"...ผู้เล่นจะน้อยลง อาจมีร่วงไปบ้าง แต่จะมีหน้าใหม่เข้ามาแทน อาจเป็นแบรนด์ใหม่ แล้วเป่านกหวีดเรียกคนจากสายการบินเดิมนั่นแหละเข้าไปทำงาน และหลังโควิดไปแล้ว คนก็ยังเดินทาง เพราะการท่องเที่ยวเป็นอย่างเดียวที่ทำให้คนได้ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำได้ ธรรมชาติของมนุษย์ชอบของใหม่เสมอ และของใหม่ที่ดีที่สุด คือ การไปท่องเที่ยว ได้เห็น ได้กิน ได้สัมผัสบรรยากาศ ถ้าคนมีเงินต้องเที่ยว..."
วิกฤติการณ์โควิด-19 ที่ยืดเยื้อมาเกือบ 4 เดือนแล้ว ส่งผลให้สายการบินทั่วโลกต้องดิ้นรนอย่างหนักเพื่อความอยู่รอด ส่วนรายที่ไปไม่ไหวก็ได้ยื่น ‘ล้มละลาย’ ไปบ้างแล้ว สายการบินของไทยก็เช่นกัน แม้ล่าสุด (1 พ.ค.) สายการบินหลายแห่งเริ่มกลับมาให้บริการเที่ยวบินในประเทศ แต่การขาด ‘สภาพคล่อง’ ยังเป็นปัญหาใหญ่ของทุกสายการบิน และตราบใดที่ ‘นักท่องเที่ยวต่างชาติ’ ยังไม่กลับมา อนาคตของอุตสาหกรรมการบินของไทยคงต้องมืดมนต่อไป
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ ‘จุฬา สุขมานพ’ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ซึ่งกำกับดูแลสายการบินในประเทศ ถึงแนวโน้มการเปิดให้สายการบินต่างๆขนส่งผู้โดยสารจากต่างประเทศเข้ามาประเทศไทย รวมถึงแนวทางการให้ความช่วยเหลือสายการบินที่ได้รับความเดือดร้อน และทิศทางของอุตสาหกรรมการบินของไทยหลังโควิด-19 ดังนี้
@ประเมินว่ากพท.จะเปิดให้เที่ยวบินต่างประเทศบินเข้าไทยได้เมื่อใด
จุฬา : ถ้าโควิดยังไม่หาย ก็ยังไม่มีใครเปิด แต่ถ้าถามว่าโควิดจะหายเมื่อไหร่ ไม่มีใครตอบได้ ไม่มีใครรู้ เพราะทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องสาธารณสุข ซึ่งการจัดการกับโควิดตอนนี้ เราทำได้เพียงจัดการไม่ให้มันแพร่กระจาย ดังนั้น จึงต้องแยกคนที่ป่วยออกจากคนไม่ป่วย ส่วนการรักษาก็เป็นการรักษาตามอาการจนกว่าจะหาย และถ้าจะทำให้คนไม่เป็นโควิด ต้องอาศัยวัคซีนอย่างเดียว เพราะวัคซีนจะทำให้คนมีภูมิคุ้มกัน โอกาสเป็นก็น้อยมาก
ตอนนี้ทุกประเทศจึงดูแลคนของตัวเองก่อน สงวนทรัพยากรไว้รักษาคนที่ยังไม่เป็นโควิด ส่วนต่างประเทศเอาไว้ทีหลัง เพราะปัญหาของตัวเองก็แย่พอแล้ว และสิ่งทุกประเทศทำแบบเดียวกัน คือ กันไม่ให้คนต่างประเทศเข้ามา ทุกประเทศปิดน่านฟ้าหมด แต่ถ้าจะเอาคนต่างประเทศเข้ามา ต้องมั่นใจว่าคนที่จะมา คือ คนที่ไม่มีปัญหา เพราะตราบใดที่คนป่วยจากต่างประเทศมาเจอกับคนที่ไม่ป่วยบ้านเรา คนของเราก็จะกลายเป็นคนป่วย
“ถ้าถามผม ผมยังไม่ให้ใครเข้ามา จนกว่าจะชัวร์ว่าคนป่วยลดลงแล้ว และต้องดูด้วยว่าคนต่างประเทศที่มา มาจากประเทศไหน ถ้ามาจากสหรัฐ วันนี้ต้องบอกว่าเสี่ยงมาก และไม่มีผู้นำประเทศคนไหนยอมให้เข้ามาแน่”
แต่หากสุดท้ายแล้ว เราต้องให้คนต่างประเทศเข้ามาประเทศไทย เราจะต้องมีวิธีการจัดการ คือ 1.คนที่จะเข้ามาต้องโชว์ว่าไม่มีความเสี่ยง โดยต้องไปเจาะเลือด นำเลือดไปเพาะเชื้อ และตรวจดูว่าไม่มีโควิด รวมทั้งต้องให้แพทย์ออกใบรับรองให้ และ2.ต้องทำประกันภัย 1 แสนดอลลาร์สหรัฐ หรือ 3 ล้านบาทมาด้วย เพราะแม้ว่าเขาจะเจาะเลือดแล้วผ่าน แต่ถ้าเขามาเป็นอะไรที่บ้านเรา หรือเกิดพลาดแล้วเป็นโควิดมา เขาจะมีเงินจ่ายค่ารักษา 3 ล้านบาท
@แนวทางการช่วยเหลือสายการบินในช่วงวิกฤติโควิด-19
จุฬา : ถ้าเขากลับมาบิน เราจะช่วยเขาโดยลดค่าใช้จ่ายให้ ซึ่งเราได้ไปขอให้สนามบินลดค่าใช้จ่ายให้เขาไปแล้ว เช่น ขอให้ยกเว้นค่าจอดเครื่องบินให้เลย แต่ตอนนี้ทางสายการบินต้องการให้ช่วยเหลือเรื่องสภาพคล่องมากกว่า และทราบว่าเขาได้ไปหากระทรวงการคลังขอให้ช่วยหาแบงก์ให้เขาหน่อย เพื่อให้มีกระแสเงินสดมาเลี้ยงคน เพราะตอนนี้เครื่องบินจอดอยู่ เขามีรายจ่ายอย่างเดียว
“ถึงแม้เขาอยากจะบิน เขาก็ไม่บิน บินไปก็ขาดทุน เพราะไม่มีคนขึ้น ซึ่งการลดค่าใช้จ่ายให้เมื่อเขากลับมาบินก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่สิ่งที่สายการบินต้องการ คือ เงินที่จะมาเลี้ยงลูกน้อง แต่เนื่องจากเป็นเงินต้องกู้ แบงก์เองไม่ค่อยให้กู้ เพราะสายการบินส่วนใหญ่ไม่มีหลักทรัพย์ เครื่องบินส่วนใหญ่เป็นเครื่องบินที่เช่ามา ออฟฟิศก็เช่าหมด ไม่มีทรัพย์สินของตัวเอง บางคนขอกู้หมื่นล้าน ก็ไม่มีแบงก์ที่ไหนปล่อยกู้ จนกว่าจะมีคนมาการันตีให้”
@หลังวิกฤติโควิดคลี่คลายลงจะเหลือสายการบินของไทยกี่เจ้า
จุฬา : ตอบไม่ได้ เพราะตรงนี้ต้องขึ้นอยู่กับว่าสายป่านใครยาวขนาดไหน แต่ที่เห็นตอนนี้ คือ มีแต่ตัวแดง เพราะมีแต่ค่าใช้จ่าย และการขาดทุนน่าเป็นเรื่องปกติของสายการบินในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา แต่ตอนนั้นเขายังมีรายได้บ้าง ต่างจากช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ที่รายได้เกือบเป็นศูนย์ บางรายเปลี่ยนไปขนสินค้าบ้างเพื่อหารายได้ เพราะเขายังต้องจ้างคนอยู่ เช่น การบินไทยเขามีพนักงานมากที่สุด ส่วนสายอื่นๆก็จ้างคนเป็นหลักพันคน อย่างไลอ้อนแอร์มี 3-4 พันคน
“ถ้าหยุดบินชั่วคราว เขาสามารถขอเราได้ตามที่เขาขอ มีบ้างบางรายที่อาจหยุดถาวร เพราะหนี้ท่วม แต่เราคงประเมินไม่ได้ว่าอีก 6 เดือนข้างหน้า จะเหลือกี่สาย เพราะบางสายขาดทุนสะสมเป็นพันล้านมาหลายปีแล้ว แต่ก็ยังบินอยู่ เพราะธุรกิจสายการบินของเราจะดูเฉพาะกำไรขาดทุนไม่ได้ บางสายมีกระแสเงินสดอยู่ แต่ที่ไม่บิน เพราะถ้าบินเยอะกระเงินสดยิ่งไปเร็ว หรือบางสายกระแสเงินสดน้อย ก็ให้ผู้ถือหุ้นเพิ่มทุน หรือหาแบงก์มากู้”
ทั้งนี้ แม้ว่าหลายคนอาจจะมองว่าธุรกิจสายการบินมีรายได้ปีละเป็นหมื่นล้าน แต่ก็รายจ่ายปีละเป็นหมื่นล้านเช่นกัน และในความเป็นจริงแล้ว แม้ธุรกิจสายการบินจะทำให้ใครหลายคนมองว่าโก้ เท่ห์ ต่างจากการเป็นเจ้าของรถบขส. แต่ธุรกิจนี้คนที่เข้ามาแล้วออกยาก คนที่เข้ามาแล้วจะออกไปได้ ก็ต่อเมื่อขายให้คนอื่นได้แล้ว แต่ถ้าขายไม่ได้ ก็ต้องกอดอยู่ หรือไม่ก็ต้องล้มไป และการที่สายการบินบางแห่งไม่ล้ม เพราะเขามีแบรนด์ที่จะเอาไปขายให้คนอื่น เป็นสมบัติผลัดกันชม
“แน่นอนว่าเรา enjoy (พอใจ) กับการแข่งขัน แต่คนที่ suffer (เจ็บปวด) คือ สายการบิน และถ้าแข่งกันมากๆมันถึงตาย ส่วนใครที่กระเป๋าลึกหน่อยและคิดว่าจะฟันคนอื่นให้ตาย เสร็จแล้วก็ขึ้นราคาทีหลัง แต่เมื่อถึงตอนนั้นจะมีรายใหม่ก็เข้ามา และคนใหม่ที่เข้ามาจะมีเงินมากกว่าคนเก่าเสมอ ดังนั้น คนที่ดัมพ์ราคาลงมาเยอะๆ สุดท้ายเป็นการฆ่าตัวตาย”
สำหรับอนาคตสายการบินใหญ่ๆอย่างการบินไทย ผมเชื่อว่าการบินไทยจะไม่ล้ม แต่หลังจากโควิดแล้ววิธีการบริหารจะต่างกันไป เพราะอย่าลืมว่าการบินไทย คือ แบรนด์ เมื่อถึงเวลา ถ้าการบินไทยไม่มีเงินก็ต้องขายหุ้นไป แล้วเอาคนใหม่มา ถ้าใครเห็นว่าแบรนด์การบินไทยดี เช่น ถ้าผมเป็นเศรษฐี ผมมีเงิน ผมก็มาซื้อ แต่ปัญหาปัจจุบัน คือ การบินไทยเป็นรัฐวิสาหกิจ ต้นทุนการแข่งขันจึงสู้ใครไม่ได้
โดยธุรกิจที่แข่งขันทั่วโลกนั้น ถ้ารัฐเข้ามาถือหุ้นจะเข้ามาถือเพียงส่วนน้อย ต้องอาศัยเอกชนที่มีความสามารถในการแข่งขันมากกว่าเข้ามาถือหุ้นส่วนใหญ่ เพราะถ้ารัฐยังถือหุ้น 51% กระบวนการตัดสินใจการในการแข่งขันแทบจะยากมาก เมื่อเป็นอย่างนี้รัฐอาจต้องขายหุ้นในส่วนของรัฐไป แล้วเอาใครมาซื้อ เพราะการบินไทยมีแบรนด์อยู่ และถ้าเขาจะซื้อหุ้นการบินไทย เขาคงอยากบริหารเอง เพราะถ้ารัฐยังบริหารอยู่ เขาไปทำสายการบินอื่นไปแข่งกับการบินไทยเองได้
“การบินไทยมีแบรนด์ และมีสิทธิการบินอยู่ ถ้าเข้าไปซื้อก็มีค่าเหมือนกัน และถ้าเมื่อไหร่ รัฐขายหุ้นออกไป เช่น รัฐลดกหุ้นเหลือ 30% อีก 70% ใครอยากได้ก็ซื้อไป ผมว่ามีคนมา ผมคิดว่ามีคนกล้าเสี่ยง แต่เมื่อเสี่ยงแล้วเขาก็ต้องการบริหารเอง”
@หากสายการบินล้มหายเยอะ จะทำให้ค่าตั๋วเครื่องบินเพิ่มขึ้นหรือไม่
จุฬา : ถ้าสายการบินลดลง เป็นไปได้ที่ค่าตั๋วจะเพิ่มขึ้น แต่กว่าที่คนจะกลับมาเดินทางท่องเที่ยวก็ต้องใช้เวลา และน่าจะใช้เวลาอย่างน้อยก็ไตรมาสที่ 3 ไปแล้ว เพราะตอนนั้นทั้งโลกจะเร่งอัดฉีดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อทำให้เกิดการจ้างงาน ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เมื่อคนมีรายได้ก็จะกลับมาเที่ยว แต่ตอนนี้ทุกคนต้องทำทุกอย่างเพื่อให้อยู่รอดจากโควิดก่อน ต้องมีงาน มีเงินที่จะดำรงชีวิตไปก่อน ส่วนการท่องเที่ยวเป็นส่วนเพิ่มเมื่อเศรษฐกิจดีแล้ว
“ช่วงที่น้ำขึ้นเขาอาจเปิดราคาให้สูงหน่อย เหมือนไปพักโรงแรมท่องเที่ยวในวันเสาร์อาทิตย์ ที่แพงกว่าวันธรรดา ถ้าอยากไปเที่ยวก็ต้องจ่าย แต่เมื่อเปิดราคาสูง ก็จะมีคนเข้ามาแข่ง ราคาค่าโดยสารก็จะลดลงมาเอง ซึ่งในส่วนของค่าโดยสารของสายการบินในประเทศนั้น เรากำหนดมาตรฐานราคาเอาไว้อยู่ ค่าโดยสารแต่ละฤดูจะมีเพดานว่าให้ขายได้ไม่เกินเท่าใด ส่วนสายการบินต่างประเทศนั้น ขึ้นอยู่กับกลไกตลาด”
@ทิศทางอุตสาหกรรมการบินของไทยและทั่วโลก หลังโควิดจะเป็นอย่างไร
จุฬา : ผู้เล่นจะน้อยลง อาจมีร่วงไปบ้าง แต่จะมีหน้าใหม่เข้ามาแทน อาจเป็นแบรนด์ใหม่ แล้วเป่านกหวีดเรียกคนจากสายการบินเดิมนั่นแหละเข้าไปทำงาน และหลังโควิดไปแล้ว คนก็ยังเดินทาง เพราะการท่องเที่ยวเป็นอย่างเดียวที่ทำให้คนได้ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำได้ ธรรมชาติของมนุษย์ชอบของใหม่เสมอ และของใหม่ที่ดีที่สุด คือ การไปท่องเที่ยว ได้เห็น ได้กิน ได้สัมผัสบรรยากาศ ถ้าคนมีเงินต้องเที่ยว
“ต่อไปคนก็ไม่กลัวโควิดแล้ว เพราะมีวัคซีน มีการคาดการณ์กันว่าต่อไปตัวนี้ (โควิด) จะเป็นไข้ประจำฤดูกาล ต่อไปข้างหน้า ทำให้บริษัทที่ผลิตเครื่องบินอาจต้องมีการจัดวางที่นั่งที่บนเครื่องใหม่ ที่นั่งที่คนนั่งติดกันต้องมาดีไซด์กันใหม่ ทางเดินก็ต้องจัดกันใหม่ เพื่อสร้างระยะห่างทางสังคม (Social Distance) หลีกเลี่ยงการสัมผัส ไม่ให้คนเดินชนกัน เช่นเดียวกันตอนนี้ที่เราต้องใส่หน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการไอจามออกไป”
สนามบินก็เช่นเดียวกัน ต่อไปการกำหนดให้มีสแกนอุณภูมิที่สนามบินจะเป็นพื้นฐานของสนามบินทุกแห่ง โดยเป็นมาตรการสาธารณสุขเพื่อป้องกันโรคระบาดในลักษณะนี้อีก
ส่วนสายการบินเองอาจจะมีการเก็บค่าตั๋วแพงหน่อย แต่ปลอดภัย ตลาดจะมีการจัด Segment (หมวดหมู่) ของมันเองใหม่ ซึ่งผมเชื่อว่าวิธีการแข่งขันจะไม่ได้แข่งกันเรื่องราคาอย่างเดียวแล้ว แต่ยังรวมถึงความปลอดภัยด้านสาธารณสุขด้วย เพราะทั้งหมดเป็นเรื่องของการแข่งขันในการให้บริการ นอกจากนี้ ในอนาคตสายการบินจะต้องไปหารายได้จากบริการอย่างอื่นที่ไม่ใช่การขายตั๋วเครื่องบินเท่านั้น
“คน (สายการบิน) ที่ทำกำไร ต้องทำตลาดบนไปเลย หรือมีรายได้อย่างอื่น เช่น การบินไทยที่อยู่รอดมาได้หลายปี เกิดจากครัวการบิน ส่วนสายการบินโลคอสแอร์ไลน์เขามีรายได้จากการขายของมาก็เยอะนะ ได้เงินมาช่วย หรือวันนี้สายการบินอาจจับกับธุรกิจอื่น เช่น การขายประกัน เช่ารถไปด้วย จองตั๋วแล้วได้อย่างอื่นด้วย เป็นต้น”
ส่วนตัวผมเองยังมองว่าหลังจากโควิดคลี่คลายแล้ว เมื่อคนมีงานทำ คนเริ่มใช้จ่าย จะเป็นโอกาสของไทย เพราะเราป้องกันโควิดได้ คนเราชัวร์ ระบบสาธารณสุขของเราดี และประเทศที่มีครบๆอย่างเรา มีที่กิน มีที่เที่ยว มีที่เอ็นเตอร์เทน มีที่รักษาพยาบาลครบ มีไม่กี่ประเทศ เราเป็นประเทศที่น่าอยู่ มีปัจจัย 4 ครบ
อ่านประกอบ :
กพท.ประกาศขยายเวลาห้าม 'เครื่องบิน' เข้าประเทศไทยถึง 31 พ.ค.63
เช็กกระเป๋าเงินแอร์ไลน์ไทย ก่อนเจอไวรัส ‘กพท.’ แจงล่าสุด ‘มีขอหยุดบิน แต่ไม่ล้ม’
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage