นอกจากประเด็นไม่ได้รับอุดหนุน "ส่วนต่างค่าขนส่ง" ตู้คอนเทนเนอร์ละ 500 เหรียญสหรัฐตามที่ตกลงกันไว้แล้ว ยังมีประเด็นเรื่อง "ที่ดิน" สำหรับขยายโรงงานด้วยที่ทำให้ บริษัท ซูเพิร์บ ครีเอชั่น เฟอร์นิเจอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ตัดสินใจย้ายฐานการผลิตส่วนใหญ่ออกจากปัตตานี
ประเด็น "ส่วนต่างค่าขนส่ง" ทีมข่าวอิศราได้รายงานรายละเอียดเอาไว้แล้ว แต่เงื่อนปมเรื่องที่ดินสำหรับขยายโรงงาน ยังไม่ได้มีรายงานในรายละเอียด
ทั้งสองเรื่องนี้ไม่มีความคืบหน้าในทางบวก ทำให้ทาง บริษัท ซูเพิร์บ ครีเอชั่น เฟอร์นิเจอร์ฯ มองว่า หน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ในฐานะผู้ประสานงานตั้งแต่ต้น ไม่มีความจริงจัง จริงใจ เพราะทุกเรื่องได้ตกลงกันไว้หมดแล้ว และในระดับรัฐบาลเองก็รับว่าจะดำเนินการให้ เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการลงทุน (อ่านประกอบ : เปิดเอกสาร ศอ.บต.ถึง"ประยุทธ์" บทพิสูจน์ลอยแพ รง.เฟอร์ฯหมื่นล้าน?)
เพราะการลงทุนขนาดใหญ่ในระดับ "เมกะโปรเจค" เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่มีโครงการ "สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" ตามการเสนอของ ศอ.บต. และสร้างเมืองต้นแบบขึ้นมา 3 เมือง เพื่อสนับสนุนให้เกิดการลงทุนขนาดใหญ่จากภาคเอกชน โดยรัฐบาลจะสนับสนุนมาตรการส่งเสริมการลงทุนประเภท "ลด-แลก-แจก-แถม" พร้อมวางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้เกิดความพร้อมในการตั้งฐานการผลิต
เมืองต้นแบบ 3 เมือง ประกอบด้วย อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส, อ.เบตง จ.ยะลา และ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี โดยที่ อ.หนองจิก คือ "เมืองต้นแบบเกษตรอุตสาหกรรมก้าวหน้าผสมผสาน" และโรงงานเฟอร์นิเจอร์ของ บริษัท ซูเพิร์บ ครีเอชั่นฯ ก็คือเอกชนที่เข้ามาลงทุนตามโครงการนี้ในพื้นที่ อ.หนองจิก ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองปัตตานีเพียงไม่ถึง 10 กิโลเมตร
แต่บริษัทฯเดินเครื่องตามสายการผลิตได้เพียง 1 ปี ก็ประกาศถอนการลงทุน และย้ายฐานการผลิตอย่างเจ็บช้ำ ด้วยประโยคที่ว่า "เราเจ็บมาก ฝากบอกคนอื่นอย่ามาลงทุนที่ภาคใต้"
เหตุผลหลัก 2 ประการที่ทำให้บริษัทฯตัดสินใจ คือ
1. รัฐบาลไม่ยอมชดเชย "ส่วนต่างค่าขนส่ง" ทั้งที่ดำเนินการมาเป็นปี แต่ไม่มีความคืบหน้า ทำให้บริษัทฯแบกรับต้นทุนไม่ไหว ซึ่งประเด็นนี้ "ทีมข่าวอิศรา" ได้รายงานรายละเอียดไปแล้ว ขณะที่ฝั่ง ศอ.บต.อ้างว่าไม่ใช่อำนาจโดยตรงของตนเอง แต่เป็นอำนาจของกระทรวงการคลัง และไม่มีระเบียบกฎหมายใดรองรับการชดเชยในรูปเงินสด ศอ.บต.จึงกำลังเร่งปรับแผนด้วยการใช้รถไฟในการขนส่งแทน โดยจะมีการขยายสถานีนาประดู่ (สถานีรถไฟปัตตานี) เพื่อรองรับการขนส่งทางราง (อ่านประกอบ : "ดร.เจ๋ง" ขอ 3 เดือนจบปัญหา ดึงการรถไฟฯช่วยลดราคาค่าขนส่ง รง.เฟอร์ฯ)
2. ปัญหาเรื่องที่ดินสำหรับขยายโรงงาน ซึ่งบริษัทฯควักกระเป๋าซื้อไว้แล้ว 211 ไร่ แต่เป็นพื้นที่สีเขียวในผังเมือง ทำให้ไม่สามารถก่อสร้างโรงงานได้ เมื่อร้องขอไปยัง ศอ.บต. ก็ได้รับคำตอบว่าการเปลี่ยนแปลงผังเมืองต้องใช้เวลา และยังย้อนว่าปัญหาเกิดจากบริษัทฯไม่ยอมซื้อที่ดินที่ ศอ.บต.เตรียมไว้ให้ถึง 3,000 ไร่ สำหรับรองรับโรงงานอุตสาหกรรมอยู่แล้ว เพราะผังเมืองเป็น "สีม่วง" หรือเขตอุตสาหกรรม
สุ้มเสียงของผู้บริหาร ศอ.บต.บางคน รวมไปถึงฝ่ายที่สนับสนุน ศอ.บต. ก็คือ บริษัทฯตัดสินใจผิดเอง (แล้วจะโทษใคร)
เอกสาร ศอ.บต.ยอมรับ "เจรจาไม่ลงตัว"
แต่จากการตรวจสอบพบว่า จริงๆ แล้วที่ดินผืนนี้เป็นของเอกชน ไม่ใช่ที่ดินของรัฐ ฉะนั้นการเจรจาเพื่อซื้อขายจึงมีการต่อรองราคาในเชิงธุรกิจ ซึ่งปัญหาเกิดขึ้นในช่วงของการเจรจา กระทั่งบริษัทฯตัดสินใจไปซื้อที่ดินผืนอื่นแทน
เรื่องนี้ เอกสารข่าว ศอ.บต.ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 7 ต.ค.63 ก็เคยยอมรับเอาไว้
"...ปัญหาอีกประการหนึ่งคือ การเปลี่ยนผังเมืองเพื่อให้รองรับการลงทุนของภาคเอกชน แม้ว่าเรื่องดังกล่าว ศอ.บต.ในฐานะหน่วยรับผิดชอบจะได้หยิบยกเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการร่วมรัฐและเอกชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา ณ จังหวัดนราธิวาส เพื่อขอความร่วมมือให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปเร่งรัดดำเนินการตามที่ภาคเอกชนร้องขอ
แต่สาเหตุสำคัญที่ต้องชี้แจงสร้างความเข้าใจกันก็คือ พื้นที่ที่สามารถรองรับการลงทุนตามนโยบายของรัฐบาล อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เมืองต้นแบบเกษตรอุตสาหกรรมผสมผสานนั้น ได้ถูกเปลี่ยนเป็นสีม่วงเพื่อรองรับการลงทุนแต่เริ่มแรกนับตั้งแต่ประกาศนโยบายออกมาแล้ว จำนวนกว่า 3 พันไร่เศษ
แต่ด้วยเหตุผลบางประการจากการเจรจาธุรกิจของเอกชน หรือเงื่อนไขอื่นใดที่แทรกแซงการทำงานเข้ามาก็ดี ทำให้ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันได้ เป็นผลทำให้บริษัทฯ ต้องไปซื้อที่ดินในพื้นที่ผังสีเขียวในราคาที่ถือว่าแพงกว่า และไม่นับรวมการถมที่อีกเกือบหนึ่งร้อยล้านบาท ซึ่งทางจังหวัดปัตตานีก็ไม่ได้นิ่งนอนใจในการทำงาน เพียงแต่การทำงานนั้น จะต้องใช้ความรอบคอบอย่างมาก เนื่องจากพื้นที่รอบนอกเป็นพื้นที่รับน้ำของจังหวัดปัตตานี หากการดำเนินการไม่รอบคอบก็จะกระทบต่อประชาชนในเขตพื้นที่อย่างที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และทั้งหมดต้องเป็นไปตามกฎหมายแต่ละหน่วยงานที่กำหนดไว้เป็นขั้นเป็นตอน..."
ศอ.บต.เตรียม "ที่ดินเอกชน" รองรับนโยบายรัฐ?
ผู้บริหาร ศอ.บต.รายหนึ่งให้ข้อมูลว่า พื้นที่ที่ ศอ.บต.เตรียมเอาไว้สำหรับนิคมอุตสาหกรรมที่ อ.หนองจิก เป็นเอกชนเจ้าของ บริษัท ปาล์มพัฒนาชายแดนภาคใต้ จำกัด (บริษัทนี้ตั้งโรงงานอยู่ริมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 42 อ.หนองจิก ห่างจากโรงงานเฟอร์นิเจอร์ไม่กี่กิโลเมตร : ดูแผนที่ประกอบ)
"ตรงนั้นเราเตรียมพื้นที่ไว้ทั้งหมด 3,000 ไร่ เป็นพื้นที่สีม่วงหมดแล้ว (สร้างโรงงานได้) ซึ่งถ้าโรงงานไปตั้งก็จบ เขาปรับสีม่วงเพื่อรองรับเป็นเมืองอุตสากรรมอยู่แล้ว"
ผู้บริหาร ศอ.บต.รายนี้ยังกล่าวถึง บริษัท ซูเพิร์บ ครีเอชั่น เฟอร์นิเจอร์ฯ ด้วยว่าตัดสินใจผิดพลาดที่ไปซื้อที่ดินอีกผืนหนึ่ง ซึ่งผังเมืองเป็นสีเขียว ราคาแพงกว่า และยังต้องมีค่าใช้จ่ายเรื่องถมดิน เนื่องจากเป็นพื้นที่รับน้ำ
"เขาผิดพลาด เขาไปซื้อพื้นที่สีเขียว ผังเมืองสีเขียว ของเดิมที่เราเตรียมไว้เป็นพื้นที่สีม่วง เขาขายไร่ละ 250,000 บาท ส่วนอีกที่เขาขายไร่ละ 350,000 บาท แพงกว่าอีก แถมเป็นพื้นที่สีเขียว ปัญหาคือพอไปซื้อสีเขียว มันสร้างโรงงานไม่ได้ และไม่ใช่สีเขียวธรรมดา เป็นพื้นที่เขียวพื้นที่รับน้ำของชลประทาน เมื่อเขาซื้อแล้วต้องถมดินให้สูงกว่าพื้นที่สีม่วง มีค่าถมเข้าไปเพิ่มอีก พอเงื่อนไขเป็นแบบนี้ เราก็ต้องปรับสีเขียวก่อนที่เขาจะก่อสร้าง ไม่อย่างนั้นเขาก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะมันเป็นเขียว"
บริษัทฯโต้มีขึ้นราคา - เปลี่ยนจุดเป็นบ่อกุ้งร้าง
ฟังข้อมูลจากผู้บริหาร ศอ.บต. ชี้ชัดว่าเป็นความผิดพลาดของ บริษัท ซูเพิร์บ ครีเอชั่น เฟอร์นิเจอร์ฯเอง และยังพูดเหมือนกับว่าทางบริษัทฯคำนวณตัวเลขไม่เป็น ไปซื้อของแพงกว่า แถมมีปัญหาอีกด้วย ฯลฯ
"ทีมข่าวอิศรา" สอบถามเรื่องนี้จากผู้บริหารบริษัทฯ ได้ข้อมูลที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับทางผู้บริหาร ศอ.บต.
"ตอนแรกมีการตกลงซื้อที่ดินในราคา 250,000 บาท เป็นที่ดินในเขตที่ ศอ.บต.เตรียมไว้ มีการชี้พื้นที่กันเรียบร้อย แต่วันเซ็นสัญญา ทางเจ้าของที่ดินบอกว่าขอปรับราคาขึ้นเป็น 4 แสนกว่าบาท ทางโรงงานก็ยังยินดีที่จะซื้อต่อ แต่เขาบอกว่าไม่ใช่ตรงนั้นนะ แต่เป็นอีกจุดหนึ่งที่อยู่ใกล้ๆ กัน จึงไปดู ปรากฏว่าเป็นบ่อกุ้งร้าง ไม่มีทางเข้าออก และอยู่ด้านหลังพื้นที่สีเขียวที่ตัดสินใจซื้อในภายหลัง"
"ส่วนที่ดินที่ทางบริษัทฯซื้อมา มีทางเข้าออกติดถนนสาย 42 (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 42) เส้นหนองจิก-ปัตตานี ติดกับอาคารดอนบอสโกที่โรงงานเช่าอยู่ในขณะนี้ ทางโรงงานเลือกซื้อตรงนี้ และขอยืนยันว่าซื้อมาถูกกว่าพื้นที่สีม่วง และถมดินน้อยกว่าบ่อกุ้งร้างแน่นอน" เป็นคำอธิบายจากผู้บริหารบริษัทฯ
(ดูแผนที่ประกอบ : "สีชมพู" คือแนวถนนหมายเลข 42 "สีน้ำเงิน" เป็นที่ดินที่บริษัทฯเลือกซื้อ อยู่ใกล้ถนน "สีเหลือง" เป็นที่ดินส่วนหนึ่งของผืน 3,000 ไร่ที่ตกลงจะซื้อขายกันตอนแรก และ "สีแดง" เป็นที่ดินอีกส่วนหนึ่งที่ผู้ขายเปลี่ยนจุดให้มาซื้อตรงจุดนี้ ส่วน "สีฟ้า" เป็นแนวถนนที่กำลังก่อสร้าง)
ผู้บริหาร บริษัทซูเพิร์บฯ บอกว่า การซื้อที่ดินเพื่อสร้างโรงงานติดถนนสายใหญ่ จะสะดวกเรื่องการขนส่งมากกว่า และลดต้นทุนโลจิสติกส์ได้อีกพอสมควร แต่หากสร้างโรงงานบนที่ดินด้านในที่อยู่ลึกเข้าไป ก็ต้องใช้รถบรรทุกขนาดใหญ่ หรือรถขนตู้คอนเทนเนอร์ขับเข้าไปรับของจากโรงงาน เพิ่มทั้งความลำบากและเพิ่มต้นทุน
สร้างถนนลาดยางเข้าที่ดิน 3,000 ไร่
สำหรับที่ดิน 3,000 ไร่ที่ ศอ.บต.เตรียมเอาไว้สำหรับเป็นเขตอุตสาหกรรมของ อ.หนองจิก ซึ่งผู้บริหาร บริษัทซูเพิร์บ ครีเอชั่น เฟอร์นิเจอร์ฯ ระบุว่าเป็นบ่อกุ้งร้าง และไม่มีทางเข้าออกนั้น จากการลงพื้นที่ล่าสุดของ "ทีมข่าวอิศรา" พบว่า มีการเร่งก่อสร้างถนนลาดยางจากปากทาง บริเวณทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 42 เข้าไปด้านใน โดยถนนสายนี้สร้างเสร็จบางช่วงแล้ว ขณะนี้บางช่วงยังอยู่ระหว่างปรับผิวถนน ระยะทางรวม 7 กิโลเมตร อ้อมผ่านที่ดิน 3,000 ไร่ที่ ศอ.บต.เตรียมเอาไว้ ดูจากสภาพถนนและเครื่องจักรที่ยังอยู่ในพื้นที่ คาดว่าถนนสายนี้เพิ่งลงมือสร้างได้ไม่นานนัก
วืดเช่าพื้นที่โรงงาน OTOP ฮาลาล
การหาพื้นที่ขยายโรงงานเป็นความพยายามของ บริษัท ซูเพิร์บ ครีเอชั่น เฟอร์นิเจอร์ฯ โดยนอกจากซื้อที่ดินเพิ่ม แต่ติดปัญหาเรื่องผังเมืองแล้ว ทางบริษัทฯยังไปยื่นเรื่องขอเช่าอาคารโรงงานแปรรูปผลิตผลการเกษตร OTOP ฮาลาล ซึ่งตั้งอยู่บนที่สาธารณประโยชน์ทุ่งนเรนทร์ ต.บ่อทอง อ.หนองจิก ด้วย
โดยที่ผ่านมา สำนักงานธนารักษ์จังหวัดปัตตานี ได้เปิดประมูลให้ผู้สนใจเข้าเช่าใช้อาคารและพัสดุของโรงงานแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร OTOP ฮาลาล ปรากฏว่าทาง บริษัท ซูเพิร์บ ครีเอชั่น เฟอร์นิเจอร์ฯ ได้ไปยื่นประมูลขอเช่าอาคาร แต่ภายหลังถูกยกเลิกการประมูล เนื่องจากคุณสมบัติของผู้ซื้อซองประมูลขัดกับพระราชบัญญัติโรงงาน เพราะพื้นที่โรงงานแปรรูปผลผลิตการเกษตร OTOP ฮาลาล มีเขตติดต่อกับสาธารณสถาน จึงต้องห้ามจัดตั้งโรงงานจำพวก 3 ซึ่งหมายถึง โรงงานที่มีแรงม้ารวมของเครื่องจักรมากกว่า 50 แรงม้า และ/หรือมีจำนวนคนงานมากกว่า 50 คน หรือเป็นโรงงานที่มีมลภาวะ เป็นโรงงานที่ต้องรับใบอนุญาตก่อนจึงจะตั้งโรงงานได้
สำหรับสาธารณสถานที่ตั้งอยู่ใกล้กับโรงงานแปรรูปผลผลิตการเกษตร OTOP ฮาลาล คือ สถานีวิจัยและทดสอบพันธุ์สัตว์ปัตตานี และศูนย์ขยายเมล็ดพันธุ์พืช
"ทีมข่าวอิศรา" ตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่าสัญญาของผู้เช่ารายเก่า ที่เช่าพื้นที่โรงงานแปรรูปผลผลิตการเกษตร OTOP ฮาลาล ได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 31 ต.ค.62 แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีผู้เช่ารายใหม่ ทำให้โรงงานอยู่ในสภาพรกร้างและไม่ถูกใช้ประโยชน์ใดๆ
---------------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
เปิดเอกสาร ศอ.บต.ถึง"ประยุทธ์" บทพิสูจน์ลอยแพ รง.เฟอร์ฯหมื่นล้าน?
"สุเมธ vs ดร.เจ๋ง" โรงงานเฟอร์ฯ(ใกล้)เจ๊ง...ใครรับผิดชอบ
"ดร.เจ๋ง" ขอ 3 เดือนจบปัญหา ดึงการรถไฟฯช่วยลดราคาค่าขนส่ง รง.เฟอร์ฯ
ลูกจ้าง รง.เฟอร์ฯเสียใจย้ายฐานผลิตพ้นปัตตานี เปรยไม่มีบริษัทไหนดีเท่านี้อีกแล้ว