"...กรณีนี้เนื่องจากมีข้อสังเกตที่น่าสงสัย จากคำชี้แจ้งของพล.อ.ประวิตร กล่าวว่า นาฬิกาหรูทั้งหมดถูกยืมมาจากเพื่อน และเพื่อนเสียชีวิตหมดแล้ว ซึ่งผิดวิสัยของคนปกติ คือ ถ้าเป็นของที่ยืมมา ยิ่งเป็นเพื่อนรัก จะต้องคืนของนี้ให้ครอบครัวไป แต่กระทั่งขณะที่ไปงานศพของเพื่อน พล.อ.ประวิตร ก็ยังใส่นาฬิกาหรูไปด้วย จึงเป็นที่คลางแคลงใจว่า นาฬิกาเหล่านี้ น่าจะเป็นของพล.อ.ประวิตรที่ไม่ได้แจ้งในบัญชีทรัพย์สิน อีกทั้ง ในตอนที่ ป.ป.ช.แถลงข่าวถึงคดีนี้ ยังตอบคำถามสื่อมวลชนไม่ครบ และเดินออกไปทันที..."
-----------------------------------------
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวสำคัญชิ้นหนึ่งเกิดขึ้นในสังคมไทย คือ กรณี ศาลปกครองกลาง ได้อ่านคำพิพากษาให้ ผู้สื่อข่าว The MATTER ชนะคดีฟ้องคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช.) กรณีไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับคดีนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
โดยศาลปกครองกลาง ได้พิพากษา ให้ ป.ป.ช.ต้องเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร จำนวน 2 รายการที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ให้กับผู้สื่อข่าวสำนักข่าวออนไลน์ The MATTER ประกอบด้วย 1.) รายงานสรุปผลการแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานซึ่งคณะทำงานรวบรวมเสนอต่อที่ประชุม ป.ป.ช.ในวันที่มีมติเกี่ยวกับคดีนี้ รวมถึงเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และ 2.) คำชี้แจงของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ยื่นต่อ ป.ป.ช. ในคดีนี้ รวมทั้งหมด 4 ครั้ง
ทั้งนี้ ให้ปกปิดข้อมูลที่มีลักษณะเฉพาะของบุคคล และให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารดังกล่าวเผยใน 15 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด
คำถามที่น่าสนใจ คือ ทำไม ผู้สื่อข่าวThe MATTER รายนี้ ถึงตัดสินใจใช้วิธีการฟ้องร้องตามขั้นตอนทางกฎหมาย เพื่อให้ ป.ป.ช. เปิดเผยข้อมูลดังกล่าว
สำนักข่าวอิศรา ได้มีโอกาสพูดคุยกับ ผู้สื่อข่าวThe MATTER รายนี้ คือ นายพงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ ผู้สื่อข่าวและบรรณาธิการอาวุโส สำนักข่าวออนไลน์ The MATTER ซึ่งเคยเป็นอดีตผู้สื่อข่าวอาวุโส สำนักข่าวอิศรา ด้วย
นายพงศ์พิพัฒน์ เริ่มต้นฉายภาพว่า ย้อนกลับไปเมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา หลังจากพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในขณะนั้น ยกมือขึ้นบังแดด ขณะถ่ายภาพหมู่คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2560 จจนเป็นจุดเริ่มต้นให้สังคมตั้งคำถามว่า นาฬิกาหรูที่สวมใส่ในข้อมือ ได้มีการยืนแจ้งบัญชีทรัพย์สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่ จากนั้นมีผู้สื่อข่าวพลเมืองได้ตรวจสอบภาพย้อนหลัง พบว่า มีนาฬิกาหรูมากถึง 25 เรือนที่ไม่ได้แจ้งในบัญชีทรัพย์สิน โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เข้ามาตรวจสอบ ใช้เวลา 1 ปี และมีมติไม่รับคดีนี้ไว้ไต่สวน ตั้งแต่วันที่ 27 ธ.ค. 2561
เป็นเหตุให้ เขา ได้ตัดสินใจยื่นฟ้อง ป.ป.ช. เพื่อทวงถามข้อมูลเรื่องนี้
@ เรื่องนี้มีข้อสังเกตที่น่าสงสัย
นายพงศ์พิพัฒน์ ย้ำว่า "กรณีนี้เนื่องจากมีข้อสังเกตที่น่าสงสัย จากคำชี้แจ้งของพล.อ.ประวิตร กล่าวว่า นาฬิกาหรูทั้งหมดถูกยืมมาจากเพื่อน และเพื่อนเสียชีวิตหมดแล้ว ซึ่งผิดวิสัยของคนปกติ คือ ถ้าเป็นของที่ยืมมา ยิ่งเป็นเพื่อนรัก จะต้องคืนของนี้ให้ครอบครัวไป แต่กระทั่งขณะที่ไปงานศพของเพื่อน พล.อ.ประวิตร ก็ยังใส่นาฬิกาหรูไปด้วย จึงเป็นที่คลางแคลงใจว่า นาฬิกาเหล่านี้ น่าจะเป็นของพล.อ.ประวิตรที่ไม่ได้แจ้งในบัญชีทรัพย์สิน อีกทั้ง ในตอนที่ ป.ป.ช.แถลงข่าวถึงคดีนี้ ยังตอบคำถามสื่อมวลชนไม่ครบ และเดินออกไปทันที"
นายพงศ์พิพัฒน์ ตอบคำถาม ก่อนจะอธิบายรายละเอียดเป็นขั้นเป็นตอนในการตามรอยข้อมูลสำคัญดังกล่าวให้ฟังต่อว่า
จากนั้นเขาได้ใช้สิทธิภายใต้ พระราชบัญญัติ ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 ยื่นขอข้อมูลเกี่ยวกับคดีนาฬิกา 6 รายการแก่ ป.ป.ช. ในวันที่ 28 ธ.ค. 2561 วันถัดมาจากวันที่มีแถลงข่าว โดยใช้เวลา 6 เดือน ทาง ป.ป.ช.จึงให้เอกสารมาให้ 2 รายการ หนึ่งในนั้น ไม่ใช่เอกสารที่สำคัญมากนัก แต่อีกรายงานคือ มติของ ป.ป.ช.ที่ไม่รับไต่สวน
โดยพบว่าครึ่งหนึ่งของเอกสารนั้น เป็นกระดาษเปล่า จึงทำคอนเทนต์นำเสนอข้อมูล 'เปิดกล่อง (Unbox)' ขึ้น เพื่อตั้งคำถามว่า ป.ป.ช.ทำแบบนี้กับประชาชนที่ขอข้อมูลได้หรือไม่?
ส่วนข้อมูลอีก 4 รายการที่ทาง ป.ป.ช.ยังไม่ให้ข้อมูล เขาได้ยื่นอุทรณ์ไปที่กรรมาการวินิฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร (กวฉ.) ตามกลไกทางกฎหมาย ผลปรากฎว่า กวฉ.มีคำสั่งให้ ป.ป.ช.เปิดเผยข้อมูลได้ เพราะ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ระบุว่า คำวินิจฉัยของ กวฉ.ถือเป็นที่สุด
แต่ทาง ป.ป.ช.ก็ยังไม่เปิด อ้างว่ามีกฎหมายที่ ป.ป.ช.เปิดไม่ได้ จึงได้มีการต่อสู้ตามกระบวนการทางกฎหมายเรื่อยมา จนล่าสุด เมื่อวันที่ 15 ก.ย.2564 ศาลปกครองได้อ่านคำพิพากษาให้ ป.ป.ช. ต้องเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของคดีนี้ภายใน 15 วัน เป็นเอกสารสำคัญ 2 รายการ คือ รายงานผลการตรวจสอบที่คณะทำงานรวบรวมมา และคำชี้แจงของพล.อ.ประวิตร ที่ส่งให้กับ ป.ป.ช.
@ พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ / ภาพจาก prachatai.com
@ ข้อชี้แจ้งของ ป.ป.ช.ที่อ้างในเชิงกฎหมาย
นายพงศ์พิพัฒน์ ขยายความเพิ่มเติมว่า สำหรับข้อชี้แจ้งของ ป.ป.ช.ที่อ้างในเชิงกฎหมาย มีรายละเอียดดังนี้
1) เนื่องจากเป็นคดีที่ยังไม่จบ เพราะเป็นการยื่นขอข้อมูลการไม่แจ้งบัญชีทรัพย์สิน เข้าใจว่ามีอีก 2 คดี คือ ร่ำรวยผิดปกติ และรับทรัพย์สินเกิน 3,000 บาท แต่ศาลฯ ปัดตกไปแล้ว โดยให้เหตุผลว่าเป็นคนละคดีกัน
2) ป.ป.ช.อ้างว่าเป็นองค์กรอิสระ การที่ต้องมาเปิดข้อมูลภายใต้ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ จะทำให้เกิดความไม่อิสระ แต่ศาลฯ ได้ปัดตก พร้อมระบุว่า การเปิดเผยข้อมูลหรือเอกสารเพื่อให้เกิดความโปร่งใส และตรวจสอบได้ จะทำให้ประชาชนเชื่อมั่น และเชื่อถือการทำงานของ ป.ป.ช.
3) ป.ป.ช.อ้างว่าเป็นองค์กรอิสระ ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้นการตัดสินใจของ ป.ป.ช.จึงไม่อยู่ภายใต้อำนาจคดีของศาลปกครอง โดยศาลฯ ได้ชี้แจงว่า ป.ป.ช.เป็นองค์กรอิสระ ตั้งโดยรัฐธรรมนูญจริง แต่รายละเอียดการใช้อำนาจ ต้องใช้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช. ดังนั้น ป.ป.ช.เป็นหน่วยงานของรัฐ ใช้อำนาจทางปกครอง จึงอยู่ภายใต้อำนาจศาลปกครอง
4) ป.ป.ช.อ้างว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ซึ่งออกมาหลังจาก พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ดังนั้น กฎหมายใหม่จะชนะกฎหมายเก่ากว่า โดยศาลฯ ปัดตกอีก พร้อมระบุว่า กรณีการออก พ.ร.บ. ป.ป.ช.นี้ขึ้น เพื่อยกเลิกกฎหมายเดิม
สำหรับข้อกฎหมายที่ ป.ป.ช.อ้างจาก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันฯ คือ มาตรา 36 และมาตรา 180 ซึ่งไม่ได้กำหนดว่า ห้ามป.ป.ช.เปิดเผยข้อมูล แต่เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไข ข้อยกเว้นในการต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ เพื่อเปิดเผยข้อมูล แต่ ป.ป.ช.นำมาอ้างเพื่อบอกว่า ไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลได้
นายพงศ์พิพัฒน์ ย้ำว่า "ข้ออ้างที่บอกว่าเป็นองค์กรอิสระ ไม่อยู่ใต้อำนาจศาลปกครอง ป.ป.ช. เคยอ้างเรื่องการไม่เปิดเผยข้อมูลแบบนี้มาหลายครั้ง หลายคดีมา 10 กว่าปีแล้ว ศาลก็ปัดตกมาตลอด
คำถามคือ คุณรู้อยู่แล้วว่าแพ้ ทำไมยังอ้างอีก?"
นายพงศ์พิพัฒน์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ เอกสารที่ศาลฯ มีคำพิพากษาให้ ป.ป.ช.เปิดเผยข้อมูล ปัจจุบันเขายังไม่ได้รับ เนื่องจากคดีเพิ่งมีวันที่ 15 ก.ย.ที่ผ่านมา ยังมีเวลาอุทรณ์ศาลปกครองสูงสุดอีก 30 วัน โดยทาง ป.ป.ช.จะมีการจัดประชุมชุดใหญ่ในสัปดาห์หน้า
"แต่จากการหาข้อมูล ต่อให้ ป.ป.ช.แพ้คดีศาลปกครองกลาง ป.ป.ช.ก็จะนำเอาข้อต่อสู้ ข้อเท็จจริงเดิมๆ ยื่นต่อศาลปกครองสูงสุดอยู่ดี เพื่อให้ใช้เวลานานที่สุด กว่าจะยอมเปิดข้อมูล โดยตามกระบวนการทาง ป.ป.ช.จะต้องให้ข้อมูลหลังจากคดีในศาลปกครองกลางสิ้นสุดภายใน 15 วัน แต่ทั้งนี้มีระยะเวลายื่นอุทรณ์อีก 30 วัน ดังนั้น ระยะเวลาที่จะได้ข้อมูลเร็วที่สุดคือ 14-15 วัน นับแต่วันที่การตัดสิน แต่ถ้ามีการยื่นอุทรณ์ต่อ ช้าที่สุด ป.ป.ช.มีระยะเวลาต่ออีก 1-2 ปี" นายพงศ์พิพัฒน์กล่าว
@ สำนักงาน ป.ป.ช.
@ ป.ช.ช.ยุคหลัง ตรวจสอบยาก โปร่งใสน้อย
นายพงศ์พิพัฒน์ กล่าวถึงสาเหตุการยื่นฟ้อง ป.ป.ช.ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อให้เปิดเผยข้อมูลว่า เนื่องจากตนรู้สึกว่า ป.ป.ช.เป็นองค์กรที่ตรวจสอบคนอื่น แต่ปัญหาที่ผ่านมา คือ ความโปร่งใสของ ป.ป.ช.ลดระดับมาเรื่อย ๆ ในฐานะสื่อมวลชนที่เริ่มทำงานมาตั้งแต่ปี 2551 เห็นว่า นับวัน ยิ่งเข้าถึงข้อมูลยากขึ้น จึงรู้สึกว่า ต้องตรวจสอบเรื่องนี้ หรือพยายามหาข้อมูลเรื่องนี้ให้ได้
โดยใช้คดีของ พล.อ.ประวิตร ซึ่งเป็นคดีดัง ในการพิสูจน์ว่า ป.ป.ช.ควรจะโปร่งใส หรือเปิดเผยข้อมูลอย่างไร ซึ่งพิสูจน์ว่า ป.ป.ช.ไม่ทำ จะทำแค่ตามกฎหมายอย่างเดียว ซึ่งเหตุผลนี้น่ากลัว เนื่องจากงานของ ป.ป.ช. เป็นการป้องกันปละปราบปราม รวมถึงการตรวจสอบการทุจริต ซึ่งไม่สามารถทำเองได้ทั้งหมด จะต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชน สื่อมวลชนสื่อ จากทุกฝ่ายในสังคม ดังนั้น การที่จะให้บุคคลอื่นเชื่อมั่น และร่วมมือได้ จะต้องทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาและโปร่งใส
แต่ที่ผ่านมา ป.ป.ช.ทำหน้าที่ไม่โปร่งใส ตรวจสอบยาก และมีความเป็นราชการสูงมาก นายพิพัฒน์กล่าวว่า ในส่วนส่วนนี้อันตราย อีกทั้ง ป.ป.ช.ในปัจจุบันมีบาดแผลอยู่เยอะ เพราะว่ากรรมการ 7 ใน 9 คน ได้รับการแต่งตั้งมาในยุคของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีอำนาจ ทั้งประธาน ป.ป.ช.เอง ทุกคนก็รู้ว่าเคยเป็นลูกน้อง พล.อ.ประวิตรมาก่อน แม้ว่า กรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งนั้น จะเป็นคนดี มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ แต่เนื่องจากการเข้ามารับตำแหน่งด้วยกลไกที่ คสช.เลือกมา หรือไว้ใจ ปล่อยให้มาทำงานที่ ป.ป.ช. และกรรมการ 5 ใน 7 คน แต่งตั้งโดย สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่ง สนช. แต่งตั้งโดย คสช. ส่วนอีก 2 คน มาจากวุฒิสภาเป็นผู้แต่งตั้ง โดยวุฒิสภานี้ ก็มาจากการแต่งตั้งของ คสช.เช่นเดียวกัน
"อีกหนึ่งบาดแผลของ ป.ป.ช. คือ คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดปัจจุบัน แท้จริงแล้วควรหมดวาระ เนื่องจากมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ในปี 2560 ตามธรรมเนียมจะต้องหมดวาระและแต่งตั้งใหม่ เช่นเดียวกับสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แต่ ป.ป.ช.ไม่โดน จึงเป็นคำถามท่ามกลางสังคมว่าทำไมและเพราะอะไร"
นายพงศ์พิพัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า มีอีกหลายเรื่องที่ทำให้ความโปร่งใสของ ป.ป.ช.ลดลง เช่น การเปิดการเผยบัญชีทรัพย์สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีอายุเพียง 180 วัน ซึ่งในอดีต ควรจะเป็นตลอดกาล
"ทำให้เกิดปัญหาว่า ถ้าหากเวลาสังคมมีข้อสงสัย จะไปตรวจสอบบัญชีย้อนหลัง ทำให้ไม่สามารถดูได้ อย่างกรณีคดีของพล.อ.ประวิตร ถ้าเกิดยุคนี้ ถ้าย้อนไปดู บัญชีทรัพย์สินของพล.อ.ประวิตรก็จะดูไม่ได้แล้ว ทำให้ตนพยายามสะท้อนให้ยกเลิกตรงนี้ เพราะทำให้ประชาชนร่วมตรวจสอบไม่ได้ ซึ่ง ป.ป.ช.ก็รับปากไป แต่ก็ยังไม่ทำอะไร"
อีกทั้งการไม่เปิดเผยคดีที่อยู่ระหว่างไต่สวน จากเดิมคดีที่กำลังไต่สวน จะเปิดเผยว่า บุคคลใดโดนกล่าวหาอยู่ ป.ป.ช.ดำเนินการถึงกระบวนการไหนแล้ว แต่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันฯ มาตรา 36 ระบุว่า คดีไหนที่อยู่ระหว่างการไต่สวน ห้ามเปิดเผยข้อมูล ทาง ป.ป.ช.ได้ตีความว่า ห้ามบอกเลยว่า คดีอะไรอยู่ในมือของ ป.ป.ช. ก็ปิดทั้งหมด ทำให้การตรวจสอบว่าทำไมคดีช้า หรือคดีถึงไหนแล้ว ไม่มีโอกาสในการรับรู้ได้เลย
และอีกหนึ่งเรื่องคือ การไม่เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่ยื่นไว้ หลังการรับตำแหน่งในครั้งที่ 2 ซึ่งนายพิพัฒน์ เปิดเผยว่าตนได้ยื่นขอดูข้อมูล ตามสิทธิ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ เนื่องจากนายวิษณุได้กล่าวกลางสภาว่า ใครอยากดูบัญชีทรัพย์สินให้ไปถามจากทาง ป.ป.ช. แต่ ป.ป.ช.ได้อ้างว่าไม่มีอำนาจในการเปิดเผย
นี่คือภาพรวมว่า ป.ป.ช.ในยุคนี้ ตรวจสอบยาก โปร่งใสน้อย มีความราชการมากขึ้น และคดีนาฬิกาหรูของพล.อ.ประวิตร ก็เป็นการย้ำว่าการตรวจสอบ ป.ป.ช.นั้น ยากมากขึ้น
"สิ่งสำคัญที่งานของ ป.ป.ช.จะสำเร็จได้ คือ สังคมต้องให้ความเชื่อถือและความร่วมมือ แต่ยิ่ง ป.ป.ช.ทำแบบนี้ คนก็ไม่เชื่อถือ อยากให้ป.ป.ช.โปร่งใสมากกว่านี้ และ ป.ป.ช.ชอบตีความกฎหมายเพื่อให้ตัวเองไม่ทำอะไร ทั้งที่สามารถตีความกฎหมายให้เปิดกว้าง และสร้างความโปร่งใสมากกว่านี้ได้" นายพงศ์พิพัฒน์ ระบุ
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage