ปัญหาไฟใต้เพิ่งจะครบ 21 ปีเต็ม หากนับจากเหตุการณ์ปล้นปืนครั้งมโหฬาร เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547
ตลอดมามีข้อเสนอดับไฟใต้จากฝ่ายต่างๆ มากมาย แต่ก็ยังไม่เคยสำเร็จเสียที ทั้งด้วยสาเหตุที่ข้อเสนออาจจะยังไม่ตรงกับปัญหามากนัก และด้วยสาเหตุที่ข้อเสนอไม่ได้ถูกนำไปปฏิบัติ ทั้งๆ ที่เป็นข้อเสนอที่ดี
ล่าสุดวันที่ 5 มกราคม (วันนี้) มีการเปิดตัวหนังสืออีกเล่มของ พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร อดีตเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ซึ่งเพิ่งเกษียณไปไม่นาน โดยอดีตเลขาธิการ ศอ.บต.ท่านนี้ น่าจะเป็นคนเดียวที่มาจากฝ่ายทหาร เคยเป็นอดีตผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินกองทัพเรือ ซึ่งถือเป็นบุคคลที่ผ่านงานดับไฟใต้ทั้ง “บู๊” และ “บุ๋น” มาอย่างโชกโชน
“บู๊” : สมัยเป็นผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธิน เคยปะทะกับผู้ก่อความไม่สงบที่บุกโจมตีฐานของทหารเรือ คือ “ฐานยือลอ” ที่อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2556 ฝ่ายกลุ่มก่อความไม่สงบเสียชีวิตในคราวเดียวกันถึง 16 ราย มากที่สุดจากการปะทะทุกครั้งที่ผ่านมา
และหนึ่งในนั้นคือ นายมะรอโซ จันทรวดี แกนนำกลุ่มติดอาวุธคนสำคัญที่เคลื่อนไหวในอำเภอบาเจาะ และใกล้เคียง ชื่อเสียงโด่งดังจนชาวบ้านครั่นคร้าม แต่ก็ต้องมาสิ้นชื่อจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น
“บุ๋น” : ขึ้นเป็นเลขาธิการ ศอ.บต. ลุยงานพัฒนา และเยียวยา สร้างความเป็นธรรม ที่เรียกว่า “ปลดระเบิดในใจคน”
ทั้งหมดนี้กลั่นเป็นหนังสือชื่อ ชายแดนใต้ ภูมิหลังและทางออก
พร้อมคำโปรยน่าสนใจ... เก็บระเบิดในหัวใจ ให้ทุกคนมีที่ยืน คืนความสมดุลสู่สังคมชายแดนใต้
@@ 3 พันธกิจ ดับไฟใต้ยั่งยืน
แนวทางดับไฟใต้ตามข้อเสนอของ พลเรือตรีสมเกียรติ ต้องทำ 3 พันธกิจ คือ
พันธกิจที่ 1 เก็บกู้ระเบิดในใจ เคลียร์ทางสู่การสร้างสันติสุข การคลี่คลายความย้อนแย้งทางประวัติศาตร์และการสูญเสียอำนาจทางการเมือง ปรับปรุงข้อมูลทางประวัติศาตร์ปัตตานี และการยอมรับการดำรงอยู่ของชุมชนดั้งเดิม แนวทางก็เช่น...
- กระจายอำนาจทางการเมืองมายังพื้นที่ เพื่อให้เกิดการยอมรับและยุติความขัดแย้งอย่างยั่งยืน
- การใช้ภาษามลายูควบคู่ภาษาไทยอย่างเป็นทางการ
- การแต่งกายของนักเรียน นักศึกษา และข้าราชการตามวัฒนธรรมมลายู
- บริหารจัดการการศึกษาด้านศาสนาให้เหมาะสม
- ปรับปรุงกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะกฎหมายที่ยึดโยงหลักศาสนา
- ลดความไม่เป็นธรรมจากการใช้อำนาจเกินขอบเขตของเจ้าหน้าที่รัฐ
พันธกิจที่ 2 ต้องทำให้คนมีที่ยืน อย่างน้อย 2 กลุ่ม นำคนเหล่านี้กลับมาอยู่บ้านเกิดของตนเอง คือกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงซึ่งตกเป็นผู้ต้องหาคดีความมั่นคง โดยผู้เสียหายต้องยินยอมและให้อภัย
กับอีกกลุ่ม คือ กลุ่มคนไทยพุทธและคนไทยเชื้อสายจีนที่ต้องทิ้งบ้านไปอาศัยที่อื่น เนื่องจากสูญเสียคนในครอบครัวและไม่มั่นใจในความปลอดภัย
พันธกิจที่ 3 คือ คืนความสมดุลสู่สังคมชายแดนใต้ กระจายอำนาจทางการเมือง การปกครอง และการบริหาร อย่างแท้จริง มุ่งแก้ปัญหาที่ดินทำกิน การศึกษา และพัฒนาคุณภาพชีวิต
พลเรือตรี สมเกียรติ ใช้เวลาและประสบการณ์ไม่น้อยกว่า 20 ปี กลั่นออกมาเป็นเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ เริ่มตั้งแต่เป็นข้าราชการทหารระดับผู้บังคับหมวด จนกระทั่งเป็นหัวหน้าหน่วยในการแก้ปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้
@@ เปิดเส้นทางประวัติศาสตร์... สู่ “ญิฮาด” ในจิตสำนึก
เนื้อหาหลักส่วนหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ การนำเสนอข้อมูลทางประวัติศาสตร์การเปลี่ยนสถานะทางการเมืองของ “ปาตานี” ที่เป็นจุดเปลี่ยนของแต่ละช่วงเวลา โดยแบ่งการนำเสนอเป็น 4 ช่วงเวลา ใช้การเปลี่ยนสถานะทางการเมืองของปาตานี จากรัฐโบราณสู่ “ปัตตานี” ที่เป็นความภาคภูมิใจของผู้คนในท้องถิ่น เพราะมีความเป็นมายาวนาน
เริ่มนับจากแผนที่โบราณที่ระบุถึงนครลังกาสุกะ ช่วงพุทธศตวรรษที่ 7 ระยะเวลารวมๆ ถึง 1,900 ปี แต่ถ้านับจากร่องรอยของเมืองโบราณยะรัง มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 12 หรือประมาณ 1,200 ปี
หลังจากนั้นเมืองลังกาสุกะได้ย้ายไปยังกรือเซะ-บานา ใกล้เมืองปาตานี หรือเมืองปัตตานีในปัจจุบัน เริ่มต้นปี พ.ศ.2043 จนถึง 2194 มีกษัตริย์ สุลต่าน และราชินีปกครอง 10 พระองค์ รวม 150 ปี
ถัดจากนั้นปัตตานีตกอยู่ภายใต้การยึดครองของรัฐกลันตัน 78 ปี
ขณะที่ประเทศไทยมีปฏิสัมพันธ์กับปัตตานี ประมาณ พ.ศ.2329 หลังจากกองทัพสยามทำสงครามกับพม่า ได้นำทัพมาตีปัตตานี ทำให้รัฐปัตตานีที่เคยเป็นอิสระ แปรสภาพมาเป็นเมืองขึ้น ของอาณาจักรสยามตั้งแต่นั้นมา
พลเรือตรี สมเกียรติ ให้น้ำหนักในเรื่องนี้ ว่าอาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาตามมาจนถึงปัจจุบัน
“ประเด็นสำคัญของประวัติศาตร์และความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง จากที่เคยเป็นรัฐโบราณ ลังกาสุกะ มีความเจริญรุ่งเรืองในเส้นทางการค้า ต่อมารัฐไทยเข้ามามีอำนาจ ลดบทบาทเมืองปัตตานี ให้เป็นหัวเมืองชั้นในที่มีข้าหลวงสยามมากำกับ ทำให้ปัตตานีดิ้นรนที่จะปลดปล่อยตนเองออกจากสยาม
จนกระทั่งสยามได้แบ่งปัตตานีออกเป็น 7 หัวเมือง ก็สงบลงระยะหนึ่ง จนกระทั่งเกิดสงครามใหญ่สยามกับหัวเมืองมลายู ในปี พ.ศ.2375 ทำให้ฝ่ายหัวเมืองมลายูแพ้ แต่ถ้ามองในเชิงยุทธศาสตร์ ฝ่ายหัวเมืองมลายูชนะ เพราะได้ปักหมุดสร้างจิตสำนึกร่วมว่าการทำสงครามขับไล่ชาวสยาม หรือการปลดปล่อยจากสยามเป็นเรื่องของสงครามศาสนาหรือญีฮาด ที่คนมุสลิมต้องทำ และจิตสำนึกเหล่านี้ยังดำรงอยู่จนปัจจุบัน”
@@ สถาปนารัฐชาติ - อุ้มหายหะยีสุหลง : ขยายวงขัดแย้ง
พลเรือตรี สมเกียรติ สรุปว่า ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่สังคมไทย โดยเฉพาะผู้เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาควรรับรู้ ฝ่ายรัฐอาจจะมองว่าไม่เข้าข่ายการต่อสู้ปลดปล่อย แต่คนในพื้นที่บอก “เราถือว่าคือญีฮาด”
“ปฐมบทของความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้เริ่มต้นเมื่อมีการตั้งมณฑลปัตตานี ที่ถือว่าเป็นการสถาปนารัฐชาติของไทยภายใต้การไม่ยินยอมของบรรดาหัวเมืองในพื้นที่ ในขณะที่ประชาชนขาดสำนึกร่วมของความเป็นชาติไทย
ต่อมาประเทศไทยหรือสยามเริ่มเข้ามาปฏิรูปการศึกษาและด้านอื่นๆ ทำให้เกิดเงื่อนไข คนปฏิเสธนโยบายหรือการบริหารจัดการของรัฐ และปี พ.ศ.2475 เข้าสู่ยุคประชาธิปไตย ชาตินิยม ยิ่งเพิ่มความขัดแย้ง
สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้กำเนิดนโยบายชาตินิยมสุดขั้ว ในนามรัฐนิยม 12 ฉบับ แต่ฉบับที่ส่งผลกระทบต่อคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างรุนแรง คือฉบับที่เกี่ยวข้องกับการแต่งกายและภาษาไทย เกิดความยากลำบากบีบคั้น จนกระทั่ง หะยีสุหลง อับดุลกอเดร์ ได้ยื่นข้อเรียกร้อง 7 ข้อให้รัฐบาลดำเนินการ ทำให้ฝ่ายรัฐมองว่าเป็นการกระทำที่กระทบต่อความมั่นคง จนถูกดำเนินคดี 4 ปี หลังจากได้ปล่อยตัวฝ่ายความมั่นคงก็ยังติดตามพฤติกรรม และวันที่ 13 สิงหาคม 2497 ตำรวจสันติบาลสงขลาได้เรียกหะยีสุงหลงไปพบ และทำให้เป็นการเดินทางครั้งสุดท้าย จนไม่กลับมาอีกเลย
ส่งผลให้เกิดความโกรธแค้นและความขัดแย้งจนก่อตัวของกลุ่มขบวนการต่อต้านอำนาจรัฐหลายกลุ่ม แต่มีเป้าหมายเดียวกันปลดปล่อยปัตตานีจากการปกครองของไทย และกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญ คือ พูโล และ บีอาร์เอ็น ได้ใช้ยุทธวิธีทุกรูปแบบเผชิญหน้ากับฝ่ายรัฐ โดยเฉพาะการใช้ความรุนแรงทำลายเสถียรภาพและความมั่นคง สนับสนุนด้วยการขับเคลื่อนทางการเมืองเพื่อสร้างความชอบธรรมในเวทีโลกให้สนับสนุนการสถาปนารัฐอิสระ หรือการปกครองตนเอง
และข้อเรียกร้องของหะยีสุหลง กลายเป็นเงื่อนไขความไม่เป็นธรรมที่นำไปปลุกเร้าสร้างความเกลียดชังให้กับบ้านเมือง สร้างวาทกรรมไร้คนผิด ถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่เติมเชื้อเพลิงความขัดแย้งให้ลุกโชนจนถึงปัจจุบัน”
@@ รัฐลอยนวล คือชนวนระเบิดในหัวใจ
พลเรือตรี สมเกียรติ ขมวดปมให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นว่า ความเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์และการเมืองทำให้คนในพื้นที่สูญเสียอำนาจทางการเมืองและพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ สูญเสียอิสระ เสรีภาพในการดำเนินชีวิตตามอัตลักษณ์และความเชื่อ สูญเสียความเป็นธรรมที่เคยได้รับจากรัฐ มีความรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมจากรัฐ
ที่สำคัญคือ รัฐเป็นผู้กระทำ และประชาชนเป็นผู้สูญเสีย ผู้กระทำความผิดมักจะไม่ถูกลงโทษ และกลายเป็นวาทกรรม “รัฐทำแล้วไร้คนผิด” ทำให้เกิดระเบิดในใจ พร้อมที่จะระเบิดและปะทุได้ทุกเมื่อ
ทั้งหมดนี้นำมาสู่ 3 พันธกิจที่ พลเรือตรี สมเกียรติ เสนอให้ทำ เพื่อ...เก็บระเบิดในหัวใจ ให้ทุกคนมีที่ยืน คืนความสมดุลสู่สังคมชายแดนใต้ โดยเชื่อว่าจะทำให้ความรุนแรงทุเลาเบาบางหรือยุติลง