"ทีมข่าวอิศรา" ลงพื้นที่สำรวจถนนลาดยางที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งเป็นถนนที่เพิ่งตัดใหม่ และมีเส้นทางเข้าไปสู่ที่ดินขนาด 3,000 ไร่ใน อ.หนองจิก จ.ปัตตานี
ที่ดินผืนนี้คาดว่าเป็นผืนเดียวกับที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ให้ข้อมูลว่าเป็นที่ดินผืนที่เตรียมไว้สำหรับเป็นนิคมอุตสาหกรรม หรือสร้างโรงงานอุตสาหกรรม เพราะเป็น "พื้นที่สีม่วง" ตามผังเมืองรวมจังหวัดปัตตานี
ที่ดินผืนนี้เองที่เป็น 1 ใน 2 ชนวนเหตุซึ่งทำให้ บริษัท ซูเพิร์บ ครีเอชั่น เฟอร์นิเจอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศย้ายฐานการลงทุนไปยังแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ทั้งๆ ที่เพิ่งตัดสินใจเข้ามาลงทุนที่ปัตตานีเมื่อราวๆ 1 ปีเศษที่ผ่านมา ตามนโยบาย "สามเหลี่ยมมั่นคง มั่นคั่ง ยั่งยืน" ของรัฐบาล โดยมี ศอ.บต.เป็นผู้ประสานงานทุกอย่างภายใต้การรับรู้ รับทราบของรัฐบาล และ อ.หนองจิก ก็เป็น 1 ใน 3 เมืองต้นแบบ ภายใต้แนวคิด "เมืองต้นแบบเกษตรอุตสาหกรรมก้าวหน้าผสมผสาน" ด้วย
แต่ผ่านมา 1 ปี บริษัทฯอ้างว่า ศอ.บต.ไม่ทำตามสัญญาที่ให้ไว้ เนื่องจากค่าส่วนต่างจากการ ขนส่งเฟอร์นิเจอร์จากปัตตานีไปสหรัฐอเมริกา ซึ่งแพงกว่าที่แหลมฉบัง ประมาณ 15,000 บาทต่อตู้คอนเทนเนอร์ ไม่ได้รับการชดเชย
ส่วนที่ดินที่จะขยายโรงงาน ก็เจรจาตกลงราคากันไม่ได้ จนบริษัทฯต้องไปหาซื้อที่ดินผืนใหม่ แต่กลับกลายเป็นที่ดินที่อยู่ในเขต "สีเขียว" ในผังเมืองรวมของจังหวัด ไม่สามารถตั้งโรงงานได้ เมื่อบริษัทฯขอให้ ศอ.บต.ช่วยเหลือเปลี่ยนแปลงผังเมือง ก็ยังไม่มีการดำเนินการให้เห็นผลเป็นรูปธรรม
แต่ในมุมมองของผู้บริหาร ศอ.บต.อย่าง "ดร.เจ๋ง" ชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ มองว่าเป็นความผิดพลาดของบริษัทฯเองที่ไปซื้อที่ดินในเขตผังเมืองสีเขียว
"จริงๆ มีพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมหนองจิกที่ ศอ.บต.เตรียมไว้แล้ว เป็นพื้นที่สีม่วง 3,000 กว่าไร่ ถ้าโรงงานไปตั้งก็จบ แต่ความผิดพลาดเกิดขึ้นเพราะโรงงานไปซื้อพื้นที่ในเขตผังเมืองสีเขียว พอเงื่อนไขเป็นแบบนี้ เขาก็ทำอะไรไม่ได้ ต้องไปปรับผ้งเมืองก่อน จะก่อสร้างอะไรก็ไม่ได้เพราะเป็นสีเขียว ตอนนี้ทางจังหวัดปัตตานีก็กำลังดำเนินการให้ แต่การปรับผังเมืองไม่ได้เสร็จภาย 3 เดือน แต่จะเป็น 2-3 ปีหรือเปล่าเราก็ไม่รู้ ก็ทำให้เกิดปัญหา" ดร.เจ๋ง กล่าว (อ่านประกอบ : เปิดเอกสาร ศอ.บต.ถึง"ประยุทธ์" บทพิสูจน์ลอยแพ รง.เฟอร์ฯหมื่นล้าน?, "สุเมธ vs ดร.เจ๋ง" โรงงานเฟอร์ฯ(ใกล้)เจ๊ง...ใครรับผิดชอบ)
ทว่าเมื่อหันไปฟังเหตุผลของกรรมการบริหารบริษัทฯ กลับพบว่าปัญหาเรื่องที่ดินมีความซับซ้อนไม่น้อยทีเดียว...
"ตอนแรกมีการตกลงซื้อที่ดินในราคา 250,000 บาท เป็นที่ดินในเขตที่ ศอ.บต.เตรียมไว้ มีการชี้พื้นที่กันเรียบร้อย แต่วันเซ็นสัญญา ทางเจ้าของที่ดินบอกว่าขอปรับราคาขึ้นเป็น 4 แสนกว่าบาท ทางโรงงานก็ยังยินดีที่จะซื้อต่อ แต่เขาบอกว่าไม่ใช่ตรงนั้นนะ แต่เป็นอีกจุดหนึ่งที่อยู่ใกล้ๆ กัน จึงไปดู ปรากฏว่าเป็นบ่อกุ้งร้าง ไม่มีทางเข้าออก และอยู่ด้านหลังพื้นที่สีเขียวที่ตัดสินใจซื้อในภายหลัง"
"ส่วนที่ดินที่ทางบริษัทฯซื้อมา มีทางเข้าออกติดถนนสาย 42 (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 42) เส้นหนองจิก-ปัตตานี ติดกับอาคารดอนบอสโกที่โรงงานเช่าอยู่ในขณะนี้ ทางโรงงานเลือกซื้อตรงนี้ และขอยืนยันว่าซื้อมาถูกกว่าพื้นที่สีม่วง และถมดินน้อยกว่าบ่อกุ้งร้างแน่นอน"
"การซื้อที่ดินเพื่อสร้างโรงงานติดถนนสายใหญ่ จะสะดวกเรื่องการขนส่งมากกว่า และลดต้นทุนโลจิสติกส์ได้อีกพอสมควร แต่หากสร้างโรงงานบนที่ดินด้านในที่อยู่ลึกเข้าไป ก็ต้องใช้รถบรรทุกขนาดใหญ่ หรือรถขนตู้คอนเทนเนอร์ขับเข้าไปรับของจากโรงงาน เพิ่มทั้งความลำบากและเพิ่มต้นทุน" เป็นคำชี้แจงจาก นายสุเมธ สุขพันธ์โพธาราม กรรมการบริษัท ซูเพิร์บ ครีเอชั่น เฟอร์นิเจอร์ฯ
จากคำชี้แจงของบริษัทฯ มีข้อสังเกตที่น่าสนใจ 3 ประการ คือ
1. ที่ดินขนาด 3,000 ไร่เศษผืนนี้ที่ ศอ.บต.อ้างว่าเป็นพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมหนองจิกที่ ศอ.บต.เตรียมเอาไว้นั้น แท้ที่จริงแล้วเป็นที่ดินของเอกชน ไม่ใช่ของ ศอ.บต. หรือที่ดินของรัฐ (เช่น ที่ธนารักษ์)
2. ที่ดินผืนนี้ โดยเฉพาะส่วนที่เจ้าของที่ดินจะขายให้กับบริษัทฯนั้น เป็นบ่อกุ้งร้าง และไม่มีทางเข้าออก (ข้อมูลจากผู้บริหารบริษัทฯ อ้างถึงตอนที่เจรจาซื้อขายที่ แต่ปัจจุบันกำลังมีการก่อสร้างถนนผ่านเข้าไปในแนวที่ดินผืนนี้)
3. มีปัญหาเรื่องการเจรจาต่อรองราคา ซึ่งประเด็นนี้มีปรากฏในเอกสารข่าวของ ศอ.บต.ที่ชี้แจงกรณีที่เกิดขึ้น โดยระบุว่า "ด้วยเหตุผลบางประการจากการเจรจาธุรกิจของเอกชน หรือเงื่อนไขอื่นใดที่แทรกแซงการทำงานเข้ามาก็ดี ทำให้ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันได้"
ข้อสังเกตทั้ง 3 ข้อ มีถึง 2 ข้อ คือ ข้อ 1 กับข้อ 3 ที่ ศอ.บต.เองยอมรับว่าเป็นความจริง เนื่องจากมีเอกสารข่าวชี้แจงออกมา และข้อมูลตรงกันกับที่ผู้บริหารบริษัทฯออกมากล่าวอ้าง ขณะที่คำอธิบายของ ดร.เจ๋ง รองเลขาธิการ ศอ.บต. ยังระบุชื่อเจ้าของที่ดินด้วยซ้ำ เป็นนักธุรกิจเจ้าของโรงงานปาล์ม และกิจการรับเหมาก่อสร้างในปัตตานี
ส่วนข้อสังเกตที่ 2 คือสภาพที่ดินเป็นบ่อกุ้งร้าง และไม่มีทางเข้าออก โดยปัจจุบันเพิ่งจะมีการก่อสร้างถนนนั้น ยังต้องรอการพิสูจน์ และจากข้อสังเกตนี้เองที่ "ทีมข่าวอิศรา" ตัดสินใจลงพื้นที่จริงเพื่อตรวจสอบ
ถนนสายนี้ตัดแยกจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 42 (ปัตตานี-นราธิวาส) หรือถนนเพชรเกษม ซึ่งเป็นทางหลวงแผ่นดินขนาด 4-6 ช่องจราจร ที่เชื่อมต่อกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 43 (ปัตตานี-หาดใหญ่) อีกทีหนึ่ง
หากตั้งต้นเดินทางจากสี่แยกดอนยาง ซึ่งเป็นทางแยกเข้าตัวจังหวัดปัตตานี จากเส้นทางสายหาดใหญ่-ปัตตานี มุ่งหน้ามายัง อ.หนองจิก และ อ.เมือง โดยใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 42 ห่างจากแยกดอนยางประมาณ 1 กิโลเมตร จะถึงสำนักงานโครงการชลประทานปัตตานี มีสะพานข้ามคลองชลประทานเป็นจุดสังเกต เมื่อข้ามสะพานไป จะมีทางแยกซ้าย คือถนนสายที่ตัดเข้าไปยังที่ดิน 3,000 ไร่ของเอกชนที่ ศอ.บต.อ้างว่าเตรียมไว้สำหรับเป็นเขตอุตสาหกรรมหนองจิก
เมื่อเลี้ยวซ้ายเข้าไป จะพบว่าเป็นถนนลาดยางใหม่ๆ บางช่วงยังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง เส้นทางในช่วงแรก ฝั่งซ้ายมือเป็นคลองชลประทาน ฝั่งขวาเป็นที่ดินเปล่าสลับกับท้องนาและบ่อกุ้งร้าง บางช่วงเป็นป่าละเมาะ ความยาวของถนนสายใหม่นี้ยาวถึง 7 กิโลเมตร หากขับรถตรงไปเรื่อยๆ จะไปทะลุทางหลวงชนบท หมายเลข 2070 หากเลี้ยวซ้ายต่อไปยังถนนสายชนบท จะเข้าสู่ ต.ตันหยงเปาว์ อ.หนองจิก และไปสุดที่ชายทะเลปัตตานี แต่ถ้าเลี้ยงขวาตรงจุดตัดทางหลวงชนบทหมายเลข 2070 จะวนไปออกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 42 (ปัตตานี-นราธิวาส) หรือถนนเพชรเกษม
จากปากทางของถนนลาดยางสายใหม่ หากไม่เลี้ยวซ้ายเข้าไป แต่ขับรถต่อไปบนถนนเพชรเกษม ระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร จะผ่านหน้า บริษัท ปาล์มพัฒนาชายแดนใต้ จำกัด ถัดไปอีกราวๆ 2 กิโลเมตร จะเป็นอาคารดอนบอสโก ซึ่งเป็นอาคารที่ บริษัท ซูเพิร์บ ครีเอชั่น เฟอร์นิเจอร์ฯ เช่าทำเป็นโรงงานอยู่ในปัจจุบัน และถัดจากอาคารดอนบอสโก ก็จะเป็นที่ดินขนาด 211 ไร่ ที่บริษัทฯตัดสินใจซื้อเพื่อขยายโรงงาน แต่ติดปัญหาเรื่องผังเมือง โดยที่ดินผืนนี้อยู่ติดถนนใหญ่
สำหรับถนนลาดยางสายใหม่ที่ตัดเข้าไปผ่านที่ดิน 3,000 ไร่นั้น สองข้างทางแทบไม่มีบ้านเรือนประชาชน จึงค่อนข้างชัดเจนว่าตัดถนนเข้าไปเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับที่ดินผืนนี้ ซึ่ง ศอ.บต.อ้างว่าเตรียมไว้สำหรับเป็นนิคมอุตสาหกรรมหนองจิก แต่คำถามก็คือ เมื่อที่ดินเป็นของเอกชน การตัดถนนเข้าไปใช้งบประมาณของหน่วยงานรัฐหรือไม่ ถ้าใช่ จะเป็นเอื้อประโยชน์ให้เอกชน เช่น ทำให้ราคาที่ดินสูงขึ้นหรือเปล่า
ยิ่งไปกว่านั้น จากเอกสารที่ ศอ.บต.ทำถึงรัฐบาลเมื่อปลายปี 62 และต้นปี 63 ยังระบุเอาไว้ชัดเจนว่า ที่ดินผืนนี้อยู่ในพื้นที่ที่ต้องขยาย "เขตประปา" เข้าไป เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีน้ำประปาใช้ ยังคงใช้น้ำบาดาล แต่คุณภาพน้ำมีปัญหา ไม่สามารถรองรับการขยายตัวของโรงงานอุตสาหกรรมได้
"ดร.เจ๋ง" ชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการ ศอ.บต. ชี้แจงเรื่องนี้ว่า การก่อสร้างถนนที่ใช้สัญจรในพื้นที่เมืองต้นแบบเกษตรอุตสาหกรรมก้าวหน้าผสมผสาน อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เข้าใจว่าน่าจะเป็นงบประมาณจากการผลักดันโครงการเมืองต้นแบบซึ่งอยู่ในงบประมาณที่จังหวัดได้ขอรับการสนับสนุนเอาไว้ และเข้าใจว่าทางจังหวัดน่าจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดำเนินการ เช่น กรมทางหลวงชนบท เข้าไปดูแลเรื่องการก่อสร้าง
"โครงการหลายโครงการที่ ศอ.บต.เริ่มผลักดันส่วนใหญ่จะสำเร็จได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทางจังหวัด" ดร.เจ๋ง ระบุ
แต่ข้อสังเกตที่ยังไม่มีคำอธิบายก็คือ โครงการก่อสร้างถนนทำให้ราคาที่ดินผืนนี้สูงขึ้นจนการเจรจากับ บริษัท ซูเพิร์บ ครีเอชั่น เฟอร์นิเจอร์ฯ ไม่ลงตัวใช่หรือไม่?
ขณะเดียวกันก็มีข้อสังเกตจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงในองค์กรตรวจสอบ ซึงเป็นองค์กรอิสระ ตั้งคำถามว่า การเตรียมที่ดินสำหรับโครงการพัฒนาของรัฐ เช่น นิคมอุตสาหกรรม หรือเมืองต้นแบบ น่าจะต้องเป็นที่ดินของรัฐ เช่น ที่ธนารักษ์ หรือที่ดินที่เวนคืนจากเอกชน เพื่อปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานรองรับการลงทุนหรือไม่ เพื่อป้องกันการครหาว่าด้วยการเอื้อประโยชน์ และความไม่เท่าเทียม!
------------------------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
เปิดเอกสาร ศอ.บต.ถึง"ประยุทธ์" บทพิสูจน์ลอยแพ รง.เฟอร์ฯหมื่นล้าน?
"สุเมธ vs ดร.เจ๋ง" โรงงานเฟอร์ฯ(ใกล้)เจ๊ง...ใครรับผิดชอบ
"ดร.เจ๋ง" ขอ 3 เดือนจบปัญหา ดึงการรถไฟฯช่วยลดราคาค่าขนส่ง รง.เฟอร์ฯ
ลูกจ้าง รง.เฟอร์ฯเสียใจย้ายฐานผลิตพ้นปัตตานี เปรยไม่มีบริษัทไหนดีเท่านี้อีกแล้ว
แกะรอย "ที่ดินร้อยล้าน" อีกหนึ่งปมเหตุ รง.เฟอร์ฯ ย้ายฐานพ้นปัตตานี
"บิ๊กป้อม"ลงใต้สั่งช่วย รง.เฟอร์ฯ - เร่งพัฒนา "ขนส่งทางราง"