"...การที่ศาลปกครองขั้นต้นพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร รายการที่ 3 และรายการที่ 4 ให้แก่ผู้ฟ้องคดีตามคําวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดินและการบังคับใช้กฎหมาย ที่ สค 334/2562 ลงวันที่ 22 สิงหาคม 2562 ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุดนั้น ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วย..."
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานไปแล้วว่า เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2566 ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษายืนตามศาลปกครองชั้นต้น ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)เปิดเผยข้อมูลรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เสนอต่อที่ประชุม ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.2561 รวมถึงเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และคำชี้แจงของ พล.อ.ประวิตรต่อ ป.ป.ช. ทั้ง 4 ครั้ง ต่อผู้สื่อข่าว The MATTER
เพื่อให้สาธารณชนรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับคดีนี้มากขึ้น สำนักข่าวอิศรา นำรายละเอียดคำพิพากษามานำเสนอ ณ ที่นี้
คดีนี้ นายพงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ ผู้ฟ้องคดี
สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1, เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3
เรื่อง คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 อุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขดำที่ 2557/2562 หมายเลขแดงที่ 1327/2564 คดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2561 ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือขอข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับคดีนาฬิกาหรูของพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 มีมติไม่รับไว้ ไต่สวนข้อเท็จจริงจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จำนวน 6 รายการ ได้แก่
1. รายการที่ 1 เหตุผลซึ่งที่ประชุม ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 มีมติยกคำร้องไม่รับคดีนี้ไว้ไต่สวน ซึ่งไม่ใช่เอกสารข่าวประชาสัมพันธ์ที่มีจำนวนเพียง 2 หน้า แต่เป็นบันทึกสรุปผลการประชุมอย่างเป็นทางการ)
2. รายการที่ 2 คำวินิจฉัยส่วนตนของกรรมการ ป.ป.ช. แต่ละคนที่ให้ยกคำร้องไม่รับคดีนี้ไว้ไต่สวน
3. รายการที่ 3 รายงานสรุปผลการแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานซึ่งคณะทำงานรวบรวมข้อเท็จจริงเสนอต่อ ที่ประชุมผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ในวันที่ 27 ธันวาคม 2561 และเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
4. รายการที่ 4 คำชี้แจงของพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในคดีนี้ทั้ง 4 ครั้ง ที่ยื่นต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3
5. รายการที่ 5 ข้อเท็จจริงทั้งหมดเกี่ยวกับนาฬิกาว่า มียี่ห้ออะไรบ้าง ซีเรียลนัมเบอร์ มูลค่า
6. รายการที่ 6 รายชื่อของเพื่อน ๆ ที่ปัฐวาท สุขศรีวงศ์ ให้ยืมนาฬิกาสวมใส่เช่นเดียวกับพลเอก ประวิตร
ต่อมาเมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้จัดส่งเอกสารตามที่ผู้ฟ้องคดียื่นคำขอมาให้เพียง 2 รายการ คือ รายการที่ 1 และรายการที่ 2 ผู้ฟ้องคดีจึงได้มีหนังสือลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2562 อุทธรณ์คำสั่งไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารดังกล่าวต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร
ซึ่งคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดินและการบังคับใช้กฎหมายได้มีคำวินิจฉัยที่ สค 334/2562 ลงวันที่ 22 สิงหาคม 2562 วินิจฉัยให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เปิดเผยข้อมูลข่าวสาร รายการที่ 3 ถึงรายการที่ 6
จากนั้น เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2562 ผู้ฟ้องคดีได้เดินทางไปยังที่ทำการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เพื่อรับข้อมูลข่าวสารตามคำวินิจฉัยแต่ได้รับแจ้งว่าต้องรอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 มีมติว่าจะเปิดเผยหรือไม่เสียก่อน ผู้ฟ้องคดีจึงได้ยื่นหนังสือทวงถามถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ปรากฏตามเลขรับที่ 24168 แต่ระยะเวลาล่วงเลยมาเดือนเศษ ผู้ฟ้องคดีไม่ได้รับการติดต่อกลับใด ๆ ผู้ฟ้องคดีจึงได้มีหนังสือลงวันที่ 11 ตุลาคม 2562 ถึงคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการเร่งรัดให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ปฏิบัติตามคำวินิจฉัย ที่ สค 334/6562 ลงวันที่ 22 สิงหาคม 2562 ซึ่งคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการได้มีหนังสือ ที่ นร อ108/5320 ลงวันที่ 18 ตุลาคม 2562 แจ้งผู้ฟ้องคดีว่า คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการได้มีหนังสือไปยังผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ขอให้เร่งรัดการปฏิบัติตามคำวินิจฉัยดังกล่าวแล้วและขอให้แจ้งผลให้สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการทราบภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2562 และผู้ฟ้องคดีสามารถใช้สิทธิตามกฎหมายเพื่อให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ปฏิบัติให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยได้ต่อไป
เมื่อถึงวันดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีได้โทรศัพท์ไปสอบถามถึงความคืบหน้าในการจัดส่งข้อมูลข่าวสาร ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้ตอบกลับมาทางข้อความสั้น (SMS) ว่า "เจ้าหน้าที่จะแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรภายในวันสองวันนี้" "มีทั้งที่อนุญาตและไม่อนุญาต" และ "และมีทั้งต้องรอคำตอบจากเจ้าของเอกสาร" แต่ระยะเวลา ล่วงเลยไปเกือบหนึ่งเตือน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ไม่ได้ติดต่อหรือจัดส่งข้อมูลข่าวสารมาให้ผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้นขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ดังนี้
1. ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เปิดเผยข้อมูลข่าวสารรายการที่ 3 ถึงรายการที่ 6 ตามคำวินิจวัยคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดินและการบังคับใช้กฎหมาย ที่ สค 334/2562 ลงวันที่ 22 สิงหาคม 2562
2. ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เปิดเผยสถิติการใช้สิทธิขอข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับคดีที่ยุติไปแล้วตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 นับตั้งแต่ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้จัดตั้งขึ้นและผลการดำเนินการตามคำขอดังกล่าว
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามให้การว่า เนื่องจากมีผู้ร้องเรียนกับ ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กรณีจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ ต่อมา 27 ธ.ค. 2561 ทาง ป.ป.ช. แถลงข่าวว่า มีมติว่าจากพยานหลักฐานยังไม่มีมูลเพียงพอว่าพลเอก ประวิตร จงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบและมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่ามีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินนั้นและให้แจ้งข้อมูลนาฬิกาจํานวน 22 เรือน ต่อกรมศุลกากรเพื่อดําเนินการตามอํานาจหน้าที่ต่อไป ผู้ฟ้องคดีมีหนังสือลงวันที่ 28 ธันวาคม 2561 เพื่อขอข้อมูล 6 รายการ (ตามที่ระบุไว้ด้านบน)
เมื่อผู้ฟ้องคดีมีหนังสือลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2562 อุทธรณ์คำสั่งไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารดังกล่าวต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ทางคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารจึงส่งหนังสือมาที่ ป.ป.ช. ทาง ป.ป.ช. แจ้งว่าการเปิดเผย ข้อมูลบางส่วนต้องดําเนินการให้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้องและอยู่ระหว่าง นําเสนอผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 พิจารณา ข้อมูลข่าวสารที่พิพาทเป็นข้อมูลที่ได้มาจากการดําเนินการ แสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานกรณีกล่าวหาพลเอก ประวิตร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินอันเป็นเท็จหรือปกปิด ข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ เอกสารดังกล่าวจึงเป็นเอกสารที่ได้มาจากการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสาม
ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ได้พิจารณาแล้วมีมติว่า เอกสารรายการที่ 3 รายงานสรุปผลการแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานเป็นข้อมูลรายงาน สํานวนการตรวจสอบ และเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบในเรื่องกล่าวหาพลเอก ประวิตร รับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคํานวณเป็นเงินได้เกินกว่าสามพันบาท และเรื่องกล่าวหาว่าพลเอก ประวิตร ร่ํารวยผิดปกติที่ยังอยู่ระหว่างการดําเนินการตรวจสอบ
ส่วนรายการที่ 6 รายชื่อของเพื่อน ๆ ที่ปัฐวาท สุขศรีวงศ์ ให้ยืมนาฬิกาสวมใส่เช่นเดียวกับพลเอก ประวิตร เป็นข้อมูลที่เกี่ยวกับผู้ซึ่งเป็นพยาน ซึ่งมาตรา 36 วรรคสอง และวรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ห้ามมิให้เปิดเผย จึงไม่อนุญาตให้เปิดเผย
ส่วนรายการที่ 4 คําชี้แจงของพลเอก ประวิตร ในคดีนี้ทั้ง 4 ครั้ง ที่ยื่นต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 เป็นเรื่องที่กระทบต่อสิทธิส่วนบุคคลของพลเอก ประวิตร ซึ่งไม่ประสงค์ให้ทางราชการนําไปเปิดเผยต่อผู้อื่น จึงต้องห้ามมิให้เปิดเผยตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 มาตรา 15 (6)
รายการที่ 5 ข้อเท็จจริงทั้งหมดเกี่ยวกับนาฬิกา มียี่ห้ออะไรบ้าง ซีเรียลนัมเบอร์ มูลค่า เป็นข้อมูล ที่ทราบได้โดยทั่วไปตามการเสนอข่าวของสื่อมวลชนแล้วให้เปิดเผยได้ เว้นแต่ซีเรียลนัมเบอร์ ไม่สามารถเปิดเผยได้เนื่องจากอาจมีผลกระทบต่อความปลอดภัยในทรัพย์สินของเจ้าของกรรมสิทธิ์ หรือผู้ครอบครอง และกระทบต่อการดําเนินการในเรื่องกล่าวหาพลเอก ประวิตร กรณีเจ้าพนักงาน ของรัฐรับทรัพย์สิน ยังอยู่ในระหว่างตรวจสอบและอาจต้องรวบรวมพยานหลักฐานหรือทราบ ข้อเท็จจริงจากพยานบุคคล อีกทั้งงานไต่สวนข้อเท็จจริงตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตเป็นงานบังคับใช้กฎหมายตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยอันเป็นส่วนหนึ่งของงานในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ซึ่งโดยสภาพแล้วจะต้องรักษาไว้เป็นความลับ
อีกทั้งเรื่องการกล่าวหานี้อยู่ในระหว่างไต่สวนหากมีการเปิดเผยข้อมูลอาจส่งผลกระทบต่อรูปคดีหรือความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้ที่เกี่ยวข้อง
@ ยกพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 มาอ้างในการปฏิเสธเพื่อเปิดเผยข้อมูล
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 จัดตั้งขึ้นโดยรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่พระราชบัญญัติ ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ใช้บังคับแล้ว และในระหว่างบทบัญญัติที่ขัดกันระหว่างพระราชบัญญัติทั่วไป กับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ย่อมจะต้องถือปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ โดยหลักการและเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสาร ของราชการ พ.ศ. 2540 มีเจตนารมณ์เพื่อรับรองสิทธิของประชาชนในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการดำเนินการของรัฐ
ส่วนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม การทุจริต พ.ศ. 2561 มีเจตนารมณ์เพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบของ เจ้าหน้าที่ของรัฐ การปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 จะต้องมีอิสระและไม่อยู่ภายใต้บังคับของ องค์การหรือหน่วยงานใด ๆ การให้คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารมีอํานาจวินิจฉัยให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 พิจารณาแล้ว จึงเป็นการขัดกับอํานาจ อิสระของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3
ดังนั้น การที่ ป.ป.ช. ไม่ได้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้ผู้ฟ้องคดีทราบ จึงไม่เป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกําหนดให้ต้องปฏิบัติ นอกจากนี้ ศาลปกครองสูงสุดได้เคยวินิจฉัยไว้ในคําพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ อ. 681/2560 ว่า สําเนาบันทึกปากคําผู้ถูกกล่าวหาทุกปาก สาเนาบันทึกปากคําพยานที่เกี่ยวข้องทุกปาก ส่านา พยานเอกสารที่รวมอยู่ในคดีทุกแผ่น สรุปผลการสอบสวนของพนักงานไต่สวน และรายงานการ ประชุมของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่เกี่ยวข้องในคดี เป็นเอกสารที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มาจาก การปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายในการแสวงหาพยานหลักฐานจากพยานบุคคลเพื่อพิสูจน์ข้อกล่าวหาของผู้ฟ้องคดีว่ามีมูลความผิดตามที่กล่าวหาหรือไม่ ซึ่งหากเปิดเผยเอกสารดังกล่าว ย่อมทําให้พยานบุคคลเกิดความไม่เชื่อมั่นในเรื่องความปลอดภัยของสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลและการประกอบอาชีพจากการให้ถ้อยคําหรือพยานหลักฐานดังกล่าว และย่อมส่งผลกระทบต่อการ ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสาม
อีกทั้งกรณีนี้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 เห็นว่า ข้อกล่าวหาของผู้ฟ้องคดีเป็นข้อกล่าวหาที่ไม่มีมูลและให้ข้อกล่าวหาตกไป การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามที่ผู้ฟ้องคดีร้องขอจึงไม่เป็นประโยชน์สาธารณะ ในทางกลับกันหากเปิดเผยข้อมูลข่าวสารดังกล่าวย่อมอาจก่อให้เกิดอันตรายหรือความไม่ปลอดภัยต่อพยานบุคคลผู้ให้ถ้อยคําหรือพยานหลักฐานได้ เมื่อคํานึงถึงการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสาม ประโยชน์สาธารณะและประโยชน์ของเอกชนที่เกี่ยวข้องประกอบกันแล้ว ข้อมูลข่าวสารตามที่ผู้ฟ้องคดีร้องขอให้เปิดเผยจึงถือเป็นข้อมูลข่าวสารที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามไม่อาจเปิดเผยได้ จึงขอให้ศาลมีคําพิพากษายกฟ้อง
โดยศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามเปิดเผยข้อมูลช่าวสารรายการที่ 3 และรายการที่ 4 ให้แก่ผู้ฟ้องคดีตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดินและการบังคับใช้กฎหมาย ที่ สค 334/2562 ลงวันที่ 22 สิงหาคม 2562 ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด
@ ป.ป.ช. ยื่นอุทธรณ์ต่อ
ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามอุทธรณ์ต่อในสรุปได้เป็นประเด็น ดังนี้
1. ผู้ถูกฟ้องไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลเอกสารรายการที่ 3 และ 4 ได้ เนื่องจากยังสอบสวนไม่เสร็จสิ้น มีความเกี่ยวข้องกับการไต่สวนในคดีอื่น ๆ อาจทำให้หลักฐานยุ่งดหยิง และอาจทำให้เกิดอันตรายต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง
2. ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร
3. คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารจะได้มีคําวินิจฉัยให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้แก่ผู้ฟ้องคดีก็ตาม แต่การดําเนินการดังกล่าวต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรา 36 และมาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะ และตราขึ้นภายหลังจากที่พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ใช้บังคับแล้ว เมื่อมีบทบัญญัติขัดกัน ต้องถือปฏิบัติตามกฎหมายที่ออกมาภายหลัง
4. หากเปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามคําขอของผู้ฟ้องคดีแล้ว ผู้เปิดเผยจะมีโทษตามมาตรา 180 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561
ขอให้ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาหรือมีคําสั่งกลับคําพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นเป็นให้ยกฟ้อง
ส่วนผู้ฟ้องคดีขอให้ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืน
@ ศาลเรียบเรียงข้อเท็จจริง
คดีนี้ศาลปกครองสูงสุดไม่จัดให้มีการนั่งพิจารณาคดี คู่กรณีไม่ได้ยื่นคําแถลง เป็นหนังสือ และไม่ได้แจ้งความประสงค์ให้ศาลจัดให้มีการนั่งพิจารณาคดี ศาลได้รับฟังสรุปข้อเท็จจริง ของตุลาการเจ้าของสํานวน และคำชี้แจงด้วยวาจาประกอบคำแถลงการณ์ของตุลาการผู้แถลงคดี
ศาลปกครองสูงสุดได้ตรวจพิจารณาพยานหลักฐานในค่าฟ้อง คําให้การ ค่าอุทธรณ์ คําแก้อุทธรณ์แล้ว
ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2561 ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือขอ ข้อมูลจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่เกี่ยวข้องกับคดีนาฬิกาหรูของพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 มีมติไม่รับไว้ไต่สวนข้อเท็จจริง จํานวน 6 รายการ ได้แก่
1. รายการที่ 1 เหตุผล ซึ่งที่ประชุมผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 มีมติยกคําร้องไม่รับคดีนี้ไว้ไต่สวน (ซึ่งไม่ใช่เอกสารข่าวประชาสัมพันธ์ ที่มีจํานวนเพียง 2 หน้า แต่เป็นบันทึกสรุปผลการประชุมอย่างเป็นทางการ)
2. รายการที่ 2 คําวินิจฉัยส่วนตนของกรรมการผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 แต่ละคนที่ให้ยกคําร้องไม่รับคดีนี้ไว้ไต่สวน
3. รายการที่ 3 รายงานสรุปผลการแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานซึ่งคณะทํางาน รวบรวมข้อเท็จจริงเสนอต่อที่ประชุมผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ในวันที่ 27 ธันวาคม 2561 และเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
4. รายการที่ 4 คําชี้แจงของพลเอก ประวิตร ในคดีนี้ทั้ง 4 ครั้ง ที่ยื่นต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3
5. รายการที่ 5 ข้อเท็จจริงทั้งหมดเกี่ยวกับนาฬิกาว่า มียี่ห้ออะไรบ้าง ซีเรียลนัมเบอร์ มูลค่า
6. รายการที่ 6 รายชื่อของเพื่อน ๆ ที่ปัฐวาท สุขศรีวงศ์ ให้ยืม นาฬิกาสวมใส่เช่นเดียวกับพลเอก ประวิตร
ต่อมา เมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้จัดส่งเอกสารตามที่ผู้ฟ้องคดียื่นคําขอมาให้เพียง 2 รายการ คือรายการที่ 1 และรายการที่ 2 ผู้ฟ้องคดีจึงมีหนังสือลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2562 ถึงคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ อุทธรณ์คําสั่งดังกล่าว ต่อมา คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดินและการบังคับใช้กฎหมาย ได้มีคําวินิจฉัยที่ สค 334/2562 ลงวันที่ 22 สิงหาคม 2562 ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เปิดเผยข้อมูลข่าวสารรายการที่ 3 ถึงรายการที่ 6 พร้อมทั้งให้สําเนาที่มีคํารับรองถูกต้องแก่ผู้ฟ้องคดีโดยแจ้งคําวินิจฉัยให้ผู้ฟ้องคดีทราบตามหนังสือลงวันที่ 29 สิงหาคม 2562 ผู้ฟ้องคดีได้ไปขอรับข้อมูลข่าวสารดังกล่าวจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เมื่อวันที่ กันยายน 2562 แต่ได้รับแจ้งว่าต้องรอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 มีมติว่าจะเปิดเผยหรือไม่เสียก่อน
ผู้ฟ้องคดีจึงได้ยื่นหนังสือทวงถามถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และได้มีหนังสือลงวันที่ 11 ตุลาคม 2562 ถึงคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ เร่งรัดให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ปฏิบัติ ตามคําวินิจฉัย ที่ สค 334/2562 ลงวันที่ 22 สิงหาคม 2562 คณะกรรมการข้อมูลข่าวสาร ของราชการได้มีหนังสือ ที่ นร 0108/4720 ลงวันที่ 18 ตุลาคม 2562 แจ้งผู้ฟ้องคดีว่า ได้มีหนังสือไปยังผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ขอให้เร่งรัดการปฏิบัติตามคําวินิจฉัยและขอให้แจ้งผลให้ สํานักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการทราบภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2562 หาไม่แล้ว ผู้ฟ้องคดีสามารถใช้สิทธิตามกระบวนการทางกฎหมายเพื่อให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ปฏิบัติให้เป็นไปตาม คําวินิจฉัยดังกล่าวได้ต่อไป
ผู้ฟ้องคดีจึงฟ้องคดีต่อศาลปกครองชั้นต้น ขอให้ศาลมีคําพิพากษา หรือคําสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 เปิดเผยข้อมูลข่าวสารรายการที่ 3 ถึงรายการที่ 6 ตามคําวินิจฉัย คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เปิดเผยสถิติการใช้สิทธิ ขอข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับคดีที่ยุติไปแล้วตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 นับตั้งแต่ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้จัดตั้งขึ้นและผลการดําเนินการตามคําขอดังกล่าว ศาลปกครองชั้นต้น พิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามเปิดเผยข้อมูลข่าวสารรายการที่ 3 และรายการที่ 4 ให้แก่ผู้ฟ้องคดี
ตามคําวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาขาสังคม การบริหาร ราชการแผ่นดินและการบังคับใช้กฎหมาย ที่ สค 334/2562 ลงวันที่ 22 สิงหาคม 2562 ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามไม่เห็นด้วยกับคําพิพากษาของ ศาลปกครองชั้นต้น จึงยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด
ศาลปกครองสูงสุดได้ตรวจพิจารณากฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้องประกอบด้วยแล้ว
@ คำวินิจฉัยของศาล
คดีมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามว่า การที่ ผู้ถูกฟ้องคดีไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารรายการที่ 3 และรายการที่ 4 ให้แก่ผู้ฟ้องคดี เป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกําหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือไม่
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า
จากบทบัญญัติของกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ผู้ถูกฟ้องทั้งสามถือเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เมื่อข้อมูลข่าวสารที่ผู้ฟ้องคดีขอ คือ ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีกล่าวหาพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ว่าจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบเกี่ยวกับคดีนาฬิกาข้อมือหรู โดยขอข้อมูลข่าวสารจำนวน 2 รายการ คือ
- รายการที่ 3 รายงานสรุปผลการแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานซึ่งคณะทำงานรวบรวมข้อเท็จจริงเสนอต่อที่ประชุมผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ในวันที่ 27 ธันวาคม 2561 และเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
- รายการที่ 4 คำซี้แจงของพลเอก ประวิตร ในคดีนี้ทั้ง 4 ครั้ง ที่ยื่นต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3
เป็นข้อมูลข่าวสารที่ได้มาจากการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว
จึงเป็นข้อมูลข่าวสารที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ได้มาจากการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ในการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่า มีการจงใจไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน หรือจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินหรือหนี้สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงควรแจ้งให้ทราบ หรือมีพฤติการณ์นควรเชื่อได้ว่ามีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินหรือหนี้สินหรือไม่ และอยู่ในความครอบครองหรือควบคุมดูแลของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ จึงเป็นข้อมูลข่าวสารของราชการ
ทั้งนี้ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีคำสั่งให้เปิดหรือไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารดังกล่าวจึงเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคล หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของผู้ฟ้องคดี
เมื่อข้อมูลข่าวสารของราชการที่ผู้ฟ้องคดีขอให้เปิดเผย ไม่ใช่ข้อมูลข่าวสารที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ต้องนำลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา หรือที่ต้องจัดให้มีไว้ให้ประชาชนเข้าตรวจดูได้ จึงเป็นข้อมูลข่าวสารของราชการที่ผู้ฟ้องคดีต้องยื่นคำขอให้เปิดเผย ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีหน้าที่ต้องจัดหาข้อมูลข่าวสารนั้นให้แก่ผู้ฟ้องคดีภายในเวลาอันสมควร เว้นแต่ผู้ฟ้องคดีจะขอจำนวนมากหรือบ่อยครั้งโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
อย่างไรก็ตาม หากข้อมูลข่าวสารนั้นเข้าลักษณะเป็นข้อมูลข่าวสารของราชการ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา15 วรรคหนึ่ง แห่งพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 และเมื่อคำนึงถึงการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของหน่วยงานของรัฐ ประโยชน์สาธารณะ และประโยชน์ของเอกชนที่เกี่ยวข้องประกอบกันแล้วผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 อาจมีคำสั่งไม่ให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารนั้นก็ได้ โดยมาตรา 15 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน บัญญัติให้เป็นดุลพินิจโดยเฉพาะของเจ้าหน้าที่ของรัฐตามลำดับสายการบังคับบัญซา ซึ่งหากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีคำสั่งไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารนั้น ผู้ฟ้องคดีย่อมมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารได้ตามมาตรา 15 วรรคสอง ประกอบกับมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว
คณะกรรมการดังกล่าวมีอำนาจหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งของผู้ถูกฟัองคดีที่ 1 ที่ไม่ให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสาร และอาจวินิจฉัยให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารนั้นได้ โดยคำนึงถึงการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของหน่วยงานของรัฐ ประโยชน์สาธารณะ และประโยชน์ของเอกชนที่เกี่ยวข้องประกอบกัน
ทั้งนี้ ตามมาตรา 15 วรรคหนี่ง ประกอบกับมาตรา 35 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน
ในการนี้คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารในฐานะเจ้าหน้าที่ที่พิจารณาอุทธรณ์ ย่อมมีอำนาจพิจารณาทบทวนคำสั่งทางปกครองของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหา ข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย หรือความเหมาะสมของการทำคำสั่งทางปกครอง และอาจมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งทางปกครองเดิมหรือเปลี่ยนแปลงคำสั่งนั้นไปในทางใดก็ได้ ตามมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539
เมื่อคดีนี้คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อข่าวสารพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ได้พิจารณาเรื่องร้องเรียนกรณีกล่าวหาพลเอก ประวิตร ว่าจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบแล้ว โดยมีมติไม่รับเรื่องไว้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง ส่วนกรณีการกล่าวหา ได้แก่ กรณีกล่าวหาว่าเป็นเจ้าพนักงานของรัฐรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ และกรณีกล่าวหาว่ามีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ แม้จะอยู่ในระหว่างการแสวงหาข้อเท็จจริงแต่เป็นคนละมูลกรณีกันกับการกล่าวหากรณีนี้
ซึ่งกระบวนการแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานในแต่ละคดีรวมทั้งการพิจารณาชั่งน้ําหนักพยานหลักฐานย่อมมีความแตกต่างกัน ไม่ได้จํากัดเฉพาะพยานหลักฐานในสํานวนเรื่องนี้เท่านั้น การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการไต่สวน ซึ่งได้ดําเนินการเสร็จสิ้นแล้วย่อมไม่เป็นอุปสรรคต่อการไต่สวนข้อเท็จจริงของเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. และข้อมูลข่าวสารตามที่ผู้ฟ้องคดีขอก็เป็นรายงานข้อเท็จจริงหรือข้อมูลข่าวสาร ที่นํามาใช้พิจารณาทําคําวินิจฉัยของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 มิใช่มีลักษณะเป็นความเห็นหรือคําแนะนําภายในหน่วยงานของรัฐ เพราะรายงานการประชุมและบันทึกเสนอรายงานผลการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. เป็นรายงานข้อเท็จจริงหรือข้อมูลข่าวสารที่นํามาใช้ในการพิจารณาทําคําวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช. การพิจารณาวินิจฉัย เป็นความรับผิดชอบของคณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่ละคน
การเปิดเผยข้อมูลทั้งในขั้นการพิจารณา ของเจ้าหน้าที่และของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 จะแสดงให้เห็นถึงความโปร่งใสและตรวจสอบได้ ซึ่งจะทําให้ เกิดความน่าเชื่อถือในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3
เมื่อพิเคราะห์ถึงการปฏิบัติหน้าที่ตาม กฎหมายของหน่วยงานของรัฐ ประโยชน์สาธารณะและประโยชน์ของเอกชนที่เกี่ยวข้องประกอบกันแล้ว ข้อมูลข่าวสารดังกล่าวจึงเปิดเผยได้ และคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ได้มีคําวินิจฉัยที่ สค 334/2562 ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการตาม คําขอของผู้ฟ้องคดี คําวินิจฉัยอุทธรณ์นี้ย่อมเป็นที่สุดตามมาตรา 37 วรรคสอง แห่งพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 และมีผลผูกพันผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามในฐานะที่เป็นหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามพระราชบัญญัตินี้ที่ต้องปฏิบัติตามคําวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ที่มีอํานาจพิจารณาอุทธรณ์ อุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามที่ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ไม่ต้องปฏิบัติตามคําวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร จึงฟังไม่ขึ้น
@ ประเด็นอุทธรณ์ พ.ร.บ. 2 ฉบับขัดกัน
สําหรับอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามที่ว่า แม้คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผย ข้อมูลข่าวสารจะได้มีคําวินิจฉัยให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้แก่ผู้ฟ้องคดีก็ตาม แต่การดําเนินการดังกล่าวต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรา 36 และมาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะ และตราขึ้นภายหลังจากที่ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ใช้บังคับแล้ว เมื่อมีบทบัญญัติขัดกัน ต้องถือปฏิบัติตามกฎหมายที่ออกมาภายหลัง นั้น
เมื่อพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ไม่ได้ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 เพียงแต่พระราชบัญญัติฉบับนี้ให้อํานาจแก่เจ้าหน้าที่และคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูล ข่าวสารใช้ดุลพินิจมีคําสั่งให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารในบางกรณีที่กฎหมายเฉพาะไม่ได้กําหนดไว้ได้ เมื่อได้ชั่งน้ําหนักถึงประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของหน่วยงานของรัฐ ประโยชน์สาธารณะ และประโยชน์ของเอกชนที่เกี่ยวข้อง ประกอบกันแล้ว
จึงไม่ใช่กรณีที่กฎหมายทั้งสอง ฉบับขัดแย้งกัน อันเป็นเหตุให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามจะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกอบ รัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะ หรือเป็นกฎหมายที่ตราขึ้นภายหลัง เนื่องจากแม้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามจะเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และเป็นหน่วยงานอิสระซึ่งจัดตั้งขึ้นให้มีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่หรือเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ของหน่วยงานดังกล่าว แต่ก็มีหน้าที่ตามมาตรา 215 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และบทบัญญัติของกฎหมาย ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็น พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตพ.ศ. 2561 หรือกฎหมายอื่น รวมถึงพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ด้วย อุทธรณ์ข้อนี้ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามจึงฟังไม่ขึ้น
@ ประเด็นอุทธรณ์ หากเปิดเผยข้อมูลจะมีโทษ
สําหรับอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามที่ว่า หากเปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามคําขอของผู้ฟ้องคดีแล้ว ผู้เปิดเผยจะมีโทษตามมาตรา 180 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 นั้น
เห็นว่า พระราชบัญญัติข้อมูล ข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 มาตรา 20 บัญญัติว่า การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารใดแม้จะเข้าข่ายต้องมีความรับผิดตามกฎหมายใด ให้ถือว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ต้องรับผิดหากเป็นการกระทํา โดยสุจริตในกรณีดังต่อไปนี้ (1) ข้อมูลข่าวสารตามมาตรา15 ถ้าเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ดําเนินการ โดยถูกต้องตามระเบียบตามมาตรา 16… พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการ ป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 36 วรรคสาม บัญญัติว่าห้ามมิให้มีการเปิดเผย หรือเผยแพร่ข้อมูลรายงานและสํานวนการตรวจสอบ การสอบสวน การไต่สวนหรือการไต่สวนเบื้องต้น รวมทั้งบรรดาเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบ สอบสวน ไต่สวน หรือไต่สวนเบื้องต้นที่อยู่ระหว่างการดําเนินการจนกว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะได้พิจารณาและมีมติในเรื่องดังกล่าวแล้ว เว้นแต่จะเป็นการเปิดเผยเพื่อประโยชน์ในการไต่สวนหรือไต่สวนเบื้องต้น
ทั้งนี้ ให้ถือว่าเป็นความลับของทางราชการ มาตรา 180 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ผู้ใดเปิดเผยข้อความ ข้อเท็จจริง หรือข้อมูลที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ได้มาเนื่องจากการปฏิบัติ หน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่ เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ เว้นแต่เป็นการเปิดเผยตามมาตรา 36 ระเบียบว่าด้วยการ รักษาความลับของทางราชการ พ.ศ.2544 ข้อ 24 กําหนดว่า ข้อมูลข่าวสารลับที่คณะกรรมการ วินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารมีคําวินิจฉัยให้เปิดเผยโดยไม่มีข้อจํากัดหรือเงื่อนไขใด ให้ถือว่า เป็นการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารนั้นถูกยกเลิกชั้นความลับแล้ว เว้นแต่มีการฟ้องคดีต่อศาลและศาลมีคําสั่งหรือ คําพิพากษาเป็นอย่างอื่น
คดีนี้ เมื่อการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามคําขอของผู้ฟ้องคดี ข้อมูลหลังจากที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้พิจารณาและมีมติในเรื่องดังกล่าวแล้วว่าไม่รับเรื่องไว้ ดําเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง ประกอบกับกรณีดังกล่าวเป็นกรณีที่คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผย ข้อมูลข่าวสารมีคําวินิจฉัยให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารโดยไม่มีข้อจํากัดหรือเงื่อนไข อันมีผลให้ข้อมูลข่าวสารนั้นถูกยกเลิกชั้นความลับแล้วตามข้อ 24 ของระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทาง ราชการพ.ศ. 2544
ซึ่งหากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารโดยสุจริตและถูกต้องตาม ระเบียบดังกล่าวก็ไม่ต้องมีความรับผิดและมีโทษตามกฎหมายใด ๆ รวมถึงมาตรา 180 แห่ง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ด้วย
ทั้งนี้ ตามมาตรา 20 (1) แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 อุทธรณ์ ข้อนี้ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามจึงฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
@ พิพากษายืนตามศาลปกครองชั้นต้น
การที่ศาลปกครองขั้นต้นพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร รายการที่ 3 และรายการที่ 4 ให้แก่ผู้ฟ้องคดีตามคําวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดินและการบังคับใช้กฎหมาย ที่ สค 334/2562 ลงวันที่ 22 สิงหาคม 2562 ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุดนั้น ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน...
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2566 ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาให้ ป.ป.ช เปิดเผยข้อมูลคดียืมนาฬิกาหรูและแหวนเพชร ให้แก่ นายวีระ สมความคิด ผู้ฟ้องคดี จำนวน 3 รายการ ได้แก่ 1.รายการการแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานเอกสารทั้งหมดในคดียืมนาฬิกาหรูและแหวนเพชรของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี 2.ความเห็นของพนักงานเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ทุกคนที่รับผิดชอบเรื่องนี้ 3.รายงานการประชุมของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด
แต่ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้เปิดเผยเอกสารรายการที่ 1 รายงานและสำนวนการตรวจสอบ การไต่สวน และการไต่สวนเบื้องต้น รวมทั้งบรรดาเอกสารที่เกี่ยวข้อง รายการการแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานเอกสารทั้งหมด และเอกสารรายการที่ 3 รายงานการประชุมของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่เกี่ยวกับเรื่องนี้เท่านั้น
สำหรับเอกสารรายการที่ 2 ความเห็นของพนักงานเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ทุกคนที่รับผิดชอบเรื่องนี้ ป.ป.ช.มีมติเป็นเอกฉันท์ (6 เสียง) ว่าการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. พนักงานไต่สวน พนักงานเจ้าหน้าที่ รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ปรึกษา ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการมาช่วยปฏิบัติงานภายใต้กรอบอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. อันเป็นการคุ้มครองข้อมูลข่าวสารที่พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 มาตรา 15 ให้ความคุ้มครอง สอดคล้องกับมาตรา 36 วรรคท้ายของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561ประกอบกับศาลปกครองสูงสุดเคยมีคำพิพากษาให้การรับรองคุ้มครองการเปิดเผยข้อมูลในลักษณะดังกล่าวมาแล้ว
พร้อมมอบหมายให้สำนักคดี นำคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่เคยมีคำพิพากษาคุ้มครองการเปิดเผยข้อมูล พร้อมประเด็นปัญหาไปหารือเกี่ยวกับการปฏิบัติตามคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว รวมถึงปัญหาข้อขัดข้องกับตุลาการศาลปกครองสูงสุดต่อไป
คดี นายพงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ จะซ้ำรอยเดียวกับ นายวีระ สมความคิด ต้องคอยติดตามดูกันต่อไป
อ่านเพิ่มเติม
- ศาลปกครองสูงสุดสั่ง ป.ป.ช.ส่งข้อมูลคดีนาฬิกาประวิตรให้ 'วีระ สมความคิด'ภายใน 15 วัน
- จะทำให้ ป.ป.ช.โปร่งใส! ฉบับเต็ม คำพิพากษาศาล ปค.สูงสุด สั่งเปิดผลคดี 'นาฬิกาประวิตร'
- ป.ป.ช.นัดถกวาระผลคดีนาฬิกาบิ๊กป้อม 26 เม.ย.นี้ - 'วีระ' ลั่นไม่ได้เข้าขบวนการบังคับ
- ขอถามศาลฯอีกครั้ง! ป.ป.ช.ลงมติ 5 :1 เสียง ยังไม่เปิดเผยผลคดีนาฬิกาบิ๊กป้อมให้ 'วีระ'
- ยอมแค่ 2 รายการ! ป.ป.ช.มติเอกฉันท์เปิดเผยผลคดีนาฬิกาบิ๊กป้อม ให้ 'วีระ' แล้ว
- ความเห็นจนท.อันตราย! เบื้องหลัง มติ ป.ป.ช. ทำไม? ยอมเปิดผลคดีนาฬิกาหรู แค่ 2 รายการ
- หวั่นเจ้าของสำนวนเป็นอันตราย! เลขาป.ป.ช.ยืนยันมติเปิดผลคดีนาฬิกาให้ 'วีระ' แค่ 2 รายการ
- นัด 8 พ.ค. ล่ม! 'วีระ' ไม่ไปยื่นรับผลคดีนาฬิกาบิ๊กป้อม 2 รายการ-ขู่ฟ้อง ป.ป.ช. 4 คน