"...ถ้าไปอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับนี้ที่กล่าวถึงว่าคณะกรรมการบริษัทในขณะนั้นต้องชดใช้ค่าเสียหายหลายหมื่นล้านบาท ซึ่งมีผมอยู่ในนั้นด้วย ในคำพิพากษาของศาลฎีกา ซึ่งนักข่าวหรือนักวิเคราะห์ข่าวที่ดีต้องอ่านให้หมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน้าแรก โดยเฉพาะโจทก์ คือ อัยการสูงสุด อีกบรรทัดหนึ่งจำเลย ที่เขียนชื่อคนเดียวเลย ซึ่งไม่ใช่เป็นกรรมการและก็ไม่ใช่ผม..."
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) : จากกรณีศาลฎีกา มีคำพิพากษาที่ 3483/2563 ตัดสินลงโทษจำคุก นายสุธรรม มลิลา อดีตผู้อำนวยการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.) เป็นเวลา 6 ปี และให้ชดใช้เงินจำนวน 46,855,463,990.92 บาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี ของเงินต้น 33,030,343,367.97 บาท ในคดีแก้ไขสัมปทาน (ครั้งที่ 6) เพื่อลดอัตราส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้าให้ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (AIS) มิชอบ
โดยคำพิพากษาศาลฎีกา มีระบุว่า กรรมการ ทศท. จำนวน 7 ราย ที่เข้าร่วมประชุมในคดีแก้ไขสัมปทาน (ครั้งที่ 6) ต้องร่วมรับผิดในความเสียหายที่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยต้องสูญเสียรายได้จากการที่คณะกรรมการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย อนุมัติให้ลดอัตราส่วนแบ่งรายได้ให้แก่ AIS ดังกล่าว เป็นเงินจำนวน 66,060,686,735.94 บาท ด้วย
*********
เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2567 ที่สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ 1 ในคณะกรรมการ ทศท. ในช่วงที่เวลาที่มีการอนุมัติให้แก้ไขสัมปทาน (ครั้งที่ 6) เพื่อลดอัตราส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้าให้ AIS ได้ชี้แจงต่อสื่อมวลชน ถึงผลคำพิพากษาดังกล่าว
มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ กล่าวว่า "คดีที่ได้มีการเผยแพร่ทั่วไปว่า ผมจะต้องกลายเป็นบุคคลล้มละลายและยากจนตลอดไป เพราะผมต้องชดใช้ค่าเสียหายเป็นจำนวนหลายพันล้านหรืออาจจะถึงหมื่นล้าน ผมอยากจะเรียนว่า ข่าวที่แพร่หลายออกไปเหล่านั้นไม่เป็นความจริง หรือเป็นความจริงเพียงครึ่งเดียว"
"ในทางหลักทางรัฐศาสตร์ก็ดีหรือหลักทางสื่อมวลชนก็ดี ความจริงครึ่งเดียว คือ ไม่จริง ความจริงครึ่งเดียว คือ โกหก"
"ถ้าไปอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับนี้ที่กล่าวถึงว่าคณะกรรมการบริษัทในขณะนั้นต้องชดใช้ค่าเสียหายหลายหมื่นล้านบาท ซึ่งมีผมอยู่ในนั้นด้วย ในคำพิพากษาของศาลฎีกา ซึ่งนักข่าวหรือนักวิเคราะห์ข่าวที่ดีต้องอ่านให้หมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน้าแรก โดยเฉพาะโจทก์ คือ อัยการสูงสุด อีกบรรทัดหนึ่งจำเลย ที่เขียนชื่อคนเดียวเลย ซึ่งไม่ใช่เป็นกรรมการและก็ไม่ใช่ผม"
"ฉะนั้นในคดีนั้นผู้ที่เป็นจำเลยไม่ใช่กรรมการในบริษัทที่จะต้องชดใช้ค่าเสียหายอย่างที่เป็นข่าว"
"แต่ข่าวที่เอาไปลงก็ตัดตอนข้างนอกข้างใน ตัดตอนมาให้เห็นว่าคณะกรรมการต้องชดใช้ค่าเสียหาย ซึ่งไม่จริง เพราะ กรรมการไม่ได้เป็นจำเลย และก็อ่านคำพิพากษาไม่ครบอีก บรรทัดสุดท้ายของคำพิพากษา ซึ่งใครอ่านคดีไหนก็ตามต้องอ่านบรรทัดสุดท้าย ว่าศาลพิพากษาไว้อย่างไร บรรทัดสุดท้ายศาลบอกว่าพิพากษายืน คำว่าพิพากษายืน คือ ยืนตามศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ไม่ได้กล่าวถึงความผิดของคณะกรรมการบริษัทแม้แต่คำเดียว"
"เพราะฉะนั้นหน้าแรกไม่ได้เป็นจำเลย หน้าสุดท้ายพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ที่ไม่ได้กล่าวถึงคณะกรรมการบริษัทแต่ประการใด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความผิดหรือความไม่ผิดอย่างไร"
"ฉะนั้นการที่นำข่าวออกไปครึ่งเดียว ตัดต่อโดยไม่อ่านให้ครบถ้วนตามวิธีปฏิบัติหรือจริยธรรมของผู้เสนอข่าว ผมไม่ได้พูดถึงคนที่นำข่าวไปเสนอโดยที่ลอกข่าวคนอื่นมา แต่ผู้ที่ออกข่าวคนแรกต้องรับผิดชอบ
"ผมกำลังหารือนายกสภาทนายความแห่งประเทศไทย ดูว่าหมิ่นประมาทหรือไม่ตามมาตร 326 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ผู้ใดกล่าวต่อบุคคลที่สามอันเป็นประการที่น่าจะทำให้บุคคลผู้นั้น เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง ต้องระวางโทษ จุดจุดจุด และมีมาตรา 328 หนักกว่านั้นอีก ถ้าเป็นการหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาโทษก็จะสูงไปกว่านั้นอีก เพราะฉะนั้นก็ขอให้คนที่ออกข่าวครั้งแรกคนนี้เตรียมตัว เตรียมใจไว้ให้ดี"
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ในคำพิพากษาระบุว่า คณะกรรมการทั้ง 7 ราย ต้องร่วมรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วย
นายสถิตย์ ตอบว่า ต้องไปดูหน้าแรกว่าจำเลยเป็นใคร มีคนเดียว และในบรรทัดสุดท้ายเขียนว่าพิพากษายืน 'ยืน' ก็ต้องไปดูว่าศาลอุทธรณ์พิพากษาอย่างไร ฎีกาก็ยืนแค่นั้น ฉะนั้นเขียนข้างบน (เนื้อหาก่อนอ่านคำพิพากษา) ภาษากฎหมายเรียกว่าพลความ การพิพากษาจริง ๆ อยู่ที่บรรทัดสุดท้าย ไม่ว่าคดีไหน"
"ฉะนั้นที่เขียนไปเป็นพลความ พลความในที่นี้หมายถึงเป็นความเห็นที่ไม่อาจจะไปบังคับกับบุคคลภายนอกซึ่งมิได้อยู่ในคดีได้ ผมเข้าใจว่าอาจจะไม่ได้อ่านตรงนี้ เพราะไม่ใช่นักกฎหมาย ที่เขียนบรรยายทั้งหมดพูดง่าย ๆ ว่าเป็นความเห็นที่ไม่อาจจะนำไปบังคับกับบุคคลภายนอกที่มิได้เป็นคู่ความได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 141 ไปอ่านได้เลย แต่หลังจากกระพือข่าวทั่วไป ผมต้องอธิบายบ้าง ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นว่าเราผิด ซึ่งถ้าเราผิดคงถูกริบทรัพย์ไปหมดแล้ว"
"และที่สำคัญข้อหนึ่ง คือ สมมุติเห็นว่าความเห็นของศาลนี้น่าเชื่อถือ หน่วยงานอาจจะไปดำเนินการได้ ป.ป.ช.ก็ไม่มีความเห็น เขาคงไม่ดำเนินการ และก็จนถึงวันนี้อายุความก็หมดไปแล้ว"
"เรื่องนี้จบไปแล้วครับนาย และไม่ส่งผลถึงตำแหน่งหน้าที่ปัจจุบัน เพราะหมดอายุความแล้ว และเราไม่ได้เป็นจำเลย"
อ่านประกอบ :
- ฉบับเต็ม! คำพิพากษาคดี 'สุธรรม' เอื้อ AIS ศาลฎีกา สั่งกก.ทศท.7 คน ร่วมชดใช้ 6.6 หมื่นล.
- ใคร คือ กก.ทศท.7 ราย ศาลฎีกา สั่งชดใช้ 6.6 หมื่นล. คดี 'สุธรรม' เอื้อปย. AIS
- คดี 'สุธรรม' เอื้อ AIS ศาลฎีกา ชี้ กก.ทศท. 7 ราย บกพร่องด้วย ต้องร่วมชดใช้ 6.6 หมื่นล.
- ศาลฎีกา ยืนโทษคุก 6 ปี 'สุธรรม มลิลา' เอื้อปย.เอไอเอส -ชดใช้ 4.6 หมื่นล.