"โรงงานเฟอร์นิเจอร์ปัตตานียกเครื่องจักรย้ายฐานหลังถูก ศอ.บต.ลอยแพปีกว่า"
นี่คือหัวข่าวออนไลน์ของสื่อบางแขนงที่สร้างความสนใจอย่างกว้างขวางให้กับผู้ที่ติดตามสถานการณ์และเกาะติดแนวทางการแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นอีกแล้วในดินแดนปลายด้ามขวาน?
โรงงานที่ถูกพูดถึงในข่าว คือ บริษัท ซูเพิร์บ ครีเอชั่น เฟอร์นิเจอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์จากจีน ร่วมทุนกับ บริษัท ดีลลักซ์ จำกัด ที่ตัดสินใจมาตั้งฐานการผลิตใน อ.หนองจิก จ.ปัตตานี โดยเช่าสถานที่อาคารโรงเรียนดอนบอสโก เลขที่ 141 หมู่ 1 ต.บางเขา อ.หนองจิก เป็นที่ตั้งโรงงานในระยะแรก
โรงงานแห่งนี้เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อเดือน ธ.ค.ปีที่แล้ว (แต่เปิดสายการผลิตมาก่อนหน้านั้นระยะหนึ่ง) ช่วงที่เปิดเดินเครื่องเป็นข่าวใหญ่โตพอสมควร เพราะจ้างงานทันทีกว่า 200 ชีวิต เป็นคนปัตตานีทั้งหมด ทั้งยังเป็นโครงการลงทุนจากภาคเอกชนนอกพื้นที่ที่ห่างหายไปนานหลายปีเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบ แต่กลับมาคึกคักเพราะนโยบายสามเหลี่ยมเศรษฐกิจภาคใต้ชายแดน เมืองต้นแบบ "สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน"
โดย อ.หนองจิก เป็น 1 ในสามเมืองต้นแบบ ที่ถูกกำหนดให้เป็น "เมืองต้นแบบเกษตรอุตสาหกรรมก้าวหน้าผสมผสาน" ส่วนอีก 2 เมือง คือ อ.เบตง จ.ยะลา และ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส
โครงการ "สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" นี้ ต้องบอกว่าเป็นโครงการที่ "ศอ.บต.เห็นดี - รัฐบาลเห็นชอบ" จึงไม่มีประเด็นอะไรที่ภาคเอกชนต้องกังวลหรือตะขิดตะขวงใจ การลงหลักปักฐานและการจ้างงานจึงเดินหน้าอย่างรวดเร็ว ลุยผลิตสินค้าประเภทเฟอร์นิเจอร์ เป็นโซฟาบุหนังเกรดคุณภาพเพื่อการส่งออก มีปลายทางอยู่ที่สหรัฐอเมริกา
เราเจ็บมาก...
เมื่อเริ่มสายการผลิต ก็เริ่มส่งสินค้าไปยังประเทศเป้าหมาย ขณะที่โรงงานก็เตรียมขยายพื้นที่เพื่อก่อสร้างฐานการผลิตในระยะต่อไป รวมถึงไปขออนุญาตใช้ประโยชน์จากอาคารโรงงานแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร OTOP ฮาลาล ของ จ.ปัตตานี ซึ่งตั้งอยู่ที่ อ.หนองจิก ด้วย
ขณะที่แผนการลงทุนของบริษัท เตรียมการลงทุนเอาไว้ 3 ระยะ ภายใน 6 ปี ใช้เงินลงทุนกว่า 35,000 ล้านบาท จ้างงานไม่น้อยกว่า 15,000 ตำแหน่ง โดยมีพื้นที่โรงงานทั้งหมด 825,000 ตารางเมตร
แต่ผ่านมาเพียงไม่ถึง 1 ปี ทุกอย่างเปลี่ยนไปแบบหน้ามือเป็นหลังมือ โดยเมื่อวันศุกร์ที่ 2 ต.ค.63 ทาง บริษัท ซูเพิร์บ ครีเอชั่น เฟอร์นิเจอร์ฯ ได้ให้พนักงานทยอยขนเครื่องจักรขึ้นรถเทรลเลอร์เพื่อย้ายฐานการผลิตไปที่แหลมฉบัง จ.ชลบุรี
"เราเจ็บมาก ฝากบอกคนอื่นอย่ามาลงทุนที่ภาคใต้ เพราะมาแล้วจะเจออย่างนี้ เราโดนขนาดนี้แล้วใครจะกล้ามาอีก"
เป็นคำฝากจาก นายสุเมธ สุขพันธ์โพธาราม กรรมการบริษัทฯ ทำให้น่าคิดว่าเกิดอะไรขึ้นกับโครงการลงทุนระดับหมื่นล้านนี้กันแน่
2 ชนวนเหตุ...ไปต่อไม่ไหว
หากถอดรหัสจากคำให้สัมภาษณ์ "ทีมข่าวอิศรา" ของนายสุเมธ พบปัญหาสำคัญ 2 ประการที่ทำให้ บริษัท ซูเพิร์บ ครีเอชั่น เฟอร์นิเจอร์ฯ ไม่ขอไปต่อ...
หนึ่ง คือ ศอ.บต. หรือศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้ประสานงานโครงการนี้มาตั้งแต่ต้น ไม่ยอมจ่ายเงินค่าส่วนต่างค่าขนส่งเฟอร์นิเจอร์ 500 ดอลลาร์สหรัฐต่อตู้คอนเทนเนอร์ หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 15,000 บาทต่อตู้
สอง โรงงานได้ไปซื้อที่ดินเพื่อขยายพื้นที่อีก 211 ไร่ แต่ติดปัญหาเป็น "พื้นที่สีเขียว" ซึ่งหมายถึงพื้นที่เกษตรกรรม ต้องแก้ไขผังเมืองให้เป็น "พื้นที่สีม่วง" ซึ่งหมายถึงพื้นที่สำหรับก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมเสียก่อน แต่ที่ผ่านมากลับไม่มีการดำเนินการ ทำให้ขยายโรงงานไม่ได้
"เราซื้อที่ดิน 211 ไร่ อยู่ด้านหลังศูนย์ฝึกอาชีพดอนบอสโกเพื่อสร้างโรงงานเอง แต่ยังติดปัญหาสร้างไม่ได้ เพราะผังเมืองตรงนั้นเป็นสีเขียว ขณะที่ค่าส่วนต่าง 500 เหรียญก็ยังไม่ได้รับ ตลอด 1 ปีที่ตั้งโรงงานเราส่งเฟอร์นิเจอร์ 'เมดอินปัตตานี' ไปสหรัฐแล้ว 200 ตู้ 7,000 ชิ้น แต่เรายังไม่ได้รับค่าส่วนต่างเลย หนำซ้ำเราก็ยังไม่สามารถขยายโรงงานได้ เงินที่เราเสียไปแล้ว 400 กว่าล้าน (จากค่าส่วนต่าง และค่าที่ดิน) ก็ไม่รู้จะพูดอย่างไร" นายสุเมธ กล่าว
กรรมการบริษัท ซูเพิร์บ ครีเอชั่น เฟอร์นิเจอร์ฯ บอกด้วยว่า เดิมทางบริษัทจะไปตั้งฐานการผลิตที่แหลมฉบัง จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่อีอีซี (เขตพัฒนาพิเศษระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก) เพราะค่าขนส่งถูกกว่า สู้กับคู่แข่งได้ แต่ภายหลังเปลี่ยนใจย้ายมาปัตตานี เพราะ ศอ.บต.รับปากว่าจะสนับสนุนค่าส่วนต่างของค่าขนส่งต่อตู้คอนเทนเนอร์ให้ เพื่อให้การผลิตที่ปัตตานีเสียค่าขนส่งเท่ากับผลิตที่ชลบุรี แต่เมื่อไม่ได้ตามที่ตกลง ก็ไม่สามารถคงฐานการผลิตไว้ได้
"ก่อนมาลงทุน เราพิจารณาว่าโปรเจคนี้ขาดอะไร ทำไมคนไม่มาลงทุนในภาคใต้ แล้วเราก็พบว่าค่าขนส่งแพง ถ้าเราผลิตที่ปัตตานี ส่งไปอเมริกา ค่าขนส่งก็จะแพงขึ้นอีก แต่ถ้าผลิตที่ชลบุรี ค่าขนส่งเราก็จะเท่าคนอื่น ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร เป็นการแข่งขันปกติของเอกชน เราจึงแจ้งไปยัง ศอ.บต.ว่า เรามาไม่ได้เพราะค่าขนส่งแพงกว่าไปอยู่ที่อีอีซี แต่ถ้าคุณสนับสนุนค่าส่วนต่างก็พอไหว เพราะถ้าเราผลิตที่ปัตตานี แล้วเราเสียค่าขนส่งเท่ากับผลิตที่ชลบุรี เราเสี่ยงระเบิด เสี่ยงทุกอย่าง แต่ก็ยังอยู่ได้ ขอแค่นี้"
"ศอ.บต.ก็ทำหนังสือไปถึงนายกรัฐมนตรี จากนั้นก็มีหนังสือจากนายกรัฐมนตรี และมีรองนายกฯประวิตร วงษ์สุวรรณ เซ็นเห็นชอบ หนังสือมีเขียนชัดเจน ลายเซ็นนายกรัฐมนตรีก็มี ลายเซ็นรองฯประวิตรก็มี แต่ไม่เกิดอะไรขึ้น มีลายเซ็นนายกรัฐมนตรียังทำอะไรไม่ได้ เป็นแบบนี้เราก็เสียหาย"
เปิดเอกสารมัด...รัฐไม่ช่วย?
หนังสือที่นายสุเมธอ้างถึง มีอยู่ 2 ฉบับ เป็นบันทึกข้อความด่วนที่สุดจาก ศอ.บต.ส่งถึงนายกรัฐมนตรี ฉบับแรกลงวันที่ 5 มี.ค.62 เรื่องขออนุมัติหลักการโครงการพัฒนาศูนย์กลางอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์พื้นที่สามเหลี่ยมเศรษฐกิจภาคใต้ชายแดนฯ ฉบับที่ 2 ลงวันที่ 20 พ.ย.62 เป็นการรายงานความก้าวหน้าของโครงการ
ในเอกสารทั้ง 2 ฉบับ มีการระบุถึงความต้องการการสนับสนุนจากรัฐของผู้ประกอบการ ซึ่งก็คือการขอรับเงินชดเชยส่วนต่างจากค่าขนส่งสินค้าออกไปยังตลาดต่างประเทศ จำนวน 500 เหรียญสหรัฐ ต่อตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งในเอกสารฉบับแรก ศอ.บต.ขอความเห็นชอบในหลักการต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อไปประสานกระทรวงที่เกี่ยวข้องให้สนับสนุนการทำงานต่อไป ซึ่ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแล ศอ.บต. ก็ได้ลงนามเสนอนายกรัฐมนตรี ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ลงนามเห็นชอบ และกำชับว่า "ให้ดำเนินการโดยเร็ว"
ส่วนหนังสือฉบับที่ 2 ที่มีการรายงานความก้าวหน้าของโครงการ ศอ.บต.ได้รายงานย้ำประเด็นนี้ต่อนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง และเสนอให้นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงการคลังร่วมกับ ศอ.บต. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดพิจารณาศึกษาแนวทางและมาตรการสนับสนุนการชดเชยค่าขนส่งให้กับภาคเอกชน ซึ่งรายละเอียดในเอกสารเป็นการขอเป็นการทั่วไป โดยระบุว่าเป็น "มาตรการสนับสนุนการชดเชยค่าขนส่งให้กับภาคเอกชนที่มีความประสงค์จะไปลงทุนในเขตพื้นที่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี และพื้นที่อุตสาหกรรมอื่นใดในเขตพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้"
นอกจากนั้น ในหนังสือฉบับที่ 2 ลงวันที่ 20 พ.ย.62 ยังพูดถึงประเด็นการจัดตั้งโรงงานด้านข้างอาคารโรงเรียนดอนบอสโก ซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำ และเป็นเขตสีขาว มีกรอบและเส้นทแยงสีเขียว เป็นที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม โดยต้องการให้พื้นที่นี้สามารถประกอบกิจการโรงงานเฟอร์นิเจอร์ได้ โดยมีข้อเสนอ 2 แนวทาง คือ ให้ขยายขอบเขตพื้นที่ผังเมืองสีม่วงในพื้นที่ อ.หนองจิก ให้ครอบคลุมพื้นที่ตั้งโรงงาน หรือให้มีการผ่อนปรนการบังค้บใช้กฎหมายผังเมือง โดยเฉพาะพื้นที่ตั้งโรงงานและพื้นที่ใกล้เคียง ให้รองรับการขยายแนวเขตอุตสาหกรรมในพื้นที่เมืองต้นแบบ ซึ่งรวมถึงการลงทุนของเอกชนรายอื่นด้วย
เนื้อหาในเอกสาร ศอ.บต.ยังได้เสนอให้นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้กรมโยธาธิการและผัาเมือง ดำเนินการให้สอดคล้องตามที่ระบุปัญหาและแนวทางการดำเนินการด้วย โดยท้ายหนังสือ พล.อ.ประวิตร ได้ลงนามและเสนอต่อไปให้นายกรัฐมนตรีอนุมัติ ขณะที่นายกรัฐมนตรีก็ให้ความเห็นชอบ มีลายเซ็นกำกับชัดเจน
เอกสารฉบับที่ 2 นี้ ลงวันที่ 20 พ.ย. เนื้อหาหลักๆ เป็นการแก้ไขข้อขัดข้องและอุปสรรคของบริษัทเอกชนที่เข้ามาลงทุน นับถึงปัจจุบันก็ผ่านมาถึง 11 เดือนแล้ว เมื่อไม่มีความคืบหน้า จึงทำให้ บริษัท ซูเพิร์บ ครีเอชั่น เฟอร์นิเจอร์ฯ ไม่อดทนอีกต่อไป
คำชี้แจงจาก ศอ.บต.
จากปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะ 2 ประเด็นที่ทางบริษัทร้องขอ และพาดพิงถึง ศอ.บต.เต็มๆ ทำให้ นายชนธัญ แสงพุ่ม หรือ "ดร.เจ๋ง" รองเลขาธิการ ศอ.บต. ออกมาชี้แจงว่า ในประเด็นแรก เรื่องการชดเชยค่าส่วนต่างการขนส่ง นายสุเมธ บริษัท ซูเพิร์บ ครีเอชั่น เฟอร์นิเจอร์ฯ และทีมงานผู้บริหารขอเป็นเงินสดในการชดเชย 15,000 บาทต่อตู้คอนเทนเนอร์ โดยอธิบายว่าถ้าผลิตที่ชลบุรี ค่าขนส่งจะถูกกว่า ถ้าผลิตที่ปัตตานี ค่าขนส่งจะแพงกว่า 500 เหรียญสหรัฐต่อตู้
ทั้งนี้ ทาง ศอ.บต.ได้ส่งเรื่องไปที่กระทรวงการคลัง เพราะ ศอ.บต.ไม่สามารถชดเชยได้ด้วยตัวเองอยู่แล้ว ปรากฏว่ากระทรวงการคลังตีเรื่องกลับมาว่าชดเชยให้ในรูปแบบเงินสดไม่ได้ ถ้าให้บริษัทนี้ บริษัทอื่นที่อยู่ในพื้นที่ทั้งหมดที่ใช้ระบบขนส่งโวยขึ้นมาจะทำอย่างไร นอกจากนั้นทางคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง ได้เรียกเข้าไปชี้แจง และแจ้งว่าหาก ศอ.บต. ดำเนินการเรื่องนี้ จะไปละเมิดกฎการค้าเสรีอาเซียน และข้อตกลงองค์การการค้าโลก หรือ WTO
ส่วนในประเด็นที่ 2 เรื่องการซื้อที่ดินขยายโรงงาน จริงๆ มีพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมหนองจิกที่ ศอ.บต.เตรียมไว้แล้ว เป็นพื้นที่สีม่วง 3,000 กว่าไร่ ถ้าโรงงานไปตั้งก็จบ แต่ความผิดพลาดเกิดขึ้นเพราะโรงงานไปซื้อพื้นที่ในเขตผังเมืองสีเขียว
"พอเงื่อนไขเป็นแบบนี้ เขาก็ทำอะไรไม่ได้ ต้องไปปรับผ้งเมืองก่อน จะก่อสร้างอะไรก็ไม่ได้เพราะเป็นสีเขียว ตอนนี้ทางจังหวัดปัตตานีก็กำลังดำเนินการให้ แต่การปรับผังเมืองไม่ได้เสร็จภาย 3 เดือน แต่จะเป็น 2-3 ปีหรือเปล่าเราก็ไม่รู้ ก็ทำให้เกิดปัญหา" ดร.เจ๋ง กล่าว
เป็นคำชี้แจงเหตุผลจาก ศอ.บต. ส่วนจะฟังขึ้นหรือไม่ และจะโน้มน้าวให้เอกชนเปลี่ยนใจลงทุนที่ปัตตานีต่อไปได้หรือเปล่า...ต้องรอดู