่อไป กำลังเกิดปัญหาขึ้น
เมื่อสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รับการยืนยันจากแหล่งข่าวในกรมบัญชีกลางว่า ขณะนี้ระยะเวลาผ่านไป 5 เดือนแล้ว นับตั้งแต่เมื่อวันที่ 31 มี.ค.2564 ที่นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมบัญชีกลาง ทำหน้าที่แทนปลัดกระทรวงการคลังในการเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ โดยมีวาระพิจารณา เรื่อง ซักซ้อมความเข้าใจแนวทางการดำเนินการกรณีที่ศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้คู่สัญญาของหน่วยงานของรัฐมีความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกง หรือทุจริต ตามกฎหมาย อย่างไรก็ตามกรรมการบางคนยังเสนอด้วยว่า นอกจากจะทำหนังสือเวียนเพื่อซักซ้อมความเข้าใจแล้ว ยังเห็นควรให้ดำเนินการอีก 2 เรื่อง ดังนี้
หนึ่ง ให้ทำหนังสือเป็นการเฉพาะถึงหัวหน้าหน่วยงานรัฐ 15 แห่ง ที่เป็นผู้เสียหายจากการจัดซื้อเครื่องจีที 200 และ อัลฟ่า 6 เพื่อสอบถามถึงความคืบหน้าของคดีดังกล่าว หากคดีจบสิ้นแล้วให้ทำหนังสือแจ้งกลับมาที่ปลัดกระทรวงการคลัง เพื่อให้ดำเนินการขึ้นบัญชีดำผู้ทิ้งงานตามกฎหมายต่อไป
สำหรับ หน่วยงานราชการที่เป็นผู้เสียหาย มีจำนวน 15 แห่ง ได้แก่ 1.จังหวัดสุโขทัย, 2.ศูนย์รักษาความปลอดภัย ส่วนราชการในสังกัดกองบัญชาการกองทัพไทย, 3. กรมการปกครอง, 4. กองทัพบก โดย กรมสรรพาวุธทหารบก, 5.จังหวัดยะลา, 6. จังหวัดสิงห์บุรี, 7. อบจ.สงขลา, 8.จังหวัดเพชรบุรี, 9.จังหวัดภูเก็ต, 10. สถาบันนิติวิทยาศาสตร์, 11.กรมราชองครักษ์, 12.กองทัพเรือ, 13.กรมศุลกากร, 14.กองบัญชาการกองทัพไทย 15. จังหวัดพิษณุโลก
สอง มีกรรมการเสนอให้ปลัดกระทรวงการคลัง ใช้อำนาจในการทำหนังสือสอบถามไปยังบริษัทที่เป็นคู่สัญญาในการจัดซื้อเครื่องจีที 200 และ อัลฟ่า 6 กับหน่วยงานของรัฐ เพื่อให้ชี้แจงความคืบหน้าของคดี โดยตามกฎหมายจะต้องมีการชี้แจงกลับมาภายใน 15 วัน หากไม่มีการชี้แจงภายในช่วงเวลาดังกล่าว ปลัดกระทรวงการคลังมีอำนาจในการขึ้นบัญชีเป็นผู้ทิ้งงานได้ทันที
- คกก.วินิจฉัยฯสั่งทำหนังสือจี้ 15 หน่วยงานรัฐ-เอกชน แจงคืบหน้าคดีโกงจีที200
- เช็คชื่อ 15 หน่วยงานรัฐ-6 เอกชน คดีฉ้อโกงจีที-อัลฟ่า วัดใจ คกก.วินิจฉัยฯ สั่งขึ้นบัญชีดำ
- เตรียมแจ้งทิ้งงานโดยทุจริต! คกก.วินิจฉัยฯ นัดเคลียร์ปมขึ้นบัญชีดำ บ.ฉ้อโกงขายจีที200
แหล่งข่าวระบุว่า แต่จนถึงปัจจุบัน กรมบัญชีกลาง ยังไม่ได้รับแจ้งหนังสือตอบกลับจากหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด ขณะที่ช่วงเดือนก.ค.2564 ที่ผ่านมา มีข่าวปรากฏว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ลงมติชี้มูลความผิดคดีเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างเครื่องตรวจวัตถุระเบิดและสารเสพติด จีที 200 และ อัลฟ่า 6 รวม 20 สำนวน จากการไต่สวนทั้งหมด 25 สำนวน มีผู้ถูกกล่าวหากว่า 100 ราย โดยถูกชี้มูลความผิดทั้งทางอาญา และทางวินัย ส่วนใหญ่ผู้ถูกชี้มูลเป็นคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างฯ และคณะกรรมการตรวจรับงานจ้างฯ ของหน่วยงาน แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ยังไม่มีการเสนอเรื่องให้กรมบัญชีกลาง สั่งให้เอกชนคู่สัญญาเป็นผู้ทิ้งงานเช่นกัน
"การที่หน่วยงานราชการเหล่านี้ ไม่เสนอเรื่องให้เอกชนคู่สัญญาเป็นผู้ทิ้งงานกลับมาให้กรมบัญชีกลาง เพื่อเสนอเรื่องให้ปลัดกระทรวงการคลัง พิจารณาเป็นผู้ทิ้งงาน อาจจะเข้าข่ายฝ่าฝืนกฎหมาย และยังเป็นสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้เอกชนคู่สัญญา ขายเครื่องจีที 200 และ อัลฟ่า 6 เหล่านี้ ยังปรากฏชื่อได้รับงานว่าจ้างจากหน่วยงานรัฐอยู่ต่อไปเรื่อย ๆ ตัวอย่างเช่น กรณีที่สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบการจัดซื้อเครื่องบินขนาดเล็ก จำนวน 1 ลำ ของ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในปี 2564 โดยวิธีเฉพาะเจาะจง จาก บริษัท เอ็ม-แลนดาร์ช จำกัด ในราคา 144,065,000 บาท ตามที่ปรากฏเป็นข่าวไปก่อนหน้านี้"
อนึ่ง ในการจัดซื้อ เครื่องบินขนาดเล็ก จำนวน 1 ลำ ของ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร นั้น สำนักข่าวอิศรา ได้รับคำชี้แจงจาก นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เป็นเพราะมีความจำเป็นที่ต้องใช้งานเครื่องบินรุ่นนี้ ที่ บริษัท เอ็ม-แลนดาร์ช จำกัด เป็นตัวแทนจำหน่าย
เมื่อถามถึงกรณีที่บริษัทเอ็ม-แลนดาร์ช เคยมีคดีความเรื่องการจัดซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดอัลฟ่า-6
อธิบดีกรมฝนหลวง กล่าวว่า "บริบทเรื่องเครื่องตรวจจับระเบิดนั้นไม่เกี่ยวกัน หลักการของเรานั้นก็คือว่าถ้าหากได้รับการเลือกให้เป็นตัวแทนของบริษัทผู้ผลิต มีหลักฐาน มีเรื่องโนตารี่พับบลิช ตามระเบียบ ก็สามารถจัดซื้อได้ตามระเบียบ เพราะเป็นผู้ที่ตรงตามคุณสมบัติทั้งหมด"
“เราไม่ได้มีการระบุว่าเป็นเอ็ม-แลนดาร์ช อันที่จริงเมื่อผู้สื่อข่าวพูดคำว่าเอ็ม-แลนดาร์ช ผมยังงงอยู่เลย เพราะผมไม่เคยจำเลยว่าบริษัทไหนมาประมูลหรือไม่เคยประมูลอย่างไร แต่ว่าเราต้องการรุ่นนี้ เพราะฉะนั้นใครที่เป็นตัวขายรุ่นนี้ตามระเบียบ เราสามารถที่จะเลือกเขาได้”
สำนักข่าวอิศรารายงานว่าจากกรณีบริษัทเอ็ม-แลนดาร์ชนั้น ที่ผ่านมาทางบริษัทได้ชี้แจงกับสำนักข่าวว่าทางบริษัทเคยมีคดีความเรื่องการจัดซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดอัลฟ่า-6 ก่อนที่จะอุทธรณ์คดี ชดใช้ค่าเสียหายให้กับหน่วยงานราชการจนกระทั่งไม่เข้าข่ายว่าเป็นผู้ทิ้งงานในเวลาต่อมา
เรื่องเกี่ยวข้อง:
- ข้อมูลจริง! บ.เอวิเอฯ แพ้คดีจีที200 แต่ยังได้งาน 'ทอ.-ทร.' เพียบ 54 ล.
- กางกฎหมายถาม! ทำไม กองทัพบก ไม่ขึ้นบัญชีดำ บ.ขายจีที 200
- 'บิ๊กตู่'สั่ง ทอ.-ทร.ตรวจสอบปม บ.เอวิเอฯแพ้คดีจีที 200 แต่ยังได้งานกองทัพ
- ยังไม่ขึ้นบัญชีดำ -ตัวแทนเจ้าเดียวในไทย! ทร.แจงซื้อจ้าง บ.เอวิเอฯ คู่กรณีจีที200 กองทัพ
- สอบยัน! คำชี้แจง ทร.ปมซื้อจ้างคู่กรณีจีที 200 กองทัพ - ข้อมูล 'SAAB' ในมืออิศรา
- ข้อมูลใหม่! คดีจีที200 'ทร.' โดนหลอกซื้อ 8 เครื่อง 9.1 ล. แต่ไม่ขึ้นบัญชีดำ บ.เอวิเอฯ
- ผูกซื้อสินค้า บ.SAAB ด้วย! ล้วงเหตุผล ทอ. ทำไมจัดจ้าง บ.คู่กรณีฉ้อโกงจีที 200 กองทัพ
- เช็คชื่อ 15 หน่วยงานรัฐ-6 เอกชน คดีฉ้อโกงจีที-อัลฟ่า วัดใจ คกก.วินิจฉัยฯ สั่งขึ้นบัญชีดำ
- 8 ลำ 2,619 ล.! เปิดข้อมูล กรมฝนหลวงฯ จัดซื้อ‘เครื่องบิน-เฮลิคอปเตอร์’ 4 บริษัท
- วิธีเฉพาะเจาะจง ! ล่าสุด กรมฝนหลวงฯ จัดซื้อเครื่องบิน บ.เอ็ม-แลนดาร์ช 144 ล.
- บ.เอ็ม-แลนดาร์ช เปิดเบื้องหลังข้อหาฉ้อโกงอัลฟ่า 6 เป็นห่วงโซ่ลำดับท้ายๆ-ชดใช้ครบแล้ว
- แห่งที่ 3! บ.เอ็ม-แลนดาร์ช แพ้คดีฉ้อโกงอัลฟ่า 6 แต่ยังได้งานขายเครื่องบิน ทบ. 326 ล.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/