ผ่านมาสิบกว่าวันหลังมีข่าวเกรียวกราวโรงงานเฟอร์นิเจอร์ปัตตานีที่ชื่อ บริษัท ซูเพิร์บ ครีเอชั่น เฟอร์นิเจอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ตัดสินใจย้ายฐานการผลิตจาก อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ไปยัง จ.ชลบุรี จนถึงวันนี้ยังไม่มีสัญญาณบวกใดๆ
บริษัทแห่งนี้เข้ามาตั้งโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา จ้างงานกว่า 200 อัตราในระยะแรก...เป็นคนปัตตานีทั้งหมด
ข้อมูลที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จัดทำเป็นรายงานส่งถึงรัฐบาล ระบุว่า บริษัทมีแผนขยายโรงงานถึง 3 ระยะ เม็ดเงินลงทุนหลายหมื่นล้านบาท โดยจะจ้างงานคนในพื้นที่ได้นับหมื่นตำแหน่ง
แต่เพียงแค่ปีเดียว บริษัทก็ประกาศย้ายฐานการผลิต เนื่องจากแบกรับส่วนต่างค่าขนส่งราวๆ 15,000 บาทต่อตู้คอนเทนเนอร์ไม่ไหว ทั้งๆ ที่ได้รับไฟเขียวจากรัฐบาลให้หาแนวทางชดเชยค่าส่วนต่างให้ นอกจากนั้นยังไม่มีการแก้ไขผังเมืองเพื่อขยายโรงงาน ทั้งๆ ที่ซื้อที่ดินเตรียมไว้แล้วถึง 211 ไร่ ขณะที่ฝ่าย ศอ.บต.อ้างว่าทางบริษัทไม่ยอมซื้อที่ดินที่ ศอ.บต.เตรียมไว้ให้ ส่งผลให้มีปัญหาเรื่องผังเมือง ไม่สามารถตอกเสาตั้งโรงงานได้ ขณะที่กระบวนการเปลี่ยนแปลงผังเมืองต้องใช้เวลา
นี่คือชะตากรรมของโรงงานที่อยู่ในโครงการ "เมืองต้นแบบมั่นคง มั่นคั่ง ยั่งยืน" ของรัฐบาล โดย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี คือ "เมืองต้นแบบเกษตรอุตสาหกรรมก้าวหน้าผสมผสาน" (อ่านประกอบ : เปิดเอกสาร ศอ.บต.ถึง"ประยุทธ์" บทพิสูจน์ลอยแพ รง.เฟอร์ฯหมื่นล้าน?)
ล่าสุดผู้บริหารบริษัทยืนยันกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า เดินหน้าย้ายฐานการผลิตแน่นอน เพราะเช่าโรงงานใหม่เอาไว้แล้วที่ จ.ชลบุรี
"ตอนนี้ยังไม่มีความคืบหน้าอะไรที่จะสามารถสร้างความเชื่อมั่นได้ว่า ศอ.บต.จะดำเนินการตามเอกสารที่เสนอรัฐบาล และมีลายเซ็นนายกรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ (ทั้งเรื่องค่าส่วนต่างการขนส่ง และผังเมือง)" นายสุเมธ สุขพันธ์โพธาราม กรรมการ บริษัท ซูเพิร์บ ครีเอชั่น เฟอร์นิเจอร์ฯ กล่าว
แต่ก็ยอมรับว่า บริษัทฯพยายามยื้อจนถึงที่สุดเพื่อให้มีการผลิตต่อเนื่องที่ปัตตานี โดยที่ผ่านมาจ่ายค่าเแรงขั้นต่ำสำหรับลูกจ้างอยู่ที่ราวๆ 8,138 บาทต่อเดือน ค่าโอที หรือค่าทำงานล่วงเวลาอีกราวๆ 1,526 บาท เบี้ยขยัน 1,000 บาท โบนัสรายชิ้น (จากเฟอร์นิเจอร์แต่ละชิ้นที่ทำเสร็จและส่งออก) เฉลี่ย 3,570 บาท รวมรายได้ต่อคนราวๆ 14,328 บาทต่อเดือน คนที่ทำได้สูงสุดอยู่ที่ 17,163 บาทต่อเดือน
"เราฝึกคนงานเองทั้งหมดด้วยงบบริษัท คนงานเป็นคนปัตตานี 100% เรารับคนงานมาแล้ว เราสงสารคนงาน จะพยายามคงงานตัดและเย็บหนังไว้ที่ปัตตานี" นายสุเมธ กล่าว
"ทีมข่าวอิศรา" เดินทางลงพื้นที่โรงงานเฟอร์นิเจอร์ ที่อาคารดอนบอสโก เลขที่ 141 ต.บางเขา อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เพื่อสังเกตการณ์และติดตามบรรยากาศหลังบริษัทฯเตรียมย้ายฐานการผลิต
ปรากฏว่าในวันที่เดินทางไป ซึ่งเป็นวันเปิดทำงาน ที่สนามบาสของโรงงานมีพนักงานกว่า 200 คนเข้าแถวเคารพธงชาติ
น.ส.นิลทิพย์ ชัยสุริยะ พนักงานฝ่ายโลจิสติกส์ เล่าว่า ทุกคนยังทำงานปกติ และยังทำหน้าที่ของตัวเองเหมือนเดิม ส่วนการเคารพธงชาตินั้น ที่นี่ถือเป็นภาคบังคับที่ทุกคนต้องมาให้ทัน 07.55 น. เพราะต้องรวมแถวเคารพธงชาติก่อนเข้าทำงาน เราทำแบบนี้มาตลอด 1 ปี ตั้งแต่วันแรกที่โรงงานเปิดจนถึงขณะนี้ยังทำปกติ
"การร้องเพลงชาติเป็นเรื่องไม่คุ้นนักสำหรับคนที่นี่ โดยเฉพาะคนโตแล้ว หลายคนมองว่าเป็นเรื่องน่าอาย ช่วงแรกๆ ที่ต้องร้องเพลงชาติก็เขินๆ อายๆ ที่จะเปล่งเสียงออกมา แต่ตอนนี้ทุกคนร้องเพลงชาติเสียงดังฟังชัด พอร้องเพลงชาติจบ หัวหน้าฝ่ายจะมาพบปะ เสร็จแล้วเราก็จะเข้าทำงานตามปกติ"
น.ส.นิลทิพย์ บอกด้วยว่า ส่วนตัวมองว่าการร้องเพลงชาติเป็นการสอนให้พวกเรามีสำนึกในความเป็นชาติไทย การร้องเพลงชาติทุกเช้าสามารถช่วยได้ระดับหนึ่ง ทางโรงงานให้ความสำคัญมากเรื่องนี้ และถ้าใครมาทำงานหลังเคารพธงชาติ จะถือว่ามาสายทันที
"หลายคนบ่นว่ารุ่นนี้แล้วยังมาร้องเพลงชาติอยู่อีก แต่พอทำมาตลอดก็ชินและเข้าใจ ที่อื่นไม่สอนแบบนี้ แต่ที่นี่เขาสอน ทำมาตลอดก่อนที่รัฐบาลจะมีนโยบายให้ร้องเพลงชาติปลูกจิตสำนึกด้วยซ้ำ เรารู้สึกว่าการทำงานที่นี่เขาไม่ได้คิดแค่อยากให้คนมีงานทำ แต่เขาคิดให้คนมีความรักในชาติด้วย ซึ่งไม่มีที่ไหนสอนนะ" พนักงานสาวฝ่ายโลจิสติกส์ กล่าว
อีกหนึ่งวัฒนธรรมองค์กรของโรงงานเฟอร์นิเจอร์ คือกำหนดให้ใช้เวลาละหมาดเป็นช่วงพักเบรกแต่ละช่วงของลูกจ้างทุกคน ทำให้พนักงานที่เป็นมุสลิมสามารถละหมาดได้ครบ 3 เวลาในระหว่างวันที่อยู่ที่ทำงาน ซึ่งถือเป็นเรื่องดีมาก และไม่มีบริษัทหรือโรงงานไหนอนุญาตให้ทำแบบนี้
"เขาสอนให้เราทำสิ่งดีๆ ทั้งโลกนี้และโลกหน้าด้วย มันไม่มีที่ไหนเป็นแบบนี้อีกแล้ว" น.ส.นิลทิพย์ บอกความรู้สึก
จากการสอบถามพนักงานหลายคน ไดรับคำตอบคล้ายๆ กันว่า นอกจากเงินเดือนและค่าล่วงเวลา หรือโอที 59 บาทต่อชั่วโมงแล้ว สิ่งที่เป็นแรงจูงใจในการทำงานของทุกคนคือ โบนัสรายชิ้นของเฟอร์นิเจอร์ที่ผลิตได้ ชิ้นละ 1-10 บาท ใครทำเยอะก็ได้เยอะ แต่ละเดือนลูกจ้างบางคนทำโบนัสรายชิ้นได้ราวๆ 3-4 พันบาท ซึ่งโรงงานอื่นไม่มีแบบนี้ และยังมีโบนัสพิเศษอีกสำหรับคนที่ทำงานดี ขยัน ปฏิบัติตามกฎระเบียบอีก 1,000 บาท ซึ่งถือเป็นแรงจูงใจที่ดี ทุกคนมีความสุขกับการทำงาน เมื่อลาป่วยและมีใบรับรองแพทย์ ก็จะได้เงินค่าจ้างรายวันตามปกติเหมือนมาทำงาน ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายแรงงานทุกอย่าง ไม่มีการเอาเปรียบลูกจ้าง
"ตอนนี้เรารู้แล้วว่าจะมีการย้ายฐานการผลิต เหลือเฉพาะบางส่วนที่นี่ ก็รู้สึกเสียใจ แต่คิดว่าผู้ใหญ่น่าจะแก้ปัญหาได้ เราทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุดก็พอ" พนักงานหลายคนบอกตรงกัน
ขณะที่ นายมะสัมรี บินเจ๊ะมุ พนักงานฝ่ายประกอบเฟอร์นิเจอร์ บอกว่า กังวลมากเรื่องที่โรงงานย้ายฐานการผลิต ทุกคนถามหมด ทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ครอบครัว ชาวบ้าน แตไม่รู้จะตอบอย่างไร คิดอย่างเดียวทำวันนี้ให้ดีที่สุด พรุ่งนี้จะเป็นอย่างไรค่อยว่ากัน
"วันนี้มาทำงานเข้าแถวเคารพธงชาติ ทำตัวเหมือนปกติ ที่นี่เขาสอนพวกเราให้เข้าแถวทุกเช้า และเคารพธงชาติด้วย สอนไม่เหมือนที่อื่น ยังไม่เคยเห็นใครสอนให้ทำแบบนี้ หน่วยงานภาครัฐหลายหน่วนงานที่ควรทำเขายังไม่ทำทุกเช้าอย่างที่พวกเราถูกสอนให้ทำ ก็คิดว่าเป็นเรื่องดีที่สอนให้เรารู้จักรักชาติ เราก็จะรักโรงงาน รักคนทำงาน รักนายจ้าง"
ส่วนปัญหาเรื่องผังเมืองที่ไม่สามารถขยายโรงงานได้นั้น นายมะสัมรี บอกว่า สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่พิเศษ ชาวบ้านอยากให้โรงงานนี้เกิดขึ้นในพื้นที่ คนอีกหลายพันจะได้มาทำงาน ทำไมภาครัฐถึงไม่จัดการให้ โรงงานนี้ไม่ได้มีส่วนไหนที่ไปทำลายสิ่งแวดล้อมเลย ทุกอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
"คนละเรื่องกับที่จะนะ (อ.จะนะ จ.สงขลา กำลังจะทำเป็นนิคมอุตสาหกรรม) ที่นั่นชาวบ้านไม่ต้องการ ศอ.บต.กลับปิดตาทำให้ได้ แบบนี้มันแปลว่าอะไร" พนักงานหนุ่มตั้งคำถาม
ด้านพนักงานที่เป็นฝ่ายบริษัท น.ส.ธันชนก พุทธรักษ์ ผู้ช่วยผู้จัดการ กล่าวว่า รู้สึกภูมิใจคนปัตตานีมาก คนปัตตานีเป็นคนรุณภาพ ตัวชี้วัดคือชิ้นงานที่ส่งไป 6 พันกว่าชิ้น ไม่เคยถูกตีกลับ ถ้าเป็นไปได้ก็อยากจะขอโอกาสให้คนปัตตานี อยากให้ทางรัฐบาลสนับสนุน เชิญชวน แนะนำให้ชาวต่างชาติมาลงทุนในพื้นที่เยอะๆ เพราะคนที่นี่มีความสามารถจริงๆ มีประสิทธิภาพ เพียงแต่เขาขาดโอกาสที่จะได้แสดงความสามารถ อยากให้มีโรงงานใหญ่ๆ มาตั้งที่นี่เยอะๆ คนปัตตานีจะได้แสดงความสามารถ และทำให้คุณภาพชีวิตคนปัตตานีดีขึ้น
"หลายเดือนที่ผ่านมามีลูกค้าจากประเทศจีนมาตรวจงาน เขาบอกว่าคุณภาพที่นี่เทียบเคียงกับคนของเขาเลย" ผู้ช่วยผู้จัดการสาวบอก ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่าคนจีนขยัน สู้งาน และมีความตั้งใจสูง
น.ส.ธนชนก บอกด้วยว่า ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทางจังหวัดสั่งปิดหมู่บ้าน แต่ทางบริษัทฯก็ยังจ่ายค่าจ้างตามปกติให้กับลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบ ต่อมาโรงงานต้องหยุดการผลิต 1 เดือน แต่ก็ยังจ่ายเงินเดือนให้กับลูกจ้าง 50% ด้วย
"เราอยากให้ทุกคนมีความสุขและงานออกมาก็จะดีทุกชิ้น" เธอบอกถึงแนวทางการบริหารงานที่น่าทึ่งของบริษัทฯ
แต่ที่น่าเศร้าก็คือ โรงงานที่ใครๆ ก็พูดถึงแต่ในแง่ดีนี้ กำลังโบกมือลาจากปัตตานี เพราะปัญหาที่ภาครัฐบริหารจัดการได้ไม่ลงตัว!
---------------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
เปิดเอกสาร ศอ.บต.ถึง"ประยุทธ์" บทพิสูจน์ลอยแพ รง.เฟอร์ฯหมื่นล้าน?
"สุเมธ vs ดร.เจ๋ง" โรงงานเฟอร์ฯ(ใกล้)เจ๊ง...ใครรับผิดชอบ
"ดร.เจ๋ง" ขอ 3 เดือนจบปัญหา ดึงการรถไฟฯช่วยลดราคาค่าขนส่ง รง.เฟอร์ฯ