"...ท่านเข้าใจหรือไม่ คำว่า "ย่อ" กับ "ทำไม่เสร็จเรียบร้อย" ต่างกันอย่างสิ้นเชิง เวลาเราพูดถึงคำว่า "ย่อ" ก็ย่อมหมายความว่าต้องมี "ตัวเต็ม" และตัวเต็ม ย่อมหมายถึง เต็ม พร้อม เสร็จจริง สมบูรณ์ ยุติในตัวเอง ดังนั้น เราจะเรียกกรณีนี้ว่าย่อได้อย่างไร ในเมื่อตัวเต็มยังไม่เสร็จท่านลองดูเนื้อความคำวินิจฉัยคดีธรรมมนัสแล้วถามใจตัวเองดูว่า นี่ย่อหรือยังไม่เสร็จ..."
..............................
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) : เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2564 รศ.อานนท์ มาเม้า อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว "Arnon Mamout" เรื่อง คำชี้แจงเรื่องการจัดทำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
************************************
วันนี้ โฆษกศาลรัฐธรรมนูญ ออกคำชี้แจงเรื่องการจัดทำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
ผมอ่านแล้วฟังไม่ขึ้น
ว่ากันไปที่ละประเด็น ดังนี้
1. ท่านเข้าใจว่าคำว่า "ย่อ" คืออย่างไร? :
ในแถลง ท่านอ้างว่า วันอ่านคือ การอ่านให้ฟังโดยย่อ
ท่านแน่ใจหรือสิ่งนี้คือ "ย่อ" ?
ท่านเข้าใจหรือไม่ คำว่า "ย่อ" กับ "ทำไม่เสร็จเรียบร้อย" ต่างกันอย่างสิ้นเชิง
เวลาเราพูดถึงคำว่า "ย่อ" ก็ย่อมหมายความว่าต้องมี "ตัวเต็ม"
และตัวเต็ม ย่อมหมายถึง เต็ม พร้อม เสร็จจริง สมบูรณ์ ยุติในตัวเอง
ดังนั้น เราจะเรียกกรณีนี้ว่าย่อได้อย่างไร ในเมื่อตัวเต็มยังไม่เสร็จ
ท่านลองดูเนื้อความคำวินิจฉัยคดีธรรมมนัส
แล้วถามใจตัวเองดูว่า นี่ย่อหรือยังไม่เสร็จ
ในเมื่อกะคร่าว ๆ พบว่า เนื้อความประมาณร้อยละ 70 คือ เนื้อความซึ่งอยู่ในตัวคำวินิจฉัยที่ปรากฏในราชกิจจาฯ
ตัวที่ปรากฏในราชกิจจาฯ มีเพิ่มขึ้นมาอีกประมาณร้อยละ 30
ดังนั้น ตัวเต็มในราชกิจจาฯ ต่างกับตัวอ่านอยู่ไม่ถึงครึ่ง
อย่างงี้ยังเรียกย่อหรือ?
หนำซ้ำบางจุดที่สำคัญ ไม่เคยปรากฏในตัวที่อ่านเลย
แต่ศาลรัฐธรรมนูญเติมเข้ามาทีหลัง หลังจากที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์กันขรม
ขอแย้งเลย นี่คือการอ่านของ "ไม่เสร็จ" ไม่ใช่อ่านของ "ย่อ"
2. ท่านเอาอำนาจที่ไหนมาอ้างว่าศาลรัฐธรรมนูญสามารถอ่านย่อได้? :
ย่อหน้าแรกของคำแถลง ท่านอ้างข้อกฎหมายพรั่งพรู
แต่พอย่อหน้าที่สองเรื่องอ่านย่อ กลับไม่มีที่อ้างอิงกฎหมายเรื่องให้อำนาจอ่านย่อ
แหงแหละ รัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 รวมถึงข้อกำหนด ไม่ได้บัญญัติให้อำนาจศาลในเรื่องนี้
ไหนเลยศาลจะสามาถอ้างว่าอ่านย่อได้
อยากจะอธิบายสักนิด
คำวินิจฉัยในวันอ่าน คือวันแรกที่เนื้อความคำตัดสินปรากฏสู่สังคม
ส่งผลผูกพันในระดับประเทศ สายตาประชาชนจับจ้อง
ด้วยเหตุที่ผลคำตัดสินศาลรัฐธรรมนูญไม่ธรรมดา
เนื่องจากอาจกระทบต่อระบบกฎหมายอย่างมหาศาล
หรือพลิกผลทางการเมืองอย่างรุนแรง
ศาลรัฐธรรมนูญจะอ้างว่านี่คือย่อ แต่ถามหน่อย แล้วประชาชนเขาจะรู้ได้อย่างไรว่า ในส่วนของรายละเอียดมีประเด็นใดบ้าง หรือจุดไหนบ้าง ที่ยังไม่สิ้นกระแสความ จะปล่อยให้ประชาชนเขาต้องรอติดตามชมการปิดฉากอย่างบริบูรณ์ในวันประกาศราชกิจจาฯ ในวันข้างหน้าหรอกหรือ...ไม่ควรหรอก...ไม่ควรเลย
ถ้าหวนดูในรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูก ก็เห็นอยู่
การที่ต้องมี "คำวินิฉัย" ออกมา ก็คือตัว "คำวินิจฉัย" นั้นออกมาทีเดียวแบบจบครบถ้วน
อ่านกฎหมายหลายตลบ ก็ไม่มีตรงไหนที่ให้อำนาจอ่านย่อก่อน แล้วให้ตัวจริงฉบับเต็มออกมาทีหลัง
(ส่วนข้อวิจารณ์ความเข้าใจต่อคำว่า "ย่อ" ขอให้ย้อนไปดู ข้อ 1.)
3. ท่านอ้างได้อย่างไรว่าระหว่างรอนำไปลงราชกิจจาฯ ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจต่อเติม ?:
รัฐธรรมนูญและกฎหมายลูก เขียนชัดว่า คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญให้นำไปประกาศในราชกิจจาฯ ภายในสามสิบวัน
ขั้นตอนนี้ คือระยะเวลาเร่งรัดการนำส่งไปประกาศ
ขั้นตอนนี้ ไม่ได้บอกเลยว่า ศาลมีอำนาจต่อเติมคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญหลังการตัดสินหรือวันอ่าน ก่อนนำไปลงประกาศ
พอท่านอ้างว่าระยะเวลาภายในสามสิบวันที่จะส่งไปลงราชกิจจานี้คือ ช่วงเวลาที่จะจัดทำ "คำวินิจฉัยฉบับสมบูรณ์" (ในแถลง เขาเขียนงี้เลย) ก็เท่ากับท่านรับอยู่ในตัวว่าคำวินิจฉัยนั้นไม่สมบูรณ์...!!!!!!
คำถามคือ คำวินิจฉัยที่ไม่สมบูรณ์ ท่านกล้าอ่านได้อย่างไร????
อยากจะบอกว่า กฎหมายไม่ได้เขียนให้ท่านอ่าน "ฉบับเดบิวท์" (debut) แล้วค่อยไปปรับแก้ต่อเติมทีหลัง ลงราชกิจจาเป็น "ฉบับฟินาเล่" (finale)
การตีความโดยอ้างระยะเวลาสามสิบวันคือช่วงเวลาปรับปรุงให้สมบูรณ์ คิดดู นี่กำลังด้อยค่าการทำงานของตัวเองอยู่หรือเปล่า?
ในเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีตุลาการที่ได้รับเงินเดือนหลักแสน มีบุคลากรเป็นจำนวนมาก มีทรัพยากรเยอะแยะเต็มไปหมด กางดู พรบ.งบประมาณก็ได้ ปี หนึ่ง ๆ รับงบประมาณแผ่นดินหลายร้อยล้าน
ขอแถมอีกนิด ศาลรัฐธรรมนูญเยอรมัน ที่เป็นแม่แบบให้ศาลรัฐธรรมนูญไทย มีคำวินิจฉัยตัวจริงในวันอ่าน ทำไมเขาต้องทำเช่นนั้น และทำไมเขาทำเช่นนั้นได้
ขอแนะนำลองไปอ่าน เพจเยอรมนีมีเรื่องเล่า เขียนไว้ชัด https://www.facebook.com/.../a.29369021.../2070293856452399/
อ้อหรือถ้าดูใกล้ตัว ไม่ไกลเลย คือศาลปกครอง ที่เรียกได้ว่าตึกอยู่ใกล้ ๆ กัน ชะโงกหน้าก็เห็น
ศาลปกครองมีคดีจำนวนมาก ที่เป็นการวางรากฐานสำคัญของกฎหมายมหาชน มีผลกระทบกับการบริหารราชการแผ่นดิน มีผลกระทบต่อเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน ไม่น้อยหน้าศาลรัฐธรรมนูญ
ข้อนี้ ต้องชื่นชมศาลปกครอง แล้วอยากให้ศาลรัฐธรรมนูญได้หันมอง
ศาลปกครองเขาสามารถมีคำวินิจฉัยตัวจริงให้คู่ความได้เสร็จสรรพทันทีในวันอ่าน ไม่ต้องรออย่างศาลรัฐธรรมนูญ
4. โถ เรารู้อยู่ว่า ศาลรัฐธรรมนูญเปลี่ยนผลคดีไม่ได้ :
ทิ้งถ้ายคำแถลงโฆษก บอกว่ายังไง ๆ วันอ่านกับฉบับที่เผยแพร่ในราชกิจจาฯ มีผลเป็นอย่างเดียวกัน มิได้มีการเปลี่ยนแปลงผล
ก็แหงล่ะ ลองเปลี่ยนผลสิ บ้านเมืองคงเป็นมิคสัญญี ระบบกฎหมายคงวุ่นวายกันอุตลุต
เวลานี้ เรามุ่งวิจารณ์กันที่การเติมเนื้อความในคำวินิจฉัยที่ลงราชกิจจาฯ ซึ่งสะท้อนว่า ศาลไม่สามารถให้เหตุผลและเรียงร้อยคำตัดสินได้อย่างสะเด็ดเสร็จสิ้นในวันอ่าน
เนื้อความสำคัญบางจุดที่เติมเข้ามาทีหลัง อ่านแล้วสังคมฉงนสนเท่ห์ว่า นี่เก็บประเด็นข้อวิจารณ์จากสังคมหลังวันอ่านไปเขียนแก้หรือไม่? ซึ่งความเชื่อว่า "ใช่" มันคงห้ามกันไม่ได้
นี่คิดเล่น ๆ
คือมีผู้แนะนำมาว่า ถ้าศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยแล้ว ขอให้ประชาชนและนักวิชาการทั้งหลาย อย่าไปสนใจ เพราะคำตัดสินในวันอ่านเหมือนการบ้านที่ทำยังไม่เสร็จ
ลองปล่อยไป 30 วัน ตามข้ออ้างในแถลงว่า เป็นช่วงเวลาที่ศาลจะทำให้สมบูรณ์
ขอให้ทุกท่านอดทนรอก่อน จนกว่าจะลงราชกิจจาฯ
แล้วค่อยร่วมกันวิจารณ์
ทีนี้ก็ช่วยกันวิจารณ์ให้กระหน่ำตามใจ
แก้ปัญหาข้อหวั่นใจด้วยว่า ถ้าวิจารณ์ก่อน ศาลอาจจะรู้ไต๋แล้วเอาไปเขียนอุด
แต่นั่นคือคิดแบบเอามัน
เพราะเชื่อว่า หลายคนคาดหวังให้ศาลรัฐธรรมนูญทำงานให้ดีกว่าที่เป็นอยู่นี้ ไม่ใช่เรื่องยาก
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเทียบกับทรัพยากรและการทำงานของศาลในที่อื่น ที่สามารถเผยแพร่คำวินิจฉัยฉบับจบบริบูรณ์ได้ตั้งแต่วันอ่าน
วันนี้เห็นคำชี้แจงจากโฆษกออกมาแล้ว ก็ได้แต่ทอดถอนใจ
เห็นใจโฆษกก็เห็นใจ เพราะต้องทำหน้าที่เป็นปากให้กับทางศาล
ในเรื่องที่ออกมาชี้แจงแล้ว ก็ไม่รู้ว่า สู้นิ่งเสีย แล้วไปปรับปรุง จะดีกว่าไหม
ท้ายสุด ก็ยังคงหวังว่า
เรื่องทำคำวินิจฉัยให้เสร็จสิ้นสมบูรณ์ในวันอ่าน ไม่ใช่เรื่องยาก ถ้าหากจะทำ
/อานนท์ มาเม้า
2 มิ.ย. 2564
อ่านประกอบ :
คำวินิจฉัยศาล รธน. คดี’ธรรมนัส’(ที่เพิ่งประกาศ) ไม่ตรงกับที่อ่านวันตัดสิน 5 พ.ค. 64
โพรไฟล์ 17 กก.กฤษฎีกาคณะพิเศษ เทียบ 9 ตุลาการศาล รธน.ปมคำพิพากษาศาล ตปท.
‘พลตรี’ ติดคุกสหรัฐคดีค้ายาเสพติด กห.ไม่จ่ายบำนาญ! ความเห็นกฤษฎีกาคณะพิเศษล่าสุด
รักษาอำนาจอธิปไตยไทย! ความเห็น‘ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ’ไฉนศาล รธน.ให้‘ธรรมนัส’ไปต่อ?
ย้อนความเห็นกฤษฎีกา-ถูกจำคุกใน ตปท.เป็นบุคคลต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญหรือไม่?
ขัดหลักอิสระตุลาการ-ไม่รวมคำพิพากษา ตปท.! เหตุผลศาล รธน.‘ธรรมนัส’ไม่พ้น ส.ส.-รมต.
‘ธรรมนัส’รอด! ศาล รธน.เอกฉันท์ชี้ไม่พ้น ส.ส.-รมต.เหตุคำพิพากษา ตปท.บังคับกับไทยไม่ได้
เทียบชัด! คำวินิจฉัยศาล รธน.‘ฉบับเต็ม-ฉบับอ่าน 5 พ.ค.’คดี‘ธรรมนัส’ต่างกันตรงไหน?
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage