"ผมดีใจที่จะอยู่ในตำแหน่งนี้ได้แค่ปีเดียว ผมสบายใจ หนึ่งปีเชื่อมั่นว่า ระยะเวลายิ่งสั้นเท่าไหร่ผมยิ่งรักษาความบริสุทธิ์ได้มากเท่านั้น เพราะโอกาสยามที่อำนาจวาสนามาถึงตัวเรา ทุกสิ่งทุกอย่างจะวิ่งเข้ามาหาเรา มีคนเดือดร้อนอีกจำนวนมาก มีคนอยากได้อีกจำนวนหนึ่ง มีคนที่ใฝ่ฝันในสิ่งที่ตัวเองไม่ควรได้ไม่ควรจะเป็น วิ่งเข้าหาศูนย์กลางของอำนาจ ผมเชื่อมั่นตัวเองว่า ผมไม่ปฏิเสธใคร เพื่อนฝูงมาหาต้องมีคำตอบเสมอ แต่จะกลับไปมือเปล่า หรือมีอะไรติดมือไปก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง"
วันที่ 5 พ.ย.นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา ปาฐกถาพิเศษเรื่อง คุกมีไว้ขังคนจนจริงหรือ ในงานวันธรรมศาสตร์สามัคคี ณ ห้องประชุม ประกอบ หุตะสิงห์ ชั้น 3 ตึกอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จัดโดย ชมรมเพื่อนโดม สมาคมธรรมศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อ่านประกอบ:คุกไว้ขังคนจนจริงหรือ ปธ.ศาลฎีกา เปิดสถิติต้องคำพิพากษา 6.8 แสน ติดจริงแค่ 9 หมื่น)
ตอนหนึ่ง ประธานศาลฎีกา ระบุถึงปัจจุบันโซเชี่ยลมีเดียซึ่งมีส่วนทำให้เกิดดราม่าขึ้นในสังคมไทย โดยได้ยกตัวอย่างคดีแรกตายายเก็บเห็ด เบื้องลึกในคดีนั้นที่ขึ้นสู่ศาล ตายายครอบครองไม้ต้องห้าม จะครอบครองแทนใครไม่ทราบ แต่มีข้อมูลว่า ครอบครอง และมีการบุกรุกทำลายป่ามากกว่า 10 ไร่ขึ้นไป แต่ตากับยายบอกว่า ไปเก็บเห็ด ถ้าไปเก็บเห็ดจริง ตากับยายเป็นมอนินี แต่ไม่ได้บอก ใครจ้างมา ซึ่งก็รับสารภาพในคดี
อีกคดีอาจารย์ใช้ไม้ตีกอล์ฟ ตีภริยาเสียชีวิต ซึ่งครอบครัวนี้ระหองระแหงมาก่อนจนมีการทำร้ายกันเสียชีวิต นายไสลเกษ ชี้ว่า สื่อ หนังสือพิมพ์ลงข่าวนานนับสัปดาห์ นับเดือน ซึ่งสัปดาห์แรก ลงข่าวอาจารย์ตีภริยาด้วยหัวไม้หนึ่ง สัปดาห์ที่สอง ลงข่าวตีภริยาด้วยหัวไม้สาม สัปดาห์ที่สาม เหล็กเจ็ด แต่ท่านทราบหรือไม่ว่า ในที่สุดคดีมาถึงศาล อาวุธที่ใช้ตีคือร่ม
"นี่คือข้อมูลที่เข้ามาสู่สำนวน แต่สังคมรับรู้ไปแล้ว ว่าสามีใจร้ายมาก คดีนี้จบตรงที่สามีรับสารภาพ กรณีนี้ภริยาไม่ได้ทำงาน สามีทำงานอยู่คนเดียวมีลูกเล็กสองคนกำลังเข้าโรงเรียน วันรับสารภาพสืบเสาะ พ่อกับแม่ภริยามาให้การเป็นพยานที่ศาล ให้อภัยทุกอย่าง ขออย่าจำคุกผู้เป็นสามีเลย ถ้าจำคุกแล้ว ลูกสองคนจะไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ แล้วใครจะเลี้ยงดู ตากับยายก็แก่แล้ว" นายไสลเกษ ยกตัวอย่างคดีที่สังคมดราม่าไปไกลกว่าข้อเท็จจริง และว่า นี่คือข้อเท็จจริงที่เข้ามาสู่สำนวน และนำมาสู่การตัดสินให้รอการลงโทษ ทั้งหมดคือเบื้องหลังการถ่ายทำหลังจากโซเชี่ยลมีเดียดราม่าไปเรียบร้อยแล้ว ขณะที่คนรู้ข้อเท็จจริงน้อยมาก นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม นายไสลเกษ กล่าวถึงการเป็นผู้บริหารศาล กำหนดแค่อายุ 65 ปี "ผมดีใจที่จะอยู่ในตำแหน่งนี้ได้แค่ปีเดียว ผมสบายใจ หนึ่งปีเชื่อมั่นว่า ระยะเวลายิ่งสั้นเท่าไหร่ผมยิ่งรักษาความบริสุทธิ์ได้มากเท่านั้น เพราะโอกาสหรือยามที่อำนาจวาสนามาถึงตัวเรา ทุกสิ่งทุกอย่างจะวิ่งเข้ามาหาเรา มีคนเดือดร้อนอีกจำนวนมาก มีคนอยากได้อีกจำนวนหนึ่ง มีคนที่ใฝ่ฝันในสิ่งที่ตัวเองไม่ควรได้ไม่ควรจะเป็น วิ่งเข้าหาศูนย์กลางของอำนาจ ผมเชื่อมั่นตัวเองว่า ผมไม่ปฏิเสธใคร เพื่อนฝูงมาหาต้องมีคำตอบเสมอ แต่จะกลับไปมือเปล่า หรือมีอะไรติดมือไปก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ผมพยายามแนะนำผู้พิพากษาว่า ถ้าเราไม่ให้เขา อย่าทำร้ายจิตใจเขา หลายคนเข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรมในศาล มีทุกข์ทั้งนั้น เมื่อมีทุกข์แล้ว การที่เขามาหาเรา ได้รับคำพูดทำร้ายจิตใจ ไม่เข้าใจ คือสิ่งที่ทำให้เขาทุกข์มากขึ้น ฉะนั้นการปฏิเสธคนทำให้น้อยที่สุด แต่ให้หรือไม่ให้เป็นอีกเรื่องหนึ่ง"
นายไสลเกษ กล่าวถึงความรู้สึกเมื่อเข้าสู่ตำแหน่ง ได้มีโอกาสสัมผัสกับความทุกข์ยากของพี่น้องประชาชน ก่อนออกนโยบายอะไรศาลฎีกาควรรับฟังความคิดเห็นของคน ฉะนั้นวันที่เข้ารับตำแหน่งไม่มีนโยบายใดๆ ทั้งสิ้น ทำหนังสือถึงศาลทั่วประเทศ กระบวนการยุติธรรมทั่วประเทศ และประชาชน อยากให้ศาลเป็นอย่างไร ส่งความคิดความเห็นมา ได้ผลเกินคาด 60% ของความคิดเห็นที่ส่งมา เป็นเจ้าหน้าที่ในศาล กระบวนการยุติธรรม อีก 40% ประชาชนส่งมา สะท้อนว่า ความรู้สึกของคนทั่วไปมองว่า ศาลยุติธรรมมีปัญหาต้องแก้ไข ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้การกำหนดนโยบาย เลือกลำดับความสำคัญของปัญหาได้ก่อน ทำได้จริง
"วันที่ 7 พฤศจิกายนนี้จะเปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนถึงนโยบายการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน"
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/