“…ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า วิธีการทำให้มีการกำหนดอัตราค่าโดยสารต่ำสุดเท่าที่จะพึงกระทำได้ ก็คือเปิดให้มีการประมูลโดยกำหนดให้เอกชนรายที่เสนออัตราค่าโดยสารต่ำสุดเป็นผู้ชนะ ทั้งนี้ ในอนาคตถ้าหาก กทม. พิจารณาเห็นว่าอัตราค่าโดยสารต่ำสุดที่เกิดขึ้นจากการประมูลดังกล่าวก็ยังสูงเกินไป กทม. ก็สามารถจะศึกษาพิจารณาจัดทำโครงการอื่นๆ มาประกอบกันเพื่ออุดหนุนค่าโดยสารบางส่วนให้แก่ประชาชน…”
..............................
หมายเหตุ : ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เขียนจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียว เมื่อวันที่ 10 ก.พ.2565
จดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี เรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียว
เรื่อง ขอให้พิจารณาข้อเสนอร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวอย่างรอบคอบ
กราบเรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
อ้างถึง ข่าวสำนักข่าวอิศรา ฉบับลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 “เปิดหนังสือลับ 'ศักดิ์สยาม' ค้านรอบที่ 8 ต่อสัญญาสายสีเขียว ก่อนสัญญาณแตกหัก 'บิ๊กตู่'?”
ตามที่ปรากฏข่าวสำนักข่าวอิศรา เมื่อวันที่ 8 ก.พ.2565 กรณีรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีสังกัดพรรคภูมิใจไทย รวม 7 คน ยื่นหนังสือลาประชุมคณะรัฐมนตรีนัยว่าเพื่อแสดงท่าทีคัดค้าน เรื่องที่กระทรวงมหาดไทยเสนอวาระเพื่อพิจารณา ขอความเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อขยายสัญญาสัมปทานให้กับบริษัทเอกชนออกไปอีก 30 ปี จากเดิมที่จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปี 2572 ออกไปเป็นปี 2602 แลกกับเก็บค่าโดยสาร 65 บาทตลอดสาย นั้น
ข้าพเจ้ามีความเห็นว่าแนวทางที่เสนอดังกล่าวอาจขัดต่อหลักการบริหารโครงการสาธารณูปโภคที่รัฐจำต้องดูแลมิให้มีการเรียกเก็บค่าบริการจนเป็นภาระแก่ประชาชนเกินสมควร และหลักการนําสาธารณูปโภคของรัฐไปให้เอกชนดําเนินการทางธุรกิจไม่ว่าด้วยประการใดๆ รัฐต้องได้รับประโยชน์ตอบแทนอย่างเป็นธรรมโดยคํานึงถึงการลงทุนของรัฐ ประโยชน์ที่รัฐและเอกชนจะได้รับ และค่าบริการที่จะเรียกเก็บจากประชาชนประกอบกัน ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 56 และหลักการที่คณะรัฐมนตรีจำต้องปฏิบัติหน้าที่และใช้อํานาจด้วยความรอบคอบและระมัดระวังในการดําเนินกิจการต่างๆ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชนส่วนรวม ตามมาตรา 164 (1)
ข้าพเจ้าจึงขอแจ้งต่อท่าน ดังนี้
ข้อ 1 การบริหารจัดการสาธารณูปโภคด้านการขนส่งทางรางในกรุงเทพมหานครจะต้องกระทำแบบรวมศูนย์และบูรณาการ
ปูมหลังของโครงการรถไฟฟ้าที่ดำเนินการโดย กทม. นั้น เนื่องจากในขณะนั้นรัฐบาลมิได้ให้ความสำคัญต่อโครงการสาธารณูปโภคด้านการขนส่งทางรางในกรุงเทพมหานครในลำดับสูง ในขณะนั้น กทม. จึงได้เป็นผู้เริ่มต้นดำเนินการเรื่องนี้ แต่มาถึงบัดนี้ รัฐบาลต่อๆ มาได้เปลี่ยนเป็นให้ความสำคัญต่อโครงการสาธารณูปโภคด้านการขนส่งทางรางในกรุงเทพมหานครเป็นอย่างมาก เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยว ขณะนี้จึงได้ทำโครงการขนส่งทางรางมากมายหลายสาย เชื่อมกันเป็นโครงข่าย โดยมีการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นองค์กรหลัก
ดังนั้น จึงถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงนโยบายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยสั่งการให้มีการโอนงานด้านสาธารณูปโภคด้านการขนส่งทางรางในกรุงเทพมหานครจาก กทม. ไปไว้กับ รฟม. ซึ่งจะทำให้การบริหารงานด้านนี้บูรณาการครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร และเพื่อให้มีการพิจารณาดำเนินการได้อย่างรอบคอบโดย รฟม. ซึ่งเป็นองค์กรเฉพาะกิจในงานด้านนี้โดยตรง
ข้อ 2 ผู้ที่จะร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวในกรุงเทพมหานคร ไม่ควรจะเป็น กทม.
ตามที่มีการเสนอวาระเพื่อพิจารณา ขอความเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวของกรุงเทพมหานคร นั้น ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า การดำเนินโครงการแบบนี้ส่วนใหญ่จำเป็นจะต้องใช้วงเงินลงทุนจำนวนสูง และอาจต้องมีการก่อหนี้สาธารณะโดยขอให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกัน ดังนั้น องค์กรภาครัฐที่จะเป็นผู้ร่วมลงทุนจึงไม่ควรจะเป็น กทม. ซึ่งมีหน้าที่จะต้องใช้รายได้ที่ กทม. จัดเก็บจากประชาชนเพื่อใช้ในการบริหารงานทั่วไปภายในกรุงเทพมหานครเป็นสำคัญ
ดังนั้น ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า รัฐบาลควรพิจารณาให้เป็น รฟม. เป็นผู้ดำเนินการ เพราะเป็นองค์กรของรัฐซึ่งมีการดำเนินโครงการอื่นๆ ที่ลงทุนจำนวนสูงโดยมีการก่อหนี้สาธารณะเป็นธุรกิจปกติอยู่แล้ว
ข้อ 3 วิธีการทำให้ประชาชนมีภาระจ่ายค่าโดยสารต่ำสุดก็คือการประมูล
ตามข่าวที่ปรากฏ ข้อเสนอขยายสัญญาสัมปทานให้กับบริษัทเอกชนออกไปอีก 30 ปี จากเดิมที่จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปี 2572 ออกไปเป็นปี 2602 แลกกับเก็บค่าโดยสาร 65 บาทตลอดสาย ซึ่งมีข้อถกเถียงว่ายังสูงเกินไปหรือไม่ นั้น ข้าพเจ้าขอเรียนว่า เนื่องจากสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวจะสิ้นสุดในปี 2572 หรือยังเหลือเวลาอีกประมาณ 8 ปี
วิธีการทำให้แน่ใจว่ามีการกำหนดอัตราค่าโดยสารต่ำสุดเท่าที่จะพึงกระทำได้ ก็คือเปิดให้มีการประมูลอย่างโปร่งใสเป็นการทั่วไป มิใช่การเจรจาเฉพาะกับเอกชนเพียงรายเดียว ซึ่งนอกจากไม่มีหลักประกันว่าเป็นการดำเนินการที่ทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชนส่วนรวม ตามมาตรา 164 (1) แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 แล้ว ยังเป็นช่องทางดำเนินการที่อาจมีการหาประโยชน์ส่วนตน หรือมีการฉ้อราษฎร์บังหลวงได้อีกด้วย
ดังนั้น ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า วิธีการทำให้มีการกำหนดอัตราค่าโดยสารต่ำสุดเท่าที่จะพึงกระทำได้ ก็คือเปิดให้มีการประมูลโดยกำหนดให้เอกชนรายที่เสนออัตราค่าโดยสารต่ำสุดเป็นผู้ชนะ ทั้งนี้ ในอนาคตถ้าหาก กทม. พิจารณาเห็นว่าอัตราค่าโดยสารต่ำสุดที่เกิดขึ้นจากการประมูลดังกล่าวก็ยังสูงเกินไป กทม. ก็สามารถจะศึกษาพิจารณาจัดทำโครงการอื่นๆ มาประกอบกันเพื่ออุดหนุนค่าโดยสารบางส่วนให้แก่ประชาชน
ข้าพเจ้าจึงขอให้ข้อเสนอแนะเพื่อคณะรัฐมนตรีจะปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 อย่างครบถ้วน
อ่านประกอบ :
'บิ๊กตู่'ส่งซิก'สายสีเขียว'ถกรอบหน้าจบ ขอบคุณ ครม."วันนี้พิสูจน์แล้วใครเป็นอย่างไร"
ไม่หัก'ภูมิใจไทย'! ครม.ยังไม่เคาะสัมปทานสายสีเขียว มอบ'มหาดไทย'ตอบ 4 คำถาม'คมนาคม'
“เปิดหนังสือลับ 'ศักดิ์สยาม' ค้านรอบที่ 8 ต่อสัญญาสายสีเขียว ก่อนสัญญาณแตกหัก 'บิ๊กตู่'?
เปิดหนังสือ'อนุทิน'ค้าน ครม.ต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว'ศักดิ์สยาม'ติดภารกิจ ขอลาประชุม
สะพัด! 7 รัฐมนตรี'ภูมิใจไทย'ยื่นลาประชุม ครม.ปมขยายสัมปทานรถไฟสายสีเขียว
เบื้องหลัง!'คมนาคม'งัด 2 ปม สกัดต่อสัมปทานสายสีเขียว-'ศักดิ์สยาม’ปัดขัดแย้งเจ้าสัว BTS
'วิษณุ' แจง 'อนุพงษ์' ถอนวาระต่ออายุรถไฟฟ้าสายสีเขียว เหตุ 'คมนาคม'
‘สภาผู้บริโภคฯ’ ค้าน ครม. ลักไก่ต่อสัมปทาน ‘สายสีเขียว’-แจงตั๋ว 25 บาทเป็นไปได้
'มูลนิธิผู้บริโภคฯ-ปชช.' ชูป้ายค้านต่อสัมปทาน 'สายสีเขียว'-ชงตั๋วร่วม 25 บาท/เที่ยว