“หาดใหญ่โพล” ชี้ดัชนีความเชื่อมั่น 14 จังหวัดภาคใต้เพิ่มขึ้นเล็กน้อย เป็นผลพวงจากการจับจ่ายช่วงวันหยุดยาวปีใหม่ แต่กระตุ้นเศรษฐกิจได้แค่ระยะสั้น ซัดแจกเงินหมื่นกระตุ้นเศรษฐกิจได้แค่ 2 สัปดาห์ ขณะที่ประชาชนผิดหวังค่าแรงขั้นต่ำ 400 ไม่ขึ้นทั้งประเทศ ห่วงข้าวของแพง คนว่างงานพุ่ง แต่ความเชื่อมั่นแก้ปัญหาไฟใต้ในอีก 3 เดือนข้างหน้า เป็นทิศทางบวก
เมื่อเร็วๆนี้ ผศ.ดร.วิวัฒน์ จันทร์กิ่งทอง ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ได้เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนใน 14 จังหวัดภาคใต้ โดยสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างประชาชนจำนวน 420 ตัวอย่าง
ผลสำรวจแยกเป็นด้านๆ โดยในด้านเศรษฐกิจและสังคม พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนโดยรวมเดือนธันวาคม ร้อยละ 44.10 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤศจิกายน ร้อยละ 43.70 และเดือนตุลาคม ร้อยละ 43.90
ทั้งนี้ ดัชนีที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ รายได้จากการทำงาน, รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในครอบครัว, รายจ่ายด้านการท่องเที่ยว, ความสุขในการดำเนินชีวิต ฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่ายแล้วยังเป็นบวก)
โดยปัจจัยบวกที่สำคัญ เนื่องจากเดือนธันวาคมมีวันหยุดนักขัตฤกษ์หลายวัน โดยเฉพาะวันหยุดสิ้นปี ทำให้ประชาชนจำนวนมากเดินทางท่องเที่ยว กลับภูมิลำเนาเพื่อเยี่ยมญาติ และจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ในกลุ่มเพื่อนหรือเครือญาติ รวมถึงเข้าร่วมกิจกรรมการเฉลิมฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ โดยเฉพาะกิจกรรม Countdown ในหลายพื้นที่ของภาคใต้ อาทิ หาดใหญ่ ภูเก็ต และสมุย เป็นต้น
ทำให้ในช่วงวันหยุดสิ้นปีนี้ ประชาชนได้ใช้จ่ายเงินไปกับการท่องเที่ยว การสังสรรค์ การซื้อสินค้าอุปโภคและบริโภคจำนวนมากขึ้น ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในหลายพื้นที่ในภาคใต้ได้จัดกิจกรรมในช่วงสิ้นปี เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติ ทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การจับจ่ายใช้สอยของประชาชนที่เพิ่มขึ้นในช่วงสิ้นปีนี้ อาจเป็นเพียงการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในระยะสั้น เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศยังอยู่ในช่วงประคับประคอง และประชาชนจำนวนไม่น้อยยังมีรายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย อีกทั้งยังมีหนี้สินจำนวนมาก ถึงแม้ว่าที่ผ่านมาภาครัฐได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ คือ แจกเงิน 10,000 บาทกลุ่มเปราะบาง แต่ก็สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในช่วง 1-2 สัปดาห์เท่านั้น
รวมไปถึงการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างนั้น ยังไม่สามารถแก้ไขได้ในระยะเวลาอันสั้น ดังนั้นภาครัฐควรกำหนดแผนและมาตรการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนในระยะยาว
@@ ประชาชนผิดหวังไม่ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 ทั้งประเทศ
ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ เผยอีกว่า จากการสัมภาษณ์และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในสิ่งที่ประชาชนคาดหวังและต้องการ เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ พบประเด็นน่าสนใจดังนี้
1.สถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ภาคใต้ ภาครัฐควรมีแผนการแก้ปัญหาแบบเชิงรุก และช่วยเร่งจ่ายเงินเยียวยาให้รวดเร็ว เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือนร้อนของประชาชน อีกทั้งภาครัฐควรวางแผนแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในระยะยาวอย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้เกิดน้ำท่วมซ้ำซากเป็นประจำทุกปี
2.ประชาชนผิดหวังที่ภาครัฐไม่สามารถปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศตามที่ได้ประกาศไว้ แต่ผู้ประกอบการบางรายถือโอกาสปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการไปก่อนแล้ว จึงขอให้ช่วยควบคุมราคาสินค้าและบริการไม่ให้สูงขึ้น แต่ให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน
@@ ค้านไอเดีย “ทักษิณ” ออกธนบัตรดิจิทัล
3.ประชาชนส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ที่แนะนำรัฐบาลให้ออกธนบัตรดิจิทัล หรือ สเตเบิลคอยน์ หรือ คริปโทเคอร์เรนซี รวมถึงที่เสนอให้จังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดนำร่องเพื่อทดลองใช้ด้วย
4.ภาครัฐควรมีมาตรการแก้ปัญหาให้กับผู้ว่างงาน และควรจัดเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศให้มีความเจริญเติบโต เพื่อให้ประชาชนมีงานทำ มีรายได้เพิ่ม รวมถึงมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
5.ให้ภาครัฐมีมาตรการควบคุมราคาพลังงานทั้งระบบ รวมถึงการส่งเสริมสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทน
6.ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยปรับสิทธิการรักษาพยาบาลของผู้ใช้สิทธิประกันสังคมให้เทียบเท่ากับสิทธิการรักษาพยาบาลของบัตรทอง เพื่อให้เกิดความเสมอภาคของประชาชนคนไทย
@@ มองแง่บวก อีก 3 เดือน “เศรษฐกิจ - ไฟใต้” จะดีขึ้น
“ผลคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และรายได้จากการทำงานเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 39.60 และ 32.80 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นต่อรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในครัวเรือน และรายจ่ายด้านการท่องเที่ยวในอีก 3 เดือนข้างหน้าเพิ่มขึ้น คิดเป็น ร้อยละ 32.80 และ 38.60 ตามลำดับ”
“ในขณะที่ความเชื่อมั่นด้านความสุขในการดำเนินชีวิต การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้าเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 32.40, 30.10 และ 34.20 ตามลำดับ”