“..เราไม่ได้มีการระบุว่าเป็นเอ็ม-แลนดาร์ช อันที่จริงเมื่อผู้สื่อข่าวพูดคำว่าเอ็ม-แลนดาร์ช ผมยังงงอยู่เลย เพราะผมไม่เคยจำเลยว่าบริษัทไหนมาประมูลหรือไม่เคยประมูลอย่างไร แต่ว่าเราต้องการรุ่นนี้ เพราะฉะนั้นใครที่เป็นตัวขายรุ่นนี้ตามระเบียบ เราสามารถที่จะเลือกเขาได้..”
...........................................
สืบเนื่องจากสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำเสนอข่าวการจัดซื้อเครื่องบินขนาดเล็ก จำนวน 1 ลำ ของ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในปี 2564 โดยวิธีเฉพาะเจาะจง จาก บริษัท เอ็ม-แลนดาร์ช จำกัด ในราคา 144,065,000 บาท
(อ่านข่าวเกี่ยวข้อง:วิธีเฉพาะเจาะจง ! ล่าสุด กรมฝนหลวงฯ จัดซื้อเครื่องบิน บ.เอ็ม-แลนดาร์ช 144 ล.)
ล่าสุด นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ให้สัมภาษณ์ชี้แจงสำนักข่าวอิศรา ถึงข้อมูลการจัดซื้อดังกล่าวว่า เครื่องบินที่กรมฝนหลวงได้จัดหามาเป็นเครื่องบินรุ่นคาราแวน ซึ่งที่ผ่านมาใช้เครื่องบินรุ่นนี้อยู่แล้วในการทำภารกิจฝนเทียม
"ในหน่วยงานไหนก็แล้วแต่ที่มีเครื่องบินชนิดไหนอยู่แล้ว มันจำเป็นที่จะต้องใช้เครื่องบินที่มันจะความแตกต่างของเครื่องบินให้น้อยที่สุด เพราะว่าในเรื่องประเด็นความชำนาญของช่าง ของนักบิน และในเรื่องของอะไหล่ มันไม่จำเป็นต้องไปเปิดฟลีต (กลุ่มเครื่องบินที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน หรือว่ากองบิน) ใหม่ ที่จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในเรื่องของการลงทุนตรงนั้นเยอะ ซึ่งในเรื่องของการจัดการฟลีตของเครื่องบิน โดยหลักการ ก็ทำอย่างนี้อยู่แล้วไม่จะหน่วยงานไหน " นายสุรสีห์ระบุ
ส่วนการใช้วิธีการจัดซื้อแบบเจาะจง นายสุรสีห์ ตอบว่า "เป็นการดำเนินการตามระเบียบของการจัดซื้อจัดจ้างอยู่แล้ว ถ้าหากไม่มีผู้ประกอบการหลายรายที่เป็นตัวแทนจำหน่าย แล้วเป็นทางด้านเทคนิคด้วย หรือก็คือเป็นเครื่องบินที่กรมฝนหลวงใช้มาอยู่แล้ว ก็เลยต้องใช้วิธีเจาะจงนั่นเอง"
เมื่อถามถึงประเด็นเรื่องราคาเครื่องบินว่าอาจจะแพงไปหรือไม่กับเครื่อง 1 ลำที่ราคาอยู่ที่ 144 ล้านบาท นายสุรสีห์ กล่าวว่า "เท่าที่จำได้เรื่องราคานั้นสูงกว่าลำที่เราเคยซื้อล่าสุดเมื่อ 2-3 ปีก่อน แต่ก็ไม่ได้มากเท่าไร"
"สาเหตุที่ราคามันขึ้นก็อยากให้เปรียบเทียบกันว่าเวลาเราซื้อรถ ราคามันก็ต้องขึ้นอยู่แล้ว เพราะมันมีประเด็นเรื่องค่าการผลิตในรุ่นที่มันใหม่กว่า ในเรื่องของอุปกรณ์ที่ใช้ต่างๆ ซึ่งเครื่องคาราแวนที่เราซื้อมานั้นเป็นโมเดลตัวใหม่ และในเรื่องของอุปกรณ์ที่ติดตั้งมันก็จะใหม่กว่า ราคามันก็เพิ่มขึ้นมานั่นเอง"
อธิบดีกรมฝนหลวงฯ กล่าวต่อว่า ส่วนในประเด็นเรื่องการฝึกบุคลากรว่าแม้ว่าทุกวันนี้กรมฝนหลวงฯจะมีช่างเทคนิค มีครูการบินอยู่แล้ว แต่ว่าในเรื่องของเครื่องบินนั้นถ้าหากมีการซื้อเครื่องรุ่นใหม่ และมีอุปกรณ์ที่เป็นรุ่นใหม่เกิดก็จะมีเงื่อนไขที่จะต้องมีการไปอบรมบุคลากรนี้อยู่แล้ว
“มันไม่เหมือนรถยนต์เพราะว่ามันง่าย แต่จริง ๆ ถ้าเป็นรถยนต์แล้วมันเปลี่ยนยี่ห้อกัน เราก็รู้สึกว่ามีความไม่คุ้นชินได้เหมือนกัน แล้วพอมาถึงเครื่องบิน ซึ่งมันอยู่บนอากาศ มันก็มีประเด็นเครื่องความปลอดภัยต่าง ๆ ให้เราต้องคิดถึง แม้กระทั่งผมบินคาราแวนอยู่แล้วจะไปบินเครื่องบินรุ่นคาซ่า ผมก็ต้องไปเรียนกับครูก่อนอย่างน้อยกี่ชั่วโมง เขาต้องมีหลักแบบนั้นเลย ไม่ใช่ว่าอยู่ดี ๆ มันจะเปลี่ยนไปแบบเราไปขับโตโยต้าแล้วไปขับรถเบนซ์ ถ้าแบบนั้นมันได้อยู่แล้ว เพราะรถมันอยู่บนพื้นดิน ค่อย ๆ ไปก่อนอะไรแบบนี้ได้ แต่เครื่องบินมันไม่ได้” อธิบดีกรมฝนหลวงระบุ
เครื่องคาราแวนรุ่น 208B ที่ใช้ในสายการบินขนาดเล็กในประเทศไทย
เมื่อถามถึงกรณีที่บริษัทเอ็ม-แลนดาร์ช เคยมีคดีความเรื่องการจัดซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดอัลฟ่า-6 ก่อนที่จะอุทธรณ์คดี ชดใช้ค่าเสียหายให้กับหน่วยงานราชการจนกระทั่งไม่เข้าข่ายว่าเป็นผู้ทิ้งงานในเวลาต่อมานั้น
อธิบดีกรมฝนหลวง กล่าวว่า "บริบทเรื่องเครื่องตรวจจับระเบิดนั้นไม่เกี่ยวกัน หลักการของเรานั้นก็คือว่าถ้าหากได้รับการเลือกให้เป็นตัวแทนของบริษัทผู้ผลิต มีหลักฐาน มีเรื่องโนตารี่พับบลิช ตามระเบียบ ก็สามารถจัดซื้อได้ตามระเบียบ เพราะเป็นผู้ที่ตรงตามคุณสมบัติทั้งหมด"
“เราไม่ได้มีการระบุว่าเป็นเอ็ม-แลนดาร์ช อันที่จริงเมื่อผู้สื่อข่าวพูดคำว่าเอ็ม-แลนดาร์ช ผมยังงงอยู่เลย เพราะผมไม่เคยจำเลยว่าบริษัทไหนมาประมูลหรือไม่เคยประมูลอย่างไร แต่ว่าเราต้องการรุ่นนี้ เพราะฉะนั้นใครที่เป็นตัวขายรุ่นนี้ตามระเบียบ เราสามารถที่จะเลือกเขาได้”
เมื่อถามถึงการใช้งานของเครื่องบินคาราแวน อธิบดีกรมฝนหลวง ระบุว่า "เครื่องบินยี่ห้อนี้เราใช้งานมานานแล้วเป็นระยะเวลา 30 ปี ก็เคยมีข่าวว่าประสบอุบัติเหตุตกไปลำหนึ่ง ตรงนี้ผู้ใหญ่มองว่ากรมฝนหลวงฯยังทนใช้อยู่เขาก็เลยให้เราซื้อเครื่องใหม่ที่เป็นโมเดลใหม่ ๆ ซึ่งตรงนี้ต้องขอเรียนว่าเครื่องบินยี่ห้อนี้เป็นเครื่องที่มีความเหมาะสมกับภูมิประเทศของบ้านเรา เพราะลักษณะที่บ้านเรานั้นมีหุบเขาเยอะ ก็มีความจำเป็นที่จะต้องใช้เครื่องบินที่มันไม่ใหญ่มากและมีความคล่องตัว ซึ่งมันก็ไม่ค่อยมีมาก โดยเฉพาะในพื้นที่แถบ จ.กาญจนบุรี ที่จะต้องมีการไปทำน้ำในแถบเขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนวชิราลงกรณ์เป็นต้น"
"อีกประเด็นก็คือเรื่องสนามบิน ต้องยอมรับว่าสนามบินบ้านเรานั้นไม่ใช่ว่าจะเป็นสนามบินที่มันได้มาตรฐาน มีรันเวย์ยาว ๆ ทุกสนามบินเพื่อรองรับกับเครื่องบินลำใหญ่ได้ ดังนั้นเราจึงเลือกเครื่องบินคาราแวนดังกล่าวนี้เพราะว่ามีความคล่องตัวและเหมาะสมกับบ้านเรานั่นเอง" อธิบดีกรมฝนหลวงกล่าวย้ำ
เรื่องเกี่ยวข้อง:
8 ลำ 2,619 ล.! เปิดข้อมูล กรมฝนหลวงฯ จัดซื้อ‘เครื่องบิน-เฮลิคอปเตอร์’ 4 บริษัท
วิธีเฉพาะเจาะจง ! ล่าสุด กรมฝนหลวงฯ จัดซื้อเครื่องบิน บ.เอ็ม-แลนดาร์ช 144 ล.
บ.เอ็ม-แลนดาร์ช เปิดเบื้องหลังข้อหาฉ้อโกงอัลฟ่า 6 เป็นห่วงโซ่ลำดับท้ายๆ-ชดใช้ครบแล้ว
แห่งที่ 3! บ.เอ็ม-แลนดาร์ช แพ้คดีฉ้อโกงอัลฟ่า 6 แต่ยังได้งานขายเครื่องบิน ทบ. 326 ล.
เช็คชื่อ 15 หน่วยงานรัฐ-6 เอกชน คดีฉ้อโกงจีที-อัลฟ่า วัดใจ คกก.วินิจฉัยฯ สั่งขึ้นบัญชีดำ
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่https://www.facebook.com/isranewsfanpage