“...เรื่องนี้ต้องแยกแยะ ต้องดูเจตนาของเอกชนด้วยว่า ถ้าเอกชนที่ไปซื้อที่ดินต่อ ไม่รู้ว่าเป็นการออกโฉนดโดยมิชอบ แต่ไปบอกว่าเขามีส่วนร่วมหรือมีเจตนาสนับสนุนเจ้าหน้าที่รัฐออกโฉนดมิชอบ เป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์เจตนากัน ตอนนี้ทราบว่าดีเอสไอกำลังดำเนินการอยู่ คงต้องติดตามกันต่อไป…”
เงื่อนปมการออกโฉนดในพื้นที่ ม.3 ต.หนองทะเล อ.เมือง จ.กระบี่ บุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ ป่าอ่าวนาง-หางนาค ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดเจ้าหน้าที่ของรัฐ 5 ราย ออกโฉนดโดยมิชอบรวม 39 แปลง (ออกไปแล้ว 33 แปลง อยู่ระหว่างดำเนินการ 6 แปลง) เมื่อปี 2560 ยังคงค้างคาใจสาธารณชนอยู่?
เนื่องจากผ่านมาประมาณ 3 ปี ในปี 2563 ยังไม่มีการเพิกถอนโฉนดดังกล่าว โดยกรมที่ดินชี้แจงว่า เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ ในการดำเนินการตามมาตรา 99 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 (กฎหมายฉบับเดิม) เมื่อ ป.ป.ช. แจ้งให้กรมป่าไม้พิจารณาดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาล ให้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เพิกถอนโฉนดที่ดินและกรมป่าไม้ได้ส่งเรื่องดังกล่าวให้สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) พิจารณาจัดพนักงานอัยการดำเนินคดีหรือยื่นคำร้องต่อศาล แล้วอธิบดีกรมที่ดินไม่สามารถใช้อำนาจเพิกถอนโฉนดได้
ขณะที่กรมป่าไม้ชี้แจงว่า การดำเนินคดีอาญากับเจ้าหน้าที่เป็นคนละส่วนกับการเพิกถอนโฉนด ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61 ซึ่งการเพิกถอนโฉนดเป็นอำนาจของอธิบดีกรมที่ดิน สามารถสั่งเพิกถอนได้ทันที
นอกจากนี้ยังมีประเด็นการสอบกลุ่มเอกชนที่เข้าไปซื้อโฉนดที่ดินดังกล่าวด้วยว่า มีส่วนเกี่ยวข้องในการสนับสนุนเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือไม่ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)
ความคืบหน้าทุกประเด็นในเรื่องนี้เป็นอย่างไร ? สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สัมภาษณ์พิเศษนายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เกี่ยวกับทุกข้อสงสัยในคดีนี้ อ่านได้จากบรรทัดถัดไป
@ที่มาที่ไปของกรณีดังกล่าว
นายวรวิทย์ : เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 2548 ต่อมาบุคคลร้องเรียนต่อดีเอสไอเพื่อให้ดำเนินการสอบสวนว่า มีเอกชนเข้าไปบุกรุกพื้นที่ป่าสงสวนแห่งชาติอ่าวนาง-หางนาค หลังจากนั้นดีเอสไอดำเนินการสอบสวนเบื้องต้นพบว่า มีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปเกี่ยวข้องในการออกโฉนดที่ดินโดยมิชอบ โดยรุกล้ำป่าสงวนแห่งชาติ และออกบนพื้นที่ลาดชันเกิน 35% อย่างน้อย 39 แปลง จึงส่งสำนวนให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา
ต่อมาเมื่อปี 2552 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน โดยมีนายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. (ขณะนั้น) เป็นประธานคณะอนุกรรมการไต่สวนฯ ดำเนินการไต่สวนตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม หรือกฎหมายฉบับเดิม โดยประเด็นที่ตั้งในการไต่สวนคือดูรายละเอียดแต่ละแปลงว่ามีบุคคลใดเกี่ยวข้องบ้าง กระทั่งมีการแจ้งข้อกล่าวหาแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐรวม 6 ราย ได้แก่เจ้าหน้าที่กรมที่ดิน และกรมป่าไม้
อย่างไรก็ดีคดีนี้มีพยานหลักฐาน และข้อเท็จจริงค่อนข้างซับซ้อนจึงใช้ระยะเวลาไต่สวนค่อนข้างนาน กระทั่งนายวิชา มหาคุณ เกษียณจากตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. (อายุครบ 70 ปี) จึงมีการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนชุดที่ 2 ขึ้นมาดำเนินการ โดยมีนายสนั่น ทองจีน ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานคณะอนุกรรมการไต่สวน อย่างไรก็ดีระหว่างการไต่สวนมีผู้ถูกกล่าวหาเสียชีวิต 1 ราย จึงเหลือผู้ถูกกล่าวหา 5 ราย
หลังจากนั้นคณะอนุกรรมการไต่สวน ได้รวบรวมพยานหลักฐานแล้วเสร็จ ทั้งพยานบุคคล พยานเอกสาร ตามระบบการทำงานของ ป.ป.ช. จนสรุปสำนวน และนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ช่วงเดือน เม.ย. 2560 และคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดเจ้าหน้าที่ของรัฐ 5 รายว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ไปดำเนินการออกโฉนดดังกล่าว กระทำการโดยมิชอบ มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง โดยเป็นการชี้มูลความผิดตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. ฉบับเดิม
(หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา: พ.ร.บ.ป.ป.ช. พ.ศ. 2561 หรือฉบับใหม่ มีผลบังคับใช้เมื่อเดือน ก.ค. 2561)
ในส่วนคดีอาญานั้น ป.ป.ช. ส่งเรื่องให้อัยการสูงสุด (อสส.) ดำเนินการฟ้องต่อศาลในเขตอำนาจที่เกี่ยวข้องเมื่อ เม.ย. 2560 โดยความคืบหน้าล่าสุด อสส. มีคำสั่งฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐ 5 รายดังกล่าว ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 8 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาล ส่วนความผิดทางวินัยนั้น ป.ป.ช. ส่งเรื่องให้กรมที่ดิน และกรมป่าไม้ โดยมีการลงโทษไล่ออกเจ้าหน้าที่รัฐทั้ง 5 รายแล้ว
@ภายหลังการชี้มูลความผิดเมื่อปี 2560 ปัจจุบันปี 2563 ยังไม่มีการเพิกถอนโฉนดที่ดินดังกล่าว ป.ป.ช. ทราบปัญหาข้อเท็จจริงกรณีนี้หรือไม่ หากไม่มีการเพิกถอนจะดำเนินการอย่างไรต่อ
นายวรวิทย์ : ต้องดูก่อนว่าอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอะไรบ้างบ้าง เรา (ป.ป.ช.) มีอำนาจในการดำเนินการทางอาญา และทางวินัยกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำการทุจริตประพฤติมิชอบ ส่วนกรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐไปใช้อำนาจในการออกเอกสารสิทธิมิชอบนั้น บทบัญญัติของ พ.ร.บ.ป.ป.ช.ฉบับเดิม กำหนดให้ ป.ป.ช. ส่งเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งหรือคำพิพากษาเพิกถอนโฉนดที่ดินดังกล่าว
ดังนั้นเมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดแก่เจ้าหน้าที่รัฐไปแล้วเมื่อปี 2560 ได้ส่งเรื่องให้กรมที่ดิน และกรมป่าไม้ ดำเนินการเพิกถอนโฉนดที่ดินด้วย ดังนั้นต้องไปดูในกฎหมายของกรมที่ดิน และกรมป่าไม้ว่า จะสามารถเพิกถอนโฉนดได้เองหรือไม่ หรือมีวิธีปฏิบัติอย่างไร หรือต้องส่งเรื่องร้องขอต่อศาล โดยในส่วนนี้เป็นประเด็นทางกฎหมายของแต่ละหน่วยงาน
เท่าที่ทราบความคืบหน้าขณะนี้ (เดือน พ.ค. 2563 ที่ผ่านมา) กรมที่ดิน และกรมป่าไม้ ได้ประสานกันว่าอาจมีการส่งเรื่องให้อัยการเพื่อร้องขอต่อศาลให้เพิกถอนโฉนดที่ดินดังกล่าว
ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช.ฉบับเดิม ป.ป.ช. มีอำนาจหน้าที่แค่ส่งเรื่องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรณีนี้คือกรมที่ดิน และกรมป่าไม้เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อเท่านั้น แต่ขณะนี้มี พ.ร.บ.ป.ป.ช.ฉบับใหม่ โดยมาตรา 82 บัญญัติว่าเมื่อ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดแล้ว ให้ส่งอัยการเพื่อร้องขอต่อศาลเพิกถอนโฉนดที่ดินได้เลย โดยรวมไปกับสำนวนคดีอาญา เพื่อแก้ปัญหาให้มีการเพิกถอนโฉนดได้รวดเร็วมากขึ้น
@กรณีกล่าวหากลุ่มเอกชนมีส่วนร่วมสนับสนุนเจ้าหน้าที่รัฐออกโฉนดมิชอบ ป.ป.ช. มีบทบาทตรวจสอบอย่างไร
นายวรวิทย์ : เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ 1.ที่ดินดังกล่าวเป็นของชาวบ้านที่อ้างว่าทำประโยชน์บนที่ดินแปลงนี้มานาน และเป็นผู้นำเจ้าหน้าที่รัฐเดินสำรวจ 2.บุคคลที่สามที่ซื้อที่ดินต่อจากชาวบ้านที่ออกโฉนดมาเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นต้องพิสูจน์กันว่า บุคคลที่สามนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องรู้เห็นกับเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือไม่ โดยเรื่องนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ส่งความเห็นไปภายหลังชี้มูลความผิดเมื่อปี 2560 ให้ดีเอสไอดำเนินการสอบสวนต่อ และเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ผู้รับผิดชอบสำนวนคดีนี้ได้เข้าให้ถ้อยคำต่อดีเอสไอแล้ว
เรื่องนี้ต้องแยกแยะ ต้องดูเจตนาของเอกชนด้วยว่า ถ้าเอกชนที่ไปซื้อที่ดินต่อ ไม่รู้ว่าเป็นการออกโฉนดโดยมิชอบ แต่ไปบอกว่าเขามีส่วนร่วมหรือมีเจตนาสนับสนุนเจ้าหน้าที่รัฐออกโฉนดมิชอบ เป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์เจตนากัน ตอนนี้ทราบว่าดีเอสไอกำลังดำเนินการอยู่ คงต้องติดตามกันต่อไป
ส่วนที่ดีเอสไออ้างว่า ป.ป.ช. ต้องส่งเรื่องให้ก่อนนั้น ยืนยันว่า ป.ป.ช. ส่งเรื่องไปแล้วตั้งแต่ปี 2560 และส่งเจ้าหน้าที่ไปให้ถ้อยคำต่อดีเอสไอ เพื่อรวบรวมข้อเท็จจริงแล้วด้วย
@ภายหลัง ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดสำนวนนี้ ได้ทำความเห็นให้กรมที่ดินหรือไม่ว่าควรดำเนินการเรียกความเสียหายที่เกิดแก่ราชการด้วย
นายวรวิทย์ : ตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช.ฉบับเดิม มาตรา 19 (12) ไม่ได้ให้อำนาจ ป.ป.ช. ในการพิจารณาความเสียหาย ดังนั้นเป็นเรื่องที่กรมที่ดิน และกรมป่าไม้ต้องใช้ดุลพินิจพิจารณาเอง แต่ใน พ.ร.บ.ป.ป.ช.ฉบับใหม่ ในมาตรา 82 วรรคสอง จะมีการระบุไว้ว่า ถ้าเกิดความเสียหายแก่ราชการ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจส่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า เป็นเรื่องละเมิดโดยจงใจหรือไม่ ทำให้เกิดความเสียหายหรือไม่
@ในส่วนการบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติอ่าวนางที่อยู่ระหว่างการไต่สวนของ ป.ป.ช. ยังเหลืออีกกี่คดี
นายวรวิทย์ : จำรายละเอียดไม่ได้ว่าคดีเกี่ยวกับการบุกรุกป่าสงวนอ่าวนางมีกี่คดีบ้าง เพราะคดีต่าง ๆ โดยเฉพาะคดีการบุกรุกที่ดินใน ป.ป.ช. ค่อนข้างมาก แต่ถ้านับเฉพาะคดีกล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐ 5 รายข้างต้น ถือว่าเรียบร้อยไปหมดแล้ว
คดีเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต้องเรียนว่า มันไม่ใช่แค่อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. อย่างเดียว แต่เป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วนไม่ว่าหน่วยงานรัฐ เอกชน ประชาชน ประชาสังคม ต้องช่วยกัน เพื่อให้งานป้องกันและปราบปรามการทุจริตสำเร็จ
ถ้าศึกษากฎหมายจะเข้าใจว่าอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่มีอำนาจไปตัดสินใครเลย เรา (ป.ป.ช.) แค่ชี้มูลความผิดเท่านั้น โดยในส่วนความผิดทางอาญายังต้องส่งสำนวนให้อัยการเพื่อพิจารณาสำนวนด้วยว่าสมบูรณ์หรือไม่ ถ้าไม่สมบูรณ์จะมีการตั้งคณะทำงานร่วมฯ 2 ฝ่าย แต่ถ้าสมบูรณ์อัยการจึงฟ้องศาล ดังนั้นศาลจึงเป็นผู้ชี้ขาดว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐทุจริตหรือไม่
ส่วนทางวินัยก็เหมือนกัน ป.ป.ช. ไม่มีอำนาจลงโทษทางวินัยโดยตรง แต่ส่งให้ผู้บังคับบัญชาเข้าไปดำเนินการลงโทษทางวินัย การเพิกถอนเอกสารสิทธิโดยมิชอบก็เช่นกัน ไม่ใช่อำนาจของ ป.ป.ช. อีก แต่เป็นหน้าที่ของหน่วยงานเกี่ยวข้องต้องร้องขอต่อศาล ป.ป.ช. เป็นแค่ต้นน้ำทางกระบวนการยุติธรรมและส่งเรื่องให้หน่วยงานอื่นรับไม้ต่อ
@การแก้ปัญหาการทุจริต โดยเฉพาะเรื่องการบุกรุกทรัพยากรธรรมชาติต้องดำเนินการอย่างไรถึงสัมฤทธิ์ผล
นายวรวิทย์ : เรื่องนี้สำคัญ จะสัมฤทธิ์ผลได้ต่อเมื่อทุกภาคส่วนให้ความสำคัญกับการทุจริต ไม่ใช่แค่เรื่องการบุกรุกทรัพยากรธรรมชาติเท่านั้น แต่หมายรวมถึงทุกส่วน การทุจริตเป็นปัญหาที่หมักหมมมานาน และเกี่ยวข้องกับการเมืองด้วย เห็นได้ว่าเวลาเกิดรัฐประหารแต่ละครั้ง มักมีการอ้างเรื่องทุจริต ดังนั้นถ้าทุกภาคส่วนให้ความสำคัญ เมื่อ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดแล้วส่งไม้ต่อ หากหน่วยงานอื่นดำเนินการอย่างรวดเร็วเพื่อเอาตัวคนทำผิดมาลงโทษ ถ้าเกิดความเสียหายมีการฟ้องร้องทางแพ่งโดยเร็ว หรือมีคำสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินให้กลับคืนมาเป็นของรัฐโดยเร็วนั้น ปัญหาอาจคลี่คลายลงได้
ในส่วนของทรัพยากรธรรมชาติ ขณะนี้ทั่วโลกเผชิญสถานการณ์โควิด-19 จึงเห็นว่าน่าจะเป็นโอกาสที่ทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ ได้ฟื้นฟูกลับมา จุดนี้หน่วยงานรัฐ และประชาชนควรตื่นตัวเพื่อช่วยกันดูแลรักษาทรัพย์สมบัติของชาติ เมื่อเราได้สิ่งดี ๆ กลับคืนมาแล้ว ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันดูแลอนุรักษ์ในส่วนที่ได้คืนกลับมา
นอกเหนือจากการอาศัยสถานการณ์ต่าง ๆ แล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง เช่น กรมป่าไม้ กรมที่ดิน ต้องกลับมาทบทวนการทำงานของตัวเอง โดยเฉพาะในส่วนการออกเอกสารสิทธิ ไม่ว่าจะออกโดยทั่วไป หรือเฉพาะราย ต้องดูระเบียบวิธีปฏิบัติว่ามีช่องว่างช่องโหว่ตรงไหนหรือไม่ เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจโดยมิชอบหรือไม่ ต้องวิเคราะห์ความเสี่ยง และปรับปรุงกฎหมายด้วย
ในส่วนของ ป.ป.ช. เคยมีงานวิจัยและออกมาตรการแก้ไขปัญหาการทุจริตที่ดินมาแล้ว แต่อย่างที่บอกว่า ป.ป.ช. ไม่มีอำนาจโดยตรง ดังนั้นเป็นอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานเกี่ยวข้องต้องลงไปดูว่ามีช่องว่างช่องโหว่ตรงไหน แล้วใช้เวลาแก้ไข ตอนนี้สังคมกำลังตื่นตัว ทุกคนให้ความสำคัญ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐระดับสูงต้องทำงานให้เต็มที่เพื่อแก้ไขปัญหานี้
ในขณะที่เราทำงานให้ชาติให้แผ่นดิน ต้องทุ่มเททำไปโดยสุจริต และไม่กลัว ทำเรื่องให้เร็ว เพราะเวลารับราชการมีช่วงเวลาจำกัด สิ่งที่ทำประโยชน์ให้ชาติให้แผ่นดิน ในช่วงก่อนเกษียณอายุราชการต้องรีบทำให้ปรากฏ
อ่านประกอบ :
ต้องดูเจตนาเป็นหลัก! ป.ป.ช.ส่ง จนท.ให้ถ้อยคำดีเอสไอสอบเอกชนคดีรุกป่าอ่าวนางแล้ว
โชว์ภาพโฉนด 33 แปลง ไม่มีใครเพิกถอน-กลุ่มผู้สนับสนุน จนท.ยังไม่ถูกดำเนินคดี ?
โฉนดแปลงที่ 33 ในเขตป่าสงวน ป.ป.ช.ชี้มูล 3 ปี ไม่มีใครเพิกถอน?
แปลงนี้อีก! อยู่ในเขตป่าไม้ ออกโฉนดแล้วขายฝาก ไม่มีใครเพิกถอน
ยังไม่มีใครสั่งเพิกถอน? แปลงนี้ด้วย ออกโฉนดในเขตป่าไม้ถาวร
เปลี่ยนมือ 2 หน - ขายฝาก ! โฉนดแปลงที่ 30 อยู่ในเขตป่าไม้
บิ๊กกรมป่าไม้ กางกม.ม.61 ปมโฉนด 33 แปลง กรมที่ดินมีอำนาจเพิกถอนได้ทันที
อยู่ในเขตป่าไม้ถาวร - ลาดชันเกิน 35% โฉนดตัวอย่างอีกแปลง ยังไม่ถูกเพิกถอน
เต็มๆ!คำชี้แจงปมโฉนด 33 แปลง ผลสอบปี 54 ถ้ารู้เป็นป่าคงไม่ออก-กรมที่ดินไม่มีอำนาจเพิกถอน
หน้าที่กรมป่าไม้ฟ้องศาล! กรมที่ดินแจงไม่มีอำนาจเพิกถอนโฉนด 33 แปลงอ่าวนาง
ยังไม่ถูกเพิกถอน โฉนดรุกป่า แปลงนี้ลาดชันเกิน 35%
โฉนดรุกป่า แปลงที่ 27 ขายให้เมียช่างรังวัด
แปลงที่ 26 ขายไปแล้ว 1.5 ล้าน โฉนดรุกป่าอ่าวนาง
แปลงนี้ด้วย ออกโฉนดรุกป่าอ่าวนาง ยังไม่เพิกถอน
อยู่ใกล้โรงแรมดัง! โฉนดบนเขา แปลงที่ 24 กรมที่ดินยังไม่เพิกถอน
อีกตัวอย่าง! โฉนดบนเขาอ่าวนาง เมียช่างรังวัด ยังไม่ถูกเพิกถอน
2 ปมใหญ่ยังไม่ถูกจัดการ - ไทม์ไลน์คดีโฉนดฉาว 33 แปลง รุกป่าอ่าวนาง
อยู่ในข่าย 26 คน! จนท.ดีเอสไอหารืออัยการปมเอาผิดเอกชนคดีโฉนดรุกป่าอ่าวนาง
INFO: เปิด 5 ขั้นตอนออกโฉนดฉาว 33 แปลง ป่าอ่าวนาง
แปลงที่ 22 โฉนดบนเขา ชื่อ‘อดีต ขรก.-เอกชน’ เกี่ยวพัน 12 คน
แปลงนี้ด้วย! โฉนดบนเขา กลุ่มเดียวกัน ป.ป.ช.ชี้มูล 3 ปี ยังไม่เพิกถอน
สูตรเดิม! แปลงที่ 20 โฉนดบนเขา นักธุรกิจ อ้างครอบครอง 67 ปี
อ้างซื้อจากนายตำรวจ ทำใบไต่สวนเท็จ โฉนดบนเขา แปลง 19 อ่าวนาง
แปลงที่ 18 ! โฉนดบนเขา อ่าวนาง อ้างครอบครอง 67 ปี ยังไม่เพิกถอน
ตัวอย่าง! โฉนดบนเขาติดทะเลแปลงนี้ กรมที่ดินยังไม่เพิกถอน หลัง ป.ป.ช.ชี้มูล 3 ปี
3 ปีหลัง ป.ป.ช.ฟันทุจริตคดีฉาวรุกป่าอ่าวนาง โฉนดยังไม่ถูกเพิกถอน-เอกชนลอยนวล?
แปลงนี้ ‘ผู้ใหญ่บ้าน’ ชงออกโฉนดชื่อตัวเอง 2 ไร่ ขายเจ้าของโรงแรม 4 ล้าน
เบื้องหลังออกโฉนดยอดเขาแปลงนี้ อ้างครอบครองมา 67 ปี เจ้าของเป็นนักธุรกิจ
ที่ดินยอดเขาแปลงนี้ อ้างครอบครองมานาน 62 ปี ก่อนออกโฉนด
อ้างปลูกไม้ผล ยางพารา 20 ปี โฉนดบนเขาแปลงนี้ 3 ไร่
อ้างครอบครองมานาน 58 ปี ที่ดินบนเขาแปลงนี้ ออกโฉนด 2 ไร่
เผยโฉมโฉนด 6 ไร่ เมียช่างรังวัด รุกป่าอ่าวนาง
ไม่นิ่งนอนใจ! 'นิพนธ์' สั่งติดตามคดีทุจริตโฉนดป่าอ่าวนางแล้ว-กรณี 'กนกวรรณ' รอเอกสารอยู่
ชัดๆอีกแปลง โฉนดบนเขา 4 ไร่ ขายนักธุรกิจ 14.5 ล. ฝีมืออดีต ขรก.กลุ่มเดิม
ทำใบไต่สวนครอบครองเท็จ! เบื้องหลังโฉนด บ.รีสอร์ทดัง คดีรุกป่าอ่าวนาง
โฉนดแปลงนี้ 4 ไร่ เจ้าของโรงแรมดังซื้อ 14 ล้าน รุกป่าอ่าวนาง
โฉนดบนเขา 5 ไร่ ออกมิชอบ คนสกุล ‘ภูเก้าล้วน’ ซื้อ 11 ล้าน คดีรุกป่าอ่าวนาง
เบื้องหลัง โฉนด 25 ไร่ เจ้าของโรงแรมดัง คดีรุกป่าอ่าวนาง ทำใบไต่สวนกรรมสิทธิ์เท็จ
เผยโฉมที่อยู่พร้อมสระว่ายน้ำ นายช่าง4 ชี้แนวเขตคดีรุกป่าอ่าวนาง เพื่อนบ้านอ้างขายแล้ว
โผล่อีกแปลง โฉนดบนเขา อดีตผู้ว่าฯซื้อ 5 ล้าน คดีรุกป่าอ่าวนาง 200 ไร่
โฉนดที่ดินบนเขา ขายให้อดีตผู้ว่าฯ คดีรุกป่าอ่าวนาง
ทำใบครอบครองเท็จ ออกโฉนด 2 ไร่ ขายให้ ส.ส.ปชป.คดีรุกป่าอ่าวนาง-เจ้าตัวแจงซื้อถูกต้อง
โฉนด 10 ไร่ คนสกุลนักการเมือง คดีรุกป่าอ่าวนาง จัดทำเอกสารเท็จ
เผยโฉม-ที่มาโฉนดตระกูลดัง 18 ไร่ คดีรุกป่าอ่าวนาง จ.กระบี่ 5 ขรก.ออกมิชอบ
เปิดคำฟ้อง-พฤติการณ์ 5 ขรก.คดีออกโฉนดป่าอ่าวนาง จ.กระบี่ 200 ไร่เอื้อเอกชน 31 ราย
เผยชื่อ 4 อดีต ขรก.! อัยการสั่งฟ้องคดีทุจริตออกโฉนดทับป่าอ่าวนาง จ.กระบี่-ขาด 1 คน
อัยการสูงสุดสั่งฟ้อง 5 ขรก.คดีออกโฉนดรุกป่าอ่าวนาง จ.กระบี่-ฟันเพิ่มเอกชนสนับสนุนทุจริต
คดีออกโฉนดกลุ่มทุนรุก'อ่าวนาง'อืด! ผู้ร้องรุดทวงถามอัยการ ‘10 ปียังเอาผิดใครไม่ได้’
อัยการเจ้าของสำนวนเห็นสั่งฟ้องกราวรูด 42 คน คดีออกโฉนด 39 แปลงป่าอ่าวนาง จ.กระบี่
รายละเอียดโฉนด 39 แปลง จ.กระบี่ ในข่ายถูก ป.ป.ช.ชี้มูล ใครเป็นเจ้าของบ้าง?
ปมโฉนด จ.กระบี่!ป.ป.ช.ฟันร้ายแรง 5 จนท.ทุจริต เพิกถอน 39 แปลง-ของ ส.ส.ด้วย
3 กลุ่มทุนผู้ถือครองที่ดินแปลงใหญ่ จ.กระบี่ เป็นใคร?
รายชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ โฉนด จ.กระบี่ 42 แปลง - เจ้าของ รร.ดังคนเดียว 10 ฉบับ
เจาะปมโฉนด 33 แปลงในป่า จ.กระบี่ ผ่าน 10 ปี ยังไม่เพิกถอน - คนทุจริต สบายดี?
โชว์หนังสือรองอธิบดี หัก‘ดีเอสไอ-กมธ.สภาฯ’ไม่เพิกถอนโฉนด จ.กระบี่ 33 แปลง
ดูเพลินๆ ภาพถ่ายดาวเทียมที่ดิน อดีต ส.ส.-นักธุรกิจ จ.กระบี่ ‘สีเขียว’พรึบเต็มแปลง
เปิดผลสอบโฉนด จ.กระบี่ 51 แปลง ฉบับกรมที่ดิน ชัด อดีต ส.ส.อยู่ในป่าสงวน
อดีต ส.ส.ปชป.รับที่ดินกระบี่ 2 ไร่ถูกดีเอสไอสอบเป็นของตัวเอง-ร่วมหุ้นเพื่อนซื้อหลายแปลง
‘ให้ระวังตัวเองดีๆ’อธิบดีกรมที่ดินสั่ง‘ผู้ร้อง’หลังรู้ชื่อขาใหญ่ออกโฉนดในป่า จ.กระบี่
เปิดชื่อ 23 คนยื่นออกโฉนด 33 แปลงบนเขา จ.กระบี่ สกุลดัง-อดีต ส.ส.ปชป.เจ้าของ
วิวสวย ป่าสมบูรณ์! ‘อิศรา’ลงพื้นที่ บ้านทับแขก จ.กระบี่ ออกโฉนดบนเขา 51 แปลง
เปิดผลสอบดีเอสไอมัดโฉนด 31 แปลง จ.กระบี่ อยู่บนเขา- ซี 7 กับพวก 5 คนส่อทุจริต
ฮุบที่ดินริมหาด จ.กระบี่ ออกโฉนด 200 ไร่ 1,000 ล. ร้องคดีไม่คืบ - 5 จนท.เอี่ยว
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage