"...แต่ละสายการบินไม่เหมือนกัน และจริงๆแล้วมันขึ้นอยู่กับว่าเขาจะหาเงินสดมาได้หรือไม่ ถ้าหามาได้เขาก็อยู่ไปก่อน ยังไม่ถึงกับล้มละลาย ตอนนี้อาจมีปัญหา Cash flow บ้าง เพราะไม่มีรายได้ แต่ไม่ถึงขั้นหนี้สินล้นพ้นตัว..."
เป็นสถานการณ์ขั้นวิกฤตของบรรดาสายการบินทั่วโลก เมื่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ขยายวงไปเกือบทุกทวีป ส่งผลให้การเดินทางของผู้คนทั่วโลกลดลงอย่างน่าใจหาย และเครื่องบินพันลำต้องจอดนิ่งสนิท
CAPA Centre for Aviation บริษัทที่ปรึกษาด้านสายการบินระดับโลก ประเมินว่า ธุรกิจสายการบินทั่วโลกส่วนใหญ่จะล้มละลายในเดือน พ.ค.นี้ เนื่องจากไวรัสโควิด-19 ทำให้รัฐบาลหลายแห่งในโลกสั่งระงับการเดินทางทางอากาศ (อ่านประกอบ : COVID-19 By the end of May, most world airlines will be bankrupt)
สำหรับประเทศไทยเพียง 1 เดือนเศษ นับแต่จีนสั่งห้ามกรุ๊ปทัวร์จีนออกนอกประเทศ ส่งผลให้ตั้งแต่วันที่ 25 ม.ค.-29 ก.พ.2563 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยลดลงแล้ว 40% หรือลดลงกว่า 1.2 ล้านคน จากเดิม 3 ล้านคน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากตลาดจีนหายไป 81%
ล่าสุด บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มีคำสั่งจอดพักเครื่องบิน 12 ลำ จากเครื่องบินทั้งหมด 103 ลำ และลดปฏิบัติการบินลง 30% จากปกติ ขณะที่สายการบินต่างๆทยอยลดไฟล์ทบินลงถ้วนหน้า
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ตรวจสอบข้อมูลฐานะการเงินของสายการบินที่ได้รับใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศแบบ International จากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ที่ยังทำการบินอยู่ที่ 22 บริษัท จากทั้งหมด 25 บริษัท (1 บริษัท ยกเลิกการบิน (Revoked) และอีก 2 บริษัท ระงับการบิน (suspend))
พบว่าบริษัทฯที่ให้บริการขนส่งผู้โดยสาร สินค้าและพัสดุระหว่างประเทศในเชิงพาณิชย์ โดยใช้ ‘เครื่องบินโดยสาร’ จำนวน 17 บริษัทนั้น ส่วนใหญ่มีส่วนของผู้ถือหุ้น ‘ติดลบ’ และแจ้งผลประกอบการปีล่าสุด (ปี 2561 หรือปี 2562) ว่า ‘ขาดทุน’ โดยแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
@กลุ่มแรก สายการบินที่เป็นบริษัทมหาชนจำกัด มีจำนวน 4 บริษัท ประกอบด้วย
1.บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เจ้าของสายการบิน 'การบินไทย' แจ้งประกอบธุรกิจบริการรับขนส่งคนโดยสาร สินค้า และไปรษณียภัณฑ์
ณ วันที่ 31 ธ.ค.2562 บริษัทฯมีสินทรัพย์รวม 256,665 ล้านบาท (เงินสดหรือรายการเทียบเท่าเงินสด 21,663 ล้านบาท) หนี้สินรวม 244,899 ล้านบาท มีส่วนของผู้ถือหุ้น 11,766 ล้านบาท ส่วนผลประกอบการปี 2562 บริษัทฯมีรายได้รวม 184,046 ล้านบาท รายจ่ายรวม 196,470 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 12,017 ล้านบาท
2.บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) Holding Company ซึ่งลงทุนในบริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด เจ้าของสายการบิน ‘ไทยแอร์เอเชีย’ แจ้งประกอบธุรกิจสายการบินราคาประหยัด (โลว์คอสต์แอร์ไลน์)
ณ วันที่ 31 ธ.ค.2562 บริษัทฯมีสินทรัพย์รวม 62,902 ล้านบาท หนี้สินรวม 35,214 ล้านบาท มีส่วนของผู้ถือหุ้น 27,688 ล้านบาท ส่วนผลประกอบการปี 2562 บริษัทฯมีรายได้รวม 41,553 ล้านบาท รายจ่ายรวม 41,653 ล้านบาท ขาดทุน 474 ล้านบาท
ขอบคุณภาพ : airasia.com
3.บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เจ้าของสายการบิน ‘บางกอกแอร์เวย์’ แจ้งประกอบธุรกิจขนส่งทางอากาศ ทั้งการขนส่งผู้โดยสาร สินค้า และพัสดุภัณฑ์
ณ วันที่ 31 ธ.ค.2562 บริษัทฯมีสินทรัพย์รวม 61,907 ล้านบาท หนี้สินรวม 31,903 ล้านบาท มีส่วนของผู้ถือหุ้น 30,004 ล้านบาท ส่วนผลประกอบการปี 2562 บริษัทฯมีรายได้รวม 28,609 ล้านบาท รายจ่ายรวม 26,928 ล้านบาท มีกําไรสุทธิ 350 ล้านบาท
4.บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) เจ้าของสายการบิน 'นกแอร์' แจ้งประกอบธุรกิจบริการขนส่งทางอากาศ ทั้งกิจการขนส่งคน สิ่งของ และไปรษณียภัณฑ์ทางอากาศ
ณ วันที่ 31 ธ.ค.2562 บริษัทฯมีสินทรัพย์รวม 15,170 ล้านบาท หนี้สินรวม 18,639 ล้านบาท มีส่วนของผู้ถือหุ้น -3,468 ล้านบาท ส่วนผลประกอบการปี 2562 บริษัทฯมีรายได้รวม 12,708 ล้านบาท รายจ่ายรวม 14,422 ล้านบาท ขาดทุน 1,591 ล้านบาท
@กลุ่มสอง สายการบินที่เป็นบริษัทจำกัด มีจำนวน 13 บริษัท ประกอบด้วย
1.บริษัท ไทย ไลอ้อน เมนทารี จำกัด เจ้าของสายการบิน ‘ไทยไลอ้อนแอร์’ แจ้งประกอบธุรกิจสายการบิน การบิน ขนส่งทางอากาศ บริการให้เช่าเหมาลำเครื่องบิน (ชาร์เตอร์ไฟลท์) นำส่งสินค้านำส่งผู้โดยสาร
ณ วันที่ 31 ธ.ค.2561 บริษัทฯมีสินทรัพย์รวม 3,192 ล้านบาท หนี้สินรวม 11,176 ล้านบาท มีส่วนของผู้ถือหุ้น -7,984 ล้านบาท ส่วนผลประกอบการปี 2561 บริษัทฯมีรายได้รวม 20,884 ล้านบาท รายจ่ายรวม 25,520 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 4,634 ล้านบาท
2.บริษัท ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ จำกัด เจ้าของสายการบิน ‘ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์’ ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด และบริษัท แอร์เอเชีย เอ็กซ์ ในเครือแอร์เอเชีย กรุ๊ปของมาเลเซีย แจ้งประกอบธุรกิจสายการบินราคาประหยัด (โลว์คอสต์แอร์ไลน์)
ณ วันที่ 31 ธ.ค.2561 บริษัทฯมีสินทรัพย์รวม 4,800 ล้านบาท หนี้สินรวม 4,713 ล้านบาท มีส่วนของผู้ถือหุ้น 87 ล้านบาท ส่วนผลประกอบการปี 2561 บริษัทฯมีรายได้รวม 12,262 ล้านบาท รายจ่ายรวม 11,750 ล้านบาท กำไรสุทธิ 515 ล้านบาท
3.บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด เจ้าของสายการบิน ‘ไทยสมายล์แอร์เวย์’ บริษัทลูกของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) แจ้งประกอบธุรกิจขนส่งผู้โดยสารทางอากาศที่มีตารางเวลา
ณ วันที่ 31 ธ.ค.2561 บริษัทฯมีสินทรัพย์รวม 5,752 ล้านบาท หนี้สินรวม 12,695 ล้านบาท มีส่วนของผู้ถือหุ้น -6,943 ล้านบาท ส่วนผลประกอบการปี 2561 บริษัทฯมีรายได้รวม 11,063 ล้านบาท รายจ่ายรวม 13,649 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 2,602 ล้านบาท
4.บริษัท สายการบินนกสกู๊ต จำกัด เจ้าของสายการบิน ‘นกสกู๊ต’ ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) และ Scoot Air ของสิงคโปร์ แจ้งประกอบธุรกิจขนส่งผู้โดยสาร,ขนส่งสินค้าและไปรษณีย์ภัณฑ์ทางอากาศ
ณ วันที่ 31 ธ.ค.2561 บริษัทฯมีสินทรัพย์รวม 4,594 ล้านบาท หนี้สินรวม 5,782 ล้านบาท มีส่วนของผู้ถือหุ้น -1,187 ล้านบาท ส่วนผลประกอบการปี 2561 บริษัทฯมีรายได้รวม 5,920 ล้านบาท รายจ่ายรวม 7,418 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 1,528 ล้านบาท
5.บริษัท นิวเจน แอร์เวย์ส จำกัด เจ้าของสายการบิน ‘นิวเจนแอร์เวย์’ แจ้งประกอบธุรกิจขนส่งผู้โดยสารทางอากาศที่มีตารางเวลา
ณ วันที่ 31 ธ.ค.2561 บริษัทฯมีสินทรัพย์รวม 2,201 ล้านบาท หนี้สินรวม 2,646 ล้านบาท มีส่วนของผู้ถือหุ้น -445 ล้านบาท ส่วนผลประกอบการปี 2561 บริษัทฯมีรายได้รวม 5,352 ล้านบาท รายจ่ายรวม 6,095 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 784 ล้านบาท
6.บริษัท ไทย เวียตเจ็ท แอร์ จอยท์ สต๊อค จำกัด เจ้าของสายการบิน ‘ไทยเวียดเจ็ทแอร์’ แจ้งประกอบธุรกิจการบินแบบประจำและไม่ประจำ สำหรับการขนส่งคนโดยสาร
ณ วันที่ 31 ธ.ค.2561 บริษัทฯมีสินทรัพย์รวม 381 ล้านบาท หนี้สินรวม 2,954 ล้านบาท มีส่วนของผู้ถือหุ้น -2,573 ล้านบาท ส่วนผลประกอบการปี 2561 บริษัทฯมีรายได้รวม 2,503 ล้านบาท รายจ่ายรวม 4,202 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 1,698 ล้านบาท
ขอบคุณภาพ : vietjetair.com
7.บริษัท เค-ไมล์ แอร์ จำกัด ผู้ให้บริการเที่ยวบินขนส่งสินค้าตามกำหนดเวลาและเช่าเหมาลำ แจ้งประกอบธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศที่มีตารางเวลา
ณ วันที่ 31 ธ.ค.2561 บริษัทฯมีสินทรัพย์รวม 348 ล้านบาท หนี้สินรวม 142 ล้านบาท มีส่วนของผู้ถือหุ้น 205 ล้านบาท ส่วนผลประกอบการปี 2561 บริษัทฯมีรายได้รวม 1,112 ล้านบาท รายจ่ายรวม 1,087 ล้านบาท กำไรสุทธิ 19 ล้านบาท
8.บริษัท เอ็มเจ็ท จำกัด ผู้ให้บริการเครื่องบินเช่าเหมาลำส่วนบุคคล มีนายวิลเลียม เอ็ลล์วู๊ด ไฮเน็ค ร่วมเป็นกรรมการ แจ้งประกอบธุรกิจให้เช่าเครื่องบินเหมาลำ
ณ วันที่ 31 ธ.ค.2561 บริษัทฯมีสินทรัพย์รวม 991 ล้านบาท หนี้สินรวม 1,505 ล้านบาท มีส่วนของผู้ถือหุ้น -514 ล้านบาท ส่วนผลประกอบการปี 2561 บริษัทฯมีรายได้รวม 861 ล้านบาท รายจ่ายรวม 852 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 31 ล้านบาท
9.บริษัท สยามแลนด์ ฟลายอิ้ง จำกัด บริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ มีนายขจร เจียรวนนท์ ร่วมเป็นกรรมการ แจ้งประกอบธุรกิจขนส่งผู้โดยสารระหว่างประเทศโดยอากาศยาน
ณ วันที่ 31 ธ.ค.2561 บริษัทฯมีสินทรัพย์รวม 1,093 ล้านบาท หนี้สินรวม 702 ล้านบาท มีส่วนของผู้ถือหุ้น 390 ล้านบาท ส่วนผลประกอบการปี 2561 บริษัทฯมีรายได้รวม 352 ล้านบาท รายจ่ายรวม 416 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 87 ล้านบาท
10.บริษัท เอซี เอวิเอชั่น จำกัด เจ้าของสายการบิน ‘เอซี เอวิเอชั่น’ มีนายคีรี กาญจนพาสน์ และ นายกวิน กาญจนพาสน์ ร่วมเป็นกรรมการ แจ้งประกอบกิจการด้านการบินและขนส่งทางอากาศ
ณ วันที่ 31 ธ.ค.2561 บริษัทฯมีสินทรัพย์รวม 19 ล้านบาท หนี้สินรวม 71 ล้านบาท มีส่วนของผู้ถือหุ้น -51 ล้านบาท ส่วนผลประกอบการปี 2561 บริษัทฯมีรายได้รวม 87 ล้านบาท รายจ่ายรวม 96 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 9.8 ล้านบาท
11.บริษัท วีไอพี เจ็ทส์ จำกัด แจ้งประกอบธุรกิจให้บริการขนส่ง ขนถ่ายสินค้าและคนโดยสารทางอากาศ รวมทั้งให้เช่าเฮลิคอปเตอร์และเครื่องบิน
ณ วันที่ 31 ธ.ค.2561 บริษัทฯมีสินทรัพย์รวม 77 ล้านบาท หนี้สินรวม 54 ล้านบาท มีส่วนของผู้ถือหุ้น 22 ล้านบาท ส่วนผลประกอบการปี 2561 บริษัทฯมีรายได้รวม 34 ล้านบาท รายจ่ายรวม 42 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 8.2 ล้านบาท
12.บริษัท แอ็ดวานซ์ เอวิเอชั่น เจ็ท จำกัด แจ้งประกอบกิจการให้บริการอื่นๆที่สนับสนุนการขนส่งทางอากาศซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น
ณ วันที่ 31 ธ.ค.2561 บริษัทฯมีสินทรัพย์รวม 400 ล้านบาท หนี้สินรวม 864 ล้านบาท มีส่วนของผู้ถือหุ้น -463 ล้านบาท ส่วนผลประกอบการปี 2561 บริษัทฯมีรายได้รวม 63 ล้านบาท รายจ่ายรวม 118 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 76 ล้านบาท
13.บริษัท เอช เอส เอวิเอชั่น จำกัด แจ้งประกอบกิจการให้บริการอื่นๆที่สนับสนุนการขนส่งทางอากาศซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น
ณ วันที่ 31 ธ.ค.2561 บริษัทฯมีสินทรัพย์รวม 104 ล้านบาท หนี้สินรวม 74 ล้านบาท มีส่วนของผู้ถือหุ้น 29 ล้านบาท ส่วนผลประกอบการปี 2561 บริษัทฯมีรายได้รวม 328 ล้านบาท รายจ่ายรวม 325 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 0.072 ล้านบาท
“แต่ละสายการบินไม่เหมือนกัน และจริงๆแล้วมันขึ้นอยู่กับว่าเขาจะหาเงินสดมาได้หรือไม่ ถ้าหามาได้เขาก็อยู่ไปก่อน ยังไม่ถึงกับล้มละลาย ตอนนี้อาจมีปัญหา Cash flow บ้าง เพราะไม่มีรายได้ แต่ไม่ถึงขั้นหนี้สินล้นพ้นตัว” จุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการ กพท. กล่าวกับสำนักข่าวอิศราถึงแนวโน้มล้มละลายของสายการบินของไทยท่ามกลางวิกฤตไวรัสโควิด
จุฬา กล่าวต่อว่า แม้ว่าในปีที่ผ่านๆมา สายการบินส่วนใหญ่จะมีผลขาดทุน แต่ไม่ได้ขาดทุนมาก และมีรายได้เข้ามาอย่างต่อเนื่อง จึงยังไม่ล้มละลาย เพราะยังมีรายได้เข้ามาชำระหนี้สิน แต่หากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ลากยาวออกไปจนถึงเดือนพ.ค.-มิ.ย. ก็ต้องมีดูว่าแต่ละสายการบินมีวิธีการบริหารจัดการต้นทุนอย่างไร
“ต้นทุนแต่ละคนไม่เหมือนกัน ไซส์ก็ต่างกัน ทุกเจ้าก็พยายามลดต้นทุนเพื่อให้อยู่ไปได้ เชื่อว่าเขาคงไม่ปล่อยให้ล้ม แต่ถ้าลากนานกว่านี้ไม่รู้ และเดาไม่ออกว่าไวรัสจะจบเมื่อไหร่ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่ใครทำเรื่องขอหยุดบินโดยสิ้นเชิง มีเพียงการขอยกเลิกบางเที่ยวบิน โดยสายการบินหลายแห่งได้ขอยกเลิกเที่ยวบินไปจนถึงสิ้นเดือนมี.ค.แล้ว” จุฬากล่าว
จุฬา ยังระบุว่า ณ ขณะนี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ยังไม่มีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือสายการบินตามข้อเสนอของกระทรวงคมนาคมออกมา โดยหนึ่งในแนวทางที่สำคัญ คือ การให้สายการบินกู้เงินเสริมสภาพคล่องในอัตราสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ แต่ยังไม่ทราบว่าครม.จะจัดสรรวงเงินกู้ก้อนไหนให้
จุฬา สุขมานพ
ส่วนที่มีกระแสข่าวว่าบริษัท การบินไทย กำลังมีปัญหาขาดสภาพคล่องอย่างหนัก จุฬา กล่าวว่า “เราไม่ได้ตามดูเป็นรายวัน แต่ติดตามดูสายการบินต่างๆในลักษณะที่ว่าการประกอบการจะยังไปได้หรือไม่ และตอนนี้ต้องยอมรับว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นมันปุ๊บปั๊บ เพราะอยู่ๆรายได้เขาก็หายไป”
ขณะที่ นเรศ ผึ้งแย้ม ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย เผยกับสำนักข่าวอิศรา ว่า เพื่อลดปัญหาการขาดสภาพคล่องของบริษัท การบินไทย สหภาพฯเรียกร้องให้ฝ่ายบริหารยกเลิกตำแหน่งรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (EVP) สัญญาจ้างพิเศษที่มาจากการสรรหาตามมติบอร์ด 4 ตำแหน่ง
เพราะเดิมตำแหน่ง EVP สัญญาจ้างพิเศษ บอร์ดจะพิจารณาสรรหาจากบุคคลภายในนอกที่มีประสบการณ์เข้ามาบริหาร แต่ปัจจุบัน EVP ทั้ง 4 ตำแหน่ง ล้วนแล้วแต่เป็นผู้บริหารระดับสูงของการบินไทยเดิม ซึ่งเคยได้รับเงินเดือน 2-3.8 แสนบาท และค่าน้ำมันเดือนละ 7 หมื่นบาท
แต่เมื่อลาออกเพื่อไปรับตำแหน่ง EVP สัญญาจ้างพิเศษ จะได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้นเป็น 6 แสนบาท และได้ค่าน้ำมันเดือนละ 7.5 หมื่นบาท
นเรศ ยังระบุว่า สหภาพฯยังเสนอให้ฝ่ายบริหารยกเลิกตำแหน่ง VP (ผู้อำนวยการใหญ่) บางตำแหน่งลง เนื่องจากปัจจุบัน บริษัท การบินไทย มีตำแหน่ง VP มากถึง 30-40 ตำแหน่ง ซึ่งมากเกินไป และตำแหน่ง VP เหล่านี้ รับเงินเดือน 2-3.8 แสนบาท และได้รับค่าน้ำมันเดือนละ 7 หมื่นบาท
ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบินทั่วโลก รวมถึงไทย อีกไม่นานนี้คงจะได้เห็นสายการบินหลายแห่งต้องปิดตัวลง
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage