"...ป.ป.ช. จะทำหนังสือแจ้งผลคำพิพากษาไปให้กระทรวงการคลัง ในฐานะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (ชื่อใหม่ของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ ในอดีตคือ ทศท. หลังควบรวมกิจการกับ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2564 ) เป็นผู้พิจารณาดำเนินการเรื่องนี้ ว่าใครจะต้องมีส่วนรับผิดชอบความเสียหายบ้าง และแบ่งสัดส่วนวงเงินคนละเท่าไร ..."
......................
กรรมการคณะกรรมการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.) 7 ราย ที่เข้าร่วมประชุมในคดีแก้ไขสัมปทาน (ครั้งที่ 6) เพื่อลดอัตราส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้า (Prepaid Card) ให้บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (AIS) โดยมิชอบ
ที่ศาลฎีกา วินิจฉัยว่าจะต้องมีส่วนรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นเงินจำนวน 66,060,686,735.94 บาท ด้วยเป็นใครบ้าง?
กำลังเป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจของสาธารณชน ภายหลัง สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ตรวจสอบคำพิพากษาศาลฎีกา ที่พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ให้ลงโทษจำคุก 6 ปี นายสุธรรม มลิลา อดีตผู้อำนวยการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย(ทศท.) และให้ชดใช้เงินจำนวน 46,855,463,990.92 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้น 33,030,343,367.97 บาท นับตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2559 ดังกล่าว ซึ่งถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ลงมติชี้มูลความผิดตั้งแต่ในช่วงเดือนธันวาคม 2557 ที่ผ่านมา และส่งเรื่องอัยการสูงสุด (อสส.) ฟ้องร้องดำเนินคดีตามขั้นตอนทางกฏหมาย
พบว่ามีระบุให้ กรรมการ ทศท. อีก 7 คน ที่เข้าร่วมประชุมต้องร่วมรับผิดในความเสียหายที่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยต้องสูญเสียรายได้จากกรณีดังกล่าวเป็นเงินจำนวน 66,060,686,735.94 บาท ด้วย
โดยในการวินิจฉัยคดีนี้ ศาลฎีกา ระบุว่า "เป็นการพิจารณามติอนุมัติโดยคณะกรรมการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยซึ่งรวมทั้งจำเลยผู้เป็นกรรมการคนหนึ่งในจำนวน 8 คน ในการประชุมคณะกรรมการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยครั้งที่ 5/2544 เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2544 มิใช่การพิจารณาอนุมัติให้ลดอัตราส่วนแบ่งรายได้ให้แก่บริษัทเอไอเอสโดยจำเลยแต่เพียงผู้เดียว กรรมการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย จำนวนอีก 7 คน ย่อมมีหน้าที่ต้องรักษาผลประโยชน์ขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเช่นเดียวกับจำเลย"
"กรรมการจำนวนอีก 7 คน ดังกล่าว จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบถึงเหตุผลที่บริษัทเอไอเอสอ้างว่าองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยปรับลดอัตราค่าเชื่อมโยงโครงข่ายสำหรับการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้า "Prompt" ให้แก่บริษัททีเอซี จากอัตรา 200 บาท ต่อเลขหมายต่อเดือน เป็นอัตราร้อยละ 18 ของราคาหน้าบัตรนั้นฟังขึ้นหรือไม่"
"โดยกรรมการจำนวนอีก 7 คน ควรต้องสอบถามจำเลยว่า เหตุผลที่บริษัทเอไอเอสอ้างดังกล่าวจำเลยได้ตรวจสอบแล้วหรือไม่ว่า การกำหนดค่าเชื่อมโยงให้แก่บริษัททีเอซีจากอัตรา 200 บาท ต่อเลขหมายต่อเดือนเป็นอัตราร้อยละ 18 ของราคาหน้าบัตร เป็นการปรับลดอัตราค่าเชื่อมโยงโครงข่ายตามที่บริษัทเอไอเอสกล่าวอ้าง และควรสอบถามจำเลยด้วยว่าเท่าที่ผ่านมาบริษัทเอไอเอสกับบริษัททีเอซีบริษัทใดจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยมากกว่ากันเพื่อประกอบการพิจารณาก่อนอนุมัติให้ปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้าตามสัญญาหลักให้แก่บริษัทเอไอเอส"
"แต่ไม่ปรากฏว่ากรรมการจำนวนอีก 7 คน ได้สอบถามข้อเท็จจริงดังกล่าวจากจำเลยก่อนพิจารณาลงมติอนุมัติให้ปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้ตามสัญญาหลัก จากร้อยละ 25 ในปีที่ 11 ถึงปีที่ 15 และร้อยละ 30 ในปีที่ 16 ถึงปีที่ 20 ลงเหลือในอัตราคงที่ร้อยละ 20 ตลอดอายุสัญญาหลัก นับได้ว่ากรรมการจำนวนอีก 7 คน มีส่วนบกพร่องในการทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยด้วย"
"กรรมการจำนวนอีก 7 คน จึงต้องร่วมรับผิดในความเสียหายที่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยต้องสูญเสียรายได้จากการที่คณะกรรมการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยอนุมัติให้ลดอัตราส่วนแบ่งรายได้ให้แก่บริษัทเอไอเอสดังกล่าวเป็นเงินจำนวน 66,060,686,735.94 บาท"
- ศาลฎีกา ยืนโทษคุก 6 ปี 'สุธรรม มลิลา' เอื้อปย.เอไอเอส -ชดใช้ 4.6 หมื่นล.
- คดี 'สุธรรม' เอื้อ AIS ศาลฎีกา ชี้ กก.ทศท. 7 ราย บกพร่องด้วย ต้องร่วมชดใช้ 6.6 หมื่นล.
- ฉบับเต็ม! คำพิพากษาคดี 'สุธรรม' เอื้อ AIS ศาลฎีกา สั่งกก.ทศท.7 คน ร่วมชดใช้ 6.6 หมื่นล.
ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันข้อมูลจากแหล่งข่าว ป.ป.ช. ว่า เกี่ยวกับกรณีกรรมการ ทศท. จำนวน 7 ราย ที่ศาลฎีกา ระบุในคำพิพากษาว่า จะต้องมีส่วนรับผิดชอบความเสียหาย เป็นจำนวนเงินกว่า 66,060,686,735.94 บาท นั้น
ป.ป.ช. จะทำหนังสือแจ้งผลคำพิพากษาไปให้กระทรวงการคลัง ในฐานะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (ชื่อใหม่ของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ ในอดีตคือ ทศท. หลังควบรวมกิจการกับ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2564 ) เป็นผู้พิจารณาดำเนินการเรื่องนี้ ว่าใครจะต้องมีส่วนรับผิดชอบความเสียหายบ้าง และแบ่งสัดส่วนวงเงินคนละเท่าไร
ส่วนบุคคลที่อยู่ในข่ายมีส่วนร่วมรับผิดชอบความเสียหาย ก็อยู่ในรายชื่อบุคคลที่เป็นผู้ถูกล่าวหาในคดีนี้ พร้อมกับ นายสุธรรม มลิลา แต่ไม่ถูก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดในคดีนี้ด้วย
ขณะที่สำนักข่าวอิศรา สืบค้นข้อมูลพบว่า ในการพิจารณาคดีนี้ คณะกรรมการ ป. ป.ช. ได้มีการประชุมครั้งที่ 625 - 93/2557 เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม2557 ได้พิจารณาสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริง (เพิ่มเติม) เรื่องกล่าวหา นายศุภชัย พิศิษฐวานิช เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ ทศท. กับพวกรวม 15 ราย แก้ไขสัญญาสัมปทาน (ครั้งที่ 6) เพื่อลดอัตราส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้า (Prepaid Card) ให้บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด โดยมิชอบ
มีมติเป็นเอกฉันท์ ด้วยคะแนนเสียง 7 เสียง เห็นชอบตามความเห็นของคณะอนุกรรมการไต่สวน ว่า การกระทำของ นายสุธรรม มลิลา ผู้ถูกกล่าวหาที่ 8 มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามข้อบังคับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยว่าด้วยการพนักงาน พ.ศ. 2536 ข้อ 30 ข้อ 33 ข้อ 36 และข้อ 44 และสัญญาจ้างเป็นผู้บริหารในตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ลงวันที่ 8 มกราคม 2544 และมีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 ประกอบพระราชบัญญัติองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2497 มาตรา 17
สำหรับผู้ถูกกล่าวหา 14 ราย คือ นายศุภชัย พิศิษฐวานิช ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 พลเอก ชูชาติ พรหมพระสิทธิ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 นายสรรเสริญ วงศ์ชะอุ่ม ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 พลตำรวจเอก บุญฤทธิ์ รัตนะพร ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 นายสถิต ลิ่มพงศ์พันธุ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 นายสุรินทร์ ตุลย์วัฒนจิต ผู้ถูกกล่าวหาที่ 6 นายวันชัย ศารทูลทัต ผู้ถูกกล่าวหาที่ 7 นายวิเชียร นาคสีนวล ผู้ถูกกล่าวหาที่ 9 นายสิทธิชัย ส่งพิริยะกิจ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 10 นายโอฬาร เพียรธรรม ผู้ถูกกล่าวหาที่ 11 นายพงศ์พันธ์ มโนรถ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 12 นายสมชาย อัครพงศ์พิสัย ผู้ถูกกล่าวหาที่ 13 นางทัศนีย์ มโนรถ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 14 และนางศุภร วสุธาร ผู้ถูกกล่าวหาที่ 15
จากการไต่สวนข้อเท็จจริง ไม่ปรากฎข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพียงพอที่จะฟังได้ว่า ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 14 ราย ได้ร่วมกระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
เบื้องต้น สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบรายชื่อผู้ถูกกล่าวหา 14 ราย พบว่า มีจำนวนกว่าครึ่งหนึ่ง ที่เคยดำรงตำแหน่งเป็น คณะกรรมการ ทศท. 7 ราย ในช่วงปี 2544 แต่งตั้งในสมัยนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2544 ดังนี้
1. นายศุภชัย พิศิษฐวานิช เป็น ประธานกรรมการ
2. พลเอก ชูชาติ พรหมพระสิทธิ์ เป็น รองประธานกรรมการ
3. นายสรรเสริญ วงศ์ชะอุ่ม เป็นกรรมการ
4. นายวันชัย ศารทูลทัต เป็น กรรมการ
5. พลตำรวจเอก บุญฤทธิ์ รัตนะพร เป็นกรรมการ
6. นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ผู้แทนกระทรวงการคลัง
7. นายสุรินทร์ ตุลย์วัฒนจิต เป็นกรรมการ
อย่างไรก็ดี กล่าวสำหรับ นายศุภชัย พิศิษฐวานิช ซึ่งเคยมีตำแหน่งเป็น ประธาน ทศท. ในช่วงปี 2544 ได้เสียชีวิตไปแล้ว ด้วยโรคมะเร็ง ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2559 ที่ผ่านมา
อดีตกรรมการ ทศท. ที่อยู่ในข่ายต้องรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นเงินจำนวน 66,060,686,735.94 บาท ปัจจุบันจึงอาจเหลือแค่เพียง 6 รายเท่านั้น
อ่านข่าวประกอบ
- ป.ป.ช. ฟันเงียบ "อดีตบิ๊กทศท.-พวก" แก้สัญญามือถือเอื้อ "เอไอเอส" 2 คดีรวด
- ศาลฎีกา ยืนโทษคุก 6 ปี 'สุธรรม มลิลา' เอื้อปย.เอไอเอส -ชดใช้ 4.6 หมื่นล.
- คดี 'สุธรรม' เอื้อ AIS ศาลฎีกา ชี้ กก.ทศท. 7 ราย บกพร่องด้วย ต้องร่วมชดใช้ 6.6 หมื่นล.
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage