ไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา ปาฐกถาพิเศษเรื่อง คุกมีไว้ขังคนจนจริงหรือ ฝากให้คิดมีแต่สันนิษฐานกัน ไม่เคยมีงานวิจัย หรือนิยาม คนจน คนรวย แต่ยอมรับสถิติคนที่อยู่ในคุก ส่วนใหญ่คือคนด้อยโอกาส พร้อมโชว์ตัวเลขคนต้องคำพิพากษา ผู้ต้องขัง และคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างการพิจารณาคดี
วันที่ 5 พ.ย. 2562 ชมรมเพื่อนโดม สมาคมธรรมศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานวันธรรมศาสตร์สามัคคี ณ ห้องประชุม ประกอบ หุตะสิงห์ ชั้น 3 ตึกอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยดร.สันติภาพ เตชะวณิช ประธานชมรมเพื่อนโดม กล่าวเปิดงาน
นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา ปาฐกถาพิเศษเรื่อง คุกมีไว้ขังคนจนจริงหรือ โดยระบุว่า ไม่ทราบว่า ประโยคที่กล่าวมานี้จริงหรือไม่ แต่ขอให้ไตร่ตรองดู รายงานการวิจัยทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ระบุว่า คนที่ติดคุกส่วนใหญ่คือคนจน แต่น้อยมากที่รายงานหรืองานวิจัยให้คำนิยามว่า คนจนคือใคร อะไรคือคนจน หรือ อะไรคือคนรวย มีความแตกต่างหรือไม่ว่า คนจนกับคนรวย ทำความผิดแตกต่างกันอย่างไร ซึ่งเราสันนิษฐานจากสามัญสำนึกว่า คนที่มีความรู้ มีการศึกษาส่วนใหญ่มีโอกาสเล่าเรียน เมื่อมีโอกาสก็เรียนรู้เข้าใจอะไรมากขึ้น การทำผิดจะน้อยลงจริงหรือไม่
"ท่านคงได้ยินประโยคนี้ ผมรวยแล้วผมไม่โกง คำถามคือการศึกษาทำให้คนไม่ทำผิดหรือไม่อันนี้เป็นข้อน่าคิด"
ประธานศาลฎีกา กล่าวต่อว่า คนรวยกับคนจน ใครมีโอกาสทำผิดมากกว่ากันนั้น แน่นอนคนจนคือคนด้อยโอกาส ทำผิดง่ายๆ ทำผิดเกี่ยวกับทรัพย์ ลัก วิ่ง ชิง ปล้น รับของโจร กรรโชกทรัพย์ ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ง่ายๆ คนเหล่านี้คือคนส่วนใหญ่ที่ต้องการทางเศรษฐกิจ แล้วคนรวยไม่ลักทรัพย์ไม่ฉ้อโกงใช่หรือไม่ คนรวย คือคนที่มีความรู้ รวยจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ปั่นหุ้น ฟอกเงิน ฯลฯ สรุปว่า คนรวยมีวิธีการในการกระทำความผิดที่โดยใช้องค์ความรู้ เนียนกว่า ซับซ้อนกว่า
"คนจนหนีภาษีหรือไม่ ไปขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มโดยตัวเองไม่ได้ส่งออก ไม่ได้นำเข้าหรือไม่ ดังนั้กระบวนการกระทำความผิดส่วนหนึ่งเกิดจากโอกาสและการสร้างโอกาสให้กับตัวเอง"
สำหรับคำถามว่า แล้วในคุกมีคนจนคนรวยมากน้อยแค่ไหน ประธานศาลฎีกา กล่าวถึงสถิติคนที่อยู่ในคุก ส่วนใหญ่คือคนด้อยโอกาส โดยตัวเลขปี 2561 มีคนต้องคำพิพากษาให้ลงโทษ 6.8 แสนคน ในจำนวนนี้ศาลสั่งจำคุกแค่ 9 หมื่นคน หรือ 16.5% ถามว่า ที่เหลือไปไหน 42% ศาลใช้วิธีการรอลงโทษ รอการกำหนดโทษ ที่เหลืออีก 58% ศาลใช้วิธีอื่นเช่น ปรับ กักขัง คุมความประพฤติ
" แล้วคุกมีไว้ขังคนเยอะขนาดนี้จริงหรือไม่ พบว่า มีคนติดคุกเพียง 16.5% เท่านั้นเอง"
นายไสลเกษ กล่าวถึงกลุ่มคนที่ติดคุกมีคนจนกี่เปอร์เซนต์ คนรวยกี่เปอร์เซนต์นั้นก็ไม่เคยมีงานวิจัยที่ไหน และในประเทศไทยก็ไม่มียืนยัน อีกทั้งไม่มีการนิยามคนจน คนรวยว่า แตกต่างกันตรงไหน ที่สำคัญเมื่อแยกไม่ออก ตรงนี้เราจะสรุปได้หรือไม่ คุกมีไว้ขังคนจน แต่แน่นอนที่สุด การจับคนรวย จับยาก เวลาเราให้ประกัน คนที่หนีประกันส่วนใหญ่คือคนรวย
ส่วนตัวเลขการฟ้องร้อง ประธานศาลฎีกา กล่าวว่า คนที่ถูกฟ้องส่วนใหญ่ หากเป็นคนจน แน่นอนผลคำพิพากษาก็จำคุกมากกว่า เพราะมีการฟ้องคนจนมากกว่า ซึ่งสถิติ ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2562 มีผู้ต้องขัง 3.6 แสนคน แบ่งเป็นขังระหว่างสอบสวน 5.5% ถูกขังระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น 2.8% ถูกขังระหว่างการอุทธรณ์และฎีกา 8% รวมถูกขังทั้งสิ้น 16% ที่เหลือ 84% เป็นผู้ต้องโทษเด็ดขาดให้จำคุก ไม่ว่าคนจนหรือคนรวยได้รับการปฏิบัติเหมือนกัน ฉะนั้นการบอกว่า นี่คือช่องว่าง จำคุกเฉพาะคนจน ถามว่า ใช่หรือไม่
"ผมไม่ปฏิเสธ หรือยืนยัน อยากให้มีการพูดด้วยตัวเลข พูดด้วยข้อมูลที่แท้จริง"
ประธานศาลฎีกา กล่าวถึงนโยบายการคุ้มครองสิทธิประชาชนระหว่างต้องคดี ทำอย่างไรให้มีโอกาสได้รับการประกันตัวให้ได้มากที่สุด ซึ่งก็มีตัวเลขปี 2560 มีคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างการพิจารณาคดี 2.2 แสนราย ศาลปล่อยตัวชั่วคราว 2.1 แสนราย ปล่อยตัวทั้งหมด 93.6% แสดงว่า มีผู้ถูกขังระหว่างพิจารณาคดีแค่ 17% ถามว่า ตัวเลขนี้สูงหรือไม่ ศาลกักขังคนไว้ระหว่างการพิจารณาคดีโดยไม่จำเป็นจริงหรือไม่ นี่คือคำตอบเชิงสถิติ ข้อกล่าวหาที่บอกว่า ศาลคุมขังคนไม่จำเป็นจริงหรือไม่
"ตัวเลข 17% ทำอย่างไรให้คนออกจากคุกระหว่างรอการพิจารณา กรมราชทัณฑ์ไม่มีพื้นที่รองรับ ไม่ขังคนไม่จำเป็น รัฐธรรมนูญก็ระบุไม่ควรขังบริสุทธิ์ แต่ถามว่า ถ้าอยู่ระหว่างการสอบสวน การพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น ตรรกะนี้น่ารับฟัง แต่หากศาลชั้นต้นพิพากษามีความผิดแล้ว คนนี้ยังสันนิษฐานว่าบริสุทธิ์หรือไม่ คดีไปถึงศาลอุทธรณ์ว่ามีความผิด ยังสันนิษฐานว่า คนนี้บริสุทธิ์อยู่หรือไม่ คำถามว่า ระหว่างคนที่ตกเป็นผู้ต้องหาในชั้นสอบสวน กับจำเลยในศาลระหว่างการพิจารณาศาลชั้นต้น คู่นี้ใครบริสุทธิ์ผุดผ่องมากกว่ากัน "
นายไสลเกษ กล่าวถึงการเรียนกฎหมาย ไม่ว่าวิธีพิจารณาความแพ่ง อาญา คำพิพากษาของศาลผูกพันคู่ความอยู่ตลอด ตราบใดที่ยังไม่มีการยกเลิก เพิกถอน เปลี่ยนแปลง แก้ไข ฉะนั้นคำพิพากษาศาลชั้นต้น อุทธรณ์ยังอยู่ แต่รัฐธรรมนูญบอกว่า ถ้าคำพิพากษายังไม่ถึงที่สุด ให้ถือว่าบริสุทธิ์ ท่านลองไตร่ตรองดูว่า กรณีอย่างนี้ท่านสมควรปฏิบัติกับจำเลยที่ศาลชั้นต้น อุทธรณ์พิพากษาว่ามีความผิด กับคดีที่อยู่การสืบพยาน เราจะปฏิบัติกับคนเหล่านี้ลักษณะเดียวกันหรือไม่ หลักคิดทางรัฐธรรมนูญ ไม่ทราบว่า มีที่มาที่ไปอย่างไร หรืออาจจะเป็นบทบัญญัติสหประชาชาติก็ไม่แน่ใจ แต่การบอกกว่า บริสุทธิ์ผุดผ่อง ท่านลองคิด ใช่หรือไม่
นายไสลเกษ กล่าวถึงการปล่อยตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยออกไป บุคคลที่ถูกคุกคาม คือ เหยื่อที่ด้อยโอกาส ถูกคุกคามจริงหรือไม่ เราต้องคิด ดังนั้นการปล่อยตัวชั่วคราว ต้องคิดถึงเหยื่อ และความปลอดภัยสังคมด้วย ศาลคงไม่ปล่อยตัวคนข่มขืน หรือคดีฆ่า แน่นอน
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/