ชำแหละเงินกู้ฟื้นฟูโควิด 'สภาพัฒน์' ยันไม่มีโครงการประเภทคุณขอมา 'ส.ว.สมชาย' แนะทุกฝ่ายช่วยจับตา ห่วงซื้อของแพงเกินจริง 'พิธา-สฤณี' หวั่นโครงการซ้ำซ้อน แก้ปัญหาไม่ตรงจุด องค์การต่อต้านคอร์รัปชัน ผุดไอเดียสร้างเว็บไซต์เฝ้าระวังการโกง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 1 ส.ค. ผู้เข้าอบรมหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับกลาง ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (บสก.) รุ่นที่ 9 สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดเวทีสัมมนาสาธารณะ ในหัวข้อ 'ชำแหละเงินกู้ฟื้นฟูโควิด ช่วยเศรษฐกิจหรือเป็นพิษกับประชาชน'
นายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการกลั่นกรอง พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 กล่าวว่า สาเหตุหลักของการกู้เงินในครั้งนี้เนื่องจากผลกระทบโควิด รัฐบาลได้มีการออกกฎหมาย 3 ฉบับ ประกอบด้วย 1.พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 , 2.พ.ร.ก.ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ และ 3.พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563
โดยที่ผ่านมา โครงการที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติไปแล้ว มีวงเงินประมาณ 3.7 หมื่นล้านบาท เป็นโครงการด้านการเกษตร การจ้างงาน ล่าสุดคณะกรรมการกลั่นกรองฯ อนุมัติโครงการจากจังหวัดต่างๆ อีก 160 โครงการ วงเงินรวมประมาณ 800 ล้านบาท ทั้งหมด 58 จังหวัด โดยจะเสนอเข้า ครม.สัปดาห์น้า และมีโครงการจำนวนมากที่ไม่ผ่านการพิจรณากลั่นกรอง เช่น โครงการจัดอีเวนต์ อบรม ที่ไม่ได้เกี่ยวกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่เกิดประโยชน์แก่ประชาชน ส่วนโครงการที่ผ่านการพิจารณา เช่น โครงการลดพื้นที่การปลูกยางพาราในภาคใต้ ปรับเปลี่ยนเป็นเกษตรทฤษฎีใหม่ เพราะราคายางพาราตกต่ำ เป็นต้น
“โครงการประเภท คุณขอมา ยืนยันว่าไม่มี เพราะกระบวนการในการกลั่นกรองเงินกู้เป็นคณะกรรมการใหญ่ และมีคณะอนุกรรมมาธิการ อีก 2 ชุด เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ขอยืนยันว่าการกลั่นกรองเรามีเกณฑ์ดูรายละเอียดค่อนข้างเยอะ ส่วนเรื่องการจ้างงาน เรากำหนดว่าต้องใช้การจ่ายเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ และเราเปิดเผยข้อมูลโครงการผ่านทางเว็บไซต์ไทยมี (www.thaime.nesdc.go.th) เพื่อให้ประชาชนเข้าไปตรวจสอบโครงการและขอยืนยันว่าไม่ใครมาแทรกแซงกดดันในส่วนของการพิารณากลั่นกรองโครงการ” รองเลขาสศช.กล่าว
ขณะที่ นายสมชาย แสวงการ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา(ส.ว.) กล่าวว่า การกู้เงินมาแก้วิกฤติครั้งนี้ต้องใช้เงินอย่างเหมาะสมกับปัญหาของประเทศ ใช้เงินให้ตรงเป้า ทั่วถึงและคุ้มค่า การฟื้นฟูเยี่ยวยาที่ยากในสภาวะแบบนี้ โครงการต้องใช้ตรงจุด อยากให้ภาคประชาชน ภาควิชาการ สื่อมวลชนได้มีส่วนร่วมช่วยกันตรวจสอบ และเป็นห่วงเรื่องของการคอร์รัปชันเช่นที่ผ่านมา เพราะที่ผ่านมาก็พบว่ามีการชื้อแอลกอฮอล์ในราคาที่สูงเกินกว่าความเป็นจริง
ด้าน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และ กมธ.วิสามัญติดตามตรวจสอบงบประมาณและมาตรการแก้ไขปัญหาวิกฤติโควิด กล่าวว่า เงินกู้ส่วนนี้จะช่วยเศรษฐกิจหรือเป็นพิษกับประชาชน ขึ้นอยู่ที่การใช้ ตนกังวลว่าเงินกู้จะกลายเป็นงบประมาณสำรองของงบประจำ เอาโครงการที่ไม่ผ่านงบประมาณประจำมายื่นขอ และกลัวว่าจะนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ในการกู้ครั้งนี้ ในวิกฤติโควิดครั้งนี้ทำให้เกิดช่องว่างทางสังคมถ่างออกไป มีผู้ตกหล่นไม่ได้รับการเยียวยากว่า 3 แสนราย จากโครงการช่วยเหลือของรัฐ ตนเสนอว่าอยากให้มีการเยียวยาแบบถ้วนหน้าเพื่อปิดช่องว่างตรงนี้ และอยากเสนอไปยังรัฐบาลให้เก็บเงินไว้เยียวยาหากเกิดการระบาดโควิดอีกครั้ง
หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวด้วยว่า สำหรับบุคคลที่ยังไม่สามารถทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้อย่างปกติให้เข้าไปช่วยเหลือ กระตุ้นธุรกิจเอสเอ็มอีเพื่อให้มีการจ้างงานอย่างต่อเนื่อง โดยที่รัฐช่วยพยุงค่าใช้จ่ายเงินเดือนลูกจ้าง 50% ของค่าจ้าง ไม่เกิน 9,000 บาท ตรงนี้จะช่วยลดอัตราการตกงานได้ ส่วนด้านการท่องเที่ยว ซึ่งอาจจะเปิดบางจังหวัดที่มีความพร้อมด้านสาธารณสุขก่อน เพื่อให้การท่องเที่ยวฟื้นตัว และปลดล็อคสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ผู้ประกอบการอย่างทั่วถึง
ขณะที่ นายมานะ นิมิตมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น กล่าวว่า ทุกคนคาดหวังว่าเงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาท จะเขามาช่วยฟื้นฟูวิกฤติโควิดได้ แต่ถ้าเราปล่อยให้มีการโกง เงินไปตกอยู่กับคนบางกลุ่ม จะเกิดปัญหาหนักขึ้นกว่าเดิม ข้อมูลจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เก็บข้อมูลสถิติการรับเรื่องร้องเรียนที่ถูกส่งเข้ามาในช่วงวิกฤติโควิด ตั้งแต่วันี่ 3 เม.ย. - 30 พ.ค.มีจำนวน 1,300 ข้อมูล พบว่ามีเรื่องที่เสี่ยงเป็นการทุจริตถึง 974 ข้อมูล คิดเป็น 75% จะเห็นได้ว่า ที่ผ่านมามีการเข้าข่ายทุจริตเป็นจำนวนมาก ตนก็กังวลว่าถ้าเงินกู้ฉบับนี้จะมีการคอร์รัปชันเหมือนที่ผ่านมา อีกเรื่องที่ตนกังวลคือ ช่วงใกล้เลือกตั้งท้องถิ่นจะมีการดึงงบประมาณเข้าไปเอื้อประโยชน์ทางการเมืองหรือไม่ ขอให้ประชาชนและสื่อมวลชนช่วยกันตรวจสอบงบดังกล่าวอย่งเข้มข้น
“ตอนนี้ประชาชนคนรุ่นใหม่ร่วมกันทำโครงการภาคประชาชน เพื่อจำแนกโครงการของรัฐที่เสนอเข้าไปเพื่อตรวจสอบว่าโครงการไหนเสี่ยงแก่การคอร์รัปชัน และองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน อยู่ระหว่างการพัฒนาเว็บไซต์ชือ่ CovidAI เพื่อให้ทุกภาคส่วนช่วยกันตรวจสอบการใช้เงินกู้ครั้งนี้" เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันกล่าว
ส่วน นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้บริษัทป่าสาละจำกัด กล่าวว่า จากที่ดูการกลั่นกรองของ สศช. และการพัฒนาเว็บไซต์ไทยมี ถือว่าเป็นก้าวใหม่ของการเผยแพร่ข้อมูลให้ประชาชนเข้าไปดูได้ จากเดิมที่เห็นโครงการในรอบแรกก็กังวล แต่พอดูโครงการที่อนุมัติแล้วก็ใจชื่นขึ้นมา ตนอยากเสนอให้แบ่งโครงการออกเป็น 2 ระดับ คือ ระดับท้องถิ่น ให้ท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมกำหนดโครงการตั้งแต่ต้น คิดว่าโครงการไหนควรทำไม่ควรทำ จะเป็นการเพิ่มแรงจูงใจในการตรวจสอบจากท้องถิ่น ระดับประเทศ สถานการณ์เปลี่ยนไป ให้ทำโครงการที่ไม่ใช่แบบเดิม ปรับทิศทางไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เช่น การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์
“ประเด็นที่กังวลมากคือ หนี้ประชาชนกำลังจะปะทุระเบิดขึ้นมา มาตราการเยียวยาของรัฐกำลังจะหมดลง แต่รายจ่ายเท่าเดิม อยากให้พิจารณากลไกอื่นที่ยังไม่ได้ใช้ อย่างเช่นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ยังไม่เข้าสู่ระบบธนาคารเข้าถึงเงินกู้ได้ และแก้ไขกฎหมายล้มละลายให้ลูกหนี้ที่เป็นบุคคลลมละลายได้” นางสาวสฤณี กล่าว
อ่านประกอบ :
สแกนโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจกรอบเงินกู้ 4 แสนล้าน ผ่านคำค้นยอดฮิตยุคโควิด
ไฟเขียวกรอบเงินกู้ 9.2 หมื่นล้านฟื้นฟูเศรษฐกิจ อนุมัติแล้ว 5 โครงการรวม 1.5 หมื่นล้าน
คัดกรองใช้เงินกู้รอบแรก 1 แสนล้านชง ครม.8 ก.ค.ทำถนน-จัดอีเวนต์-จ้างที่ปรึกษาถูกตัดเรียบ
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน : งบ1.97 ล้านล.แก้วิกฤติโควิด หากมีทุจริตต้องลงโทษอย่างรุนแรง
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage