"ที่สู้เพราะต้องการหาความเป็นธรรมให้ตัวเอง เพราะรับไม่ได้กับสิ่งที่เกิดขึ้น เราเป็นคนสอนคนให้เป็นคนดี แต่เขามาใส่ความว่าเราผิด เราไม่ได้ทำธุรกิจ ไม่ได้เอาเงินจากเด็ก ไม่ได้มีเงินสนับสนุนจากไหนเลย สำนักงานการศึกษาต่างหากที่ต้องให้เงินกับเรา...จุดนี้ที่รับไม่ได้"
เป็นเสียงจาก มูหัมมัดรอมลี เจะยะ แห่งโรงเรียนอัลอูลูมุลอิสลามมียะห์ หรือที่ชาวบ้านรู้จักกันในชื่อ "ปอเนาะชือมา" หรือ "ปอเนาะควนดิน" ตั้งอยู่ที่ ต.บ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี หลังถูกศาลจังหวัดปัตตานีพิพากษาลงโทษจำคุก 2 เดือน ปรับ 8,000 บาท แต่โทษจำ ให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี ในคดีที่สำนักงานการศึกษาเอกชนหนองจิก (สช.หนองจิก) จ.ปัตตานี สั่งปิดปอเนาะ พร้อมดำเนินคดีฐานเปิดโรงเรียนโดยไม่ได้รับอนุญาต
ผลของคดีแม้ไม่ได้ทำให้ บาบอมูหัมมัดรอมลี แห่งปอเนาะชือมา ต้องติดคุกจริงๆ เสียเพียงค่าปรับ แต่ก็สร้างกระแสวิจารณ์อย่างกว้างขวางในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หลายคนถึงกับบอกว่าน่าจะเป็นคดีแรกในรอบหลายสิบปีที่มีการดำเนินคดีในข้อหานี้
เนื่องจากการเรียนการสอนแบบปอเนาะ เป็นอัตลักษณ์เฉพาะของท้องถิ่น เป็นวิถีของชาวมลายูมุสลิมที่พ่อแม่ผู้ปกครองมักส่งลูกไปเรียนกับบาบอ หรือ "ผู้รู้" ที่มีชื่อเสียง ในลักษณะ "ฝากให้เรียน" เพื่อให้ได้ศึกษาทั้งในแนวทางศาสนาและการใช้ชีวิตที่ดีในแนวทางของอัลลอฮ์ โดยเฉพาะครอบครัวที่ยากจน มักพาลูกไปฝากไว้กับบาบอเลยด้วยซ้ำ จึงเป็นที่มาของการปลูกกระท่อม หรือขนำ เรียกว่า "ปอเนาะ" เอาไว้สำหรับให้เด็กได้กินอยู่ หลับนอน และร่ำเรียน
ขณะที่การสอนหนังสือของ "ผู้รู้" เอง หลายๆ คนก็ทำเป็น "วิทยาทาน" คือสอนฟรี และไม่ได้เปิดเป็นโรงเรียนอย่างเป็นทางการ โดยเฉพาะในระยะเริ่มแรก ต่อเมื่อมีลูกศิษย์ลูกหามากขึ้น พ่อแม่นิยมพาบุตรหลานมาฝากเรียนมากขึ้น จึงขยายเป็นโรงเรียน มีการบริจาคที่ดิน และทุนทรัพย์เป็นค่าใช้จ่าย ทั้งจากคนใจบุญและจากผู้ปกครองของเด็กตามกำลังที่มี
นี่คือวิถีชีวิตและอัตลักษณ์ทางการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งผู้คนในดินแดนแห่งนี้ล้วนเข้าใจกันเป็นอย่างดี ทั้งคนมุสลิมเอง และคนพุทธที่ใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่มาอย่างยาวนาน
ฉะนั้นเมื่อมีคดีในลักษณะนี้เกิดขึ้น จึงเกิดเสียงวิจารณ์อย่างร้อนแรง แต่ที่น่าสังเกตก็คือ กระแสของการวิจารณ์ไม่ได้พุ่งเป้าไปที่กฎหมาย หรือการบังคับใช้กฎหมาย แต่เป็นผู้นำศาสนา และองค์กรเกี่ยวกับการศึกษาอิสลามที่นิ่งเงียบ และปล่อยให้คดีดำเนินไปจน "บาบอ" ซึ่งเปรียบได้กับ "นักบุญทางการศึกษา" เกือบต้องสิ้นอิสรภาพ
หนำซ้ำเรื่องราวที่ทำให้เกิดคดีนี้ขึ้น ก็ยังเป็นที่กังขาของคนทั่วไปที่ทราบเรื่องราว เพราะจริงๆ แล้วมันไม่น่าเป็นคดีความกันขึ้นมาได้เลย...
ที่มาของคดีสืบเนื่องจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 27 พ.ค.62 เกิดระเบิดที่ตลาดนัดบ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นคดีดังมากคดีหนึ่งของปี 62 และต่อมาเจ้าหน้าที่ควบคุมผู้ต้องสงสัยโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายพิเศษได้ 2 คน คือ นายอาซิ มีนา และ นายอับดุลรอเซะ สลาวะ มีการนำตัวไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพ และมีข้อมูลว่าทั้ง 2 คนกับพวกใช้พื้นที่ของปอเนาะชือมา หรืออีกชื่อหนึ่งคือ "ปอเนาะควนดิน" ในการประชุมวางแผน (อ่านประกอบ : "บูคอรี หลำโส๊ะ" เจ้าเก่า...สั่งบึ้มตลาดบ่อทอง?)
จากข้อมูลที่ได้ในช่วงนั้น ทำให้ทางการสั่งปิดปอเนาะชือมา และเชิญตัวบาบอไปเข้ากระบวนการซักถามที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก กลายเป็นข่าวดังในพื้นที่ไม่แพ้เสียงระเบิด
ผลของการซักถามได้ความว่า บาบอไม่เกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อความไม่สงบ ขณะที่ผู้ต้องสงสัย 2 คนที่ถูกจับกุมได้ ภายหลังถูกฟ้องดำเนินคดีต่อศาล และศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้อง แต่ สช.หนองจิก กลับมีคำสั่งให้ปอเนาะหยุดการเรียนการสอนอย่างถาวร เนื่องจากไม่มีใบอนุญาต และยังส่งเรื่องให้ตำรวจดำเนินคดีกับบาบอ ในข้อหาจัดตั้งโรงเรียนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ขัดต่อพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 สุดท้ายคดีไปถึงชั้นศาล และศาลอ่านคำพิพากษาเมื่อวันพุธที่ 16 ก.ย.63 ให้จำคุก 2 เดือน ปรับ 8,000 บาท แต่โทษจำให้รอลงอาญา 2 ปี
บาบอมูหัมมัดรอมลี เล่าว่า ต้องขึ้นศาลถึง 4 ครั้ง กว่าคดีจะสิ้นสุดและมีคำพิพากษา หลังจากนี้จะดำเนินการเรื่องเอกสารเกี่ยวกับที่ดินต่อ เพื่อยื่นขอขึ้นทะเบียนเปิดโรงเรียนอย่างถูกต้อง เพราะก่อนจะถูกดำเนินคดีก็อยู่ระหว่างดำเนินการ แต่มาถูกดำเนินคดีเสียก่อน
ข้อมูลเกี่ยวกับที่ดินและการเตรียมการเพื่อยื่นขอจดทะเบียนตั้งแต่ก่อนถูกดำเนินคดี เป็นเรื่องที่ สช. หรือสำนักงานการศึกษาเอกชนในพื้นที่ก็ทราบดี
นายทรงพล ขวัญชื่น อดีตผู้อำนวยการ สช.ปัตตานี กล่าวกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า คดีนี้ถือเป็นคดีแรกในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีการฟ้องร้องกัน เพราะปกติเมื่อเจอเคสลักษณะนี้ สช.จะลงพื้นที่ไปตรวจสอบและแนะนำตักเตือนมากกว่าที่จะมีการฟ้องร้อง เพราะทราบดีถึงวิถีด้านการศึกษาของคนในพื้นที่
"แต่เรื่องกฎหมายก็ต้องบังคับใช้ เราต้องมาดูก่อนว่าเป็นโรงเรียนนอกระบบหรือในระบบปกติ ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องขออนุญาตก่อนทั้ง 2 รูปแบบ เพราะโรงเรียนที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนก็ถือว่าเป็นโรงเรียนเถื่อน โดยเฉพาะถ้าขึ้นป้ายคำว่าโรงเรียน เราห่วงตรงนี้ เพราะกระทบกับเด็ก จึงต้องดำเนินการตามกฎหมาย ถ้าขึ้นชื่อเป็นโรงเรียน ต้องแจ้งความดำเนินคดี แต่กรณีของปอเนาะชือมา ไม่ได้มีป้าย หรือขึ้นชื่อโรงเรียน"
นายทรงพล บอกด้วยว่า ช่วงที่เกิดเรื่อง เป็นช่วงรอยต่อที่ตนกำลังจะเกษียณอายุราชการ แต่ก็ได้พยายามแก้ปัญหาและหาทางออกให้ เพราะทราบดีว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อน
"จริงๆ เรื่องนี้ได้ให้ สช.พื้นที่ลงไปที่ปอเนาะ พบว่าไม่ได้จดทะเบียน จากนั้นเขามาขอขึ้นทะเบียน แต่เราไม่อนุญาต เพราะมีปัญหาเรื่องเอกสารเกี่ยวกับที่ดิน ช่วงนั้นท่านภาณุ อุทัยรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา (อดีตเลขาธิการ ศอ.บต.คนแรก) ก็มาหารือกันเพื่อให้ความช่วยเหลือ ก็ได้แนะนำให้ไปดำเนินการในเรื่องเอกสารที่ดิน แล้วให้มาขึ้นทะเบียน ต่อมามีประเด็นคนทำผิดไปอยู่ปอเนาะ ทหารตามไปเจอในนั้น ก็กลายเป็นโรงเรียนเถื่อน ช่วงก่อนที่ผมจะเกษียณ ทางนายอำเภอหนองจิกและ สช.พื้นที่ก็ลงไปดู และได้หาทางออกให้แล้ว แต่ไม่ทราบเลยว่าเรื่องมาถึงขั้นฟ้องร้องดำเนินคดีกัน" อดีตผู้อำนวยการ สช.ปัตตานี กล่าว
"ทีมข่าวอิศรา" ลงพื้นที่ไปที่ปอเนาะชือมา หลังบาบอถูกศาลพิพากษาว่ามีความผิด ปรากฏว่าที่ปอเนาะเงียบเหงา มีสภาพไม่ต่างจากปอเนาะร้าง และประเด็นนี้เองที่ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์หนักขึ้นว่า เหตุใดคณะกรรมการอิสลาม หรือสมาคมสมาพันธ์ที่เกี่ยวกับสถาบันปอเนาะในพื้นที่จึงไม่ไปเยี่ยมเยียน หรือช่วยแก้ปัญหาให้ตั้งแต่หลังเกิดเรื่อง
หลายเสียงในสื่อสังคมออนไลน์รู้สึกผิดหวังที่บาบอต้องขึ้นโรงขึ้นศาล ถูกตีตราว่ามีความผิด โดยไมได้รับการเหลียวแลจากผู้รับผิดชอบในศาสนาเดียวกัน ขณะที่คนพุทธในพื้นที่เองยังแสดงความรู้สึกเจ็บปวดกับเรื่องที่เกิดขึ้น
ที่ปอเนาะชือมา หลังวันพิพากษาคดี มีเพียง คอลีเยาะ หะหลี ครอบครัวผู้สูญเสียจากเหตุการณ์กรือแซะ ซึ่งปัจจุบันช่วยงานกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ลงพื้นที่ไปเยี่ยมเยียน และพูดคุยกับบาบอ
คอลีเยาะ ได้โทรศัพท์หา พล.ต.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 เพื่อขอให้มาช่วยเหลือ ซึ่งรองแม่ทัพก็รับปากว่าหลังเสร็จภารกิจที่กรุงเทพมหานคร จะหาทางเข้าไปช่วยเหลือเยียวยาทันที
เรื่องราวของบาบอปอเนาะชือมา ถือเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์เล็กๆ แต่มีความสำคัญ เพราะสะท้อนภาพหลายๆ มิติของปัญหาชายแดนใต้ ทั้งมิติทางการศึกษา รูปแบบของการดำเนินคดีความมั่นคง และประเด็นความอ่อนไหวทางความรู้สึกของคนในพื้นที่...ที่ทุกฝ่ายควรสรุปเป็นบทเรียน
--------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 บาบอปอเนาะชือมา
2 คอรีเยาะ หะหลี (ซ้าย) ไปเยี่ยมปอเนาะ พร้อมผู้สื่อข่าวบางสำนัก