"... พฤติการณ์แห่งการกระทำของจำเลยดังกล่าวแสดงให้เห็นอย่างแจ้งชัดถึงเจตนาของจำเลยที่จะเอื้อประโยชน์ให้บริษัทเอไอเอสได้รับผลประโยชน์จากการลดส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้าที่บริษัทเอไอเอสต้องจ่ายให้แก่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย...แต่ไม่ปรากฏว่ากรรมการจำนวนอีก 7 คน ได้สอบถามข้อเท็จจริงดังกล่าวจากจำเลยก่อนพิจารณาลงมติอนุมัติให้ปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้ตามสัญญาหลัก จากร้อยละ 25 ในปีที่ 11 ถึงปีที่ 15 และร้อยละ 30 ในปีที่ 16 ถึงปีที่ 20 ลงเหลือในอัตราคงที่ร้อยละ 20 ตลอดอายุสัญญาหลัก นับได้ว่ากรรมการจำนวนอีก 7 คน มีส่วนบกพร่องในการทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยด้วย กรรมการจำนวนอีก 7 คน จึงต้องร่วมรับผิดในความเสียหายที่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยต้องสูญเสียรายได้จากการที่คณะกรรมการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยอนุมัติให้ลดอัตราส่วนแบ่งรายได้ให้แก่บริษัทเอไอเอสดังกล่าวเป็นเงินจำนวน 66,060,686,735.94 บาท..."
..............................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานไปแล้วว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ศาลฎีกา มีคำพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ที่พิพากษาลงโทษให้จำคุก 6 ปี นายสุธรรม มลิลา อดีตผู้อำนวยการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย(ทศท.) และให้ชดใช้เงินจำนวน 46,855,463,990.92 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้น 33,030,343,367.97 บาท นับตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2559 ในคดีแก้ไขสัมปทาน (ครั้งที่ 6) เพื่อลดอัตราส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้า (Prepaid Card) ให้บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (AIS) โดยมิชอบ
ซึ่งถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ลงมติชี้มูลความผิดตั้งแต่ในช่วงเดือนธันวาคม 2557 ที่ผ่านมา และส่งเรื่องอัยการสูงสุด (อสส.) ฟ้องร้องดำเนินคดีตามขั้นตอนทางกฏหมาย
ขณะที่ให้คำพิพากษาศาลฎีกา มีการระบุให้ กรรมการ ทศท. อีก 7 คน ที่เข้าร่วมประชุมต้องร่วมรับผิดในความเสียหายที่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยต้องสูญเสียรายได้จากการที่คณะกรรมการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยอนุมัติให้ลดอัตราส่วนแบ่งรายได้ให้แก่บริษัทเอไอเอสดังกล่าวเป็นเงินจำนวน 66,060,686,735.94 บาท ด้วย
- ศาลฎีกา ยืนโทษคุก 6 ปี 'สุธรรม มลิลา' เอื้อปย.เอไอเอส -ชดใช้ 4.6 หมื่นล.
- คดี 'สุธรรม' เอื้อ AIS ศาลฎีกา ชี้ กก.ทศท. 7 ราย บกพร่องด้วย ต้องร่วมชดใช้ 6.6 หมื่นล.
ต่อไปนี้ เป็นข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับเส้นทางคดีนี้อย่างละเอียด ตั้งแต่การลงมติชี้มูลความผิดทางอาญา นายสุธรรม มลิลา เมื่อปี 2557 จนกระทั่งถึงผลการพิจารณาคดีของศาลฎีกา ที่ตัดสินลงโทษ จำคุก 6 ปี และให้ชดใช้เงินจำนวน 46,855,463,990.92 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้น 33,030,343,367.97 บาท ดังกล่าว ขณะที่กรรมการอีก 7 คน ที่เข้าร่วมประชุมต้องร่วมรับผิดในความเสียหายที่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยต้องสูญเสียรายได้จากการที่คณะกรรมการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยอนุมัติให้ลดอัตราส่วนแบ่งรายได้ให้แก่บริษัทเอไอเอสดังกล่าวเป็นเงินจำนวน 66,060,686,735.94 บาท ด้วย
@ มติชี้มูล ป.ป.ช.
คณะกรรมการ ป. ป.ช. ได้มีการประชุมครั้งที่ 625 - 93/2557 เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม2557 ได้พิจารณาสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริง (เพิ่มเติม) เรื่องกล่าวหา นายศุภชัย พิศิษฐวานิช เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ ทศท. กับพวกรวม 15 คน แก้ไขสัญญาสัมปทาน (ครั้งที่ 6) เพื่อลดอัตราส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้า (Prepaid Card) ให้บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด โดยมิชอบ
โดยมีมติเป็นเอกฉันท์ ด้วยคะแนนเสียง 7 เสียง เห็นชอบตามความเห็นของคณะอนุกรรมการไต่สวน ว่า การกระทำของ นายสุธรรม มลิลา ผู้ถูกกล่าวหาที่ 8 มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามข้อบังคับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยว่าด้วยการพนักงาน พ.ศ. 2536 ข้อ 30 ข้อ 33 ข้อ 36 และข้อ 44 และสัญญาจ้างเป็นผู้บริหารในตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ลงวันที่ 8 มกราคม 2544 และมีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 ประกอบพระราชบัญญัติองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2497 มาตรา 17
ส่วนกรณีกล่าวหา นายศุภชัย พิศิษฐวานิช ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 พลเอก ชูชาติ พรหมพระสิทธิ์ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 นายสรรเสริญ วงศ์ชะอุ่ม ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 พลตำรวจเอก บุญฤทธิ์ รัตนะพร ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 นายสถิต ลิ่มพงศ์พันธุ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 นายสุรินทร์ ตุลย์วัฒนจิต ผู้ถูกกล่าวหาที่ 6 นายวันชัย ศารทูลทัต ผู้ถูกกล่าวหาที่ 7 นายวิเชียร นาคสีนวล ผู้ถูกกล่าวหาที่ 9 นายสิทธิชัย ส่งพิริยะกิจ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 10 นายโอฬาร เพียรธรรม ผู้ถูกกล่าวหาที่ 11 นายพงศ์พันธ์ มโนรถ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 12 นายสมชาย อัครพงศ์พิสัย ผู้ถูกกล่าวหาที่ 13 นางทัศนีย์ มโนรถ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 14 และนางศุภร วสุธาร ผู้ถูกกล่าวหาที่ 15
จากการไต่สวนข้อเท็จจริง ไม่ปรากฎข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพียงพอที่จะฟังได้ว่า ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 14 ราย ได้ร่วมกระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
ให้ส่งรายงาน เอกสาร และความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อพิจารณาโทษทางวินัยและไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีกับนายสุธรรม มลิลา ตามฐานความผิดดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 92 และมาตรา 97 แล้วแต่กรณี ต่อไป
@ อัยการยื่นเรื่องฟ้องคดี
ข้อกล่าวหา การที่จำเลยในฐานะผู้อำนวยการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นกรรมการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยโดยตำแหน่งและเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ปกปิดไม่แจ้งให้ที่ประชุมคณะกรรมการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยทราบในการประชุมครั้งที่ 5/2544 เมื่อวันที่ 12เมษายน 2544 ถึงข้อเท็จจริงที่นายวิเชียร ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารผลประโยชน์ (บย.) มีความเห็นว่า ที่บริษัท เอไอเอส มีหนังสือขอให้องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยพิจารณาปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้าตามสัญญาหลัก โดยกล่าวอ้างว่าองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยปรับลดอัตราค่าเชื่อมโยงโครงข่ายสำหรับการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้า "Prompt" ให้แก่บริษัททีเอซีจากอัตรา 200 บาท ต่อเลขหมายต่อเดือน เป็นอัตราร้อยละ 18 ของราคาหน้าบัตรนั้น เป็นการกำหนดอัตราค่าเชื่อมโยงขึ้นใหม่เพิ่มเติมสำหรับการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบจ่ายเงินล่วงหน้าไม่ใช่การปรับลดอัตราค่าเชื่อมโยงโครงข่ายตามที่บริษัทเอไอเอส กล่าวอ้าง และจำเลยไม่แจ้งต่อที่ประชุมคณะกรรมการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยในการประชุมครั้งที่ 5 ดังกล่าวว่าบริษัททีเอซี จ่ายผลประโยชน์แทนให้แก่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยสูงกว่าบริษัทเอไอเอสจ่าย
กล่าวคือ บัตรราคา 500 บาท บริษัททีเอซี่ จ่ายให้ 172 บาท ในขณะที่ บริษัทเอไอเอสจ่ายให้ 125 บาท จนเป็นเหตุให้คณะกรรมการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย มีมติในการประชุมครั้งที่ 5/2544 ให้ลดส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริหารโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้าที่บริษัทเอไอเอส ต้องจ่ายให้แก่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยจากอัตราร้อยละ 25 ถึง 30 ตามสัญญาหลักลงเหลืออัตราร้อยละ 20
ทำให้องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศทยต้องสูญเสียรายได้ทั้งรายได้ในอนาคตเป็นต้นเงินและดอกเบี้ยรวมจำนวน 93,710,927,981.84 บาท
ประกอบกับหลังจากจำเลยลงนามในสัญญาลดส่วนแบ่งรายได้ครั้งที่ 6 ให้แก่บริษัทเอไอเอส เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2544 โดยกำหนดให้บริษัทเอไอเอสจ่ายเงินผลประโยชน์ตอบแทนสำหรับการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้าให้แก่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ในอัตราร้อยละ 20 ตามข้อตกลงต่อท้ายสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แล้ว
แต่ในการประชุมคณะกรรมการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยครั้งที่ 8/2544 เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2544 จำเลย กลับรายงานต่อที่ประชุมว่าอยู่ระหว่างดำเนินการร่างข้อตกลงต่อท้ายสัญญาครั้งที่ 6
ทั้ง ๆ ที่ความจริงจำเลยได้ลงนามในข้อตกลงครั้งที่ 6 ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2544
โดยในข้อตกลงต่อท้ายสัญญาครั้งที่มิได้กำหนดข้อตกลงให้มีการพิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์การเรียกเงินส่วนแบ่งรายได้ในโอกาสต่อไปตามที่คณะกรรมการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยมีมติในการประชุมครั้งที่ 5/2544 เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2544 และในการประชุมครั้งที่ 5/2544 เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2544 นอกจากคณะกรรมการ องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยจะมีมติให้ลดส่วนแบ่งรายได้ที่บริษัทไออสต้องจ่ายลงเหลือในอัตราร้อยละ 20 แล้ว ยังกำหนดเงื่อนไขให้องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยติดตามผลการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้าเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์การเรียกเก็บส่วนแบ่งรายได้ในโอกาสต่อไป
แต่จำเลยมิได้ดำเนินการตามที่คณะกรรมการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยกำหนดเงื่อนไข ดังกล่าว จนกรรมการ 7 คน พ้นจากหน้าที่เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2545
พฤติการณ์แห่งการกระทำของจำเลยดังกล่าวแสดงให้เห็นอย่างแจ้งชัดถึงเจตนาของจำเลยที่จะเอื้อประโยชน์ให้บริษัทเอไอเอสได้รับผลประโยชน์จากการลดส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริรโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้าที่บริษัทเอไอเอสต้องจ่ายให้แก่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย
เมื่อจำเลยเป็นผู้อำนวยการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยและเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยไม่รักษาผลประโยชน์ขององค์กรโทรศัพท์แห่งประเทศไทยแต่กลับเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทเอไอเอสอันเป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงการคลัง โดยต้องสูญเสียรายได้เป็นต้นเงินจำนวน 66,060,686,735.94 บาท
อัยการ ในฐานะ โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157
จำเลยให้การปฏิเสธ
บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ยื่นคำร้องขอและแก้ไขคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/ 1 ขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 93,710,927,981.84 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน จำนวน 66,060,686,735.94 บาท นับถัดจากวันยื่นคำร้องขอ จนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้องจำเลยให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพวกษายกฟ้อง และยกคำร้องขอของผู้ร้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 (เดิม) จำคุก 9 ปี
พยานหลักฐานที่จำเลยนำเข้าไต่สวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 ปี และให้จำเลยชำระเงินจำนวน 46,855,463,990.92 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 33,030,343,367.97 บาท นับแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2559 ซึ่งเป็นวันที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จแก่บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ ผู้ร้องและจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความไม่โต้แย้ง รับฟังได้ว่า องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2497 เป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงการคลัง
ต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2545 ให้องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยแปรสภาพเป็นบริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ผู้ร้องมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงการคลังถือหุ้นทั้งหมด ตามพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 และพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดดำเนินการและนำมาซึ่งความเจริญของกิจการโทรศัพท์เพื่อประโยชน์แห่งรัฐและประชาชน ดำเนินธุรกิจอันเกี่ยวกับกิจการโทรศัพท์และธุรกิจอื่นที่ต่อเนื่องใกลัเคียงที่เป็นประโยชน์แก่กิจการโทรศัพท์ ในการดำเนินกิจการขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยให้คำนึงถึงประโยชน์ของรัฐและของประชาชน
เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2543 คณะกรรมการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยมีคำสั่งแต่งตั้งจำเลยให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ตามสำเนาสัญญาจ้างเป็นผู้บริหารตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย จำเลยเป็นกรรมการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยโดยตำแหน่ง จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจพิจารณไต่สวนกล่าวหาจำเลยเกี่ยวกับคดีนี้
เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2533 องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยทำสัญญาให้บริษัทเอไอเอสดำเนินกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยบริษัทเอไอเอส ต้องจ่ายเงินผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเป็นรายปี
ต่อมาจำเลยแก้ไขสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ฉบับลงวันที่ 27 มีนาคม 2533 ซึ่งเป็นสัญญาหลักครั้งที่ 6 ลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2544 ปรับลดส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้าที่บริษัทเอไอเอสต้องจ่ายให้แก่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยลงเหลือในอัตราร้อยละ 20
ซึ่งตามสัญญาหลักบริษัทเอไอเอสต้องจ่ายเงินส่วนแบ่งรายได้เป็นผลประโยชน์ตอบแทนก่อนหักค่าใช้จ่ายและค่าภาษีใดสำหรับปีที่ 1 ถึงปีที่ 5 ในอัตราร้อยละ 15 ปีที่ 6 ถึงปีที่ 10 อัตราร้อยละ 20 ปีที่ 11 ถึงปีที่ 15 อัตราร้อยละ 25และปีที่ 16 ถึงปีที่ 20 อัตราร้อยละ 30 เป็นอัตราก้าวหน้าตามช่วงของปีสัมปทนให้แก่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ระยะเริ่มแรกบริษัทเอไอเอสให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบจดทะเบียนหรือระบบจ่ายเงินภายหลัง (Postpaid)
ต่อมาปี 2542 บริษัทเอไอเอส เปิดให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้า (Prepaid) ภายใต้ชื่อ "One-2-Call" (วัน ทู คอล)
วันที่ 22 มกราคม 2544 บริษัทเอไอเอสมีหนังสือที่ บีอาร์.บีอาร์.(BR.BR) 118/2544 ขอให้องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยพิจารณาปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้า
โดยให้เหตุผลว่าองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยปรับลดอัตราค่าเชื่อมโยงโครงข่ายสำหรับการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้าภายใต้ชื่อ "Prompt" ให้แก่บริษัทโทเทิลแอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือบริษัททีเอชี (TAC) จากอัตรา 200 บาทต่อเลขหมายต่อเดือน เป็นอัตราร้อยละ 18 ของราคาหน้าบัตร
นายวิเชียร นาคสีนวล ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารผลประโยชน์ (บย.) ให้บริษัทเอไอเอสเข้าร่วมหารือในเรื่องดังกล่าว แล้วมีความเห็นว่า องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยกำหนดอัตราค่าเชื่อมโยงโครงข่ายการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้าให้แก่บริษัททีเอซี จากอัตรา 200 บาทต่อเลขหมายต่อเดือน เป็นอัตราร้อยละ 18 ของราคาหน้าบัตร ไม่ใช่การปรับลดอัตราค่าเชื่อมโยงโครงข่าย แต่เป็นการกำหนดอัตราค่าเชื่อมโยงขึ้นใหม่เพิ่มเติมสำหรับการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบจ่ายเงินล่วงหน้า ที่เดิมมีเฉพาะอัตราค่าเชื่อมโยงโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบจ่ายเงินภายหลัง (Postpaid) และไม่ใช่เป็นการที่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยลดส่วนแบ่งรายได้เช่นเดียวกับที่บริษัทเอไอเอสขอลดส่วนแบ่งรายได้ของการให้บริการวันทูคอลแต่อย่างใด
บริษัทเอไอเอส จึงทำหนังสือชี้แจงความแตกต่างของโครงสร้างและต้นทุนการให้บริการแบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้ากับการให้บริการแบบจ่ายเงินภายหลังตามหนังสือที่ บีอาร์.บีอาร์ 499/2544 ลงวันที่ 5 มีนาคม2544 ฝ่ายการเงินและงบประมาณ (งป.) ขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยพิจารณาความเหมาะสมของข้อมูลด้านตันทุนที่บริษัทเอไอเอสเสนอ
โดยนำข้อมูลจากเงินลงทุนต่อเลขหมายตามรายงานการวิจัยของบริษัท "Credit Suisse First Boston" ฉบับลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2544 เกี่ยวกับกรณีบริษัทเอไอเอสซื้อหุ้นบริษัทดิจิตอลโฟน จำกัด และนำข้อมูลบริษัท "Arthur Anderson (AA)" ที่องค์การโทรศัพห์แห่งประเทศไทยว่าจ้างเพื่อปรึกษาในการแปรสัญญาสัมปทาน ซึ่งได้ผู้จัดทำกรณีศึกษา คือ นางสุรัสวดี เมฆาพงศ์พันธุ์ นางสาวประภาศรี กาญจนากร และนางปรียา ด่านชัยวิจิตร โดยใช้ข้อมูลเงินลงทุนต่อเลขหมายจำนวน 22,500 บาท และ 14,800 บาท ที่ผู้ร้องคำนวณขึ้นประกอบข้อมูลรายได้ต่อเลขหมาย ของบริษัทเอไอเอสและบริษัท "Credit Suisse First Boston" เปรียบเทียบเพื่อจัดทำกรณีศึกษาแบบอัตราก้าวหน้าและอัตราคงที่กับได้ทำกรณีศึกษาเพิ่มเติมและใช้ข้อมูลเงินลงทุนต่อเลขหมายที่จำนวน 14,800 บาท คิดอัตราคงที่กับที่อัตราร้อยละอยู่ในช่วงตั้งแต่ร้อยละ 20 ถึง 25 และเพิ่มการคำนวณผลตอบแทนการลงทุน (IRR) ประกอบกรณีศึกษาด้วย
ต่อมาวันที่ 4 เมษายน 2544 ในการประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองวาระการประชุมครั้งที่ 5/2544 ที่ประชุมพิจารณากรณีศึกษาข้อมูลของบริษัทเอไอเอสนำเสนอ และกรณีศึกษาข้อมูลของบริษัท "Credit Suisse First Boston" แล้วมีมติให้บริษัทเอไอเอสจ่ายส่วนแบ่งรายได้โทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้าในอัตราคงที่ร้อยละ 22 อัตราดังกล่าวเป็นการใช้ข้อมูลของบริษัท "Credit Suisse First Boston" ฉบับวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2544 บนประมาณการรายได้จำนวน 550 บาท ต่อเลขหมายต่อเดือน และอัตราคงที่ตลอด กรณีนี้ บริษัทเอไอเอสจะมีผลตอบแทนการลงทุน (IRR) ในอัตราประมาณร้อยละ 13 อันเป็นอัตราที่เท่ากับเกณฑ์ที่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยใช้ในการพิจารณโครงการอื่น ๆ
ต่อมาในการประชุมคณะกรรมการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 5/2544 เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2544 จำเลยเข้าร่วมประชุมและพิจารณาเรื่องนี้ที่ประชุมมีความเห็นว่า กรณีบริษัทเอไอเอสขอลดส่วนแบ่งรายได้จากร้อยละ 25 เหลือร้อยละ 20 นอกจากจะเป็นการส่งเสริมให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรมแล้ว องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยและประชาชนน่าจะได้รับประโยชน์โดยตรง จึงมีมติเห็นชอบในการกำหนดส่วนแบ่งรายได้โทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้า วันทูคอล ที่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยจะเรียกเก็บในอัตราร้อยละ 20 ของมูลค่าหน้าบัตรโดยมีเงื่อนไขให้องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเจรจากับบริษัทเอไอเอสให้ได้ข้อยุติเรื่องการนำส่งส่วนแบ่งรายได้ให้องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเป็นรายเดือน และการนำผลประโยชน์ที่บริษัทเอไอเอสได้รับไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ใช้บริการให้กำหนดเงื่อนไขไว้ในข้อตกลงต่อท้ายสัญญา และให้องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยติดตามผลการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้าเพื่อเป็นข้อมูลในการพิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์เรียกเก็บส่วนแบ่งรายได้ในโอกาสต่อไป
@ นายสุธรรม มลิลา
วันที่ 15 พฤษภาคม2544 จำเลย ในฐานะผู้อำนวยการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยลงนามในข้อตกลงต่อท้ายสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ กับบริษัทเอไอเอส ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2544 และกำหนดผลประโยชน์ตอบแทนการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้า (Prepaid)ภายใต้ชื่อวันทูคอล ว่า ให้บริษัทเอไอเอสแบ่งส่วนรายได้ในอัตรา ร้อยละ 20 ของมูลค่าหน้าบัตรรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามสำเนาข้อตกลงต่อท้ายสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ข้อตกลงต่อท้ายสัญญาดังกล่าว
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัยในคดีหมายเลขแดงที่ อม. 1/2553 ว่า เป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัทเอไอเอส ไม่ใช่การกระทำเพื่อประโยชน์ของทางราชการและทำให้องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยได้รับความเสียหาย อีกทั้ง การแก้ไขสัญญาตามข้อตกลงต่อท้ายสัญญาครั้งนั้นอัตราส่วนแบ่งรายได้ของโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้าควรเป็นไปตามสัญญาหลักเนื่องจากการกำหนดอัตราส่วนแบ่งรายได้ที่ต้องจ่ายให้แก่คู่สัญญาภาครัฐในแบบอัตราก้าวหน้าหรือแบบขั้นบันได เป็นการกำหนดอัตราที่มีความเป็นธรรมแก่คู่สัญญาฝ่ายรัฐผู้ให้สัญญาเพราะได้กำหนดค่าผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่รัฐผู้ให้สัญญาตามสัดส่วนของรายได้
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาหรัพย์ใด ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเจ้าของทรัพย์นั้น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 (เดิม) และ 157 ดังที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาหรือไม่
เห็นว่า การที่จำเลยในฐานะผู้อำนวยการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นกรรมการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยโดยตำแหน่งและเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ปกปิดไม่แจ้งให้ที่ประชุมคณะกรรมการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยทราบในการประชุมครั้งที่5/2544 เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2544 ถึงข้อเท็จจริงที่นายวิเชียร ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารผลประโยชน์ (บย.) มีความเห็นว่า ที่บริษัทเอไอเอสมีหนังสือขอให้องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยพิจารณาปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้าตามสัญญาหลัก
โดยกล่าวอ้างว่าองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยปรับลดอัตราค่าเชื่อมโยงโครงข่ายสำหรับการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้า "Prompt" ให้แก่บริษัททีเอซีจากอัตรา 200 บาท ต่อเลขหมายต่อเดือน เป็นอัตราร้อยละ 18 ของราคาหน้าบัตรนั้น เป็นการกำหนดอัตราค่าเชื่อมโยงขึ้นใหม่เพิ่มเติมสำหรับการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เบบจ่ายเงินล่วงหน้าไมใช่การปรับลดอัตราค่าเชื่อมโยงโครงข่ายตามที่บริษัทเอไอเอสกล่าวอ้าง และจำเลยไม่แจ้งต่อที่ประชุมคณะกรรมการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยในการประชุมครั้งที่ 5 ดังกล่าวว่าบริษัททีเอชี จ่ายผลประโยชน์แทนให้แก่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยสูงกว่าบริษัทเอไอเอสจ่าย
กล่าวคือ บัตรราคา 500 บาท บริษัททีเอชี จ่ายให้ 172 บาท ในขณะที่ บริษัทเอไอเอสจ่ายให้ 125 บาท จนเป็นเหตุให้คณะกรรมการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยมีมติในการประชุมครั้งที่ 5/2554 ให้ลดส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริหารโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้าที่บริษัทเอไอเอสต้องจ่ายให้แก่องค์การโทรศัพท์แห่งประทศไทยจากอัตราร้อยละ 25 ถึง 30 ตามสัญญาหลักลงเหลืออัตราร้อยละ 20 ทำให้องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยต้องสูญเสียรายได้ทั้งรายได้ในอนาคตเป็นต้นเงินและดอกเบี้ยรวมจำนวน 93,710,927,981.84 บาท
ประกอบกับหลังจากจำเลยลงนามในสัญญาลดส่วนแบ่งรายได้ครั้งที่ 6 ให้แก่บริษัทเอไอเอส เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2544 โดยกำหนดให้บริษัทเอไอเอสจ่ายเงินผลประโยชน์ตอบแทนสำหรับการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้าให้แก่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ในอัตราร้อยละ 20 ตามข้อตกลงต่อท้ายสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แล้ว
แต่ในการประชุมคณะกรรมการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยครั้งที่ 8/2544 เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2544 จำเลย กลับรายงานต่อที่ประชุมว่าอยู่ระหว่างดำเนินการร่างข้อตกลงต่อท้ายสัญญาครั้งที่ 6
ทั้ง ๆ ที่ความจริงจำเลยได้ลงนามในข้อตกลงครั้งที่ 6 ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2544
โดยในข้อตกลงต่อท้ายสัญญาครั้งที่ 6 มิได้กำหนดข้อตกลงให้มีการพิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์การเรียกเงินส่วนแบ่งรายได้ในโอกาสต่อไปตามที่คณะกรรมการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยมีมติในการประชุมครั้งที่ 5/2544 เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2544 และในการประชุมครั้งที่ 5/2544 เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2544 นอกจากคณะกรรมการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยจะมีมติให้ลดส่วนแบ่งรายได้ที่บริษัทเอไอเอสต้องจ่ายลงเหลือในอัตราร้อยละ 20 แล้ว ยังกำหนดเงื่อนไขให้องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยติดตามผลการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้าเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์การเรียกเก็บส่วนแบ่งรายได้ในโอกาสต่อไป
แต่จำเลยมีได้ดำเนินการตามที่คณะกรรมการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยกำหนดเงื่อนไขดังกล่าว จนกรรมการ 7 คน พ้นจากหน้าที่เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2545
พฤติการณ์แห่งการกระทำของจำเลยดังกล่าวแสดงให้เห็นอย่างแจ้งชัดถึงเจตนาของจำเลยที่จะเอื้อประโยชน์ให้บริษัทเอไอเอสได้รับผลประโยชน์จากการลดส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้าที่บริษัทเอไอเอสต้องจ่ายให้แก่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย
เมื่อจำเลยเป็นผู้อำนวยการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยและเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ซื้อทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใดขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยไม่รักษาผลประโยชน์ขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยแต่กลับเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทเอไอเอสอันเป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงการคลัง โดยต้องสูญเสียรายได้เป็นต้นเงินจำนวน 66,060,686.735.94 บาท
การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และการกระทำของจำเลยดังกล่าวยังถือได้ว่าเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดและเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 อีกด้วย แต่เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151 ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้ว จึงไม่ต้องปรับบทว่าจำเลยมีความผิดตามบททั่วไปตามมาตรา 157 อีก ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉยตามฎีกาของจำเลยและฎีกาของโจทก์และผู้ร้องประการสุดท้ายว่าจำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องตามคำร้องขอของผู้ร้องหรือไม่เพียงใด เห็นว่า การกระทำของจำเลยในฐานะผู้อำนวยการโทรศัพท์แห่งประเทศไทยและเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงการคลัง เป็นการกระทำละเมิดต่อองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยซึ่งต่อมาแปรสภาพเป็นบริษัททศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) ผู้ร้องในปัจจุบัน เป็นเหตุให้องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยได้รับความเสียหายต้องสูญเสียรายได้จำนวน 66,060,686,735.44 บาท
กล่าวคือ การที่จำเลยลงนามในข้อตกลงท้ายสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ครั้งที่ 6 กับบริษัทเอไอเอสมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2544 จนสิ้นสุดอายุสัญญาวันที่ 30 กันยายน 2558 เป็นผลให้สูญเสียรายได้จากส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบจ่ายเงินล่วงหน้าจากบริษัทเอไอเอสในอัตราร้อยละ 20 คงที่ตลอดอายุสัญญาน้อยลงกว่าเดิมเมื่อเปรียบเทียบกับส่วนแบ่งรายได้ที่ควรได้รับตามสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ลงวันที่ 27 มีนาคม 2533 ซึ่งเป็นสัญญาหลักอัตราร้อยละ 25 ถึง 30เป็นเงินจำนวน 66,060,686,735.94 บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดถึงวันที่ 4 กรกฎาคม 2559 อันเป็นวันที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอจำนวน 27,65o,241,245.9o บาท รวมเป็นค่าสินไหมทดแทนจำนวน 93,710,927,981.84 บาท จำเลยจำต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวนดังกล่าวแก่ผู้ร้อง
อย่างไรก็ตาม ในการพิจารณาอนุมัติลดอัตราส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้าที่บริษัทเอไอเอสต้องจ่ายให้แก่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยจากอัตราร้อยละ 25 ตามสัญญาหลักเป็นอัตราคงที่ร้อยละ 20 จนเป็นเหตุให้องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยได้รับส่วนแบ่งรายได้น้อยลงจากเดิมที่ได้รับตามสัญญาหลักในปีที่ 11 ถึงปีที่ 15 อัตราร้อยละ 25 และปีที่ 16 ถึงปีที่ 20 อัตราร้อยละ 30 เป็นเงิน 66,060,686,735.94 บาท นั้น เป็นการพิจารณามติอนุมัติโดยคณะกรรมการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยซึ่งรวมทั้งจำเลยผู้เป็นกรรมการคนหนึ่งในจำนวน 8 คน ในการประชุมคณะกรรมการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยครั้งที่ 5/2544 เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2544 มิใช่การพิจารณาอนุมัติให้ลดอัตราส่วนแบ่งรายได้ให้แก่บริษัทเอไอเอสโดยจำเลยแต่เพียงผู้เดียว กรรมการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยจำนวนอีก 7 คน ย่อมมีหน้าที่ต้องรักษาผลประโยชน์ขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเช่นเดียวกับจำเลยการที่บริษัทเอไอเอสขอลดส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้าตามสัญญาหลักที่บริษัทเอไอเอสต้องจ่ายให้แก่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยนั้น
เห็นได้ในเบื้องต้นว่า หากคณะกรรมการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยอนุมัติให้ลดส่วนแบ่งรายได้ตามสัญญาหลักให้แก่บริษัทเอไอเอสตามที่บริษัทเอไอเอสขอย่อมทำให้องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยได้รับรายได้น้อยลง
กรรมการจำนวนอีก 7 คน ดังกล่าวจึงสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบถึงเหตุผลที่บริษัทเอไอเอสอ้างว่าองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยปรับลดอัตราค่าเชื่อมโยงโครงข่ายสำหรับการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้า "Prompt" ให้แก่บริษัททีเอซี จากอัตรา 200 บาท ต่อเลขหมายต่อเดือน เป็นอัตราร้อยละ 18 ของราคาหน้าบัตรนั้นฟังขึ้นหรือไม่
โดยกรรมการจำนวนอีก 7 คน ควรต้องสอบถามจำเลยว่า เหตุผลที่บริษัทเอไอเอสอ้างดังกล่าวจำเลยได้ตรวจสอบแล้วหรือไม่ว่า การกำหนดค่าเชื่อมโยงให้แก่บริษัททีเอซีจากอัตรา 200 บาท ต่อเลขหมายต่อเดือนเป็นอัตราร้อยละ 18 ของราคาหน้าบัตร เป็นการปรับลดอัตราค่าเชื่อมโยงโครงข่ายตามที่บริษัทเอไอเอสกล่าวอ้างและควรสอบถามจำเลยด้วยว่าเท่าที่ผ่านมาบริษัทเอไอเอสกับบริษัททีเอซีบริษัทใดจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยมากกว่ากันเพื่อประกอบการพิจารณาก่อนอนุมัติให้ปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้าตามสัญญาหลักให้แก่บริษัทเอไอเอส
แต่ไม่ปรากฏว่ากรรมการจำนวนอีก 7 คน ได้สอบถามข้อเท็จจริงดังกล่าวจากจำเลยก่อนพิจารณาลงมติอนุมัติให้ปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้ตามสัญญาหลัก จากร้อยละ 25 ในปีที่ 11 ถึงปีที่ 15 และร้อยละ 30 ในปีที่ 16 ถึงปีที่ 20 ลงเหลือในอัตราคงที่ร้อยละ 20 ตลอดอายุสัญญาหลัก นับได้ว่ากรรมการจำนวนอีก 7 คน มีส่วนบกพร่องในการทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยด้วย
กรรมการจำนวนอีก 7 คน จึงต้องร่วมรับผิดในความเสียหายที่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยต้องสูญเสียรายได้จากการที่คณะกรรมการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยอนุมัติให้ลดอัตราส่วนแบ่งรายได้ให้แก่บริษัทเอไอเอสดังกล่าวเป็นเงินจำนวน 66,060,686,735.94 บาท
การที่จำเลยจงใจปกปิดข้อเท็จจริงไม่แจ้งให้ที่ประชุมคณะกรรมการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยในการประชุมครั้งที่ 5/2549 เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2544 ทราบถึงข้อเท็จจริงที่นายวิเชียร นาคสีนวล ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารผลประโยชน์ (บย.) มีความเห็นว่าที่บริษัทเอไอเอสมีหนังสือขอให้องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยปรับลดอัตราค่าเชื่อมโยงโครงข่ายสำหรับการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้าตามสัญญาหลักโดยกล่าวอ้าง ว่าองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศทยปรับลดอัตราค่าเชื่อมโยงโครงข่ายสำหรับการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้า "Prompt" ให้แก่บริษัททีเอซีจากอัตรา 200 บาท ต่อเลขหมายต่อเดือน เป็นอัตราร้อยละ 18 ของราคาหน้าบัตรนั้นเป็นการกำหนดอัตราค่าเชื่อมโยงขึ้นใหม่เพิ่มเติมสำหรับการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบจ่ายเงินล่วงหน้าไม่ใช่การปรับลดอัตราค่าเชื่อมโยงโครงข่ายตามที่บริษัทบริษัทเอไอเอสกล่าวอ้างและการที่จำเลยปกปิดข้อเท็จจริงไม่แจ้งต่อที่ประชุมคณะกรรมการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยในการประชุมครั้งที่ 5 ดังกล่าวว่า บริษัททีเอซีจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยสูงกว่าบริษัทเอไอเอสจ่าย กล่าวคือ บัตรราคา 500 บาท บริษัททีเอชีจ่ายให้ 172 บาท ในขณะที่บริษัทเอไอเอสจ่ายให้เพียง 125 บาท
โดยจำเลยมีเจตนาเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทเอไอเอสเป็นการกระทำที่จำเลยมีส่วนบกพร่องต่อหน้าที่ในการรักษาผลประโยชน์ขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยมากกว่ากรรมการจำนวนอีก 7 คน ที่มีส่วนบกพร่องต่อหน้าที่รักษาผลประโยชน์ขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย
กรณีจึงมีเหตุสมควรให้จำเลยร่วมรับผิดในความเสียหายที่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยต้องสูญเสียรายได้จากการที่คณะกรรมการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยอนุมัติให้ลดอัตราส่วนแบ่งรายได้ให้แก่บริษัทเอไอเอสไปเป็นเงินจำนวน 66,060,686,735.94 บาท เป็นจำนวนกึ่งหนึ่ง คิดเป็นเงินที่จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องจำนวน 33,030,343,367.97 บาท
ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชำระเงินและดอกเบี้ยจำนวน 46,855,463,99 0.92 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 33,030,343,367.97 บาท นับแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2559 ซึ่งเป็นวันที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จแก่บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ผู้ร้องนั้น
ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลฎีกาของจำเลย และฎีกาของโจทก์และผู้ร้องในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ.
**************************
นับเป็นการปิดฉากคดีนี้ ในส่วนของ นายสุธรรม มลิลา เป็นทางการ
ส่วน กรรมการ ทศท. อีก 7 คน ที่ศาลฎีกา มีคำสั่งว่าต้องร่วมรับผิดในความเสียหายที่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยต้องสูญเสียรายได้จากการที่คณะกรรมการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยอนุมัติให้ลดอัตราส่วนแบ่งรายได้ให้แก่บริษัทเอไอเอสดังกล่าวเป็นเงินจำนวน 66,060,686,735.94 บาท ด้วย
เป็นใครบ้าง? วงเงินแต่ละคนเป็นจำนวนเท่าไร?
คงต้องรอดูความชัดเจนจาก บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) อีกครั้ง
อ่านข่าวประกอบ
- ป.ป.ช. ฟันเงียบ "อดีตบิ๊กทศท.-พวก" แก้สัญญามือถือเอื้อ "เอไอเอส" 2 คดีรวด
- ศาลฎีกา ยืนโทษคุก 6 ปี 'สุธรรม มลิลา' เอื้อปย.เอไอเอส -ชดใช้ 4.6 หมื่นล.
- คดี 'สุธรรม' เอื้อ AIS ศาลฎีกา ชี้ กก.ทศท. 7 ราย บกพร่องด้วย ต้องร่วมชดใช้ 6.6 หมื่นล.
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage